Search
Close this search box.

เข้าสู่ยุคใหม่ของ Bitcoin ? พาส่อง Bitcoin Ecosystem ปี 2024 

Share :
Screenshot 2567-04-24 at 12.08.08

Table of Contents

Introduction

Bitcoin Ecosystem ถือเป็นระบบที่มีความกระจายศูนย์และแข็งแกร่งมากแต่ติดขอบเขตที่ระบบไม่ได้ถูกออกแบบให้เกิดการต่อยอดได้เช่นการเขียน Smart Contract อย่าง Ethereum หรือ Alternative Layer 1 ต่างๆที่ถือเป็น Smart Contract Platforms ที่ทำให้เกิดการต่อยอดเป็นทั้ง DeFi, SocialFi รวมถึง NFTs

แต่ปัจจุบันคนในชุมชนของ Bitcoin บางส่วนก็ไม่ยอมแพ้ที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ Bitcoin สามารถรองรับการใช้งานที่หลากหลายและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกรรม หนึ่งในการพัฒนาที่น่าสนใจคือการใช้งาน Incriptions ซึ่งเป็นการบันทึกข้อมูลหรือข้อความลงในธุรกรรมของ Bitcoin ทำให้สามารถสร้างการใช้งานใหม่ ๆ บนบล็อกเชนของ Bitcoin ได้

การพัฒนาที่สำคัญอีกอย่างคือ Lightning Network ซึ่งเป็นระบบอีก Layer ที่ทำงานอยู่เหนือบล็อกเชนหลักของ Bitcoin เพื่อเพิ่มความเร็วและลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรม นอกจากนี้ยังมีการพัฒนา Bitcoin Layer 2 ซึ่งรวมถึง Lightning Network และโซลูชันอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการใช้งานของ Bitcoin ได้อย่างกว้างขวางและหลากหลายมากขึ้น

ในส่วนของมาตรฐานโทเค็น มีการนำเสนอ BRC20 ซึ่งเป็นมาตรฐานโทเค็นบนบล็อกเชนของ Bitcoin ที่ถูกพัฒนาโดยทีมของ Ordinal โดยมาตรฐานนี้ช่วยให้นักพัฒนาสามารถสร้างโทเค็นที่สามารถแลกเปลี่ยนและใช้งานได้ภายใน Ecosystem ของ Bitcoin การมีมาตรฐานโทเค็นที่เป็นที่ยอมรับช่วยให้การพัฒนาแอปพลิเคชันที่ใช้งานโทเค็นบน Bitcoin ง่ายขึ้นและเปิดโอกาสใหม่ ๆ ในการสร้าง Products & Services ทางการเงินบนบล็อกเชนของ Bitcoin

โดยรวมแล้ว Bitcoin Ecosystem กำลังเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการนำเสนอเทคโนโลยีและมาตรฐานใหม่ๆทั้ง Layer 2 ที่รองรับ EVM และมีระบบการยืนยันธุรกรรมแบบ Zero-Knowledge Proof รวมถึงการนำแนวคิดของ Modular Blockchain มาปรับใช้กับการสร้าง Bitcoin Layer 2 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการใช้งาน Bitcoin ในหลากหลายรูปแบบ ถือเป็นการพยายามทลายข้อจัดกัดของ Bitcoin เพื่อเพิ่มการใช้งานมาสู่ Ecosystem นั่นเอง

Inscription กับการสลักข้อมูลลงใน Bitcoin

บรรดา Blockchain ต่างๆที่รองรับ Smart Contracts อย่าง Ethereum, Solana และอื่นๆ สามารถบันทึกข้อมูล และทำการส่งต่อความเป็นเจ้าของข้อมูลต่างๆผ่าน Smart Contracts ได้ ส่งผลให้มีการใช้ข้อมูลในรูปแบบต่างๆมากมาย เช่น การสร้างเหรียญต่างๆ หรือการสร้าง NFT รูปแบบต่างๆ

แต่ในทางของ Bitcoin ที่ไม่ได้มีการออกแบบโครงสร้างให้รองรับ Smart Contracts หรือธุรกรรมที่มีความซับซ้อนอย่าง Blockchain อื่นๆ หากต้องการจะขยายความเป็นไปได้เหล่านี้จึงต้องมีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป และสิ่งนี้เป็นที่มาของการทำ Inscription

คำว่า ‘Inscription’ โดยความหมายทั่วไปหมายถึงการเขียนหรือสลักลงบนพื้นผิวของวัตถุบางอย่าง เพื่อเป็นการบันทึกข้อมูลที่สำคัญหรือเหตุการณ์ต่างๆ

Bitcoin นำคอนเซ็ปต์ของการ Inscription นี้เองเข้ามาพัฒนา แทนที่จะทำการสลักข้อมูลลงบนวัตถุป ข้อมูลจะถูกนำมาบันทึกลงบนหน่วยย่อยที่สุดของ Bitcoin ซึ่งก็คือหน่วย Satoshi หรือ SAT (มูลค่าเท่ากับ 0.00000001 BTC) และข้อมูลเหล่านั้นจะเป็นข้อมูลในรูปแบบไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพและอื่นๆ ความเป็นไปได้นี้เกิดจากการ Taproot Upgrade ของ Bitcoin ในปี 2021 ซึ่งเป็นการเปิดให้สามารถบันทึกข้อมูลลงในแต่ละบล็อกได้มากขึ้น เป็นการเก็บข้อมูลที่จะนำมา inscribe ลงบนแต่ละ SAT นั่นเอง

ขอบคุณภาพจาก https://unchained.com/blog/bitcoin-inscriptions-ordinals/

หากนึกภาพตามให้ง่ายขึ้น สิ่งนี้เปรียบเสมือนการวาดรูปลงบนเหรียญบาท ซึ่งนอกจากจะสามารถใช้เหรียญบาทเพื่อใช้จ่ายตามมูลค่าเหรียญบาทได้แล้ว เหรียญนั้นๆยังมีรูปวาด(ข้อมูล)ที่สามารถถูกนำมาสะสมหรือใช้งานอื่นๆบนนั้นอีกด้วย

– ระบบ Ordinals: การนับเลข SAT

คำถามคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า SAT ไหนจะถูกนำมาเชื่อมต่อกับข้อมูลที่จะ Inscribe เข้าไป?

Ordinals คือระบบของการเรียงลำดับของ SAT ที่ถูกขุดออกมาตามทฤษฏีการเรียงลำดับ Ordinals Theory ทำให้แต่ละหน่วย SAT จะมีเลขเฉพาะของแต่ละตัวเองตามลำดับของ SAT ที่ถูกขุดออกมา (1, 2, 3, ..) เลขนี้จะเป็นตัวที่เอาไว้เพื่อชี้ว่า SAT ลำดับที่เท่าไหร่จะถูก inscribe ด้วยข้อมูลชุดไหน ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้เองจำถูกบันทึกข้อมูลอยู่บนบล็อกที่ถูกขุดออกมาและเก็บข้อมูลการ inscribe ไว้

Wallet พิเศษต่างๆ เช่น X-Verse, Magic Eden Wallet และอื่นๆ ถูกพัฒนามาเพื่ออ่านข้อมูลพิเศษเหล่านี้โดยเฉพาะ เพื่อให้สามารถบ่งบอกได้ว่า SAT ไหนที่มีข้อมูลที่ถูก inscribe ไว้บ้าง และมีการรองรับการส่ง SAT เดี่ยวๆนั้น คล้ายคลึงกับการส่ง NFT บน Blockchain อื่นๆ

– Ordinals ถูกนำมาใช้งานในรูปแบบไหนบ้าง?

ขอบคุณภาพจาก X (https://x.com/its_airdrop/status/1625841948258078720?s=20)

เมื่อสามารถบันทึกข้อมูลต่างๆได้ คนจึงเริ่มทำการทดลองในการใส่ข้อมูลเพื่อใช้งานมากขึ้น เช่น

  • การสร้างเหรียญโทเคนต่างๆ เช่น ORDI (Ordinals)
  • การบันทึกภาพต่างๆ คล้ายคลึงกับ NFT เช่น NodeMonkes
  • การบันทึกข้อมูลของ Transaction ต่างๆบน Bitcoin Layer 2 บางประเภท

ทั้งหมดนี้ถูกทดลองมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อหาความเป็นไปได้ต่างๆในการพัฒนา Bitcoin

หากนำ Ordinals ทั้งหมดมาเทียบในตลาด NFT บน Blockchain อื่นๆในปีที่ผ่านมาแล้ว Bitcoin Ordinals เรียกได้ว่ามีความนิยมสูงมาก และในหลายจังหวะนั้นมี Volume การเทรด NFT ที่เทียบเคียงกับ NFT บน Ethereum ได้ บ่งบอกถึงความสนใจของผู้ใช้งานที่เข้ามาสู่ Bitcoin Ordinals

ขอบคุณภาพจาก Cryptoslam (วันที่ 1 เมษายน 2024)

– Decentralized Data

หนึ่งสิ่งที่คนมักจะพูดถึงว่า Ordinals เหนือกว่า NFT คือ NFT ทั่วไปจำเป็นต้องทำการเก็บข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ วีดีโอ หรือข้อความในฐานข้อมูล IPFS (Off-chain) ซึ่งเป็นการแยกส่วนกันอย่างชัดเจน ในขณะที่ Ordinals เก็บข้อมูลทุกอย่างลงในบล็อกเอง ทุกอย่างอยู่ใน Bitcoin Blockchain ทั้งหมด ทำให้มีความน่าเชื่อถือและ Decentralized กว่า

– ข้อจำกัดของ Ordinals

แม้ว่า Ordinals เป็นตัวช่วยเบิกทางให้กับความเป็นไปได้ใหม่ๆบน Bitcoin แต่การที่ไม่มี Smart Contracts เหมือนกับ Layer 1 อื่นๆ ทำให้เกิดการต่อยอดที่จำกัดเป็นอย่างมาก เพราะหากมองจากในมุมมองของ NFT ข้อมูลต่างๆมีความพิเศษเพราะสามารถนำไปต่อยอดได้ สามารถที่จะใส่ Smart Contracts แบ่งรายได้ให้กับผู้สร้าง NFT ในทุกธุรกรรมได้ เมื่อเทียบกับ Ordinals แล้วหาก Ordinals เป็นเพียงแค่การเก็บข้อมูลและต่อยอดไม่ได้

การที่ระบบการนับลำดับ Ordinals เป็นระบบที่เพิ่มความซับซ้อน และไม่ได้ถูกรองรับด้วยระบบดั้งเดิมของ Bitcoin จึงจำเป็นต้องมี Wallet พิเศษที่รองรับและตรวจสอบการ Inscription ของ SAT แต่ละเลข

นอกเหนือจากนี้การ Inscribe จะมีค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นตามขนาดของข้อมูลต่างๆที่ถูกบันทึกลงใน ฺBlock ของ ฺBitcoin หากต้องการสร้าง Ordinals ที่มีขนาดใหญ่ ก็จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมมากตาม ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่สำคัญมากสำหรับการใช้งานและการเข้าถึงสำหรับคนทั่วไป อีกทั้งเมื่อมีการทำ Inscribe มากใน Network ค่าธรรมเรียมในการใช้งาน Bitcoin ทั่วไปก็จะแพงมากขึ้นอีก

ในภาพรวมแล้ว Ordinals ยังคงมีข้อจำกัดอยู่เยอะมาก และยังไม่ได้มีมาตรฐานที่ชัดเจนให้ใช้งานได้ง่าย แต่สิ่งนี้อาจจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ เมื่อเหล่าผู้ทดลองได้เจอเส้นทางใหม่ๆในการพัฒนาต่อไป

Rune Protocol มาตรฐานใหม่บน Bitcoin ปังหรือพัง !!

ก่อนหน้านี้มีกระแสที่โด่งดังของ BRC-20 และ Ordinals ทำให้การใช้งานบน Bitcoin เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล สิ่งนี้เกิดจากการอัพเกรด Taproot ทำให้สามารถเก็บข้อมูลต่างๆลงบน Block ได้มากขึ้น มีการนำมาพลิกแพลงใช้งานอย่างหลากหลาย เช่น การสร้าง Ordinals (NFT) และ Memecoins

ถึงแม้ว่าจะมีการพยายามสร้าง Token ต่างๆในมาตรฐาน BRC-20 เช่น $ORDI $SAT แต่มาตรฐานนี้ก็เต็มไปด้วยข้อจำกัดที่หลากหลาย BRC-20 ถูกใช้ในรูปแบบ Token แต่คุณสมบัติมีความคล้ายคลึงกับ NFT มากกว่า และจำเป็นต้องนำมาขายเป็นก้อนๆตาม Marketplace ต่างๆ

BRC-20 ถูกสร้างบนพื้นฐานของ Ordinals theory หรือการนับลำดับของหน่วย SAT บน Bitcoin และชี้ว่า ข้อมูลนั้นๆถูกสลักอยู่ใน SAT ที่เท่าไหร่ (1, 2, 3, 4, …) ทำให้การนับตัวเลข Ordinals เป็นการเพิ่มความซับซ้อนให้กับระบบอีกขั้น อีกทั้งการทำ inscription ยังต้องเขียนข้อมูลมหาศาลลงในแต่ละ Block ซึ่งถึงแม้ว่ามีการรองรับเพิ่มขึ้นแล้ว สิ่งนี้ยังทำให้ระบบค่อนข้างแออัด ทิ้งข้อมูลเหลือค้างไว้เต็มระบบ และมีค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นอย่างมากในหลายๆช่วงเวลา

ด้วยเหตุเหล่านี้ @rodarmor ผู้สร้าง Ordinals จึงนำเสนอ Token ในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “Runes“ ที่มีคุณสมบัติมีความเป็น Fungible Token หรือมีความคล้ายคลึงกับ Token ที่คนคุ้นเคยกันมากขึ้น ซึ่งข้อดีของ Runes มีดังนี้ 

– ถูกสร้างบนพื้นฐาน UTXO ซึ่งเป็นระบบดั้งเดิมของ Bitcoin ทำให้ทำงานด้วยกันง่ายขึ้น

– สร้าง On-chain footprint น้อย ลดความแออัดในระบบ

– สามารถนำไปต่อยอดขึ้นไปบน Layer 2 ต่อไปได้อย่างง่าย

Runes Protocol ได้ขึ้นมาบนอยู่ Mainnet เป็นที่เรียบร้อยแล้วใน Block 840,000 (Halving พอดี)ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่า หลัง Halving จะมีเหรียญที่เกิดขึ้นใหม่อย่างมหาศาล ทั้ง Token ทั่วไปและเหรียญ Meme รวมไปถึง dApp ที่จะมารองรับ

ช่วงที่ผ่านมา หลากหลายโปรเจกต์เริ่มมีการพูดถึงการแจก Runes ของโปรเจกต์เหล่านั้นหลัง Halving ซึ่งแต่ละที่จะมีเกณฑ์การแจกที่แตกต่างกันออกไป บ้างจะให้ถือ และ Snapshot ทุกๆ X Block และแจกให้ตามจำนวนนั้นๆ โปรเจกต์เหล่านี้จะเรียกว่า Pre-Runes

Runes เป็น Fungible Token รูปแบบใหม่ใน Bitcoin Ecosystem ที่พร้อมเปิดตัวหลัง Halving พร้อมกับหลากหลาย dApp ที่ตามมา อย่างไรก็ตาม Runes ก็ยังใหม่มาก และเมื่อเปิดตัวพร้อมกันทั้งหมด ก็ยากที่จะแยกความน่าเชื่อถือของแต่ละโปรเจกต์อย่างชัดเจน ควรระมัดระวังเป็นอย่างมาก

Lightning Network เครือข่ายที่เข้ามาแก้ไขปัญหาความล่าของ Bitcoin

ขอบคุณภาพจาก https://bitpay.com/blog/what-is-the-lightning-network/ 

Lightning Network เข้ามาแก้ปัญหา Scalability ของ Bitcoin ได้โดยการสร้างอีก Network หนึ่งบน Bitcoin Blockchain โดยมุ่งเน้นไปที่ความสามารถด้าน Payment ที่ทำให้การโอน Bitcoin ไปมาทำได้แบบเสี้ยววินาทีและค่าธรรมเนียมต่ำ ทำให้ Lightning Network นั้นเปรียบเสมือน Layer 2 ของ Bitcoin Blockchain

โดยสิ่งที่ทำให้การรับส่ง Bitcoin บน Lightning Network นั้นรวดเร็วและค่าธรรมเนียมถูกก็เพราะเป็นการทำธุรกรรมแบบไม่ได้มีการปิดธุรกรรมลงบนบล็อกเชนหลัก (Off-chain Transaction) แต่จะถูกบันทึกลงบล็อกเชนหลักในที่นี้คือ Bitcoin Blockchain ภายหลังก็ต่อเมื่อผู้ใช้งานไม่ต้องการใช้งาน Lightning Network แล้ว

หลักการของ Lightning Network คือ การสร้างกระเป๋ากลางมาหนึ่งกระเป๋าแล้วให้สองฝ่ายโอนเงินเข้ามาที่กระเป๋ากลางโดยกระเป๋านี้มีเงื่อนไขว่าทั้งคู่ต้องมาเซ็นใบเบิกถอนทั้งสองคนจึงจะสามารถถอนเงินจากกระเป๋ากลางไปได้ (2-of-2 Multisignature Contract)

แล้วเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการทำธุรกรรม Lightning Node ของทั้งสองฝ่ายก็แค่บันทึกว่าใครใช้จ่ายอะไรไปบ้างแล้วแต่ละคนเหลือยอดเงินเท่าไหร่ ซึ่งการกระทำตรงนี้สามารถทำได้แบบไม่จบไม่สิ้นและรวดเร็วมากเพราะเป็นการบันทึกตัวเลขระหว่างสองฝ่ายเท่านั้น โดยช่องทางการรับ-ส่ง Bitcoin ระหว่างสองฝ่ายนี้จะถูกเรียกว่า “Lightning Channel”

เมื่อทั้งสองฝ่ายต้องการจะเลิกใช้งาน Lightning Network ก็เพียงแค่นำสมุดบัญชีของแต่ละฝ่ายมาเปิดดูว่ายอดคงเหลือที่บันทึกของแต่ละคนตรงกันหรือไม่ ซึ่งถ้าหากตรงกันก็ทำการเซ็นยินยอมทั้งคู่เพื่อนำเงินจากกระเป๋ากลางแจกจ่ายให้ทั้งคู่ตามยอดเงินที่คงเหลือ (ปิด Lightning Channel) ซึ่งการแจกจ่ายคืนทั้งสองฝ่ายนั้นจะเป็นการบันทึกธุรกรรมลงบน Bitcoin Network ที่เป็นบล็อกเชนหลัก

โดยการยกตัวอย่างด้านบนเป็นเพียงการเชื่อมต่อระหว่างสองคนเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว Lightning Network สามารถเชื่อมต่อกันได้แบบไม่รู้จบ ซึ่งในปัจจุบันมี Bitcoin อยู่บน Lightning Network แล้วกว่า 4,880 BTC (~$130m) พร้อมกับ Lightning Node อีก 15,434 โหนด และ Lightning Channel กว่า 68,117 แชนแนล (Source: mempool.space)

Use Case ต่างๆของ Lightning Network

ขอบคุณภาพจาก https://www.reuters.com/technology/pros-cons-el-salvador-first-bitcoin-nation-2021-09-06/ 

ในประเทศ El Salvador ที่นำโดย Nayib Bukele ประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่เรียกว่าเป็นคนที่ชื่นชอบ Bitcoin จนมีการปรับใช้ให้ Bitcoin สามารถใช้จ่ายแทนเงินสดได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และ ยังมีการซื้อ Bitcoin มาเป็นทุนสำรองของประเทศอีกด้วย และแน่นอนว่าร้านค้าต่างๆในประเทศ El Salvador ก็มีการรับชำระเงินด้วย Bitcoin ผ่าน Lightning Network ด้วยเช่นกัน

หรือแม้กระทั่งมีแอปพลิเคชันที่น่าสนใจมาสร้างบน Lightning Network อย่าง Decentralized Social Media อย่าง Nostr ที่มีอยู่ใช้งานมากกว่า 600,000 คน โดยผู้ใช้งานสามารถส่งเงินให้กันได้ผ่าน Lightning Network โดยจะเรียกว่า “Zap” ซึ่งในปัจจุบันส่ง Bitcoin ผ่าน Lightning Network บน Nostr มากกว่า 2,000,000 ครั้ง รวมมูลค่ากว่า 258 BTC แถมยังสามารถทำรายการ Live Stream ผ่านช่องทาง Zapstream ได้อีกด้วย

ข้อดีของ Lightning Network 

เนื่องจาก Lightning Network เข้ามาช่วยแก้ปัญหา Scaling ของ Bitcoin ข้อดีของ Lightning Network คือ

  • การทำธุรกรรม รวดเร็ว สามารถรองรับธุรกรรมได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเหมาะกับการใช้ในวงกว้าง
  • ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมตำ่มาก
  • ช่วยลดความแออัดบน Bitcoin ทำให้ค่าธรรมเนียมไม่พุ่งสูง เนื่องจากข้อมูลการทำธุรกรรมต่างๆจะถูกบันทึกบน Bitcoin ตอนที่ปิด Channel
  • การทำธุรกรรมมีความเป็นส่วนตัวมากยิ่งขึ้น

ข้อจำกัด Lightning Network

ถึงแม้ Lightning Network จะมีข้อดีเรื่องการ Scaling และ ค่าธรรมเนียมที่ถูกลง แต่แน่นอนว่ามันก็มีข้อจำกัดเช่นกัน คือ

  • ปัญหาเรื่อง Centralization ซึ่งบาง Lightning Channel อาจจะมีโหนดที่คอยตรวจสอบธุรกรรมอยู่เพียงไม่กี่โหนดเท่านั้น
  • เนื่องจากเป็นการทำธุรกรรมแบบ Off-chain ความโปร่งใส อาจจะไม่เท่ากับการทำธุรกรรมบน Bitcoin
  • อีกหนึ่งปัญหา คือ Channel Liquidity หมายความว่าผู้ใช้งานต้องเงินล็อคอยู่ใน Channel มากพอจึงสามารถทำธุรกรรมได้ 

Bitcoin Layer 2 เกิดใหม่

Merlin Chain

ขอบคุณภาพจาก https://docs.merlinchain.io/merlin-docs/architecture 

Merlin chain คือ Layer 2 ประเภท zk rollup บน Bitcoin เข้ามาช่วยในเรื่องของ Scalability เป็น EVM Compatible โดย Infrastructure ของตัว Merlin Chain นั้นสร้างมาจากเทคโนโลยีของ Polygon (คาดว่ามาจาก Polygon CDK ที่เป็น Tech Stack ของทีม Polygon) และซัพพอร์ต Bitcoin Native protocol อย่างเช่น BRC-20, Stamps, BRC-420 และ Bitmap เป็นต้น 

โดย Merlin จะไม่ได้เก็บ Data ไว้ที่ Bitcoin ทั้งหมด แต่จะใช้ Celestia เป็น Data Availability Layer โดยคล้ายๆกับการเก็บ Data Off-chain ของฝั่ง Ethereum อย่าง Metis, IMX หรือ Mantle เป็นต้น ซึ่งหมายความว่ารายละเอียดข้อมูลธุรกรรมต่างๆส่วนใหญ่จะไม่ได้ถูกบันทุกลงบน Bitcoin แต่จะถูกเก็บไว้บน Celestia และใช้ Bitcoin เป็น Settlement Layer เท่านั้น จากนั้น Decentralized Oracle Network มัดรวมธุรกรรมต่างๆเป็นในรูปแบบ Taproot แล้วส่งก็บันทึกลงบน Bitcoin 

นับตั้งแต่เปิดตัว TVL ของ Merlin Chain มีการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ จนตอนนี้ TVL อยู่ที่ $ 1.04 M แต่ Dapps มีเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น เช่น MerlinSwap, Symbiosis, DyorSwap เป็นต้น โดย TVL ส่วนใหญ่ก็อยู่บน Merlinswap เพียงตัวเดียวเท่านั้น

**BRC-20 คือ มาตรฐานโทเคนบนบล็อกเชนของ Bitcoin ที่ถูกพัฒนาโดยทีมของ Ordinal ซึ่งเป็นการ Inscript ข้อความลงไปบน Sats

“”BRC-420 คือ มาตรฐานโทเคนบนบล็อกเชนของ Bitcoin ซึ่งใช้การ Recursive Inscriptions ทำให้สามารถสร้างโทเคนในรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้นได้ ซึ่งหมายถึงการทำ 2D และ 3D Animations, ไอเทมในเกม หรือ Metaverse

ขอบคุณภาพจาก https://defillama.com/chain/Merlin 

SatoshiVM

ขอบคุณภาพจาก https://www.satoshivm.io

SatoshiVM คือ Layer 2 ประเภท zk rollup บน Bitcoin โดยมีการปรับใช้ ZK-STARKS Algorithm ที่เป็นระบบ zero knowledge proof ที่ถูกพัฒนาโดยทีม Starkware และ Taproot script แล้วจะใช้เหรียญ BTC เป็นค่าแก๊สบนเชน เป็น EVM Compatible ทำให้เชื่อม Bitcoin และ EVM ecosystems เข้าหากันได้อย่างไร้รอยต่อ

SatoshiVM จะมีการบันทึกธุรกรรมลงไปบน Bitcoin ส่วนนี้จะช่วยให้มีความปลอดภัยที่สูงมาก โดยมีการใช้ Bitcoin เป็น Settlement Layer ธุรกรรมต่างๆ โดยจะมี Proving Layer ที่จะแล้วก็มีการใช้เทคโนโลยี Zero Knowledge Proof แล้วส่งกลับมาที่ Sequencing Layer เพื่อทำการตรวจสอบ จากนั้นจะมัดรวมหลายธุรกรรมเป็นธุรกรรมเดียว ลงบน Bitcoin ทำให้สามารถ Scale ได้ดีมากยิ่งขึ้น 

ในปัจจุบันยังไม่สามารถหาข้อมูลทั่วไปอย่าง TVL หรือ จำนวน Dapps ที่อยู่บน SatoshiVM ได้ มีเพียงข้อมูลจำนวนธุรกรรม หรือ จำนวน Account ที่เข้ามาใช้งานเท่านั้น

ขอบคุณภาพจาก https://www.svmscan.io/stats

BVM Network

ขอบคุณภาพจาก https://bvm.network/ 

BVM Network เป็น Framework ที่ช่วยให้เหล่า Developer สามารถสร้าง Layer 2 ประเภท Optimistic Rollup แบบ Modular บน Bitcoin ได้ง่ายมากขึ้น เพื่อตอบสนองการสร้าง Layer 2 ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น GameFi, DeFi, SocialFi เป็นต้น 

BVM Network ได้มีการนำเอา Optimism Codebase มาทำเป็น Execution Layer ที่ใช้ในการประมวลผลธุรกรรมต่างๆบนเชนต่างๆที่มีการใช้เทคโนโลยีของ BVM Network ซึ่ง Optimism Codebase นั้นมีการทดสอบมาแล้วอย่างยาวนานว่ามีความปลอดภัยสูงมาปรับใช้ อย่าง Usecase ในปัจจุบันก็มีหลายเชนที่อยู่ใน Ecosystem ของ BVM Network อย่างเช่น Alpha Chain, Naka Chain, Arcade Chain เป็นต้น ซึ่งทำให้การทำงานจะมีความคล้ายคลึงกับ Optimistic Rollups อย่างเช่น Optimism มาก

ด้วยความที่เป็น Modular Blockchain ทำให้เชนต่างๆที่มาสร้างบน BVM Network สามารถปรับแต่งเลือกได้ว่าจะบันทึกธุรกรรมลงไปที่ไหน ไม่ว่าจะเป็น Celestia, NearDA, EigenDA หรือ Bitcoin แต่ในปัจจุบันเชนต่างๆที่มีการใช้ BVM ในการทำ Bitcoin Layer 2 ยังไม่ได้มีตัวไหนที่ใช้ Bitcoin เป็น Data Availability Layer อย่างไรก็ตาม Setllement Layer จะต้องอยู่บน Bitcoin เท่านั้น โดยจะมีการส่ง State Commitment​ ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการประมวลผลกลับไปบันทึกบน Bitcoin

วิเคราะห์ Bitcoin Layer 2 เกิดใหม่

ตอนนี้ถึงแม้จะมี Bitcoin Layer 2 เกิดขึ้นใหม่มาหลายๆตัวก็ตาม แต่ทั้งเรื่องการออกแบบของตัวเชน หรือ แม้กระทั่งการทำงานต่างๆยังคงเป็นที่ตั้งคำถามอยู่พอสมควร ซึ่งมีความไม่ชัดเจนสูง ซึ่งแตกต่างจาก Layer 2 ของฝั่ง Ethereum ที่มีงาน Research ออกมา และ เป็นที่ถกเถียงกัน ทำให้มีความชัดเจนในการจำแนก Layer 2 ในแบบต่างๆ

ถึงแม้เชนเกิดใหม่หลายๆตัวจะเรียกตัวเองว่าเป็น Bitcoin Layer 2 แต่ในฝั่งของ Bitcoin Layer 2 ตัวใหม่ๆนั้น ยังไม่ได้มีงาน Research ออกมามากเพียงพอถึงเรื่องความปลอดภัยของตัวเชน ทำให้ยังมีความคำถามที่ไม่สามารถตอบได้ว่ามันเป็น Bitcoin ของ Layer 2 จริงๆหรือไม่

สรุป

ปัจจุบันเริ่มมีการต่อยอดการใช้งาน Bitcoin ในรูปแบบต่างๆมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Inscription ที่สามารถเอาไปใช้ในการบันทึกภาพที่มีความคล้ายกับ NFT หรือ การสร้าง Layer 2 บน Bitcoin ที่สามารถใช้งานในรูปแบบต่างๆไม่ว่าจะเป็น DeFi, GameFi, SocialFi แต่ก็ยังคงมีคำถามเรื่องการออกแบบ และ ความปลอดภัยก็ยังคงเป็นที่ตั้งคำถามอยู่ว่ามันปลอดภัยจริงหรือไม่ ซึ่งอาจจะต้องรอข้อมูลจากงาน Research ต่างๆออกมามากกว่านี้ก่อน ถึงจะสามารถบอกได้ว่าเหล่า Bitcoin Layer 2 ตัวใหม่มันเป็น Layer 2 จริงๆรึป่าว

Authors

Share :
Related
CoinTalk (26/4/2024): ได้เวลากลับไปทำงานประจำ
เข้าสู่ยุคใหม่ของ Bitcoin ? พาส่อง Bitcoin Ecosystem ปี 2024 
Cryptomind Monthly Outlook (April 2024)
Technical Analysis $PENDLE, $BNB โดย Cryptomind Advisory (22 Apr 24)