Search
Close this search box.

อัปเดทสถานการณ์การบังคับใช้กฎหมายควบคุม Cryptocurrency ทั่วโลก

Reading time 15 Mins
Share :
AW กฎหมาย Cryptocurrency-02

Table of Contents

จากที่พูดถึงไว้ใน Cryptomind Research Investment Outlook ว่าในปี 2022 ที่ผ่านมาเรียกได้ว่าเป็นอีกปีที่เริ่มมีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับการ Regulate อุตสาหกรรม Cryptocurrency จากหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากความร้อนแรงในช่วงตลาดกระทิงในปี 2020 – 2021 ที่ผ่านมา และ Adoption ที่เกิดมากขึ้นทำให้หน่วยงานต่างๆ เห็นความจำเป็นจะต้องเข้ามากำกับดูแลมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งที่เกิดมาจากการเชื่อมต่อปัจจัยภายในสู่ภายนอก อย่างเช่น การล่มสลายของ Terra, FTX, 3AC ที่ได้แสดงให้เห็นไปแล้วว่าสามารถส่งผลต่อความมั่นคงของระบบ Banking system ได้ ดังนั้นจึงทำให้อุตสาหกรรมคริปโตฯถูกจับตามองมากขึ้นด้วย

โดยถึงแม้ว่าข่าวการ Regulate จะสร้างความกดดันต่อคริปโตฯค่อนข้างมากในปี 2023 นี้ แต่สิ่งที่เราเห็นได้ชัดคือกฎหมายที่ออกมาต่างๆส่วนมากในปัจจุบันยังขาดความชัดเจน ซึ่งเราคาดหวังว่าเมื่อกฎหมายที่ออกมามีความชัดเจนมากขึ้นจะเป็นการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับการเติบโตของอุตสาหกรรมคริปโตฯในระยะยาวได้ ดังนั้น จึงเป็นที่น่าสนใจที่จะกลับมาอัปเดทสถานการณ์การบังคับใช้กฎหมายควบคุมคริปโตฯจากทั่วโลกว่ามีอะไรต้องติดตามเป็นพิเศษบ้างในบทความนี้

1. Europe

1.1 EU ผ่านร่างกฎหมายคริปโตฯ ตัวแรกของโลก “MiCA” สร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขันต่อสหภาพยุโรป

ขอบคุณภาพจาก ESMA

เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2022 ทางสหภาพยุโรปได้ประกาศร่างกฎหมายควบคุม Cryptocurrency ที่ชื่อว่า MiCA (Markets in Crypto Assets) และ TFR (Transfer Funds Regulation) ซึ่งล่าสุดทางสภาเศรษฐกิจและการเงินแห่งสหภาพยุโรปก็ได้ไฟเขียวให้ความเห็นชอบต่อร่างกฎหมายดังกล่าวแล้วในเดือนพฤษภาคม 2023 ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในช่วงกลางปี 2024 ที่จะใช้ควบคุมทั้ง 27 ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป

สาระสำคัญของ MiCA และ TFR คือการเข้าไปควบคุมผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ประกอบไปด้วย Exchange, ผู้ออกเหรียญ (Token issuer), ผู้ให้บริการ Custody และผู้ให้บริการด้าน Wallet โดยเน้นการดูแลเรื่องการปกป้องทรัพย์สินของนักลงทุนเป็นหลัก อย่างเช่น การควบคุมและป้องกัน Insider trading เป็นต้น โดยกฎหมายมีการตั้งหลักเกณฑ์และข้อกำหนดที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้คริปโตฯและบริการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขอบเขตของกฎหมายครอบคลุมทั้งสินทรัพย์ดิจิทัล, Utility token และ Stablecoin

ขอบคุณภาพจาก Blockchain for Europe twitter

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของ MiCA ยังไม่ครอบคลุม DeFi และ NFT ในตอนนี้ ซึ่งในส่วนของ DeFi ทางคณะกรรมการจะพิจารณาและอาจเพิ่มการควบคุม DeFi เพิ่มเติมด้วยในอีก 18 เดือนข้างหน้า สำหรับในส่วนของ NFT นั้น MiCA จะมีกฎควบคุมเฉพาะที่เป็น Fractional NFTs ที่ทำหน้าที่เป็น Financial instrument ซึ่งอาจมีมูลค่านับเป็น Fungible ก่อนในตอนนี้ 

สิ่งหนึ่งที่บางฝ่ายได้ออกมาแสดงความกังวลอยู่บ้างเกี่ยวกับ MiCA คือการออกกฎหมายควบคุม Stablecoin ที่มีการกำหนดข้อจำกัดไม่ให้มีจำนวนธุรกรรมเกิน 1 ล้านธุรกรรมต่อวัน และมูลค่าการเทรดต่อวันไม่เกิน 200 ล้านยูโร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อ Stablecoin อย่างเช่น USDT, USDC ได้บ้าง แต่โดยมากแล้วเสียงตอบรับจากผู้ประกอบการต่อ MiCA ก็ถือว่าเป็นไปในทางบวก ส่วนหนึ่งเพราะว่าจะมีกฎหมายที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันสำหรับทั้งสหภาพยุโรป (ก่อนหน้านี้แต่ละประเทศในสหภาพยุโรปต่างมีกฎหมายแยกกันไป) และเป็นการส่งเสริมทำให้ธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตจากประเทศหนึ่งในสหภาพยุโรปสามารถให้บริการแก่ประเทศอื่นๆในสหภาพยุโรปได้ทั้งหมด ถือเป็นการสร้างจุดแข็งและศักยภาพการเติบโตแก่บริษัทคริปโตฯในสหภาพยุโรป


นอกจากนี้ MiCA ยังถือได้ว่าเป็นกฎหมายควบคุมคริปโตฯที่เรียกว่าครอบคลุม ชัดเจน และสมบูรณ์ที่สุดฉบับแรกของโลก โดยนอกจากจะส่งประโยชน์ต่อสหภาพยุโรปเองแล้ว ยังจะส่งผลบวกต่อตลาดคริปโตฯทั่วโลกด้วยแน่นอน โดยนอกจากจะเป็นการดึงดูดธุรกิจขนาดใหญ่และสถาบันการเงินเข้ามาสู่คริปโตฯมากขึ้น และจะสามารถเป็นเหมือน “Safe space” สำหรับนักพัฒนาและผู้ประกอบการจากทั่วโลกได้แล้ว ยังจะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับทั่วโลกต่อการออกกฎหมายที่เอื้อต่อนวัตกรรมในแบบเดียวกัน

2. United States

2.1 SEC สหรัฐฯ ไล่ฟ้อง Centralized Exchanges แบบไร้เหตุผล ซึ่งความกดดันจาก TradFi อาจทำให้ทิศทางเปลี่ยนไปในเร็วๆนี้

ในปี 2023 นี้ ถือว่าเป็นปีที่ Centralized Exchanges ถูกกดดันทางด้านกฎหมายเป็นอย่างมาก ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งคาดว่ามาจากการที่ FTX ล่มสลาย ทำให้ผู้ควบคุมกฎหมายทั่วโลกเริ่มทำงานกันอย่างหนักในการฟ้องร้องและควบคุม Centralized Exchanges ต่างๆ โดยถ้านับกันเฉพาะในสหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นปี 2023 ที่ผ่านมาก็ได้มีการดำเนินคดีผู้ให้บริการเหล่านี้ไปแล้วมากกว่า 13 คดี เช่น Bittrex และ Kucoin ได้ถูกดำเนินคดีจากการดำเนินงานขายหลักทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียน

ขอบคุณภาพจาก Wallstreet Journal

โดยล่าสุดเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา ทาง SEC สหรัฐฯ ได้ทำการฟ้องร้อง Binance และ Coinbase ที่เป็น Exchange สองอันดับแรกที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุดในโลกเพิ่มเติมอีก โดย Binance และ CZ (เจ้าของ Binance) ถูกกล่าวหาว่าดำเนินธุรกิจอย่างผิดกฎหมายในสหรัฐฯ เช่น ขาย BNB และ BUSD ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ที่ไม่ได้ลงทะเบียน, ให้บริการผลิตภัณฑ์ Simple Earn, BNB Vault, Staking นอกจากนี้ยังมีเรื่อง BAM Trading ของ Binance.US ให้บริการโดยไม่จดทะเบียน ส่วน Coinbase โดนข้อหาให้บริการเป็นนายหน้า, Exchange และ Clearing agency โดยไม่ได้ลงทะเบียนกับ ก.ล.ต.สหรัฐ และยังมีการให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่ได้ลงทะเบียน พร้อมกับการให้บริการ Staking Service ที่ไม่ได้ลงทะเบียนเช่นกัน

ซึ่งถ้าเราไปย้อนดูรายละเอียดการฟ้องร้องต่างๆจะพบว่ามีความผิดปกติหลายอย่าง เพราะเห็นได้ชัดเจนว่า ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องร้องโดย SEC, CFTC หรือ NYAG ก็ตามจะพบว่ารายละเอียดการฟ้องร้องไม่มีหลักการที่ชัดเจน จึงทำให้มีหลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นว่าการกระทำของ SEC อาจทำไปเพื่อเป็นวาระซ่อนเร้นบางอย่าง เช่น ทำตามคำสั่ง เบี่ยงเบนความสนใจ เพื่อตำแหน่งในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่อาจทราบได้ในตอนนี้ (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทวิเคราะห์เกี่ยวกับวาระซ่อนเร้นของ SEC ได้ที่นี่ และ ที่นี่) โดยหนึ่งใน Agenda ที่เป็นไปได้คือการพยายามผลักดันคริปโตฯออกจากสหรัฐและสนับสนุน CBDC ของตัวเองแทน จากบทสัมภาษณ์หนึ่งของ Gary ว่า “เรา (สหรัฐ) ไม่ต้องการ เงินดิจิทัล เพิ่มอีกแล้ว เพราะในตอนนี้เรามีทั้ง US dollar, เงิน Euro และเงิน Yen เงินเหล่านี้ก็นับเป็นเงินดิจิทัลแล้ว” ซึ่งเป็นการประกาศการต่อต้านการเกิดขึ้นของคริปโทเคอร์เรนซีในสหรัฐอย่างชัดเจนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 

ถึงแม้ว่าจะปฎิเสธไม่ได้ว่าการเคลื่อนไหวจากหน่วยงานกำกับดูแลฯของสหรัฐฯจะมีผลต่อตลาดอย่างมาก และยังเป็นสิ่งที่นักลงทุนจะต้องคอยติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม เรามองว่าในที่สุดแล้วทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯจะต้องปรับกฎเกณฑ์ต่างๆให้ชัดเจนมากขึ้น เพราะคงไม่อาจต้านทานความต้องการของนักลงทุนและผู้ประกอบการได้

ขอบคุณภาพจาก news.bitcoin.com

อย่างล่าสุดที่ทาง BlackRock ได้ยื่นขอเปิดกอง Bitcoin ETF โดย BlackRock ถือเป็นบริษัทจัดการการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วย AUM กว่า $9 Trillion โดยคาดว่ามีอำนาจต่อรองกับทางรัฐบาลหรือ SEC ค่อนข้างมากไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม รวมถึงตัว Larry Fink ที่เป็น CEO ก็มี Political Power ค่อนข้างสูงด้วย นอกจากนี้ ยังมีข่าวที่ออกมาในวันเดียวกันก็คือเรื่องของการเปิดให้บริการของ EDX Market (EDXM) ที่เป็น Crypto Exchange น้องใหม่ที่มีเจ้าใหญ่ใน Traditional Finance ให้การสนับสนุนหลากหลายเจ้าไม่ว่าจะเป็น Charles Schwab (SCHW), Citadel Securities, Fidelity Digital Assets, Paradigm, Sequoia Capital และ Virtu Financial (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Blackrock Bitcoin ETFได้ที่นี่

นอกจากนี้ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทาง Nasdaq ก็ได้ออกมาระงับการเปิดตัวบริการ Crypto custody ชั่วคราว จากเดิมที่เคยมีแผนว่าจะเปิดตัวบริการดังกล่าวภายในช่วง Q2 2023 โดยมีสาเหตุมาจากความไม่ชัดเจนและความไม่เอื้อทางด้านกฎหมายต่อธุรกิจคริปโตฯในสหรัฐฯ ซึ่งสิ่งนี้เองที่เราคาดว่าจะเป็นสิ่งที่กดดัน SEC สหรัฐฯ ปรับกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนมากขึ้นและทำการออกกฎหมายฎฯให้เอื้อต่อธุรกิจมากขึ้นในอนาคตได้

2.2. การชนะคดีของ XRP อาจคลี่คลายความกังวลต่อเหรียญที่ถูกตราว่าเป็น Security

ขอบคุณภาพจาก Bitcoin.com news

ในคดีระหว่าง SEC สหรัฐฯที่ดำเนินการฟ้อง Ripple Labs ในข้อหาการละเมิดกฎหมายหลักทรัพย์ผ่านการระดมทุนมูลค่ากว่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากการขายเหรียญ XRP ซึ่งถือเป็นหลักทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย ซึ่งการฟ้องร้องดังกล่าวก็ยืดเยื้อมาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี จนกระทั่งเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2023 ที่ผ่านมานี้เองที่ทาง Ripple Labs ได้รับชัยชนะ โดยทางผู้พิพากษาได้มีคำตัดสินให้การที่บริษัท Ripple Labs ขายเหรียญ XRP ในตลาดรองอย่าง Exchange ต่างๆ ไม่ถือเป็นการซื้อขายหลักทรัพย์หรือการระดมทุน

ซึ่งถึงแม้ว่าการชนะคดีความของ Ripple นั้นยังมีบางประเด็นที่ยังเข้าข่ายการเป็นหลักทรัพย์อยู่ อย่างการขาย XRP ให้กับสถาบัน ซึ่งคาดว่าอาจส่งผลให้การระดมทุนผ่าน Venture capital (VC) ในสหรัฐลดความนิยมลง แต่เรื่องนี้ก็มีทางออกที่อาจจะมาในรูปของการย้ายออกของ VC ในสหรัฐ หรือการระดมทุนทางอื่นก็เป็นได้

เหรียญที่ SEC มองเป็น Security ขอบคุณภาพจาก Miles Deutscher twitter

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีประเด็นข้อกังวลบ้างเล็กน้อยดังกล่าว สิ่งนี้ก็ถือว่าได้ปลดล็อคความคลุมเครือที่กดดันตลาดมาอย่างยาวนาน โดยหลังจากคำตัดสินของศาลก็ได้ทำให้ Coinbase, Binance US และ Gemini กลับมาเปิดให้ซื้อขาย XRP ใน Exchange อีกครั้ง นอกจากนี้ เหรียญต่างๆที่ SEC เคยประกาศว่าเป็น Security อย่างเช่น MATIC, ATOM, SAND, SOL ก็เหมือนได้รับการปลดล็อคเช่นกัน เพราะว่าสุดท้ายแล้วเหรียญเหล่านี้ก็อาจจะไม่ใช่ Security เช่นกันก็ได้ ซึ่งน่าจะส่งผลต่อการคลี่คลายคลีที่ SEC ฟ้องร้อง Binance และ Coinbase ไปก่อนหน้านี้ด้วย

และถึงแม้ว่าทาง SEC สหรัฐฯจะได้ออกมาแสดงเจตจำนงเพื่อขออุทธรณ์คดีความกับ Ripple อีก และยังคงต้องติดตามประเด็นนี้กันอย่างใกล้ชิดต่อไป แต่เรามองว่าการชนะคดีของ Ripple ครั้งนี้นั้นถือเป็นข่าวบวกต่อตลาดคริปโตฯอย่างมาก ซึ่งเพราะอย่างที่บอกคือการตัดสินครั้งนี้จะถูกใช้อ้างอิงต่อคดีที่เกี่ยวข้องกับคริปโตฯอนาคตอย่างแน่นอน และจากเดิมที่กฎหมายต่างๆในสหรัฐฯยังมีความคลุมเครือค่อนข้างมาก หลังจากนี้น่าจะมีการออกกฎชัดเจนมากขึ้นถึงการจำกัดความ Security, Commodity, etc. นอกจากนี้ยังทำให้โปรเจกต์ต่างๆมีบรรทัดฐานที่ชัดเจนในการระดุมทุนให้ถูกต้องตามกฎระเบียบได้มากขึ้นด้วย

2.3 การสร้าง Regulation สำหรับ Stablecoin ที่มีความชัดเจนมากขึ้นกำลังจะมาถึง

ขอบคุณภาพจาก Bitcoin Wisdom

ในช่วงเดือนเมษายน 2023 ทางคณะกรรมการการเงินของสหรัฐฯ (U.S. House Financial Services Committee) ได้เผยแพร่ร่างกฎหมายสำหรับ Stablecoin ฉบับแก้ไขจากของปี 2022 ในเวอร์ชั่นแรก โดยร่างกฎหมายดังกล่าวครอบคลุมตั้งแต่ Asset-backed stablecoins ไปจนถึงสกุลเงินดิจิตอลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency – CBDC) โดยร่างกฎหมายนี้ถือเป็นร่างกฎหมายสำหรับสกุลเงินดิจิตอลตัวแรกที่ทางสหรัฐฯจะผลักดันในปี 2023 ที่เป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์สองอย่างที่สำคัญในช่วงปีที่ผ่านมาที่เกี่ยวข้องกับ Stablecoin เช่น การล่มสลายของ terraUSD (UST) และการหลุด Peg ชั่วคราวของเหรียญ USDC 

ซึ่งตัวร่างจะเน้นไปที่กฎระเบียบการลงทะเบียนและขั้นตอนการอนุมัติสำหรับผู้ออกเหรียญ Stablecoin (Stablecoin issuer) โดยสาระสำคัญคือผู้ที่จะออกเหรียญ Stablecoin ได้นั้น จะต้องมีสินทรัพย์ใน Reserve ตามจำนวนที่กำหนด และจะต้องมีการตรวจสอบจำนวนเงินใน Reserve ในทุกๆเดือน นอกจากนี้ ยังทำให้กฎระเบียบมีความผ่อนปรนลงเล็กน้อยในบางส่วน เช่น จากก่อนหน้านี้ที่กำหนดให้ผู้ออก Stablecoin ต้องทำให้การ Redeem หรือแลก Stablecoin เป็นเงินสดจะต้องทำให้เสร็จภายใน 1 วัน โดยในร่างฉบับใหม่จะไม่ได้กำหนดว่าจะต้องทำภายใน 1 วัน แต่ใช้คำว่า “ภายในเวลาที่เหมาะสม” จึงสื่อว่ามีความยืดหยุ่นได้มากขึ้น 

ที่จริงแล้วในอดีตทางสภาวุฒิสภาสหรัฐฯเคยได้ทำการเสนอตั้งกฎระเบียบและข้อแนะนำสำหรับ Stablecoins มาหลายรูปแบบและหลายครั้ง แต่ยังไม่มีครั้งไหนที่คืบหน้าไปมากกว่าขั้นตอนของการอภิปรายไปถึงขั้นตอนโหวตผ่านกฎหมายเลย แต่ในรอบนี้ที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปพอสมควร อย่างที่เราได้เห็นกันมาแล้วว่า การล่มสลายของคริปโตฯสามารถส่งผลกระทบต่อ Banking system ได้ ทำให้มีโอกาสที่ร่างกฎหมายจะนำไปสู่กฎหมายที่บังคับใช้จริง ซึ่งเรามองว่าการเริ่มต้นของร่างกฎหมายควบคุม Stablecoin ของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญที่จะเป็นจุดตั้งต้นของการวางรากฐานที่สำคัญของกฎเกณฑ์ควบคุม Stablecoin และสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศสหรัฐฯที่จะตามมาในอนาคต 

และถึงแม้ว่าจะมีบางประเด็นที่น่ากังวลอยู่บ้าง อย่างการที่ Jerome Powell (Fed Chairman) เคยกล่าวไว้ว่า “You wouldn’t need stablecoins; you wouldn’t need cryptocurrencies if you had a digital U.S. currency,” ที่เป็นการแสดงจุดยืนต่อต้านคริปโตฯ และผลักดัน CBDC อย่างไรก็ตาม เรามองว่า สหรัฐฯเองก็จะไม่สามารถต้านทานนวัตกรรม ซึ่งสุดท้ายแล้วการมีกฎหมายที่ชัดเจนจะเป็นผลดีต่อตลาดคริปโตฯในที่สุด 

2.4 การควบคุม DeFi ในสหรัฐฯ

ขอบคุณภาพจาก FullyCrypto

เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2022 ที่ผ่านมา ทางที่ประชุมวุฒิสภาของสหรัฐได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาการออกร่างพระราชบัญญัติ Digital Commodities Consumer Protection Act (DCCPA) ที่บางส่วนของราชบัญญัติฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อ DeFi ภายใต้คำจำจัดความที่เป็น Digital commodity platform นอกจากนี้การดำเนินงานของ Digital commodity platform จะต้องมีศูนย์กลางการดำเนินงานผ่านบุคคลภายใต้การควบคุมของข้อบังคับของ CFTC จึงเท่ากับเป็นการแบน DeFi ทีมีการดำเนินงานแบบ Decentralization และการควบคุมโดย Smart contracts ไปโดยปริยาย ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เพราะนอกจากจะเท่ากับแบน DeFi แล้ว ยังมีผู้ออกมาเปิดเผยว่า “SBF เป็นผู้ผลักดันและอยู่เบื้องหลังการสนับสนุนร่าง DDCPA” นี้ เพื่อนำผลประโยชน์สู่ธุรกิจ FTX เอง 
ซึ่งทำให้ภาพรวมของ DDCPA ถือว่าน่ากังวลพอสมควร อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ FTX ได้ล่มสลายไปแล้ว DDCPA ฉบับนี้ก็ได้ถูกเลื่อนออกไปก่อน โดยทางสภาฯก็ได้มาพิจารณากันใหม่แล้วในปี 2023 โดยการเสนอร่างกฎหมายที่ชื่อว่า Crypto-Asset National Security Enhancement Act of 2023 ซึ่งมีรายละเอียดระบุว่าแพลตฟอร์ม DeFi จะต้องถูกกำกับในแบบเดียวกับธนาคารเพื่อป้องกันการฟอกเงินหรือกิจกรรมอื่นๆที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงของชาติ โดยจะมีการบังคับให้ผู้ควบคุมแพลตฟอร์มหรือนักลงทุนที่ลงทุนเกิน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต้องตรวจสอบและเก็บข้อมูลลูกค้า โดยเฉพาะข้อมูลต้านการฟอกเงินและรายงานกิจกรรมที่น่าสงสัยให้กับรัฐบาล

3. United Kingdom

3.1 กำลังสร้างกฎหมายควบคุมสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น

ขอบคุณภาพจาก Cryptopolitan

United Kingdom นั้นถือเป็นอีกประเทศที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนากฎหมายเพื่อควบคุมสินทรัพย์ดิจิทัลให้เป็นรูปธรรมและมีความชัดเจนมากขึ้น โดยในเดือนมิถุนายน 2023 ที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้ทำการนำเสนอร่างกฎหมายต่อสภาฯ โดยคาดว่าตัวกฎหมายน่าจะมีการบังคับใช้เป็นรูปเป็นร่างในช่วงประมาณปลายปี 2023 นี้ โดยรายละเอียดของร่างกฎหมายดังกล่าวนอกจากจะเน้นไปที่การปกป้องนักลงทุนแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงการสร้างกฎเกณฑ์แก่บริษัทในการขอใบอนุญาติการประกอบกิจการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย
นอกจากนี้จากเดิมที่ยังมีความขัดแย้งเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว ก็ได้มีทิศทางที่ชัดเจนและ Friendly ต่อคริปโตฯมากขึ่้น โดยทาง House of Commons Treasry Committee มองว่าในกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นควรใช้กฎหมายในรูปแบบเดียวกับการควบคุมการพนัน ซึ่งในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาทางรัฐบาลของสหราชอาณาจักรก็ได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวโดยจะวางรากฐานของกฎหมายควบคุมสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบเดียวกับ TradFi อื่นๆ เพื่อทำให้กฎหมายและกฎระเบียบภายในสหราชอาณาจักรไม่ขัดกับสากล ซึ่งจะช่วยให้เกิด Adoption และตามวิสัยทัศน์ของนายกฯที่ต้องการผลักดันให้สหราชอาณาจักรเป็น Crypto Hub ดังนั้นโดยภาพรวมการเคลื่อนไหวของสหราชอาณาจักรก็ถือเป็นบวกต่ออุตสาหกรรมคริปโตฯ  

3.2 “Digital Pound” หรือ CBDC ของสหราชอาณาจักร

ขอบคุณภาพจาก Bank of England

เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทางสหราชอาณาจักรได้พัฒนาแผนสำหรับสกุลเงินดิจิตอลของธนาคารกลาง (CBDC) ซึ่งคือเงินปอนด์ดิจิตอล (Digital Pound) ที่จะเป็นเหมือนรูปแบบเงินสดออนไลน์ที่เหมาะสำหรับการชำระเงินในชีวิตประจำวัน แต่ไม่มีการได้รับดอกเบี้ยเหมือนบัญชีเงินฝาก โดยทาง Bank of England ได้เสนอรากฐานเกี่ยวกับการทำงานของ Digital Pound ไปเรียบร้อย โดยมีแผนเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในช่วงปี 2025 


นอกจากนี้ ทาง Bank of England เองก็ได้พยายามพัฒนาโมเดลต่างๆในการใช้งาน Digital Pound ร่วมกับสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ โดยโฟกัสไปที่การลด Systemic risk ใน Crypto sector และเพิ่มทางเลือกและการเข้าถึง Banking system ให้กับประชาชน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ CBDC ในภาพรวมก็เป็นเทรนด์สำคัญที่เริ่มเห็นภาพชัดขึ้นในปีที่ผ่านมาและปีนี้ ซึ่งภาพยังไม่ชัดว่าการมาถึงของ CBDC นั้นจะเป็นมิตรหรือปฏิปักษ์ต่อคริปโตฯกันแน่ในระยะยาว (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ CBDC ได้ที่นี่)

3.3 กฎหมายควบคุม Stablecoin ควบคู่กับ Digital Pound

Bank of England กล่าวว่าการมาถึงของ CBDC จะไม่ทับซ้อนกันกับ Stablecoin อื่นๆที่มีอยู่ โดยทั้งสองสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยมองว่า CBDC เป็นเงินที่ออกโดยรัฐบาลและธนาคารกลาง ส่วน Stablecoin อื่นก็จะถูกมองเป็นเงินของเอกชน อย่างไรก็ตามทางธนาคารฯชี้แจงว่า Stablecoin จำเป็นต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกันมีสภาพคล่องสูงเต็ม 100% จึงจะสามารถทำงานร่วมกับ Digital Pound ได้ 

ดังนั้น ในเร็วๆนี้เราคาดว่าทางสหราชอาณาจักรจะมีการออกกฎหมายมาเพื่อควบคุม Stablecoin ด้วย (ควบคู่ไปกับการออกกฎหมายควบคุมคริปโตฯตามที่กล่าวในข้อ 4.1) โดยมีการนำเสนอโมเดลสำหรับ Stablecoin ออกมาหลายรูปแบบ เช่น การให้ Stablecoin มีสินทรัพย์ค้ำประกันที่ถือโดยธนาคารกลางทั้งหมดหรือบางส่วนเพื่อลดความเสี่ยงของ Stablecoin หรือการที่ธนาคารกลางสามารถตรวจสอบ Reserve ของผู้ให้บริการ Stablecoin อย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น

4. Hongkong

4.1 อัปเดทกฎหมายใหม่สำหรับการขอใบอนุญาต Crypto Exchange เริ่มต้นรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา

เดิมเป็นประเทศที่ค่อนข้างเข้มงวดเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการแบน Cryptocurrency อย่างหนักในประเทศจีน แต่เนื่องจากในปี 2022 ที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้มีแผนออกเหรียญ CBDC ของตัวเอง และอยากจะกลับมาผลักดันให้ประเทศเป็น Global fintech hub แบบเต็มรูป ทางฮ่องกงจึงเป็นอีกประเทศที่เริ่มมีการวางรากฐานของกฎหมายควบคุมสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยการออกกฎเกณฑ์การกำกับดูแลสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม โดยเน้นการป้องกันการฟอกเงิน (AML) ให้เข้มงวดมากขึ้นสำหรับ Centralized exchanges และ Custodian ต่างๆที่จะมาขอใบอนุญาต โดยทั้งหฟดจะต้องขออนุญาตกับทาง Securities and Futures Commission (SFC)

โดยตัวอย่างรายละเอียดบางส่วนของกฎหมายตัวใหม่ที่บังคับใช้กับ Exchanges ที่ดำเนินธุรกิจในฮ่องกง อย่างเช่น การออกข้อบังคับให้ Exchanges เก็บรักษาเงินของลูกค้าให้ปลอดภัยตามจำนวนและแนวทางที่กำหนด, ต้องทำการ KYC เพื่อประเมินการรับความเสี่ยงของลูกค้า, ป้องกัน Conflict of Interest และ Insider Trading, ส่ง Financial Audit Reports แก่ SFC ตามช่วงเวลาที่กำหนด, เหรียญที่จะลิสต์ต้องมี “Track Record” ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 12 เดือนและต้องผ่านการทำ “Due Diligence” ทุกครั้ง เป็นต้น

4.2 Hongkong เปิดให้นักลงทุนรายย่อยเทรดคริปโตฯ

นอกจากนี้ ในปี 2023 ทาง Securities and Futures Commission (SFC) ประเทศฮ่องกงเพิ่งได้เปิดตัวระบบการออกใบอนุญาตคริปโตฯให้กับเว็บเทรด โดยเริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา ประเทศฮ่องกงได้เปิดให้นักลงทุนรายย่อยสามารถซื้อขายคริปโทฯได้ (ก่อนหน้านี้ทำได้เฉพาะนักลงทุนกลุ่ม Professional/Accredited ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น) ซึ่งในช่วงเริ่มต้นจะอนุญาตให้เทรดเหรียญได้บางเหรียญโดยเน้นไปที่กลุ่ม Big Cap ประกอบด้วย Bitcoin, Ethereum, Litecoin, Polkadot, Bitcoin Cash, Solana, Cardano, Avalanche, Polygon  และ Chainlink 

ในฐานะที่ประเทศฮ่องกงเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินขนาดใหญ่ จึงถือว่าเป็น Move ที่น่าจับตามอง เพราะคาดว่าจะทำให้เม็ดเงินหลั่งไหลเข้ามาสู่คริปโตฯเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ประเทศฮ่องกงยังมีนโยบายสร้างตัวเองเป็น Crypto Hub ที่มีกฎหมายสนับสนุนนวัตกรรม และยังเปิดรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก Regulator ในสหรัฐฯได้ด้วย อย่างเช่นล่าสุดที่ Coinbase ถูก SEC สหรัฐฯ ฟ้อง ทางประเทศฮ่องกงก็ออกมาประกาศเชิญชวน Coinbase ไปเปิดในฮ่องกง เป็นต้น

4.3 กฎหมายควบคุม DeFi ในฮ่องกงกำลังจะมาถึง

นอกจากความเคลื่อนไหวของฮ่องกงในด้านการออกกฎหมายควบคุมธุรกิจ Exchange และการเริ่มอนุญาตการเทรดคริปโตฯสำหรับรายย่อยแล้ว ฮ่องกงยังมีแผนจะออกกฎหมายควบคุม DeFi ด้วย โดยทาง SFC ออกมาประกาศในช่วงเดือนเมษายน 2023 (หลังจากที่สหรัฐฯออกมาประกาศคล้ายกันเรื่องการควบคุม DeFi) ว่าโปรเจกต์ที่จะทำด้าน DeFi อาจจะต้องมีการขอใบอนุญาตก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าแพลตฟอร์ม DeFi นั้นมีการให้บริการทางการเงินที่อยู่ภายใต้ Scope ของ Securities and Futures Ordinance (SFO) ที่เป็นหน่วยงานควบคุมธุรกิจ TradFi ที่ประกอบธุรกิจให้บริการในการซื้อขายหลักทรัพย์และ Future Markets 

โดยเป้าหมายหลักของแผนเข้ามา Regulate DeFi คือปกป้องนักลงทุนจากความเสี่ยงต่างๆ ที่มาจาก Oracle Manipulation, Front-running เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการการวางรากฐานกฎหมายที่ชัดเจนและเหมาะสมเพื่อผลักดันฮ่องกงไปสู่การเป็น Global Fintech Hub แต่ว่ากฎหมายดังกล่าวจะออกมาในรูปแบบไหนและบังคับใช้เมื่อไหร่นั้นก็ยังคงต้องติดตามรอดูต่อไป

สรุปทิศทางของ Regulation ทั่วโลก

ทั้งหมดในบทความนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอัปเดทของ Regulation จากทั่วโลกเท่านั้น โดยภาพรวมแล้ว ประเทศต่างๆทั่วโลกกำลังศึกษาค้นคว้าและกำหนดกฎหมายสำหรับการควบคุมสินทรัพย์ดิจิทัล จากเดิมที่ส่วนมากยังมีความไม่ชัดเจนในการบังคับใช้ แต่จากความจำเป็นที่เกิดจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เราเชื่อว่าในอนาคตกฎหมายต่างๆเหล่านี้จะมีความชัดเจนมากขึ้น 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้ที่สหภาพยุโรปออกกฎหมาย MiCA ที่ถือได้ว่าเป็นกฎหมายควบคุมคริปโตฯที่เรียกว่าครอบคลุม ชัดเจน และสมบูรณ์ที่สุดฉบับแรกของโลก น่าจะเป็นการสร้างแรงกดดันให้ประเทศอื่นๆทั่วโลกทำตามในรูปแบบเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ ฮ่องกง หรือประเทศอื่นๆที่ไม่ได้พูดถึงในบทความนี้ โดยเฉพาะพี่ใหญ่อย่างสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นประเทศที่มีความกำกวมในด้านกฎหมายควบคุมคริปโตฯ ค่อนข้างมาก เราก็ได้เริ่มเห็นกันแล้วว่าในอนาคตก็น่าจะต้องออกกฎหมายที่มีความเหมาะสมและชัดเจนมากขึ้นในที่สุด 

ซึ่งถึงแม้การเคลื่อนไหวด้าน Regulation ดูเหมือนจะสร้างแรงกดดันให้กับตลาดบ้าง แต่เราเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วทั้งโปรเจกต์และผู้ออกกฎหมายจะทำการ Fine tune เข้าหากัน เพื่อหาทางออกที่ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย ที่จะส่งผลทำให้อุตสาหกรรมคริปโตฯเติบโตไปได้อย่างแข็งแกร่งมากขึ้น โดยถ้ามีอัปเดทสำคัญเกี่ยวกับด้าน Regulation เพิ่มเติม เราจะนำมาเล่าให้ได้อ่านกันอีกแน่นอน

Author

Share :
Related
Anzen และ USDz: รูปแบบใหม่ของ Stablecoin ที่ Backed ด้วย Real-World Assets
Cryptomind Monthly Outlook - January 2025
Trump ไม่เซ็นต์ Executive Order เกี่ยวกับคริปโตฯ ในวันแรก! ตลาดจะเดินหน้าอย่างไรต่อ?
Ethena และ USDe กับยุคใหม่ของ Stablecoin