Search
Close this search box.

AI จำเป็นต้องใช้ Blockchain จริงหรือแค่กระแส

Share :
ai and blockchain synergy

Table of Contents

ขอบคุณภาพจาก Gagarin News

ในช่วงปี 2023 นี้ถ้าใครติดตามข่าวก็คงจะได้เห็นกระแสของ Artificial Intelligent (AI) ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตและการใช้งานจริงที่เริ่มมีให้เห็นกันแบบจับต้องได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข่าวที่ออกมาว่าจะมีการทดลองใช้ “หุ่นยนต์ทนาย AI” ในการว่าความในคดีจราจร หรือที่เป็น Highlight ของปีนี้เลยก็คือการเปิดตัวของ ChatGPT ที่สามารถคุยโต้ตอบกับเราในเรื่องต่างๆ และสามารถเป็นเครื่องมือช่วยเหลือเราในการทำกิจกรรมได้หลากหลาย เช่น เขียนโค้ด เขียนบทความ การแปลภาษา หรือช่วยคิดกลยุทธ์เกี่ยวกับธุรกิจ เป็นต้น 

นอกจากนี้ล่าสุดทางบริษัท Apple เพิ่งประกาศเปิดตัว Apple Vision Pro ที่เป็นแว่นตา AR-VR ไปในช่วงเดือนมิถุนายน 2023 ที่ผ่านมาในงาน WWDC ซึ่งทาง Apple ได้บอกว่าวิสัยทัศน์ของทาง Apple ไม่ได้มองว่ามันเป็นแว่นตา AR-VR ทั่วไป แต่เป็นคอมพิวเตอร์ชนิดใหม่ (A new kind of computer) โดยในการเปิดตัวครั้งนี้เป็นเหมือนการเริ่มต้นในการพัฒนา Application ต่างๆที่จะตามมาภายหลังอีกมาก ซึ่งหลายๆฝ่ายก็ได้ออกมาพูดว่าอาจเป็นพื้นฐานของการพัฒนา Generative AI ในอนาคตได้

ขอบคุณภาพจาก Google

จากทั้งหมดทำให้เป็นที่ชัดเจนว่าการลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้อง AI นั้นเป็นอะไรที่น่าจับตามองอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาหุ้น Tech สหรัฐในกลุ่มที่ได้ประโยชน์จาก AI พุ่งสูงขึ้น เช่น หุ้น NVDIA ที่ราคาได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 200% แล้วเมื่อเทียบจากต้นปี

ขอบคุณภาพจาก Statisca

นอกจากนี้จะเห็นแนวโน้มที่ค่อนข้างชัดเจนว่ารายได้จากธุรกิจ AI ได้เติบโตต่อเนื่องมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2015 โดยจากการรายงานของ Statisca ได้ทำนายไว้ว่าในปี 2023 รายจะได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ AI จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดไปมากถึง 97,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสำหรับสายลงทุนในคริปโตฯก็คงจะเกิดคำถามว่า จะมีเหรียญคริปโตฯอะไรที่จะเกาะไปกับกระแสความนิยมของ AI นี้ได้บ้าง แล้วการลงทุนที่ว่านั้นจะเป็นสิ่งที่สามารถช่วยส่งเสริมการพัฒนาของ AI ได้จริงหรือเป็นแค่กระแสการเก็งกำไรชั่วคราวกันแน่ ในบทความนี้เราจะไปหาคำตอบกัน

AI กับ Cryptocurrency และ Blockchain

ขอบคุณภาพจาก Coinmarketcap (ข้อมูลวันที่ 19 มิถุนายน 2023)

เหรียญคริปโตฯที่เกี่ยวข้องกับ AI นั้นมีอยู่มานานแล้ว เช่น Render Token, SingularityNET, Oasis Network, Ocean Protocol, Fetch.ai เป็นต้น ซึ่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ที่ผ่านมาที่ AI ได้เข้ามาเป็นกระแสการเทรดคริปโตฯ เหรียญเหล่านี้ก็ได้ปรับตัวขึ้นหลายเท่าตัว 

อย่างไรก็ตามพอหมดกระแสราคาเหรียญเหล่านี้ก็ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน แต่เนื่องจากว่ากระแสการลงทุนใน AI ปีนี้นั้นมาแรงค่อนข้างมาก จึงเกิดคำถามต่อไปว่าจะมีเหรียญคริปโตฯตัวไหนที่เราสามารถลงทุนเพื่อรับประโยชน์จากเทรนด์นี้ได้บ้างหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบัน โดยส่วนมากแล้ว คริปโตฯยังถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีความจำเป็นต่อพัฒนาการของ AI ขนาดนั้น และโปรเจกต์ 

”ส่วนมาก” ในคริปโทฯที่พยายามพ่วง AI เข้าไป ก็เพียงแค่การพยายามดันราคาโปรเจกต์ของตัวเองเท่านั้น 

ซึ่งถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง ในยุคปัจจุบันที่เกิดพัฒนาการของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วตลอดเวลา เรามองว่าก็มีความเป็นไปได้เช่นกันที่ในอนาคต จะมีโปรเจกต์ที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของ AI ได้จริง และถือว่ามีศักยภาพในการกลายมาเป็น Narrative ที่น่าจับตามองได้ โดยที่จริงแล้วมีผู้เชี่ยวชาญที่ออกมาให้ความเห็นกันมากมายถึงประโยชน์ร่วมกัน (Synergy) ระหว่างเทคโนโลยีบล็อกเชนและ AI ว่ามีหลากหลายรูปแบบ เช่น การป้องกันการปลอมแปลง หรือการนำไปใช้ควบคู่กับ Smart contracts ในการต่อยอดการใช้งานของ DeFi, Gaming หรือ Social platform ได้ (อ่านบทความเพิ่มเติมจาก Messari ได้ที่นี่

โดยในบทความนี้เราจะโฟกัสไปที่หนึ่งใน Infrastructure พื้นฐานของ AI อย่าง Decentralized Physical Infrasturcture Network (DePIN) โดยจะหยิบยกโปรเจกต์ที่เราเชื่อว่ามีแนวโน้มเข้าข่ายดังกล่าวมาแนะนำให้รู้จัก ที่เป็นโปรเจกต์ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาอย่างการขาดแคลน GPU ได้

ปัญหาขาดแคลน GPU

เนื่องจากว่า สิ่งสำคัญที่ AI ต้องการก็คือ GPU และ Computing Power โดยปัญหาที่กำลังเจอในปัจจุบันที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของ AI ก็คือการขาดแคลน GPU นั่นเอง ซึ่งปัญหาการขาดแคลนดังกล่าวได้ปรากฎเป็นภาพที่ชัดขึ้นภายหลังจากที่ ChatGPT ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในปีนี้ที่ทำให้ความต้องการ GPU เพิ่มขึ้นสูงมาก โดย GPU (Graphic Processing Unit) คือหน่วยประมวลผลด้านกราฟฟิกและการคำนวณ ถือเป็นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งในการ Train และ Query ที่ใช้ในการทำงานของ ChatGPT และในการเรนดอร์ภาพกราฟฟิก (Graphic Rendering) ซึ่งเป็นงานที่ต้องการใช้ Computing power ที่ค่อนข้างหนักหน่วง จึงต้องใช้ GPU ที่มีประสิทธิภาพสูง

นอกจากนี้ความต้องการการใช้ GPU ยังมาจากการพัฒนาด้านอื่นๆที่ต้องเข้ามาแชร์ GPU ที่มีจำกัดอีก เช่น Gaming platform, NFT, Metaverse หรือจะเป็นการที่ความสามารถของ Generative AI นั้นสามารถถูกนำไปต่อยอดในการเพิ่มประสิทธิภาพของการสร้างโมเดลสามมิติในรูปแบบต่างๆ อย่างเช่น การสร้างภาพยนต์ Animation, การออกแบบภายใน เป็นต้น 

ดังตัวอย่างกรณีของทาง Apple ที่ได้เปิดตัว Apple Vision Pro ที่เป็นแว่นตา AR-VR ไป และยังมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาต่อยอดไปเป็นคอมพิวเตอร์ชนิดใหม่ (A new kind of computer) และ 3D Immersive Media ที่ถ้าทาง Apple ทำได้จริง ก็จะทำให้ความต้องการ GPU เพิ่มขึ้นอีกอย่างมหาศาลอย่างแน่นอน

ดังนั้นเราคงจะพอมองเห็นแนวโน้มแล้วว่าความต้องการ GPU ในอนาคตจะต้องเพิ่มขึ้น ดังนั้นปัญหาการขาดแคลน GPU ก็จะต้องเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัวอย่างแน่นอน อย่างที่ปัญหาได้สะท้อนให้เห็นกันไปแล้วว่าบริษัทอย่าง NVDIA ที่เป็นผู้ให้บริการด้าน GPU เจ้าใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ราคาก็ได้พุ่งทำจุดสูงสุดไปแล้วในปี 2023 นี้ โดยในปัจจุบันบริษัทอิวิเดียมีมูลค่าทะลุกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐไปชั่วคราวในเดือนมิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา

Decentralized GPU Network

ดังนั้นหนึ่งในวิธีการผสมสานเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ากับ AI ที่เรามองจับต้องได้มากที่สุดในเวลานี้คือการเข้ามาแก้ปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลน GPU และ Computing power ซึ่งหนึ่งในการใช้ประโยชน์จากบล็อกเชนก็คือการใช้การที่มันมีความกระจายศูนย์ (Decentralized) และด้วยความที่เป็น Decentralized Network จึงทำให้คนธรรมดาทั่วไปที่มี GPU ว่างๆสามารถนำมาใช้ประโยชน์ผ่านการปล่อยเช่า GPU power ของตัวเองผ่านเครือข่ายได้ ซึ่งผลก็คือช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลน GPU ได้ด้วย เพราะจำนวน GPU นัั้นสามารถขยายได้อย่างไม่จำกัด 
นอกจากนี้ Decentralized GPU Network ยังอาจมีโอกาสทำให้ต้นทุนของ GPU ถูกลงเมื่อเทียบกับการใช้งานผ่าน Centralized provider เนื่องจากไม่มีหรือมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมน้อยมากในการนำ GPU เดิมที่มีอยู่แล้วและไม่ได้ถูกใช้งานมาปล่อยเช่าในระบบ ยกตัวอย่างโปรเจกต์ที่ทำเกี่ยวกับ Decentralized GPU Network ที่ถูกพูดถึงกันค่อนข้างมากบน Twitter คือ Render Network สาเหตุหนึ่งก็มาจากข่าวที่ Render Network ได้เป็นพาร์ทเนอร์กับทาง Apple, Microsoft และ Google โดยการเข้ามาร่วมเป็น Node operator ซึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถของ GPU power ใน Render Network ด้วย

ขอบคุณภาพจาก Render Network

โดยนอกจากนี้ ทาง Render ได้ออกมาประกาศในเดือนพฤษภาคม 2022 ที่ผ่านมาว่าได้ทำงานกับ Apple มาสักระยะแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างเตรียมเปิดตัวแอปพลิเคชั่น OctaneX บน iPhone เพิ่มเติมจาก iPad ซึ่ง OctaneX นั้นจะทำให้ผู้ใช้งานและครีเอเตอร์สามารถสร้างงานภาพ 3D บน iPad และ MacOS และส่งไปทำการเรนเดอร์บน Render Network ได้อย่างง่ายๆนั่นเอง

ทำความรู้จักกับ Render Network

เมื่อเปรียบเทียบกับโปรเจกต์คริปโทฯอื่นๆในตลาด Render Network ถือว่ามีประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างยาวนาน โดยถูกเปิดตัวโดย Jules Urbach ในปี 2016 ที่ลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นในเดือนตุลาคม ปี 2017 ก็ได้ระดมทุนผ่าน ICO ที่ราคาเหรียญ RNDR ละ $0.25 นอกจากนี้ Render Network ยังมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับบริษัทซอฟต์แวร์กราฟิก OTOY Inc. ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดย Jules Urbach เช่นกัน 

Render Network เป็นแพลตฟอร์มบน Ethereum Blockchain ที่รวมพื้นที่ GPU ที่ไม่ได้ใช้งานจากทั่วโลก โดยเปิดให้ผู้ใช้งานนำ GPU ของตัวเองมาปล่อยเช่าให้สำหรับผู้ที่ต้องการใช้งานสำหรับการใช้งาน Rendering (หรือการสร้างภาพกราฟฟิก) และงานที่ต้องการใช้ Computing power ได้ ซึ่งสามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายจุดประสงค์นอกเเหนือจาก AI ได้ด้วย เช่น การสร้างโมเดลสามมิติ, การสร้างภาพยนต์ Animation, Machine learning, การขุดเหรียญคริปโทฯ (Crypto mining) เป็นต้น

การทำงานของ Render Network

ตามที่เกริ่นไปในบทก่อนหน้า Render Network เป็น Decentralied GPU Network ที่มีเป้าหมายที่จะเป็นระบบคอมพิวเตอร์แบบกระจายศูนย์ซึ่งให้บริการ Computing power ขั้นสูงสำหรับงานเรนเดอร์แบบพวกงานสามมิติ โดยการทำงานของ Render Network จะเป็นในลักษณะ Peer-to-peer ที่มีเหรียญ RNDR เป็นระบบ Incentive ภายในเครือข่าย ซึ่งส่วนประกอบสำคัญภายใน Render Network มีดังนี้

ขอบคุณภาพจาก Render Network

  • Owners หรือที่เรียกว่า Node Operators ที่เป็นผู้ที่นำ GPU ของตัวเองมาเข้าร่วมกับ Render Network โดยเหล่า Node Operators นี้จะใช้ OctaneRender ในการทำงาน Render ที่ได้รับมอบหมายได้อย่างง่ายดาย ซึ่งจะได้รับค่าธรรมเนียมเป็นค่าตอบแทนเป็นเหรียญ RNDR 
  • Users/Creators ซึ่งมีงาน Render ที่ต้องการใช้บริการกับ Render Network โดยเมื่อ User ส่งงานเข้ามาใน Render Network แล้ว จะมี Smart contract คอยจับคู่งานดังกล่าวเข้ากับ Node operators จากนั้น Node operators จะได้รับค่าธรรมเนียมเมื่อทำงานเสร็จสิ้น โดยทาง Render Network จะเก็บส่วนแบ่งบางส่วนเป็นค่าบริการเข้าสู่เครือข่าย

ขอบคุณภาพจาก Render Network

โดยราคาการใช้บริการจะแบ่งออกเป็น Tier (Multi-Tier Pricing) ขึ้นอยู่กับ Requirement ของงานแต่ละชิ้นว่าต้องการความเร็ว ความปลอดภัย หรือความละเอียด เป็นต้น ซึ่งราคาบริการจะคิด Fix ตายตัวเป็นสกุล RNDR

Render Network ทำงานภายใต้ระบบ Proof of Render ที่เป็นระบบที่ช่วยในการยืนยันความถูกต้องและความแม่นยำของงานที่จะส่งกลับไปให้กับผู้ใช้บริการ โดยผู้ที่เป็น Node operators จะต้องส่งหลักฐานยืนยันงานทุกงานของตัวเองทุกครั้ง เพื่อป้องกันการปลอมแปลง

เหรียญ RNDR

ขอบคุณภาพจาก Coingecko (ข้อมูลวันที่ 4 กรกฎาคม 2023)

เหรียญ RNDR ทำหน้าที่เป็น Governance และ Utility token ภายใน Render Network ตามที่ได้เกริ่นไปในบทก่อนหน้า เหรียญ RNDR มี Use case หลักคือการใช้เป็นระบบ Incentive และใช้เป็นสกุลเงินในการจ่ายสำหรับบริการภายในเครือข่ายหรือการเข้าถึงฟิเจอร์พิเศษ โดยในปัจจุบันเหรียญ RNDR มีจำนวน Circulating sypply อยู่ที่ 368,852,897 RNDR จาก Total supply ที่ 531,024,271 RNDR ซึ่ง Circulating supply คิดเป็น 69% ของ Supply ทั้งหมด (ข้อมูลวันที่ 4 กรกฎาคม 2023) 

ถึงแม้ว่าจากตัวเลข Circulation supply ที่ 69% จะดูเหมือนกับว่าจะมีเรื่องของ Inflation ให้ดูน่ากังวลอยู่บ้าง ทางโปรเจกต์กำลังจะเปลี่ยนแปลง Tokenomics ของเหรียญ RNDR ที่อาจทำให้เหรียญกลายเป็น Deflationary ได้ ซึ่งจะพูดถึงในพาร์ทถัดไป

การปรับ Tokenomics ของเหรียญ RNDR

เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2023 ที่ผ่านมาทาง DAO ของ Render Network ได้อนุมัติผ่าน Proposal ในการปรับ Tokenomics ของเหรียญ RNDR ใหม่ ที่มีชื่อเรียกว่า “Burn-and-Mint Equilibrium Model (BME)” ที่จะปรับเปลี่ยนโมเดล Incentive ไปจากเดิมคือ

  • ราคาในการใช้บริการเดิมที่คิดเป็นสกุล RNDR จะเปลี่ยนเป็นสกุล USD (แต่จ่ายเป็น RNDR เหมือนเดิม) ซึ่งมีข้อดีคือทำให้ต้นทุนการใช้งานไม่ผันผวนตามราคาเหรียญ
  • จากเดิมที่ Node operator จะได้รับค่าบริการที่เกิดขึ้น ระบบจะนำเหรียญ RNDR ที่เกิดจากการใช้บริการบนเครือข่ายทั้งหมดไป Burn ทิ้งแทน 
  • ส่วน Node operator จะได้รับ Reward จาก Emission (หรือ Inflation) แทน ซึ่งปริมาณ Emission จะถูกกำหนดเป็นปริมาณตายตัวที่ตัดสินผ่าน Governance โดยปริมาณ Incentive ที่แต่ละ Node operator จะได้รับขึ้นอยู่กับความพร้อมในการให้บริการบนเครือข่าย (Availability rewards) และจำนวนงานที่ทำ (Completion rewards) ในแต่ละ Epoch

ซึ่งนั่นหมายถึงว่าถ้ามีการใช้งานที่ทำให้เกิดการ Burn ในอัตราที่มากกว่าจำนวนเหรียญที่ผลิตใหม่ ก็จะมีโอกาสทำให้เหรียญ RNDR กลายเป็นเหรียญฝืดหรือ Deflationary ได้นั่นเอง ในส่วนนี้ก็ต้องติดตามดูว่า Tokenomics ใหม่จะเปิดตัวจริงเมื่อไหร่ และจะทำให้เกิดการ Deflation ได้จริงแค่ไหน แต่ก็ต้องยอมรับว่าตลาดตอบรับค่อนข้างบวกกับข่าวการปรับ Tokenomics นี้พอสมควร

ราคาเหรียญ RNDR

ขอบคุณภาพจาก Coingecko (ข้อมูลวันที่ 4 กรกฎาคม 2023)

ซึ่งข่าวการปรับ Tokenomics ก็ถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ราคาเหรียญ RNDR พุ่งแรงในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นๆอีกหลายอย่างที่เป็นข่าวดีต่อ Render Network โดยตั้งแต่ต้นปีราคาเหรียญ RNDR อยู่ที่ประมาณ 0.4 ดอลลาร์ก็ได้ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2.17 ดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคม ถือว่าเป็นการปรับตัวขึ้นมากกว่า 500% เลยทีเดียว โดยก็ต้องยอมรับว่าปัจจัยดันราคาหลักๆน่าจะมาจากการ Speculation ส่วนมาก อย่างไรก็ตาม ก็ยังปัจจัยบวกอื่นๆอยู่บ้างอย่างเช่น

ขนาด Market Cap เมื่อเทียบกับ Nvidia

ขอบคุณภาพจาก companiesmarketcap.com

ขนาด Market Cap ปัจจุบันของเหรียญ RNDR อยู่ที่ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และถึงแม้จะพิจารณาจาก Fully Diluted Value (FDV) ที่มีมูลค่าประมาณ 1000 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น ยังมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาด Market Cap ของบริษัทอินวิเดียที่อยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะว่า Market Cap และ FDV คิดเป็นเพียงแค่ 0.07% และ 0.1% ของมูลค่าของบริษัทอินวิเดียเท่านั้น ซึ่งถ้าเทียบแบบนี้แล้วจะเห็นว่า Render Network ยังเติบโตได้อีกมาก เช่น ถ้าในอนาคต Render Network สามารถกินส่วนแบ่งมูลค่าของบริษัทอินวิเดียได้เพียงแค่ 1% ก็หมายถึงว่าราคาเหรียญ RNDR ก็จะสามารเติบโตได้อีกมากถึง 10 เท่า

การเติบโตของการใช้งานบน Render Network

ขอบคุณภาพจาก IntoTheBlock

จากข้อมูล On-chain ของ IntoTheBlock จำนวนธุรกรรมขนาดใหญ่ที่มีปริมาณมากกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐในเดือนมิถุนายน 2023 เพิ่มขึ้นกว่า 150% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้ยังมีการเติบโตขึ้นของจำนวน Active user มากกว่า 130% เมื่อเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน

ขอบคุณภาพจาก Render Network

นอกจากนี้ จากข้อมูลที่ทาง Render Network รายงาน จำนวนเฟรมทั้งหมดที่ถูกเรนเดอร์ผ่านแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น 58% ในปี 2022 จาก 5.9 ล้านเฟรมเป็น 9.4 ล้านเฟรม ซึ่งยังคงเติบโตต่อเนื่องในไตรมาส 1 ปี 2023 โดยรวมแล้วมีจำนวนเฟรมที่ถูกเรนดอร์รวมรวมทั้งสิ้น 2,119,813 เฟรม ซึ่งเป็นการเติบโต 2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2022 โดยการเติบโตของการใช้งานส่งผลให้มีการใช้งานเหรียญ RNDR มากขึ้นไปด้วย

การเปิดตัว Stable Diffusion (Text to Image)

ขอบคุณภาพจาก Pro Tharan twitter

ในเดือนเมษายน 2023 ที่ผ่านมา ทาง Render Network ได้เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ที่ชื่อว่า Stable Diffusion โดยฟีเจอร์นี้ทำให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างกราฟฟิกได้เพียงแค่พิมพ์ประโยคสั้นๆ (Text prompt) เข้าไปใน Creator Portal บน Render Network ซึ่งตามตัวอย่างของผู้ใช้งานคนหนึ่งบน Twitter ที่ชื่อว่า Pro Tharan ได้พิมพ์ Keyword คำว่า “A fruit basket, van gogh style” ระบบก็เรนเดอร์ภาพออกมาให้เลย ซึ่งในส่วนนี้ก็ทำให้ Render Network มีศักยภาพในการเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนา AI ในอนาคตได้นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม Stable Diffusion ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก็ได้มีผู้ให้บริการที่ชื่อว่า “Stablility ai”ที่สามารถทำแบบเดียวกันได้คือเปลี่ยนข้อความที่เราป้อนเข้าไปกลายเป็นภาพพร้อมฟังก์ชั่นต่างๆเช่นกัน (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

Partnerships และ Ecosystem

ขอบคุณภาพจาก Render Network

ตามที่เกริ่นในช่วงต้น Render Network ได้เป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทยักษ์ใหญ่หลายที่และมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยในตอนนี้ได้ร่วมมือกับมากกว่า 50 บริษัท ที่ไม่ได้มีเพียงแค่บริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกอินเทอร์เน็ตทั้งหลายเช่น Nvidia, Google, Microsoft, Apple, Facebook แต่ยังรวมถึงบริษัทเทคโนโลยีภาพยนตร์และโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงอย่าง WB, Netflix, HBO และโปรเจกต์บล็อกเชนเช่น Decentrland, Alogrand, Solana เป็นต้น 

ซึ่ง Partnership เด่นๆเป็นที่สนใจของตลาดอย่างมากคือ Apple เพราะทำให้ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Octane X ของ Render Network ได้ฟรีบน iPad รุ่น M1 และ M2 ส่วนในอนาคตจะใช้งานบน iPhone ได้ด้วย 

ความเสี่ยงของ Render Network

Speculation 

หนึ่งในความเสี่ยงที่ชัดเจนที่สุดของ RNDR คือการปรับตัวขึ้นของราคานั้นเรามองว่าอยู่บนการ Speculation จากการแสของ AI มากกว่าปัจจัยพื้นฐาน โดยเรามองว่าในระยะสั้นความเสี่ยงยังค่อนข้างสูงเพราะ AI ก็ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาเท่านั้น นอกจากนี้ Tokenomics ที่จะปรับใหม่ก็เป็นอีกปัจจัยดันราคาเหรียญในปีนี้ แต่ก็เป็นแค่แผนเท่านั้น ยังไม่ได้นำไปปรับใช้จริง เราจึงไม่รู้ว่าจะมีการใช้งานที่มากพอจะทำให้เกิด Deflation ได้หรือไม่

Competition

ถึงแม้ Render Network ในเวลานี้จะเป็นหนึ่งในผู้นำในกลุ่มเหรียญ AI แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีเหรียญอื่นๆที่ให้บริการในรูปแบบคล้ายกันอยู่อีกหลายเจ้า เช่น CrowdRender, OctaSpace, Flux-Web3 Cloud เป็นต้น หรือจะเป็นเจ้าอื่นๆที่ใกล้เคียงอาจจะขายมาจับตลาดตรงนี้ก็ได้ เช่น Filecoin (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Filecoin ได้ที่นี่) ยังไม่รวมถึงเจ้าตลาดดั้งเดิมที่ให้บริการแบบ Centralized เช่น ยักษ์ใหญ่อย่าง AWS, Microsoft เป็นต้น ที่มี GPU ให้ใช้ฟรีในจำนวนจำกัดด้วย

ซึ่งในมุมมองของผู้ใช้งานทั่วไปแล้ว โจทย์สำคัญในการจะย้ายมาใช้บริการทางเลือกที่เป็น Decentralized จะต้องมีข้อดีกว่าแบบ Centralized แบบเด่นชัด เรามองว่าการมีทางเลือกที่เป็น Decentralized GPU ตอนนี้สามารถแก้ปัญหาที่เกิดจากการขาดแคลน GPU ได้เป็นอย่างดี แต่ในอนาคตถ้าเกิดว่าผู้ให้บริการแบบ Centralized สามารถแก้ปัญหานี้ได้ เช่น การที่ในอนาคตผู้บริการแบบ Centralized อาจสามารถสร้าง Economy of scale ที่สามารถขยาย Capacity และลดต้นทุนได้ ทางเลือกที่เป็น Decentralized ก็จะต้องมีจุดเด่นอื่นๆมาทดแทนมากกว่านี้ให้ได้ 

บทสรุปของ Render Network

ในปีนี้เราได้เห็นกันไปแล้วว่ากระแสการลงทุนใน AI มาแรงมาก และหลายฝ่ายยังออกมาคาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดไปได้อีก ซึ่งเหรียญที่ทำเกี่ยวกับ AI ในโลกคริปโตฯก็มีจำนวนมาก ถึงแม้ว่าโปรเจกต์ส่วนมากเกิดขึ้นมาเพื่อเกาะกระแส อย่างไรก็ตามยังมีบางโปรเจกต์ที่สามารถมี Synergy กับการเติบโตของ AI ได้จริงอยู่บ้าง

โดยในบทความนี้เราได้ยกตัวอย่างหนึ่งในโปรเจกต์ Infrastructure ของ AI ที่มีชื่อว่า Render Network ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ซึ่ง Render Network เป็นโปรเจกต์ทางด้าน Decentralized GPU Network ที่เรามองว่ามีศักยภาพในการเข้ามาแก้ปัญหาการขาดแคลน GPU และ Computing power ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราเชื่อว่าในอนาคตจะมีการใช้งาน AI มากขึ้น ปัญหาการขาดแคลน GPU นี้จะยิ่งเด่นชัดมากขึ้น ซึ่งข้อดีของความเป็น Decentralized GPU Network คือ GPU สามารถขยายเพื่อรองรับ Demand ได้อย่างไม่จำกัด

ซึ่งถึงแม้ว่า Render Network จะเป็นหนึ่งในเจ้าตลาดด้าน AI ในคริปโตฯ ที่มี Partnership กับบริษัทขนาดใหญ่หลายเจ้าอย่าง Apple, Microsoft, Google และมีพัฒนาการและ Metrics ต่างๆที่น่าสนใจ แต่ก็ยังต้องยอมรับว่าการลงทุนใน Render Network ยังคงมีความเสี่ยงอยู่หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคู่แข่งทั้งจาก Web 2.0 และ Web 3.0 นอกจากนี้ราคาเหรียญ RNDR ได้ปรับตัวขึ้นมาหลายเท่าในปีนี้แล้วจากกระแสการเก็งกำไรเป็นหลักจึงควรระมัดระวังในระยะสั้น ส่วนในระยะยาวแล้วก็ถือเป็นอีกโปรเจกต์ที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการเติบโตของ AI และด้านอื่นๆนอกเหนือเช่น AR/VR, Metaverse ในอนาคต 

Author

Share :
Related
CoinTalk (03/05/24):
CoinTalk (26/4/2024): ได้เวลากลับไปทำงานประจำ
เข้าสู่ยุคใหม่ของ Bitcoin ? พาส่อง Bitcoin Ecosystem ปี 2024 
Cryptomind Monthly Outlook (April 2024)