Search
Close this search box.

Blockchain คืออะไร ?

Share :
Screenshot 2567-02-19 at 15.27.54

Table of Contents

“บล็อกเชน (Blockchain)” คำนี้เป็นรูปแบบหนึ่งในอีกหลายๆ เทคโนโลยี Distributed Ledger Technology (DLT) บล็อกเชนเกิดและเติบโตขึ้นมาอย่างก้าวกระโดด ตั้งแต่ปี 2008 ที่คนหรือกลุ่มคนที่ได้ใช้นามว่า Satoshi Nakamoto ได้สร้างบล็อกเชนและสกุลเงินที่ตัดขาดจากทุกอำนาจอย่าง Bitcoin ด้วยเวลาไม่ถึง 20 ปี (2008 – ~2023 ) เทคโนโลยีนี้ได้เข้ามาเป็นที่จับตามองจากคนทั่วทุกมุมโลก นับเป็นเวลาที่ไม่นานมากหากเทียบกับ Internet ที่ใช้เวลาเกือบ 30 ปี เพื่อที่จะเข้าสู่มือของทุกคน (1969 – ~1995 ) 

Blockchain ที่ทำให้ทั่วโลกได้จับตามองเทคโนโลยีนี้คือ Bitcoin ที่สร้างมาเพื่อจะเข้ามาเป็น Electronic Cash เพื่อที่จะให้คนทั่วไปสามารถใช้จ่ายสิ่งแทนเงินสดหรือที่เรียกว่า Cryptocurrencies ได้บนโลกอินเทอร์เน็ต และการใช้งานหลักๆ จะเป็นการลงทุนหรือ Cryptocurrencies แต่จริงๆ แล้วบล็อกเชนสามารทำได้อีกหลายอย่างที่หลายคนยังไม่รู้ จากพื้นฐานของบล็อกเชนเองที่เป็นการเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Decentralize) ทำให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อีกมากมาย 

ในบทความนี้เราจะพาทุกท่านเข้าไปทำความรู้จักกับเรื่องราวและศักยภาพที่แท้จริงของนวัตกรรมที่เรียกว่าบล็อกเชนให้ได้เข้าใจกันได้อย่างถ่องแท้ว่าทำไมบางคนถึงคิดว่าบล็อกเชนไม่ใช่สิ่งที่มาเปลี่ยนการเงินเพียงอย่างเดียว แต่บล็อกเชนคือการยกระดับอินเทอร์เน็ตขึ้นไปอีกขั้น

Distributed Ledger Technology

Distributed Ledger Technology (DLT) เป็นชื่อเรียกเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ การเก็บข้อมูลแบบนี้แตกต่างจากการเก็บข้อมูลปกติ เพราะจะมีการใช้ Cryptography Hash Function และ Consensus Machanism เป็นกลไกสำคัญในระบบ (จะมีอธิบายในภายหลัง)

  • Centralized Ledger (CL) : เป็นการเก็บข้อมูลที่พึ่งพาตัวกลาง โดยเก็บข้อมูลชุดเดียวไว้ที่คนๆ เดียว 
  • Distributed Ledger (DL) : เป็นการเก็บข้อมูลที่ไม่ต้องพึ่งพาตัวกลาง โดยข้อมูลชุดเดียวถูกกระจายเก็บไว้หลายคน 

ทั้ง CL และ DL เป็นเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลเหมือนกันเพียงแค่วิธีการเก็บแตกต่างกัน ให้จินตนาการว่าเทคโนโลยีเหมือนกับอินเทอร์เน็ตที่ถูกสร้างขึ้น เพียงแต่อินเทอร์เน็ตในตอนนี้เกิดมาจากการเก็บข้อมูลบน CL หรือ Database จำนวนมหาศาล

ทำไมต้องใช้ Distributed Ledger ?

ก่อนจะไปถึงจุดประสงค์ที่ทำไมต้องใช้ Distributed Ledger ต้องอธิบายก่อนว่า Distributed Ledger ไม่ได้ดีครอบจักรวาลและไม่ใช่ว่าการเก็บข้อมูลในปัจจุบันต้องเปลี่ยนไปใช้ DL ทั้งหมด ทั้งสองเทคโนโลยีนี้มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันอยู่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับคนที่จะนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ต้องตัดสินใจ เช่น 

  • Centralize Ledger จะเร็วกว่า Decentralized Ledger เพราะ DL ต้องได้รับการยืนยันจากหลาย Validator Node ตาม Consensus Mechanism ทำให้ต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูลมากกว่า
  • Centralize Ledger จะมีต้นทุนที่น้อยกว่า Decentralize Ledger เพราะ DL จำเป็นจะต้องมีหลาย Validator Node บางระบบต้องใช้ระบบแรงจูงใจ หรือบางต้องหาคนที่ไว้ใจได้มาร่วมเป็นคนยืนยันระบบ

(Validator Node คือสิ่งที่เก็บข้อมูล จะมีการอธิบาย Validator Node เพิ่ม ในส่วนบล็อกเชนทำงานอย่างไร)

อย่างไรก็ตาม Distributed Ledger มีข้อดีที่แตกต่างกับ Centralize Ledger ชัดเจนอยู่อย่างหนึ่งคือ ความไว้ใจในระบบการเก็บข้อมูล ซึ่ง CL ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ทำให้ต้องมีตัวกลางที่ไว้ใจได้ขึ้นมาเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านั้น โดยคำ้ชื่อเสียงของตัวกลางกับความไว้ใจในระบบ CL แต่นั้นก็มีคำถามไปถึงความน่าเชื่อถือของตัวกลางอีก

“เราจะเชื่อใจคนเก็บข้อมูลว่าเขาจะไม่แก้ไขข้อมูลเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองได้อย่างไร ?”

จากคำถามความเชื่อใจข้างบน เรามาดูกรณีตัวอย่างของปัญหาของความเชื่อใจนี้กันดีกว่า ตัวอย่างแรกที่เรารู้จักกันดีอย่างการล่มสลายของ FTX ก็เป็นหนึ่งอย่างที่เป็นปัญหาของ Centralize Ledger ถึงแม้ตัวสินทรัพย์จะอยู่ในรูปของสินทรัพย์ดิจิทัลและอยู่บนบล็อกเชนก็ตาม แต่เงินที่ฝากไว้ใน Centralize Exchange (CEX) รวมไปถึงการทำงานหลังบ้าน CEX ก็ทำโดย Database อยู่ดี เราต้องใช้ความเชื่อใจ CEX ว่าเขาจะไม่นำสินทรัพย์ของเราไปใช้ทำอะไรต่อ ต้องเชื่อใจว่า Reserve ที่เขาบอกว่าเขามีนั้นมีจริงๆ และมีเพียงพอสำหรับทุกคนที่ต้องการจะถอน ซึ่งเราก็รู้กันว่า FTX โกหกว่า Reserve ที่ลูกค้าฝากไว้อยู่ครบ และได้นำสินทรัพย์ของเราไปหมุนที่ Alameda

ถ้าลองเปลี่ยนคำถามเป็น “เราไม่เชื่อใจใครเลยได้ไหม ?” คำตอบนั่นคือ Distributed Ledger ที่เราไม่จำเป็นจะต้องเชื่อใจตัวกลาง แต่เปลี่ยนเป็นเชื่อใจระบบแทน

ตัวอย่างในการใช้งาน Distributed Ledger และ Centralize Ledger

ปัจจัยเหล่านี้จะดีกว่าหรือแย่กว่าสลับกันไปตาม สถาณการณ์ ที่ใช้งานตัวเทคโนโลยี ตัวอย่างเช่น

สถานการณ์ที่ใช้ DL เหมาะสมกว่า

  • Distributed Ledger ไว้สำหรับ Supply Chain Management ที่แก้ปัญหาเก็บข้อมูลแยกกัน โดยมี DL กลางให้ทุกคนอัพข้อมูลลงมาใช้ร่วมกันได้
    • Supply Chain บางอย่างเป็นข้อมูลที่ละเอียดอ่อน บางครั้งไม่สามารถฝากข้อมูลสำคัญเหล่านี้ไว้กับคนอื่นได้
  • Distributed Ledger ไว้สำหรับ Cross Border Payment หรือ Wholesale Central Bank Digital Currencies (wCBDCs) ที่แก้ปัญหาการโอนเงินระหว่างประเทศ ระหว่างธนาคาร
    • ในการโอนเงินข้ามประเทศใช้ความเชื่อใจกันระหว่างธนาคาร หากธนาคารไม่รู้จักกันก็ต้องโอนผ่านหลายๆ ธนาคารเพื่อให้ไปถึงธนาคารปลายทาง (A → B → C → D) 
    • หากใช้ DL กลางก็สามารโอนเงินให้กันได้เลย (A → D)
  • Self Custody บล็อกเชนสามารถเก็บสินทรัพย์ได้ด้วยตนเองไม่จำเป็นต้องพึ่งตัวกลางดูแลสินทรัพย์ให้เรา

สถานการณ์ที่ใช้ CL เหมาะสมกว่า

  • Centralized Ledger สำหรับ Retail Central Bank Digital Currencies (rCBDCs) ที่เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้ภายในประเทศ (บางประเทศ)
    • rCBDCs ที่ใช้ภายในประเทศไม่จำเป็นจะต้องเป็น DL เพราะธนาคารกลางมีความน่าเชื่อถือมากพออยู่แล้ว ดังนั้นการใช้ DL จึงสร้างต้นทุนโดยเปล่าประโยชน์
  • Centralized Ledger สำหรับการเก็บข้อมูลภายในองค์กร หรือการเก็บข้อมูลขนาดเล็ก

โครงสร้างรูปแบบต่างๆ ของ DLT

ทุกคนจะรู้จัก DLT ในชื่อของบล็อกเชนเพราะเป็นโครงสร้างที่ใช้กันเยอะในโลกคริปโตเคอร์เรนซี่ แต่ความจริงแล้ว DLT เป็นชื่อที่ใหญ่กว่า Blockchain ซึ่งแต่ละรูปแบบของ DLT จะมีโครงสร้างที่แตกต่างกันไปเช่น

  • Blockchain : Bitcoin (BTC), Ethereum(ETH), Hyperledger Fabric, Hyperledger Besu 
  • Direct Acyclic Graph : IOTA, Constellation(DAG), Corda
  • Hashgraph : Hedera Hashgraph(HBAR)
  • Holochain : Holochain(HOT)
  • Tempo : RadixDLT(XRD)

บล็อกเชนทำงานอย่างไร

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจโครงสร้างของบล็อกเชนเป็นอย่างไรบ้างเราจะขอแบ่งโครงสร้างของบล็อกเชนออกเป็น 4 ส่วน

  • Block : สิ่งที่อยู่ข้างในบล็อกของบล็อกเชน หรือ Cryptography Hash Function
  • Chain : กระบวนการภายในบล็อกเชนที่ทำให้แต่ละบล็อกเชื่อมต่อกัน
  • Validation : กระบวนการในการสร้างบล็อกของบล็อกเชน
  • Consensus : การตรวจสอบความถูกต้องและเพิ่มความปลอดภัยของบล็อกเชน

Block

“ มีอะไรบ้างที่อยู่ในบล็อก ? ” ส่วนสำคัญและเป็นโครงสร้างหลักของบล็อกเชนเลยคือ Cryptography Hash Function ที่ทำให้แต่ละบล็อกของบล็อกเชนไม่สามารปลอมแปลงได้ ซึ่งจะมีวิธีการทำงานดังนี้

ข้อมูลที่ถูกอัพลงบนบล็อกเชนจะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนลายเซ็น (Signature) ที่ทำให้บล็อกนั้นไม่สามารถปลอมแปลงได้ เราเรียกสิ่งนั้นว่า Hash ซึ่ง Hash เป็นการเข้ารหัสทางเดียว โดยรวมข้อมูลที่เราใส่เข้าไปกับ Algorithm ของแต่ละบล็อกเชนนั้นๆ (จากตัวอย่างเป็น SHA-256 ของ Bitcoin) หลังจากกระบวนการต่างๆ แล้ว เราจะได้ Hash ที่ไม่เหมือนกันสำหรับทุกข้อความที่เราใส่ลงไป 

(สำหรับใครที่อยากเข้าใจมากขึ้นลองไปเล่นเว็ปนี้ดูนะครับ https://andersbrownworth.com/blockchain/hash

Chain

“ ทำไมต้องเป็นบล็อกและเชน ? ” ซึ่งบล็อกแต่ละบล็อกจะเก็บข้อมูล Hash ของบล็อกก่อนหน้าไว้เพื่อความปลอดภัยของระบบ ทำให้ไม่สามารถแก้ไขข้อมูลก่อนหน้าได้ (ถ้าแก้ไขข้อมูลก่อนหน้า Hash ของบล็อกก่อนหน้าจะเปลี่ยน ทำให้ Hash ของบล็อกก่อนหน้าไม่เหมือนกับ Hash ของบล็อกถัดไป) ด้วย Hash ที่มาต่อกันเหมือนโซ่ที่ต่อกัน ทำให้เราเรียกสิ่งนี้ว่า บล็อกเชน

“ ไม่สามารเปลี่ยนแปลงข้อมูลก่อนหน้าได้ หากจะเปลี่ยนต้องใช้ Validator Node มากกว่า 50% โหวตแก้ ”

Validation

Validation หรือการสร้างบล็อกของบล็อกเชนนั่นเอง เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับการสร้าง Block โดย Validator Node (FAQ ! CL มี Node เดียว DL มีหลาย Node)

  • Validator Node : คือ Software ที่ใช้เพื่อเข้าร่วมในการเป็นส่วนหนึ่งในระบบ โดย Validator Node จะมีสิทธิในการยืนยันข้อมูลธุรกรรมในระบบ และแต่ละ Node จะมีสิทธิในการยืนยันธุรกรรมเท่าเทียมกัน

ในการยืนยันข้อมูลในรูปของบล็อกของ Distributed Ledger จะมีคล้ายๆ กันคือทุกๆ Node จะต้องโหวตยืนยันข้อมูล โดย Node จะโหวตยืนยันว่าธุรกรรมนี้ผ่านหรือไม่ผ่าน โดยจำเป็นจะต้องใช้เสียงมากกว่า 50% ในการโหวตเพื่อที่จะให้ข้อมูลที่อัพขึ้นไปสามารเก็บอยู่ในรูปของบล็อกเชนได้ ซึ่งการเป็น Distributed Ledger จำเป็นจะต้องมี Node เยอะเพื่อความ Decentralize ดังนั้นจำเป็นจะต้องมีแรงจูงใจคนทั่วไปให้เข้ามาร่วมเป็น Validator Node ซึ่งวิธีการของคือการให้ผลตอบแทนสำหรับคนที่เข้าร่วมมาเป็น Validator Node

“ Validator Node อันเดียวไม่สามารแก้ไขหรือป้อนข้อมูลใหม่ได้ ต้องใช้ Node มากกว่า 50% ”

Consensus

Consensus Mechanism คือกระบวนการดูแลความปลอดภัยของบล็อกเชน จะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการยืนยันบล็อกจากข้างบน จะต้องมีการใช้ Validator Node ในการยืนยันข้อมูล Consensus เหมือน “ข้อตกลงที่แต่ละ Validator Node ต้องมาร่วมกันทำ ” ซึ่งแต่ละบล็อกเชนจะมี Consensus Mechanism แตกต่างกันไป ตามความเหมาะสมและการใช้งาน

Source : researchgate

หากมองในอีกมุมหนึ่ง Consensus Mechanism เป็นเหมือนทฤษฎีเกมที่คอยสร้างความปลอดภัยให้กับระบบบล็อกเชนด้วยการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ระบบบล็อกเชนมีความ Decentralize และปลอดภัยมากขึ้น ในแต่ละระบบบล็อกเชนจะมีวิธี Consensus และการหา Validator Node แตกต่างกันไป เช่น

  • Proof of Work : ที่มี GPU หรือ Asics เป็น Node และแย่งกันแก้ไขปัญหาทางคณิตศาสตร์ Node ไหนที่แก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ได้ก่อน Node นั้นได้รับผลตอบแทน  (Bitcoin, Ethereum, Dogecoin และอื่นๆ)
  • Proof of Stake : ที่ใช้เงินวางเดิมพันเพื่อเข้าร่วมเป็น Node และทุก Node ได้รับผลตอบแทนตามที่ทางระบบได้ตั้งไว้ (Ethereum V.2, Polkadot, Cardano และอื่นๆ)
  • Delegate Proof of Stake : ที่ใช้เงินวางเดิมพันเพื่อเข้าร่วมเป็น Node และสุ่มเลือก Node ที่จะได้รับผลตอบแทน (Tron, EOS, Lisk และอื่นๆ)
  • Proof of History, Proof of Activity, Proof of Burn และอื่นๆ

“ การที่ต้องใช้ Validator Node หลายตัวในการยืนยันธุรกรรม แก้ปัญหาตัวกลางที่ไม่น่าเชื่อถือ ”

ถ้าให้ใครก็ได้เข้ามาในระบบ แล้วถ้าคนๆนั้นมี Validator Node มากกว่า 50% ล่ะ? จะเห็นได้ว่ามีช่องโหว่อยู่ในคำว่า “เสียงโหวตมากกว่า 50%” ซึ่งมีกรณีที่คนๆ เดียวควบคุม Node ได้ 51% ทำให้สามารถโจมตีระบบบล็อกเชนได้ นับเป็นจุดอ่อนหนึ่งที่ถกเถียงกันเป็นวงกว้างเกี่ยวกับความ Decentralize ที่เราเรียกกันว่า 51% Attack

Decentralization

เราผ่านมาถึงกันตรงนี้ DL จะมีการใช้หลาย Validator Node ในการยืนยันข้อมูล ซึ่งคือการกระจายอำนาจในการยืนยันข้อมูลให้กับทุกคนในระบบ เรียกว่า Decentralization จากปัญหา 51% attack ทำให้เราต้องดูลึกไปอีกว่า เจ้าของบล็อกเชน (Foundation) เขามี Node ถึง 51% ไหม เพราะถ้าเขามีถึงมันก็เหมือนกับเขาควบคุมทุกอย่างไว้แล้ว มันก็ไม่ค่อยต่างอะไรกับใช้ Database แล้วเราจะใช้บล็อกเชนทำไม?  

ตามจริงบล็อกชนที่ Decentralize จริงๆ มีแค่ Bitcoin ที่เป็น Proof of work เท่านั้น บล็อกเชนอื่นได้สละความ Decentralize เพื่อประสิทธิภาพด้านอื่นไปแล้ว (จะเจอในหัวข้อ Blockchain Trilemma) แต่เขาก็ยังมีความพยายามในการทำให้บล็อกเชนมัน Decentralize ด้วยวิธีของเขา ถ้า Decentralize น้อยก็ถูกควบคุมได้ง่าย ถ้า Decentralize มากก็ถูกควบคุมได้ยาก

ตัวอย่างได้เรียงลำดับความ Decentralize ตามวิธีการต่างๆ ที่แต่ละบล็อกเชนใช้

  • Database : มีผู้ดูแลระบบเพียงผู้เดียว
  • BNB : ใช้เทคโนโลยี Distributed Ledger แต่ Validator Node เป็นของ Binance เท่านั้น
  • Hyperledger Fabric : ใช้เทคโนโลยี Distributed Ledger แต่ Validator Node เป็นกลุ่มบริษัทที่น่าเชื่อถือ ในรูปแบบนี้จะถือว่ามีระดับความ Decentralize มากกว่า 2 อันแรกเพราะ บริษัทเหล่านั้นไม่คิดควบคุมระบบเนื่องจากมีชื่อเสียงของบริษัทคำ้ไว้อยู่ (Skin in the Games)
  • Ethereum : ใช้เทคโนโลยี Distributed Ledger และเปิดกว้างให้นักลงทุนเข้ามาเป็น Validator Node ได้ผ่านการใช้ GPU เข้ามายืนยันข้อมูล
    • ในอนาคตจะเป็นเป็นการให้นักลงทุนวางเงินเดิมพันใน Ethereum 2.0 ซึ่งจะทำให้ระดับความ Decentralize ตำ่ลงเพราะ Etheruem Foundation สามารถควบคุม Validator Node ได้ทั้งหมด
  • Bitcoin : เปิดกว้างให้นักลงทุนมาเป็น Validator Node โดยไม่มีการควบคุม ผ่าน GPU และ Asics

Decentralization เป็นเหมือนกับคำที่มีเพื่อใช้ทำการตลาดเฉยๆ ในฐานะนักลงทุนเราต้องเข้าไปดูข้างในว่าบล็อกเชนนั้นกระจายศูนย์ มันกระจายศูนย์จริงไหม? คำตอบคือใช่และไม่ ซึ่งเราต้องพิจารณาดูเอง

ประเภทของ DLT

ระดับความ Decentralized ทำให้เกิด Distributed Ledger ขึ้นมาหลายรูปแบบซึ่งจะแตกต่างกันไปตามข้อกำหนดให้การเข้ามาเป็น Node และความยากง่ายในการเข้ามาเป็น Node ดังนี้

  • Public Permissionless : (ไม่จำเป็นต้องรู้จัก, เปิดกว้าง)
    • Bitcoin : เปิดกว้างให้นักลงทุนเข้ามาเป็น Validator Node และเข้าง่ายโดยใช้ GPU
    • Ethereum :  เปิดกว้างให้นักลงทุนเข้ามาเป็น Validator Node ด้วยการวางเงิน
  • Public Permissioned : (จำเป็นต้องรู้จัก, เปิดกว้าง)
    • ต้องผ่านกฎ ซึ่งเปิดให้เข้าได้สำหรับคนที่ผ่านข้อตกลงที่ทางบริษัทได้ตกลงไว้
    • Ripple : เปิดกว้างให้นักลงทุนเข้ามาเป็น Validator Node แต่จะมีกฏสำหรับการเป็น Good Validator 
  • Private Permissionless : (ไม่จำเป็นต้องรู้จัก, ไม่เปิดกว้าง)
    • จะเกิดขึ้นใน DLT ที่โครงสร้างและ Consensus Mechanism ใหม่อย่าง Holochain, LTO Network
    • LTO Network : เปิดให้นักลงทุนเข้ามาเป็น Validator Node แต่ Node หลักจะถูกรับรู้แค่การมีอยู่ของ Node ที่เข้ามาใหม่เท่านั้น ไม่ได้อณุญาติการเข้าถึงข้อมูลให้ Node ใหม่ดูแล
  • Private Permissioned : (จำเป็นต้องรู้จัก, ไม่เปิดกว้าง)
    • Hyperledger Fabric : ให้เพียงกลุ่มบริษัทที่รู้จักเท่านั้นเข้ามาเป็น Validator Node

Source : IDB Labs (2021)

Blockchain Trilemma by Vitalik

อ่านมาถึงตรงนี้คงสงสัยกันว่า “ทำไมถึงไม่เป็น Decentralize ทั้งหมดเลยละ มันน่าจะดีกว่านะ?” แต่จริงๆ แล้วมันมีสิ่งแลกเปลี่ยนกันอยู่ระหว่าง ความ Decentralize กับความสามารถต่างใน Blockchain หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ Blockcahin Trillemma

Blockchain Trilemma มีอยู่ 3 ด้าน การที่จะสามารทำได้ทั้ง 3 ด้านพร้อมกันนั้นเป็นไปไม่ได้เพราะในด้านเทคโนโลยีแล้วสามารถทำได้เพียงแค่ 2 ด้านเท่านั้น ซึ่งแต่ละด้านมีดังนี้

  • Security : ความปลอดภัยภายในระบบ อาจจะเป็นความปลอดภัยในด้าน 51% Attack ความผิดปกติของระบบ ซึ่งขึ้นอยู่กับการออกแบบของ Consensus Mechanism
  • Scalability : ความสามารถในการรองรับข้อมูลจำนวนมาก
  • Decentralization : ความสามารถในการกระจายสิทธ์ในการดูแลระบบ

ตัวอย่างเช่น

  • Bitcoin และ Ethereum 1.0 ที่ได้รับการยอมรับเรื่องความปลอดภัยและ Decentralize แต่ความเร็วในการทำธุรกรรมที่มีน้อยนิดเพียง 7 Transaction per Seccond(Tps) สำหรับ Bitcoin และ 30 Tps สำหรับ Ethereum
  • Binance Chain และ Ethereum 2.0 ที่สามารถทำธุรกรรมได้เร็วกว่ามากถึง 160 Tps สำหรับ Binance Chain และมากถึง 100,000 Tps สำหรับ Etheruem 2.0 แต่ระบบไม่ได้มีความ Decentralize มากตามภาพระดับความ Decentralize
  • Vechain และ IOTA มีระบบ Security ที่แตกต่างจาก Distributed Ledger ทั่วไป เพราะมีโครงสร้างและ Consensus Mechanism ที่แตกต่างกันไป
    • Vechain ใช้ Proof of Authority เป็น Consensus Mechanism
    • IOTA ใช้ Direct Acyclic Graph (Model Tangle) เป็นโครงสร้างของ DLT

นวัตกรรมที่สร้างมาจากพื้นฐานของบล็อกเชน

พื้นฐานของบล็อกเชน

จากข้างบนจนมาถึงตรงนี้ จะมีข้อมูลมากมายที่กระจัดกระจายกันอยู่ในหัว เรามาสรุปข้อมูลกันก่อนดีกว่า ด้านบนพื้นฐานของบล็อกเชนจริงๆ ที่ทำให้บล็อกเชนแตกต่างจาก Data Base ธรรมดาคือ

  • Security : ความปลอดภัยในการเก็บข้อมูลจากการมี Cryptography Hash Function หรือการเข้ารหัสต่างๆ ข้องบล็อกเชนทำให้ไม่สามารแก้ไขข้อมูลย้อนหลังบนบล็อกเชนได้
  • Decentralization : ความสามารถในการกระจายศูนย์ หรือความสามารถในการกระจายสิทธิในการดูแลระบบให้กับหลายๆ คน ทำให้เกิด Consensus Mechanism ที่เป็นหัวใจหลักที่ทำให้บล็อกเชนแตกต่างจากการเก็บข้อมูลแบบปกติ

โดยพื้นฐานแล้วความแตกต่างจริงๆ ของบล็อกเชนกับการเก็บข้อมูลแบบธรรมดามีเท่านี้ แต่หลักจากนี้เป็นความสามารถที่สร้างต่อขึ้นมาบนพื้นฐานเหล่านี้อีกทีหนึ่งที่ทำให้บล็อกเชนโดดเด่นออกมา ได้แก่

  • Trust : ความสามารถในการเชื่อใจระบบ จากคำถามข้างบนที่ถามว่า “เราจะเชื่อใจคนเก็บข้อมูลว่าเขาจะไม่แก้ไขข้อมูลเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองได้อย่างไร ?”
    • สิ่งที่เกิดมาหลังจากที่เราเชื่อใจระบบได้แล้ว คือเราสามารเก็บข้อมูลที่ละเอียดอ่อนอย่าง เงิน สินทรัพย์ ข้อมูลส่วนตัว ลงไปได้
  • Automation : Smart Contract เป็นเหมือนการเขียนเงื่อนไขลงในบล็อกเชน มันเหมือนกับเขียนโค้ดตามปกติ แต่เพราะในบล็อกเชนมีข้อมูล เงิน สินทรัพย์ ข้อมูลส่วนตัว
  • Ownership : ความสามารถในการเป็นเจ้าของ บล็อกเชนให้ผู้ใช้ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องถือผ่านตัวกลางอย่างธนาคาร และนี้เป็นพื้นฐานที่สร้าง Cryptocurrencies ขึ้นมา
  • Traceability : ความสามารถในตรวจสอบย้อนหลัง การเก็บข้อมูลที่มีการต่อกันเป็นสายอยู่แล้ว เราสามารถติดตามการเก็บข้อมูลได้ เพือเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อไปศึกษาจุดอ่อนขององค์กรหรือใช้ประโยชน์ภายในองค์กร

จากความสามารถทั้งหมดที่บล็อกเชนทำได้ ได้มีผู้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์นำความสามารถเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้และทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา นวัตกรรมเหล่านี้เป็นนวัตกรรมที่เพิ่มขีดความสามารถให้โลกนี้และแก้ไขปัญหาในปัจจุบันที่มีอยู่

Tokenization

Tokenization คือ “การเปลี่ยนสินทรัพย์และเครื่องมือทางการเงินในโลกจริงให้กลายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล” โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน โดยการสร้างโทเคนเพื่อเป็นตัวแทนของสิทธิหรือทรัพย์สินต่างๆ มีวัตถุประสงค์ต่างๆ ซึ่งการทำ Tokenization เป็นนวัตกรรมที่ถูกจับตามองอย่างกว้างขวางทั้งในโลกการเงินแบบดั้งเดิมและโลกการเงินแบบกระจายศูนย์ (DeFi) (ใน Decentralize Finance เราเรียก Tokenization ว่า Real World Asset) ซึ่งการทำ Tokenization ทำให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมา ได้แก่

  • Fundraising : การระดมทุนรูปแบบใหม่ผ่านการขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือที่เราคุ้นเคยกันอย่าง Cryptocurrencies (Security Token, Utillity Token)
  • Equity : การออกสินทรัพย์ดิจิทัล อาจจะคล้ายๆ กันกับการระดมทุนแต่จะไม่มีจุดประสงค์เหมือนกับการระดมทุน เช่น พันธบัตรรัฐบาล (Bond), ศิลปะดิจิทัล (NFTs) สัญญา (Contract) เป็นต้น

การทำ Tokenization ปลดล็อกความสามารถใหม่ๆ ของนวัตกรรมทางการเงินเหล่านี้ ถือว่าเป็นการยกระดับโลกการเงินแบบดั้งเดิมไปอย่างสิ้นเชิง

  • Fractional : ความสามารถในการแบ่งย่อยสินทรัพย์ดิจิทัล ในสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถแบ่งย่อยออกเป็นหน่วยที่ตำ่กว่า 1 ได้ สามารถทำได้มากสุดถึง 16 หลักใน Ethereum
  • Accessibility : ความสามารถในการเข้าถึง จากที่แยกย่อยได้ (Fractional) นักลงทุนรายย่อยก็สามารถเข้าถึงการลงทุนที่ต้นทุนสูงได้ เช่น หุ้นแพง, การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประเทศ
  • Openness : ความสามารถในการเข้าร่วม สินทรัพย์ดิจิทัลมีสามารถเข้าถึงได้จากคนทั่วทุกมุมโลกเหมือนกับอินเทอร์เน็ตที่ใครที่ไหนในโลกนี้ก็เข้าถึงได้ 
  • Efficiency : ประสิทธิภาพที่มากขึ้นในด้าน Automation และค่าธรรมเนียมธุรกรรมที่ตำ่ลง
    • Self Automation ของผู้คนในบล็อกเชน ที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ทำได้เปรียบเสมือนการเขียนโค้ดลงบนอินเทอร์เน็ต ในทางกลับกันการเขียนโค้ดลงในอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวข้อกับสินทรัพย์จะต้องผ่านตัวกลางอย่างธนาคารทำให้ความต่อเนื่องหยุดชะงักไป
    • ค่าธรรมเนียมที่ตำ่ลงจากการที่บล็อกเชนทำหน้าที่แทนตัวกลางแล้ว ค่าธรรมเนียมหลายๆ อย่างถูกตัดออกไป
  • Liquidity : สภาพคล่องที่สูงขึ้นจากการเข้าถึงที่มากขึ้น (Accesibility) และการเข้าร่วมง่ายขึ้น (Openness) ที่มากขึ้นทำให้ผู้คนสามารถเข้ามาในตลาดได้มากขึ้น เป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้สินทรัพย์นั้นๆ อีกด้วย
  • Cross Border Payment : ความสามารถในการโอนเงินข้ามประเทศ สามารถโอนสินทรัพย์ข้ามประเทศได้ด้วย Cryptocurrencies ( Magic Intenet Money)

ตัวอย่าง Tokenization ในปัจจุบัน

การลงทุนขนาดใหญ่

  • ZiyenCoin เป็นการระดมทุนของ Ziyen inc. บริษัทพลังงานในอเมริกา โดยเสนอขายสินทรัพย์พลังงานของ Ziyen inc. ทั้งหมดจำนวน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นโทเคนในราคา Token ละ 0.01 เหรียญสหรัฐ โดยเหรียญ ZiyenCoin เปลี่ยนแปลงตามมูลค่าสินทรัพย์ที่ Ziyen inc. ได้ถือไว้ทั้งหมด

อสังหาริมทรัพย์

  • RealX Token เป็นการระดุมทุนโดยการนำคอนโดมีเนียมมาแบ่งขขายเป็น Token โดย 1 ตารางนิ้ว = 1 RealX Token และแบ่งเป็นรายได้จากค่าเช่า และขายสินทรัพย์ของโครงการ มีอัตราผลตอบแทนทุกไตรมาส 4-5 % ต่อปีในปีที่ 1-5 และขายสินทรัพย์ของโครงการในปีที่ 6 ขึ้นไป

โลกการเงินบนอินเทอร์เน็ต

  • Ondo Finance เป็นแพลตฟอร์ม DeFi ที่นำสินทรัพย์ในโลกแห่งความจริงเข้ามาโลก DeFi Ondo มี CEO เป็นอดีตพนักงานของ Goldman Sachs ชื่อว่า Nathan Alman และมีผู้ดูแลสินทรัพย์การลงทุนคือ Blackrock บริษัทจัดการการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสินทรัพย์ในการจัดการกว่า 9.42 ล้านล้านดอลล่าสหรัฐ
    • OUSG (ผลตอบแทนเฉลี่ย 4.73% ต่อปี) : ลงทุนใน ETF ที่อ้างอิงราคาจากตั๋วเงินคลังของสหรัฐฯ
    • USDY (ผลตอบแทนเฉลี่ย 5.1% ต่อปี) : ลงทุนในพันธบัตรสหรัฐฯระยะสั้นและเงินฝากกระแสรายวัน 
    • OMMF (ผลตอบแทนเฉลี่ย 4.73% ต่อปี) : ลงทุนกองทุนรวมตลาดเงินสหรัฐฯระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปี
  • อาจจะไม่ใช้เรื่องใหม่มาก แต่ปัจจุบน ถ้าเราอยากจะลงทุนในตัวเลือกการลงทุนนี้ เราต้องผ่านงานเอกสารจำนวนมาก ค่าธรรมเนียมจำนวนมาก ซึ่งชาวคริปโตเรารู้อยู่แล้ว ถ้าเราทำผ่าน DeFi ก็แค่เติมเงินเข้า Exchange โอนใส่กระเป๋า แล้วก็ซื้อ

จะเห็นได้ถึงความสามารถต่างๆของ Tokenization อาจจะเกิดข้อสงสัยว่า “ถ้าไปเปรียบเทียบกับโลกการเงินแบบดั้งเดิม แบบเอาข้อมูลตัวเลขมากาง Tokenization มันดีกว่าจริงๆหรอ ?” คำถามนี้สามารถหาคำตอบได้ใน Tokenization Report ที่มีการเปรียบเทียบความสามารถต่างๆ พร้อมทั้งแน้วโน้มอนาคตของ Tokenization ในโลกการเงินแบบดั้งเดิมและโลกการเงินแบบกระจายศูนย์ (DeFi) 

โลกการเงินบนโลกอินเทอร์เน็ต (Decentralize Finance)

หากได้อยู่ในโลกของ Cryptocurrency มาสักพักจะได้เห็นโลกการเงินที่เข้าถึงได้ง่ายๆ เหมือนเราเข้าอินเทอร์เน็ต เล่าง่ายๆ คือทุกอย่างที่อยู่ในโลกการลงทุนแบบดั้งเดิม ทุกๆ สินทรัพย์การลงทุน เครื่องมือทางการเงินรูปแบบต่างๆ สามารถยกขึ้นมาบนบล็อกเชนและทำให้เข้าถึงได้ง่าย เช่น

  • Decentralize Exchange (Dex) : หน้าที่เหมือนตลาดหุ้นบนโลกอินเทอร์เน็ตที่
  • NFTs Market : แพลตฟอร์มซื้อขายผลงานศิลปะบนโลกอินเทอร์เน็ต
  • Lending Platform : หน้าที่เหมือนธนาคารแต่อยู่บนอินเทอร์เน็ต
  • Perpetual Dex : ตลาดเทรดที่สามารถใช้ Leverage เช่น FOREX

แนวคิดไม่ได้มีอะไรใหม่ ยกโลกการเงินมาไว้บนอินเทอร์เน็ต ซึ่งโดยปกติโลกการเงินจะถูกผูกขาดด้วยรายใหญ่ในตลาด แต่ DeFi ถือว่าเป็นการคืนความคิดสร้างสรรค์คืนให้กับผู้คน เกิดลูกเล่นอีกมากมายให้ค้นหาเช่น Liquid Staking, Decentralize Stable Coin, Perpetual, Flash Loan, Yield Farming, Auction, Real-World Asset DeFi, Airdrop Farming และอีกมากมายรอให้คุณไปค้นหามันอยู่

การลงทุนบนโลกอินเทอร์เน็ต (Cryptocurrencies)

คงไม่พูดถึง Cryptocurrencies ไม่ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เหมือนกันกับ DeFi มันคือการระดมทุนรูปแบบหนึ่ง ที่ทำขึ้นมาบนบล็อกเชน ที่ออกสินทรัพย์อ้างอิงมาเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะมีความสามารถหลากหลายตามที่ตัวโปรเจกต์บอก หากให้ทำสรุปทั้งหมด คงเป็นไปไม่ได้ แต่สามารถแบ่งแยกคร่าวๆ ได้ตามนี้

  • Governance Token : เหรียญที่มีไว้สำหรับการโหวตการเปลี่ยนแปลงในแพลตฟอร์มนั้นๆ อาจใช้แจกเหรียญ Governance Token เพื่อเป็นการจูงใจคนให้เข้ามาใช้แพลตฟอร์ตอีกด้วย และมีการฝาก Governance Token ไว้เพื่อรับส่วนแบ่งรายได้ของแพลตฟอร์ม
    • เหรียญ UNI ของ Uniswap, เหรียญ MKR ของ MakerDAO
  • Currencies : เหรียญที่มีไว้เป็นค่าธรรมเนียมของเครือข่าย
    • เหรียญ BTC ของ Bitcoin, เหรียญ ETH ของ Ethereum
  • Utility Token : เหรียญที่ใช้เป็นส่วนลดหรือค่าธรรมเนียมในการใช้งานแพลตฟอร์ม
    • เหรียญ BAT ของ Basic Attention Token, เหรียญ BNB ของ Binance

ลูกเล่นหลากหลายของตัวสินทรัพย์เป็นหนึ่งในวิธีการเพิ่มมูลค่าให้กับเหรียญ ซึ่งเหรียญๆ หนึ่งอาจมีหลายลูกเล่นอยู่ในเหรียญเดียวกันได้

Cryptocurrencies เป็นการลงทุนรูปแบบหนึ่ง แต่ละโปรเจกต์ก็จะมีการใช้งานที่แตกต่างกันไป ในฐานะนักลงทุน ก่อนที่จะลงเงินไปต้องศึกษาดูให้ดี ดูว่า Crypto ที่เราจะเอาเงินลงไปมันมีโอกาสจะไปต่อไหม “การลงทุนที่ดีคือการลงทุนที่คุณนอนหลับ Do Your Own Research ครับ”

บล็อกเชนสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน

อ่านมาถึงตรงนี้ ตัวอย่างที่ยกมามีแต่ตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับระบบการเงิน หลังจากนี้จะพาไปรู้จักกับระบบบล็อกเชนที่เราไม่ค่อยได้เห็นกันคือระบบบล็อกเชนที่ใช้ใน Healthcare และ Supply Chain

ก่อนอื่นเราต้องรู้ถึง Pain point ของระบบการเก็บข้อมูลของ Healthcare และ Supply Chain ก่อน นั่นคือทุกๆ องค์กรที่อยู่ใน Supply Chain หรือทุกๆ สถานพยาบาลที่อยู่ในฝั่ง Healthcare ทั้งหมดจะเก็บข้อมูลแยกจากกัน ซึ่งปัญหาที่เกิดตามมาคือ การทำงานหรือการส่งข้อมูลข้ามไปมาระหว่างกันจะเป็นอะไรที่ยุ่งยากและเสียเวลามาก 

  • ซื้อขายสินค้าจ่ายเงินด้วยธนาคารและขนส่งด้วยบริษัทขนส่ง จะเห็นได้ว่าจะต้องมี 3 ที่เก็บข้อมูลคล้ายๆ กันไว้ ไม่สามารถ Automate ได้ทันทีเพราะต้องรอการรายงานจากขนส่งไปที่ Bank A และ Bank B ถึงจะโอนเงินได้
  • ข้อมูลคนไข้ของแต่ละโรงพยาบาลมันกระจัดกระจาย เวลาที่เราย้ายไปเข้าโรงพยาบาลใหม่ก็ต้องลงทะเบียนใหม่ ใครที่เคยโดนจะรู้ว่าเสียเวลามาก

“แล้วมันเป็นไปได้ไหมที่จะเกิดที่เก็บข้อมูลกลางที่ทุกองค์กรหรือทุกโรงพยาบาลเข้าถึงได้ ?”

ซึ่งคำถามนี้ตอบได้โดยใช้บล็อกเชน โดยการสร้างบล็อกเชนมาเป็นที่เก็บข้อมูลกลางที่ให้ทุกคนเข้ามาเก็บข้อมูลได้

บริษัทขนาดใหญ่ต่างๆ ได้เล็งเห็นประโยชน์และได้เข้ามาใช้ Blockchain ในการดูแลห่วงโซ่อุปทาน เช่น

  • บริษัทยาขนาดใหญ่อย่าง Astrazeneca, Pfizer, j&j และอื่นๆ ได้ใช้ PharmaLedger ในการดูแล Product line, Decentralised trails และ Supply chain ผ่าน Consensys’ Quorum (Private Blockchain)
  • บริษัทขนส่งและค้าปลีกอย่าง Daimler, FedEx, Uber, UBS และอื่นๆ ได้สร้าง Blockchain in Transport Alliance ในการดูแลห่วงโซ่อุปทาน ผ่าน Hyperledger (Private Blockchain)
  • กลุ่มบริษัทสินค้าราคาแพงอย่าง LVMH Moët Hennessy Louis Vuitton, Mercedes-Benz, Prada และอื่นๆ ได้สร้าง Aura Blockchain Consortium ผ่าน Consensys’ Quorum (Private Blockchain)

ปัจจัยเสี่ยงของ DLT

นอกจากข้อดีข้อเสียที่ต้องคำนึงถึงแล้ว ยังมีปัจจัยภายนอกที่ต้องคิดอีกด้วย เนื่องจากเทคโนโลยีนี้ยังใหม่มากทำให้มีข้อเสียต่างๆ ที่ยังไม่รองรับ พร้อมทั้งปัญหาทางที่ตัวเทคโนโลยีเองที่ต้องได้รับการแก้ไข เช่น

  • กฎหมายที่รองรับยังไม่กว้างขวาง (Legal) : ตามประเทศต่างๆ ได้มีกฎหมายมารองรับเป็นบางส่วนแล้ว เช่น สวิสเซอแลนด์, สิงคโปร์ และอื่นๆ แต่ประเทศอื่นๆ อยู่ในขั้นตอนกำลังศึกษาอยู่
  • ไม่มีมาตรฐานกลาง (Standard) : เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มีนวัตกรรมเกิดขึ้นมามากมายทำให้มาตรฐานเกิดตามไม่ทัน
  • ปัญหาการส่งข้อมูลจากภายนอกเข้าบล็อกเชน (Oracle) : ข้อมูลบางอย่างจำเป็นต้องดึงมาจากด้านนอกบล็อกเชนหรือฐานเก็บข้อมูลแบบเดิม ทำให้เกิดปัญหาผูกขาดการเป็น Oracle และปัญหาการทำงานผิดพลาดของ Oracle ปัญหานี้ถือว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในโลกบล็อกเชนเลย
  • ปัญหาการทำงานร่วมกัน (Interoperability) : บล็อกเชนที่ถูกสร้างขึ้นมาในตอนนี้ล้วนถูกสร้างขึ้นมาให้ทำงานภายในบล็อกเชนเท่านั้น ไม่สามารถทำงานร่วมกันกับบล็อกเชนอื่นได้ และไม่สามารถทำงานร่วมกับระบบการเงินแบบเก่าได้

ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ถือเป็นอีกปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง อย่างไรก็ตามปัจจัยและปัญหาเหล่านี้สามารถถูกแก้ไขไปให้พร้อมกับเทคโนโลยีที่มีอยู่ได้

สรุป

ทุกคนที่เข้ามาอ่านน่าจะได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างของบล็อกเชนมา ไม่ว่าจะทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลนี้นับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในโลก ซึ่งบทความนี้พาทุกคนดำดิ่งลงไปในเทคโนโลยีนี้ตังแต่พื้นฐาน เช่น Cryptography Hash Function และ Consensus Mechnism ที่ทำให้เกิดความสามารถต่างๆ ขึ้นมาที่ระบบการเก็บข้อมูลแบบเดิมทำไม่ได้ พื้นฐานเหล่านั้นทำให้เกิดความสามารถต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาจากพื้นฐานเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น Decentralization ที่เป็นหัวใจหลักของบล็อกเชน, Ownership, Automation และอื่นๆ พร้อมทั้งยกตัวอย่างนวัตกรรมที่สร้างขึ้นมาบนเทคโนโลยีบล็อกเชน อย่าง Tokenization, ธุรกิจรูปแบบใหม่ หรือบล็อกเชนกลางสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน ตัวอย่างเหล่านี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ในตอนนี้ 

ข้อมูลที่ใส่มามีเยอะเลยอยากจะยํ้าอีกรอบว่า อินเทอร์เน็ตในปัจจุบันไม่สามารถทำการส่งข้อมูลสำคัญ ได้ อย่างข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลที่ละเอียดอ่อน แต่เทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถปลอดล็อกขีดจำกัดนั้นได้ ด้วยความสามารถที่ตอบคำถามความเชื่อใจได้ หากมองในอีกมุมหนึ่งนี้จึงเป็นการปลดล็อกความสามารถหนึ่งอินเทอร์เน็ต ซึ่งเหมือนกับเป็นการยกระดับอินเทอร์เน็ตไปอีกขั้น และบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีเก็บข้อมูลอีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจรูปแบบอื่นๆ ได้อีกมากมาย ในปัจจุบันผู้เขียนเชื่อว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นอะไรที่ใหม่มาก แต่ศักยภาพของเทคโนโลยีนี้มันมีมากกว่านี้ “เรามารอดูกันดีกว่าครับว่าอนาคต คนจะพาเทคโนโลยีนี้ไปได้ไกลแค่ไหน”

Author

Share :
Related
Cryptomind Monthly Outlook (November 2024)
Cryptomind Monthly Outlook (October 2024)
Thailand Blockchain Landscape 2024
Technical Analysis $SUI $FTM by Cryptomind Advisory (15 Oct 24)