Search
Close this search box.

Bitcoin Halving 2024: ตลาดจะ Bull หรือ Bear?

  • Apinat

    Digital Asset Analyst

  • Principe

    Research is not Forecast. Details are important. All Works are Not Financial Advices.

Share :
Halving - Research x Merkle Article-02

Table of Contents

**บทความนี้ได้รับมุมมองภาพรวม Macroeconomics จาก Merkle Capital และมุมมองทาง Technical Analysis และ Asset Allocation จาก Cryptomind Advisory


Key Takeaway

  • Bitcoin Halving กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในเดือนเมษายน 2024
  • จากสถิติย้อนหลังแล้วหลังเหตุการณ์ Bitcoin Halving ราคาของ Bitcoin จะปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรง
  • ปัจจัยอื่นที่ทำให้ราคา Bitcoin ปรับตัวสูงขึ้นนอกจาก Bitcoin Halving ก็คือปัจจัยด้าน Macroeconomics ที่ผ่อนคลายมากขึ้น และสิ่งใหม่ๆหรือการยอมรับที่มากขึ้นของโลกคริปโทฯ
  • Bitcoin ETF ของ BlackRock จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนกลับมาสนใจ Bitcoin มากขึ้น
  • Fed สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้แค่อีกครั้งเดียวเท่านั้นในปี 2023 และอาจจะผ่อนคลายในปี 2024
  • ตัวเลขเงินเฟ้อที่แท้จริง ดิ่งหัวลงอย่างเห็นได้ชัด มุ่งสู่โซนก่อนที่เกิดวิกฤตโรคระบาด
  • ตลาดแรงงานเริ่มกลับมาในจุดสมดุลก่อนเกิดวิกฤต 
  • การเติบโตของรายได้ของประชาชนเริ่มลดลง ช่วยกดเงินเฟ้อ
  • ทฤษฎี 4-year Cycle อาจกลับมาเป็นจริงอีกครั้งเนื่องจากจะมีตัวกระตุ้นสำคัญอย่าง Bitcoin ETF ของ BlackRock และการผ่อนคลายของ Fed ที่มีแนวโน้มสูงว่าจะเกิดขึ้นในปี 2024

ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงยังคงถูกกดดันอย่างต่อเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในภาพรวมที่ยังไม่แน่นอนโดยเฉพาะฝั่งสหรัฐที่จะมีผลต่อการตัดสินทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve) ซึ่งจะส่งผลต่อตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกโดยเฉพาะคริปโทเคอร์เรนซีได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

อย่างไรก็ตามแม้ว่าสถานการณ์จะยังไม่สู้ดีและยังคาดเดาได้ยาก แต่ในปี 2024 ที่กำลังจะมาถึงนี้จะมีเหตุการณ์สำคัญในโลกคริปโทฯ ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนนั่นก็คือ “Bitcoin Halving” ที่ซึ่งเป็นเหตุการณ์เฉพาะตัวของ Bitcoin ที่จะทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของ Bitcoin ลดลงครึ่งหนึ่ง 

โดยจากสถิติย้อนหลังที่ผ่านการ Halving มา 3 ครั้งแล้วนั้นก็มักจะตามมาด้วยการปรับตัวขึ้นของราคาอย่างรุนแรงเสมอ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่าหลังจากผ่านครั้งที่ 4 ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน 2024 นี้จะมีการปรับตัวขึ้นของราคาเหมือนครั้งก่อนๆ หรือไม่ เนื่องจากการ Halving และการปรับตัวของราคาในครั้งก่อนๆ ได้เกิดในช่วงที่เงินเฟ้อไม่ได้รุนแรง ดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำทั้งสิ้น แต่ในครั้งนี้จะเกิดในช่วงที่ดอกเบี้ยสูงสุดในรอบ 22 ปี และเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 40 ปี

ในบทความนี้ทางเราจะพาไปดูข้อมูลเฉพาะตัวจากฝั่ง Bitcoin และวิเคราะห์พร้อมคาดการณ์สถานการณ์ Macroeconomics ในปีหน้าว่าจะส่งเสริมหรือขัดแย้งกันมากน้อยแค่ไหนที่ซึ่งจะเป็นการชี้ชะตาตลาดกระทิงในโลกคริปโทเคอร์เรนซี

1. Bitcoin Halving คืออะไร?

ในระบบ Blockchain ของ Bitcoin จะใช้ระบบฉันทามติ (Consensus) ที่เรียกว่า Proof-of-Work ในการประมวลผลธุรกรรมต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลกแล้วบันทึกบัญชีที่เป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียวได้โดยไม่ต้องเชื่อใจกันเพื่อป้องกันการใช้จ่ายซ้ำ (Double Spending) ในระบบกระจายศูนย์ (Decentralized Network)

กระบวณการของ Proof-of-Work จะเป็นการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แข่งกันแก้ไขสมการทางคณิตศาสตร์แลกกับสิทธิ์ในการรับรองธุรกรรมและบันทึกข้อมูลชุดใหม่ลงไปใน Blockchain ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้มีอีกชื่อหนึ่งที่ถูกเรียกกันอย่างแพร่หลายก็คือ การขุด Bitcoin หรือ Bitcoin Mining ที่หลายคนคุ้นหูกันเป็นอย่างดี

เมื่อมีนักขุด (Miner) ที่สามารถแก้ไขสมการได้เป็นคนแรก นอกจากจะเป็นผู้บันทึกข้อมูลแล้วก็ยังจะได้สิ่งตอบแทนอีกอย่างด้วยซึ่งก็คือรางวัลจากการขุด (Block Reward) ที่จะรวม Bitcoin ที่ถูกผลิตใหม่ (Block Subsidy) พร้อมกับค่าธรรมเนียม (Transaction/Mining Fees)

Satoshi Nakamoto ผู้สร้าง Bitcoin ได้ฝังชุดคำสั่งไว้ใน Software ของ Bitcoin โดยกำหนดให้ Block Subsidy ที่ Miner จะได้รับในช่วงแรกไว้ที่ 50 BTC ต่อ Block และจะมีสิ่งที่เรียกว่า “Bitcoin Halving” หรือการลดจำนวน Block Subsidy ลง “ครึ่งหนึ่ง” ทุกๆ 210,000 Block โดยแต่ละ Block จะใช้เวลายืนยันธุรกรรมโดยเฉลี่ยประมาณ 10 นาที ดังนั้นจึงเป็นที่มาว่าทำไมเหตุการณ์จะเกิดขึ้นทุกๆ ประมาณ 4 ปีนั่นเอง

นับตั้งแต่ที่ Bitcoin เกิดขึ้นมาได้เกิด Bitcoin Halving มาแล้วทั้งหมด 3 ครั้ง

  • ครั้งที่ 1 : เกิดขึ้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2012 โดย Block Subsidy ลดลงจาก 50 BTC เป็น 25 BTC
  • ครั้งที่ 2 : เกิดขึ้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2016 โดย Block Subsidy ลดลงจาก 25 BTC เป็น 12.5 BTC
  • ครั้งที่ 3 : เกิดขึ้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2020 โดย Block Subsidy ลดลงจาก 12.5 BTC เป็น 6.25 BTC

และในช่วงกลางเดือนเมษายน 2024 ที่กำลังจะมาถึงนี้จะเป็นครั้งที่ 4 ที่ Block Subsidy จะลดลงจาก 6.25 BTC เป็น 3.125 BTC

โดยหากนำตัวเลขทั้งหมดข้างต้นมาคำนวณแล้วนำมาสร้างกราฟของ Block Subsidy (เส้นสีแดง) และ จำนวน Bitcoin (BTC Supply) เทียบกับเวลา (ปี) จะเห็นได้ว่าในช่วงแรกอัตราการผลิต Bitcoin นั้นสูงมากแต่ก็จะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ เมื่อเกิด Bitcoin Halving

ซึ่งหากคำนวณไปเรื่อยๆ จนไม่สามารถผลิต Bitcoin ได้แล้วก็จะได้ตัวเลขของจำนวน Bitcoin ที่สามารถถูกสร้างได้สูงสุดในระบบคือ 21,000,000 BTC และจะถูกขุดครบภายในปี 2140 หรืออีกประมาณ 117 ปีข้างหน้า โดยในขณะที่เขียนจำนวน Bitcoin ได้ถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนกว่า 19,466,643 BTC หรือคิดเป็นประมาณ 92.7% เรียบร้อยแล้ว

2. สถิติย้อนหลังของ Bitcoin Halving

สำหรับคนที่สงสัยว่าทำไมหลายคนถึงสนใจ Bitcoin Halving มากขนาดนั้น นั่นก็เพราะหากย้อนกลับไปดูความสัมพันธ์กับการปรับตัวทางด้านราคากับเหตุการณ์ดังกล่าวแล้วจะเห็นเหตุผลได้อย่างชัดเจน

จากกราฟที่แสดงด้านบนแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมราคาภายหลัง Bitcoin Halving ทั้ง 3 ครั้ง ที่ภายหลังจากเกิด Bitcoin Halving จะตามมาด้วยการปรับตัวขึ้นของราคาอย่างรุนแรงเสมอ โดยแต่ละครั้งมีการปรับตัวด้านราคา (นับจากวันที่เกิด Bitcoin Halving) ดังนี้

  • 1st Bitcoin Halving : ราคาปรับตัวขึ้นประมาณ 9,200% หรือ 92 เท่า
  • 2nd Bitcoin Halving : ราคาปรับตัวขึ้นประมาณ 2,600% หรือ 26 เท่า
  • 3rd Bitcoin Halving : ราคาปรับตัวขึ้นประมาณ 600% หรือ 6 เท่า

แต่ถ้าหากนับจากจุดต่ำสุดของแต่ละรอบที่มักจะเกิดก่อน Bitcoin Halving นั้นก็จะได้ผลที่บ้าคลั่งกว่าการนับที่จุด Halving อย่างมหาศาล นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ Bitcoin Halving กลายเป็นเหตุการณ์สำคัญที่หลายคนจับตามองเป็นพิเศษนั่นเอง

อย่างไรก็ตามจากสถิติข้างต้นนั้นเป็นตัวอย่างเพียง 3 ครั้งเท่านั้นซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยในเชิงสถิติ ทำให้ภายหลัง Bitcoin Halving ครั้งต่อไปอาจเกิดเหตุการณ์ที่แตกต่างเดิมก็เป็นได้ที่ไม่ว่าจะเป็นทางบวกหรือทางลบ

2.1 การปรับตัวของราคา Bitcoin เทียบกับเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ในโลกคริปโต

เมื่อลองพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ด้วย เหตุการณ์ดังกล่าวก็อาจเป็นเรื่องบังเอิญก็เป็นได้ เพราะช่วงที่เกิด Halving แต่ละครั้งนั้นหรือทุกๆ ประมาณ 4 ปีก็บังเอิญว่ามีอะไรใหม่ๆ ที่น่าสนใจในโลกคริปโตออกมาให้เห็นหรือตรงกับการดำเนินนโยบายทางการเงิน/เศรษฐกิจพอดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตลาดคริปโตกลับมาเป็นขาขึ้น

จากภาพด้านบนเป็นเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างช่วง Bitcoin Halving และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนเข้ามาสนใจตลาดคริปโตในแต่ละ Cycle โดยเริ่มจาก

1st Halving หรือ 1st Bull Run : Bitcoin เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นเพราะเริ่มมีธุรกิจเกี่ยวกับ Bitcoin เกิดขึ้น, มี Exchange, มีการคิดค้นคริปโตสกุลอื่นๆ ที่อ้างว่าดีและรวดเร็วกว่า เช่น Litecoin, XRP เป็นต้น

2nd Halving หรือ 2nd Bull Run : Smart Contract ของ Ethereum ได้เป็นที่รู้จักและมีการสร้างโทเคนบน Ethereum จน Stablecoin ได้รับความนิยมมากขึ้น รวมถึงโปรเจกต์ต่างๆ เข้ามาระดมทุนผ่านการ Initial Coin Offering (ICO) ทำให้เกิดเป็นยุค ICO Boom

3rd Halving หรือ 3rd Bull Run : บริษัทจดทะเบียนในสหรัฐอย่าง Tesla ($TSLA) และ Microstrategy ($MSTR) ได้ประกาศว่ามีการถือ Bitcoin ใน Balance Sheet รวมถึงมี Application ต่างๆที่น่าสนใจเกิดขึ้นมากมายบน L1 Blockchain เช่น Decentralized Finance (DeFi), GameFi, NFT เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีการทำ Quantitative Easing (QE) ในช่วง COVID ที่เป็นการอัดฉีดเงินเข้าระบบอย่างมหาศาล ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวเป็นขาขึ้นซึ่งก็รวมถึงตลาดคริปโตที่ได้รับอานิสงค์ไปด้วย

2.2 การปรับตัวของราคา Bitcoin เทียบกับปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

อีกหนึ่งมุมมองที่น่าสนใจคือการปรับตัวของราคาในช่วงหลัง Halving นั้นประจวบเหมาะกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินทั่วโลกหรือ Global Money Supply (Global M2) โดยพิจารณาจากการเติบโตของ M2 ของธนาคารกลางใหญ่ๆ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (Fed), ยุโรป (ECB), จีน (PBoC), ญี่ปุ่น (BOJ)

M2 คือปริมาณเงินในระบบที่ประกอบด้วย M1 (ธนบัตร, เหรียญกษาปณ์, เงินฝากกระแสรายวัน) และเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำของประชาชน ซึ่งเมื่อพิจารณา M2 ของธนาคารกลางทั้ง 4 ที่ได้กล่าวไปข้างต้นกับราคาของ Bitcoin แล้วจะพบว่าในช่วงที่ Bitcoin ปรับตัวเป็นขาขึ้นนั้นเป็นช่วงเดียวกับการที่ Global M2 (YoY) มีปริมาณสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ที่ซึ่งอาจเป็นความบังเอิญที่ตรงกับช่วงระยะเวลาประมาณ 4 ปีของ Bitcoin Halving พอดี

ซึ่งถ้าหากราคาของ Bitcoin มีความสัมพันธ์กับปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นจริงๆ สิ่งที่เราต้องจับตามองสำหรับ Bull Run รอบต่อไปก็คือนโยบายการเงินของธนาคารกลางยักษ์ใหญ่เหล่านั้นโดยเฉพาะสหรัฐว่าจะมีการผ่อนคลายหรือกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อไร ซึ่งจะมีการพูดถึงภายหลังในบทความนี้

อย่างไรก็ตามการเกิด Halving ก็ใช่ว่าจะไม่มีส่วนส่งผลอะไรกับราคาเนื่องจาก Halving เป็นการลดอัตราการผลิตลงซึ่งเท่ากับว่าทำให้ Bitcoin หายากขึ้น ซึ่งถ้ามีความต้องการ มากขึ้นก็จะทำให้มีแรงซื้อเข้ามาในขณะที่ Supply แทบจะคงที่เพราะในตอนนี้ Bitcoin ถูกขุดออกมาแล้วกว่า 92.7% แล้ว และก็สามารถผลักราคาขึ้นไปได้ โดย Demand นั้นอาจมาในรูปของแรงเก็งกำไรจากเงินที่ถูกอัดฉีดเข้าระบบที่ได้กล่าวถึงไปข้างต้นนั่นเอง

3. ปัจจัยส่งเสริมให้เป็นไปตาม 4-Year Cycle 

จากที่ได้กล่าวไปข้างต้น ปัจจัยที่ทำให้ราคาของ Bitcoin ปรับตัวสูงขึ้นนอกจาก Bitcoin Halving ก็อาจไม่ใช่อะไรแปลกใหม่ที่ไหนแต่ก็คือ

  • สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดในโลกคริปโตที่สามารถดึงคนให้เข้ามาสนใจได้อีกครั้งหรือก็คือ Adoption ที่เพิ่มมากขึ้น 
  • สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการดำเนินนโยบายทางเงินของ Fed

โดยในส่วนต่อไปนี้ ทางเราจะพาไปดูว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทางเราคิดว่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้คนกลับเข้ามาหา Bitcoin และคริปโต รวมถึงคาดการณ์​สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2024 ที่กำลังจะมาถึงด้วยว่าจะส่งเสริมกันได้หรือไม่

3.1 BlackRock ยื่นขอเปิด Bitcoin ETF 

สำหรับ Bitcoin แล้ว สิ่งใหม่ๆ ที่น่าสนใจในโลกของ Bitcoin ก็มีมากมาย แต่คนทั่วไปที่ไม่ได้รู้จัก Bitcoin มาก่อนอาจจะยังเข้าถึงหรือเข้าใจยากไม่ว่าจะเป็น Lightning Network, Nostr เป็นต้น แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผู้คนที่อยู่ในโลกการลงทุนรู้จักเป็นทุนเดิมอยู่แล้วก็คือ Exchange Traded Fund (ETF) 

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา BlackRock ที่เป็นบริษัทจัดการการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ยื่นขอเปิด Bitcoin ETF กับ SEC ของสหรัฐในชื่อ “iShare Bitcoin Trust” ที่ได้ทำให้เป็นที่สนใจทั้งในโลกของบิตคอยน์/คริปโตหรือแม้กระทั่งสายโลกการลงทุนเดิม

ทางเราเชื่อว่าการเคลื่อนไหวของ BlackRock ไม่ใช้แค่จะนำเงินใหม่เข้ามาผ่าน ETF แต่จะทำให้ผู้คนทั่วไปได้ตระหนักถึงการมีอยู่ของ Bitcoin และมั่นใจในสินทรัพย์นี้มากขึ้นด้วยว่าไม่ใช่การหลอกลวงและเปิดใจเข้ามาทำความรู้จักและศึกษาในเชิงลึกมายิ่งขึ้น

ก่อนหน้านี้ ทาง Grayscale, VanEck, WisdomTree ก็เคยยื่นขอ Bitcoin Spot ETF กับ SEC แต่ก็โดนปัดตกมาตลอดด้วยเหตุผลต่างๆ นาๆ แต่กับ iShares ที่เคยยื่นขอเปิด ETF ไปหลายร้อยตัวกับ SEC นั้นแทบไม่เคยโดน SEC ปัดตกเลย โดยอัตราการยื่นผ่านของ iShares นั้นอยู่ที่ 99.98% (ยื่น 575 ตัว ไม่ผ่านแค่ 1 ตัว)

แต่จากอัตราการสำเร็จที่กล่าวมาก็เป็นไปได้สูงว่า BlackRock จะสามารถยื่นผ่านได้อย่างไม่ยากเย็น อีกทั้ง BlackRock ที่เป็นบริษัทจัดการการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย AUM กว่า $9 Trillion นั้นคงมีอำนาจต่อรองกับทางรัฐบาลหรือ SEC ค่อนข้างมากไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม รวมถึงตัว Larry Fink ที่เป็น CEO ก็มี Political Power ค่อนข้างสูงด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ก็ได้ทำให้หลายๆที่ที่เคยยื่นก่อนหน้านี้ก็กลับมายื่นใหม่เพราะเชื่อว่าในรอบนี้โอกาสผ่านสูงเนื่องจากถ้า BlackRock ผ่านก็ไม่มีเหตุผลที่จะไม่ให้ของที่อื่นผ่านด้วย

ในส่วนของวันพิจารณา ตารางด้านบนเป็น Timeline การพิจารณาของ Bitcoin ETF ที่รวมโดย Bloomberg ซึ่งทางเราคาดว่าในสองครั้งแรกของทุกรายน่าจะมีโอกาสโดนเลื่อนการพิจารณาสูง และช่วงที่น่าจับตามองก็จะกลายเป็นช่วงการพิจารณาครั้งที่ 3 และ 4 ที่ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในช่วง Q1/2024 และยังเป็นช่วงก่อนที่เกิด Bitcoin Halving อีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ทางเราคาดว่าทั้งหมดทั้งมวลต้องมาควบคู่กันคือสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและการดำเนินนโยบายทางการเงินของสหรัฐที่ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งในส่วนต่อไปจะเป็นการคาดการณ์สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2024 ว่าจะมีแนวโน้มผ่อนคลายเมื่อไร

3.2 คาดการณ์สถานการณ์ Macroeconomics ในปี 2024 by Merkle Capital

Merkle Capital บริษัทภายใต้ Cryptomind group ซึ่งประกอบธุรกิจผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรกในประเทศไทย ที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. โดยผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นผู้ให้บริการรับจัดการเงินทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อให้นักลงทุนสามารถลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและได้ผลประโยชน์สูงสุด ซึ่งMerkle Capital ได้ให้มุมมองภาพรวมคาดการณ์สถานการณ์ Macroeconomics ในปี 2024 ไว้ดังนี้

Factor 1: FED ในเคสที่แย่ที่สุดสามารถขึ้นดอกได้แค่อีกครั้งเดียวเท่านั้นในปี 2023

หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อ Headline CPI ใน Q4 ของปี 2023 นั้นเริ่มจะถูกกดดันจากปัจจัยของภาคพลังงานจากการลดกำลังการผลิตน้ำมันของรัสเซีย และ ซาอุ ซึ่งส่งผลให้ราคาของภาคพลังงานเริ่มมีราคาเพิ่มสูงขึ้น และเพิ่มในต้นทุนของค่าใช้จ่ายประจำวันของประชาชนสหรัฐมากขึ้น จากภาพด้านบนจะเห็นได้ว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงเสียงแตกในการขึ้นดอกเบี้ยของ FED ในเดือนพฤศจิกายน และเดือนธันวาคม 2023 ที่จะถึงนี้ แต่อย่างไรก็ตามทางเรามองว่าในเคสที่แย่ที่สุด FED อาจจะขึ้นดอกเบี้ยได้อีกครั้งเดียว เพราะถ้าขึ้นมากกว่านี้อาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยแต่ครั้งจะทำให้พันธบัตรชนิด 2ปี 5ปี 10ปี เริ่มมีความผันผวนมากขึ้น ส่งผลให้ภาคฝั่งธนาคารเริ่มได้รับผลกระทบอีกครั้งได้

ด้วยเหตุผลนี้ ส่งผลให้มุมมองต่อตลาดในช่วง ครึ่งปีแรกของ 2024 นั้นเริ่มมีโอกาสที่ FED อาจจะทำการลดอัตราดอกเบี้ยลงมาได้ ถ้าหากมีการคงอัตราดอกเบี้ยในช่วง Q4 2023 จากรูปจะเห็นได้ว่า มีนักลงทุนกว่า 17.4% และ 29.1% เริ่มมองถึงโอกาสการลดอัตราดอกเบี้ยของ FED แล้วในงาน FOMC ในเดือนมีนาคม และ พฤษภาคม 2024 ตามลำดับ นอกจากเรื่องดอกเบี้ยแล้ว ทางเรามองว่า “มีโอกาส” ที่ Fed อาจจะเริ่มทำการผ่อนคลายทางนโบบายทางการเงินอย่างอื่น เช่น ลดจำนวนเงินการทำ QT ลง หรือ หยุดทำ QT ซึ่งปัจจัยนี้อาจจะส่งผลให้ตลาดกลับมาเปิดความเสี่ยงมากขึ้น

Factor 2: ตัวเลข Core Inflation ในภาพใหญ่ เริ่มดิ่งหัวลงแล้ว

จากภาพจะเห็นได้ว่าเงินเฟ้อแบบไม่รวมภาคพลังงานและอาหาร Core Inflation rate นั้น เริ่มดิ่งหัวลงอย่างเห็นได้ชัด แสดงให้เห็นว่าการขึ้นดอกเบี้ยของ FED ในปี 2022-2023 และ QT ที่ผ่านมานั้นเริ่มเห็นผลได้ชัดเจนมากขึ้นแล้ว ซึ่งเป้าหมายที่ FED ต้องการให้ Core Inflation rate ลงมาใกล้เคียงในระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิดที่ระดับประมาณ 2% นั้น ถือว่าอาจจะยังอยู่ไม่ไกลแล้ว (ถ้าทำได้ลงมาถึงต่ำกว่า 4% ได้ ถือว่าเริ่มเห็นโอกาสประสบความสำเร็จแล้ว) บวกกับถ้า FED ยังสามารถบาลานซ์ตลาดแรงงานและดอกเบี้ยได้ และทำให้เศรษฐกิจอเมริกาเจอกับ Soft landing ได้ ก็เป็นเหตุผลเพียงพอแล้วที่ ตลาดทุนจะกลับมามีเม็ดเงินไหลเข้า และเปิดความเสี่ยงกันมากขึ้นในปี 2024

Factor 3: อัตราการจ้างงาน US เริ่มกลับสู่ช่วงก่อนโควิด

จากภาพจะเห็นได้ว่าตลาดแรงงาน Employment Rate เริ่มกลับเข้าสู่ช่วงก่อนโควิดแล้ว หลังจากลดลงในปี 2020 และค่อยๆเพิ่มขึ้นในปี 2021 และ 2022 ภาพนี้ส่งสัญญาณให้เห็นแล้วว่าตลาดแรงงานของของอเมริกาเริ่มกลับเข้าสู่ตลาดงาน และมีงานทำ โดยมีจำนวนเข้าใกล้กับช่วงก่อนเกิดโรคระบาดโควิด ถึงแม้จะยังมีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อเข้ามากวนใจอยู่บ้าง แต่ในภาพรวมยังถือว่าเศรษฐกิจของอเมริกานั้นเริ่มเข้าใกล้ Soft landing หรือ No landing มากขึ้นทุกที ถ้าหาก FED ยังสามารถควบคุมตลาดแรงงานและเงินเฟ้อไปได้ในทิศทางที่ดีได้เรื่อยๆ แบบนี้ ซึ่งสภาวะของตลาดแรงงานแบบนี้ยังสามารถบ่งบอกถึงความเป็นไปได้มากขึ้นว่าในปี 2024 นั้นอาจจะทำให้เศรษฐกิจของอเมริกากลับมาฟื้นตัวได้ไวกว่าประเทศอื่น หลังจากเจอปัญหาก่อกวนมาตั้งแต่ปี 2020 

Factor 4 : การเติบโตของรายได้ของแรงงาน US กำลังกลับสู่จุดสมดุล

อีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจของอเมริกาเริ่มกลับเข้าสู่จุดปกติก็คือ Wages and Salaries Growth หรือ การเติบโตของเงินเดือนและค่าจ้างนั้นเอง ซึ่งในช่วงเงินเฟ้อช่วงที่ FED อัดฉีดหนักๆนั้น ผลักดันให้เงินเดือนและค่าจ้างเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้ต้นทุนของสินค้า และราคาของสินค้าเพิ่มสูงขึ้น เช่นกัน แต่ถ้าเราดูจากภาพด้านบนจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ทำ Top ในปี 2021 การเติบโตของรายได้ของประชาชนใน US เริ่มดรอปหัวลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งก็เกิดจากการที่ FED เริ่มทำนโยบายทางการเงินแบบรัดตัวทั้งการขึ้นดอกเบี้ย และ QT เพื่อทำให้บริษัทหรือธุรกิจที่มีการขึ้นราคาสินค้าต้องกดราคาลงมาเนื่องจากสภาพคล่องที่หดหาย และปัจจุบันตัวการเติบโตของรายได้ของประชาชน US ก็ได้เข้ามาอยู่ในโซนของรายได้ในช่วงก่อนเกิดโรคระบาดโควิดแล้วเช่นกัน ซึ่งสามารถมองได้ว่าเหตุผลของเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นอาจจะมีผลจากค่าจ้างนั้น “เริ่มไม่มีผล” แล้วนั่นเอง

Conclusion 

ปัจจัยที่มีผลต่อตลาด Macroeconomics ทั้งเรื่องดอกเบี้ยของธนาคารกลาง (Fed Fund Rate) การเติบโตของตัวเลขเงินเฟ้อโดยแท้จริง (Core CPI) อัตราการจ้างงาน (Employment Rate) และการเติบโตของรายได้ของประชาชน (Wage Growth) เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่ช่วยให้เห็นถึงภาพรวมของเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา การวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า “เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและกลับสู่สภาวะปกติ” หลังจากอดีตที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19

หากธนาคารกลาง (FED) สามารถรักษาตลาดแรงงานและควบคุมเงินเฟ้อได้อย่างเหมาะสม อาจมีโอกาสที่จะเห็นการไหลเข้าของเงินในตลาดทุนมากขึ้นในปี 2024 นอกจากนี้ นักลงทุนทั่วโลกก็จะเริ่มกลับมีความเสี่ยงในการลงทุนมากขึ้นนั่นเอง 

4. Technical Analysis by Cryptomind Advisory

นอกจากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น การดูกราฟเชิง Techincal Analysis ในภาพใหญ่ก็เป็นอีกหนึ่งทางที่ช่วยให้เสริมความมั่นใจในการซื้อขายได้มากขึ้น ซึ่งหากลองดูกราฟย้อนหลังแล้วจะเห็นว่ามีโอกาสสูงที่จุดต่ำสุดจะได้ผ่านไปแล้ว

เนื่องจาก RSI ใน TF Week ลงมาในจุด Oversold ในช่วงกลาง-ปลายเดือนมิถุนายน 2022 ซึ่งจาก 2 Cycle ก่อนหน้านี้จะเห็นได้ว่าช่วงที่  RSI ใน TF Week ลงมาในจุด Oversold นั้นเป็นช่วงที่ใกล้เคียงจุดต่ำสุดของรอบนั้นๆ โดยในรอบนี้แม้ว่าจะมีการปรับตัวลงหลังจากนั้น แต่ RSI กลับยกตัวสูงขึ้นซึ่งเป็นสัญญาณ Bullish Divergence ที่หลายคนชอบใช้ดูการกลับตัวของราคา

ส่วนในภาพระยะสั้นที่พิจารณาใน TF Day ทาง Cryptomind Advisory มองว่าในตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงปรับฐานจากการปรับตัวขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2023 ที่ขึ้นมาได้เกือบ 100% ซึ่งตอนนี้ราคาได้หลุด Trendline ใหญ่มาอยู่ในช่วงราคาแถวๆ $25,000 ซึ่งเป็นแนวรับที่ค่อนข้างแข็งแรงที่หากแนวรับนี้สามารถรับอยู่ก็จะยังทำให้ BTC ยังไม่เสียเทรนด์ขาขึ้น แต่ราคาก็อาจไม่ได้ขึ้นต่อแต่จะเป็น Sideway ในช่วงกว้างๆ ที่กรอบ $25,000 -$31,000 แทน

แต่ถ้าหากหลุดแนวรับช่วง $25,000 ไปก็อาจเป็นไปได้ที่จะลงไปสู่ระดับ $20,000 หรืออาจต่ำกว่านั้นแต่ไม่น่าจะทำ New Low ทำให้โดยสรุปแล้วในระยาวคาดว่าจะเป็นการ Sideway เป็น consolidation zoneในกรอบใหญ่ช่วง $16,000 – $31,000 หากไม่มี Catalyst ใหญ่ๆ มาคอยผลักตลาดให้ราคาหลุดกรอบไม่ว่าจะเป็นแง่บวกหรือแง่ลบ ทำให้ช่วงราคา $16,000 – $31,000 เป็นช่วงที่น่าพิจารณาเข้าสะสม Bitcoin อย่างมาก

5. On-chain Data ของ Bitcoin ที่น่าสนใจ

ในโลกของ Blcokchain ที่ทุกคนสามารถมองเห็นธุรกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นบน Network ได้อย่างเท่าเทียมนั้นทำให้เราสามารถนำข้อมูลที่เกิดขึ้นบน Network มาวิเคราะห์ได้อย่างอิสระ ซึ่งอาจทำให้เราเจอข้อมูลที่น่าสนใจและนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนได้ โดยในบทความนี้จะนำเสนอ 2 indicator ที่ทางเราคิดว่าน่าสนใจในช่วงนี้

5.1 Market Value to Realized Value Ratio (MVRV Ratio)

MVRV Ratio เป็นหนึ่งใน On-chain indicator ที่ทางเราชื่นชอบเป็นพิเศษในการพิจารณาว่าช่วงไหนเป็นช่วงที่น่าเก็บสะสม โดย MVRV Ratio ก็คืออัตราส่วนระหว่าง มูลค่าการตลาดของ Bitcoin ที่ถูกเคลื่อนย้ายในรอบ 5 ปี (Market Value) กับ ผลรวมของมูลค่า Bitcoin ในตอนที่มันถูกเคลื่อนย้ายครั้งสุดท้ายบน Chain (Realized Value)

ค่า MVRV สามารถบ่งบอกได้ว่าราคา Fair Value ของ Bitcoin อยู่ที่ไหนหรือให้พูดง่ายๆคือ ถ้าค่านี้สูงแปลว่ามีคนที่ซื้อของถูกจำนวนมากและราคา Bitcoin ตอนนี้แพง มีโอกาสที่ Bitcoin จะถูกเทขายเพื่อทำกำไร และถ้าค่านี้ต่ำแปลว่าเราจะสามารถเก็บของในราคาที่ถูกกว่าคนอื่นหรือเท่ากับคนอื่น

โดยถ้าค่า MVRV นั้นมากกว่า 3 เป็นเวลานานนั้นจะบ่งบอกถึงสัญญาณอันตราย ที่อาจจะเกิด Bubble สูงในตลาด ซึ่งถ้าย้อนหลังไปก็จะตรงกับช่วง Bubble ตอนต้นปี 2018 และกลางปี 2021 ที่เป็นช่วงที่ราคา Bitcoin ทำจุดสูงสุดในรอบนั้นพอดี ทำให้เมื่อ MVRV Ratio มากกว่า 3 นั้นเป็นช่วงที่ดีในการทยอยทำกำไร

แต่ถ้าค่านี้ต่ำกว่า 1 ก็จะเป็นการแสดงสัญญาณซื้อที่ดีที่สุดของ Bitcoin เนื่องจากหากพิจารณาสถิติย้อนหลังจะพบว่าช่วงที่ราคา Bitcoin ทำจุดต่ำสุดก็จะเป็นช่วงที่ MVRV Ratio ต่ำกว่า 1 นั่นเอง

และในตอนนี้ราคาก็อยู่ในช่วงปรับฐานที่ MVRV Ratio ตกลงมาที่ราวๆ 1.27 ซึ่งก็ถือว่าเป็นช่วงที่น่าสะสม แถมยังสอดคล้องกับปัจจัยทาง Technical Analysis ด้วย

5.2 Bitcoin Balance in Centralized Exchanges

อีกหนึ่ง On-chain Data ของ Bitcoin ที่ทางเราสนใจและเลือกที่จะหยิบยกมาแสดงในบทความนี้คือ “จำนวน Bitcoin ที่อยู่ใน Centralized Exhanges” โดยทาง coinglass ได้รวบรวมข้อมูลจาก Exchange ชั้นนำจำนวน 20 แห่ง

จากกราฟจะเห็นได้ว่าในตอนนี้จำนวน Bitcoin ใน Centralized Exhanges เหลืออยู่เพียงประมาณ 1.84m BTC จากปลายปี 2022 ที่ทางเราคาดว่าเป็นช่วงที่ราคาอยู่ในช่วงต่ำสุดของรอบซึ่งในตอนนั้นมีจำนวน BTC ใน Exchange อยู่ที่ 2.26m BTC หรือคิดเป็นการลดลง 18.584%

โดยการลดลงดังกล่าว ทางเราคาดว่าเป็นการที่หลายคนกลัว Exchange มีปัญหาแบบในกรณีของ FTX ก็เลยถอน Bitcoin ออกจาก Exchange มาเก็บเองและอีกส่วนหนึ่งก็คือการที่มีคนทยอยเก็บสะสม Bitcoin อยู่เรื่อยๆ

การที่จำนวน Bitcoin ใน Centralized Exhange ลดลงอีกมุมหนึ่งก็จะทำให้สภาพคล่องลดลง ซึ่งในปัจจุบัน 1.84m BTC นั้นก็คิดเป็นเพียงประมาณ 9.44% จาก Circulating Supply ที่ 19.49m BTC เท่านั้น ทำให้หากมีกำลังซื้อเข้ามาเยอะๆ ไม่ว่าจะจากกองทุนหรือรายย่อย ก็จะสามารถผลักราคาขึ้นไปได้ไม่ยากเพราะ Supply ที่มีให้ซื้อขายน้อยกว่า Demand มากๆ นั่นเอง

6. สัมภาษณ์นายพีรพัฒน์ หาญคงแก้ว (CIO-Cryptomind Advisory)

นายพีรพัฒน์ หาญคงแก้ว ในปัจจุบันเป็น

  • Chief Investment Officer (CIO) ของบริษัท Cryptomind Advisory 
  • เจ้าของเพจ Blockchain Review 
  • กรรมการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัล (Thai Digital Asset Association)
  • ผู้เขียนหนังสือ Bitcoin และ Cryptocurrency ที่มียอดขายสูงสุดในเมืองไทยมากมาย ได้แก่ Bitcoin & Blockchain 101 เงินดิจิทัลเปลี่ยนโลก, Digital Asset 101 จาก Bitcoin สู่การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล และ DeFi Faming 101 เส้นทางการลงทุนฉบับชาวนาโลกดิจิทัล 
  • ผู้แปลหนังสือ The Bitcoin Standard ระบบการเงินทางเลือกใหม่ไร้ศูนย์กลาง

_________________________________________________________________________

Q : ตลาดคริปโทฯ หลัง Bitcoin Halving จะกลับมาเป็นขาขึ้นตามทฤษฎี 4-year Cycle เหมือนที่เคยเกิดขึ้นหรือไม่

A : ในมุมมองส่วนตัวที่ได้ลงทุนในตลาด Crypto มา จะให้น้ำหนักไปที่ Macro ค่อนข้างมากกว่าปัจจัยพื้นฐานของเหรียญแต่ละเหรียญ เนื่องจากตลาดนั้นแม้อาจจะดูใหญ่แต่มันก็เล็กมากเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆในระดับโลกและยังมี Liquidity ที่สามารถ Settle โดยกำแพงทำให้มันมีความอ่อนไหว

ดังนั้นแล้วในสถานการณ์ปกติที่ไม่มี Event Support จึงมองว่า Macro เป็นปัจจัยใหญ่ที่ส่งผลต่อราคา Bitcoin ซึ่งทางเราคิดว่าในช่วงที่ Bitcoin Halving พอดีนั้นจะเป็นช่วงที่ดีมากเพราะจะมีทั้ง Event Support อย่าง Bitcoin ETF และกระแส Halving ตามด้วยความเป็นไปได้ของ Macro ที่อาจจะเกิดการลดดอกเบี้ยในช่วงหลางปี 2024

อย่างไรก็ตามตลาด Macro นั้นมีความไม่แน่นอนอยู่เสมอแม้จะมี Event Support มากมายแต่หาก Macro ยังไม่ตีตัวกลับ ตลาด Crypto ก็ยังยากเข้าสู่ Bull run เต็มตัวแต่ก็ต้องยอมรับว่าจากสถานการณ์ปัจจุบันในช่วงกลางปีหน้าเป็นจุดที่ Sentiment นั้นค่อนข้างดีมากที่น่าจับตามองที่สุดในรอบหลายปี

7. Asset Allocation for BTC Halving & Opportunity

เนื่องจาก Narrative ของ Bitcoin Halving บวกกับปัจจัยของ Bitcoin Spot ETF ที่มีโอกาสจะผ่าน และเกิดขึ้นในช่วงท้ายปีและต้นปี 2024 นั้นพร้อมกับช่วงที่ FED อาจจะเริ่มผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน ทาง Cryptomind Advisory จึงขอนำเสนอสัดส่วนของ Portfolio ที่เหมาะสำหรับการรับ Narrative ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นดังนี้

Situation 1: เมื่อราคาของ Bitcoin ขยับด้วย Narrative ข้างต้นอาจจะทำให้ Bitcoin Dominace เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นในช่วงเวลาที่ Bitcoin Dominance กำลังอยู่ในโซนมากกว่า 45 และใกล้ๆ 50 จะแนะนำให้มีสัดส่วนของ Bitcoin ให้เยอะไว้ก่อน เพื่อรับผลประโยชน์สูงสุดจาก Narrative ดังกล่าวและมีสัดส่วนของ Stablecoin ไว้บางส่วนเพื่อใช้ใน Allocation เผื่อในเคสที่ช่วงที่ราคา Bitcoin ย่อในระยะสั้น เพื่อทำการเฉลี่ยราคา (ไม่แนะนำให้ซื้อไม้เดียว) และถือ Altcoin ที่มีพื้นฐานดีในสัดส่วนที่น้อย

Situation 2: เมื่อ Bitcoin Dominance ลดลงสู่ระดับ ต่ำกว่า 44 และ 40 แสดงให้เห็นว่าเม็ดเงินเริ่มไหลไปในฝั่งของ Altcoin  มากขึ้น ในช่วงนั้นจะเริ่มขยับสัดส่วนจาก Bitcoin และ Stablecoin บางส่วนไปเพิ่มใน Altcoin มากขึ้นเพื่อรีดผลตอบแทนสูงสุดในช่วง Altcoin Season แต่ก็ยังคงสัดส่วนของ Bitcoin และ Stablecoin เอาไว้เพื่อลด Drawdown ของพอร์ตโดยรวมในสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงและคำนึงถึงโอกาสได้เข้าซื้อในช่วงราคาย่อในระยะสั้น


** สินทรัพย์ดิจิทัลและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยง นักลงทุนมีโอกาสสูญเสียเงินลงทุนเต็มจำนวนได้ ดังนั้นควรตัดสินใจและพิจารณาให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน**

Authors

Share :
Related
CoinTalk (6 September 2024) – จับตา FED เตรียมลดดอกครั้งแรก
CoinTalk (24 August 2024) – ถึงเวลาเหรียญ DEFI OG ?
Technical Analysis $SOL $WIF โดย Cryptomind Advisory (22 Aug 24)
CoinTalk (16 August 2024) – ตัวเลขดูดี เตรียม Soft Landing ?