Search
Close this search box.

Automated Market Maker (AMM)

Share :
Info

Table of Contents

หากเข้ามาในโลก DeFi คงหนีไม่พ้นการใช้งานซื้อขาย (Swap) เหรียญผ่าน Liquidity Pool และอาจมีหลายๆ คน ได้เข้าไปลองใช้การเพิ่มสภาพคล่องของเหรียญกันบ้างแล้วเพราะผลตอบแทนมันหอมหวานเหลือเกิน หลายๆ คนไม่ได้สนใจจุดเล็กๆ จุดหนึ่งว่าการ Swap เนี่ยมันทำงานด้วย Smart Contract ทุกอย่างกำหนดโดยเงื่อนไขและคณิตศาสตร์ ซึ่งศัพย์เทคนิคคือ Automated Market Making (AMM) แล้วทุกคนสงสัยกันไหมครับว่า Swap บน Liquidity Pool หรือ Automated Market Making มันทำงานอย่างไร?

ตัวอย่าง Liquidity Pool บน Syncswap

เพื่อเข้าใจง่ายขึ้น เราต้องย้อนกลับไปโลกการเงินแบบดั้งเดิมก่อน ในโลกการเงินแบบดั้งเดิมนั้น จะมีสิ่งที่เรียกว่า ผู้ดูแลสภาพคล่องอยู่ (Market Maker : MM) หรือคนที่คอยดูแลสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นให้เรานั่นแหละ โดย Market Maker จะทำกำไรจากส่วนต่างของราคา

เช่น เหรียญคู่ BTC/USDT สมมุติว่าราคาเสนอซื้ออยู่ที่ 100  USDT และเสนอขายอยู่ที่ 105 USDT จะเห็นได้ว่ามีส่วนต่างของราคาอยู่ที่ 5 USDT (105 – 100 USDT) โดยสิ่งที่ MM ทำคือ เสนอขาย BTC ที่ 103, 104 และเสนอซื้อ BTC ที่ 101

  1. มีคนมาซื้อ BTC ที่ราคาเสนอขายของ MM ที่ 103 USDT 
  2. MM ก็เอาเงินที่ได้จากการขาย (103 USDT) ไปซื้อ BTC คืนจากราคาที่เสนอซื้อไว้ที่ (101 USDT) 
  3. ได้กำไรจากส่วนต่างราคา 2 USDT (103 – 101) โดยที่ไม่เสีย BTC ไปเลย

ย้อนกลับมาในโลก DeFi ของเรา ในรอบนี้เราไม่มี Market Maker แล้วเพราะว่าทุกอย่างทุกทำด้วยเงื่อนไข (Code) ไม่มีคนมาดูแลสภาพคล่องให้เราแล้ว จึงได้เกิดนวัตกรรมที่เรียกว่า Automated Market Making (AMM) ขึ้น โดย AMM จะมีเบื่องหลังการทำงานจากคณิตศาสตร์ทั้งหมด เรามาเริ่มทำความรู้จักกับ AMM กันเลยครับ

Constant AMM

สมมุติว่าคุณมีกล้วยและผมมีส้ม คุณต้องการแลกกล้วยกับส้มของผม และผมต้องการแลกเหมือนกัน แต่ผมไม่รู้ว่าจะคิดราคายังไงดี? สิ่งที่ผมทำคือ เอากล้วยส่วนหนึ่งของคุณและเอาส้มส่วนหนึ่งของผมมาวางกองรวมกัน โดยที่กำหนดให้ว่า 1 ส้ม = 1 กล้วย (กำหนด 1 : 1 เพราะไม่รู้ว่าราคาที่แท้จริงคือเท่าไหร่)

แล้วถ้าใครต้องการสินค้าก็ให้เอาสินค้าอีกอันหนึ่งมาแลกที่กองกลาง ซึ่งวิธีการทำงานหลังบ้านของกองกลางก็คือ จำนวนกล้วยคูณจำนวนส้มเท่ากับค่าคงที่ค่าหนึ่ง ( xy = k ) เดี๋ยวเรามาดูตัวอย่างกัน

จากที่คำนวนค่า k ตอนที่เอาสินค้ามากองรวมกันได้ 1,000,000 ชิ้น ถ้าใครเอาสินค้าใดมาแลก สิ่งที่เปลี่ยนไปคือปริมาณสินค้ากล้วย หรือสินค้าส้ม แต่ค่า k จะไม่เปลี่ยน (นี้คือที่มาของชื่อ Constant AMM) เช่น

  • ถ้าผมเอาส้มมาแลก 500 ลูก กองกลางใหม่จะเป็น [กล้วยที่เหลือ, 1,500 ส้ม] 
  • หากเอามาแทนในสูตร xy = k แล้วแก้สมการออกมาพบว่าเหลือกล้วย 666.67 ลูก
  • เท่ากับว่า ส้ม 500 ผลของผมแลกกล้วยได้ 333.33 ลูก
  • เมื่อสัดส่วนเปลี่ยนไปทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของกล้วยกับส้มเปลี่ยนเป็น 2.249 : 1

ในโลกของ DeFi ก็หลักการเดียวกันเพียงเปลี่ยนกล้วยกับส้มเป็น Token A หรือ Token B เปลี่ยนกองกลางเป็น Liquidity Pool และเปลี่ยนการวางสินค้าในกองกลางเป็นการวางสภาพคล่อง (Provide Liquidity) เท่านั้นเอง

ตัวอย่างการวางสภาพคล่องใน Uniswap

ตัวอย่างการซื้อขายสินทรัพย์ (Swap) ใน Uniswap

จะเห็นได้ว่าคนที่วางสภาพคล่องไม่ได้อะไรจากการวางสภาพคล่องให้คนอื่นมาซื้อขายเลย ทาง Liquidity Pool ต่างๆ จึงมีการเก็บค่าธรรมเนียมการซื้อขายสินทรัพย์แล้วจ่ายคืนให้ผู้ที่วางสภาพคล่องเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้คนสนใจมาวางสภาพคล่อง เช่นใน Uniswap ให้ 0.3% ในการ Swap แก่คนที่มาวางสภาพคล่อง

แต่สูตร xy = k เป็นสมการเริ่มต้นที่อธิบายให้เข้าใจง่ายเท่านั้น แต่สูตรนี้มีข้อเสียอยู่ จึงได้สร้างสมการต่างๆ ขึ้นมาเพื่อมารองรับรูปแบบสินทรัพย์ที่ต่างกัน และจุดประสงค์ที่ต่างกัน เช่น Virtual AMM, Probabilistic AMM, Hybrids AMM และอื่นๆ อีกมากมาย แต่เราจะนำเสนออีกตัว ที่หลายๆ คน ใช้ คือ Lending AMM

Lending AMM

อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องได้ลองหากเข้ามาในโลก DeFi แล้วนั้นคือ การฝากและกู้สินทรัพย์ ซึ่งในโลกการเงินแบบดั้งเดิม การกู้ยืมเงินนั้นจะต้องทำผ่านธนาคาร และอัตราดอกเบี้ยก็ถูกกำหนดโดยธนาคาร หรือถูกกำหนดมาอีกทีหนึ่งจากธนาคารกลาง แต่ในโลก DeFi อัตราดอกเบี้ยถูกกำหนดผ่านความต้องการกู้ยืม หรือปริมาณการใช้งานสินทรัพย์นั้นๆ (Utilization Rate) เรามาดูรูปจะเข้าใจง่ายกว่า

ตัวอย่างการเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่อปริมาณการกู้ใน AAVE

  • แกน Y คืออัตราดอกเบี้ย และแกน X คืออัตราการใช้งาน, ( i, U )
  • การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยก่อนถึงจุด Optimal อยู่ที่ 0.334% ของดอกเบี้ย (i) : 0.5% Utilization Rate (U)
    • สูตรทางคณิตศาสตร์ : i = 0.668U 
  • เมื่อถึงจุด Optimal ที่ U = 90% อัตราการเพิ่มขึ้นจะถูกเปลี่ยนเป็น 3% i : 0.5% U
    • สูตรทางคณิตศาสตร์ : i = 6U

และแน่นอนว่าการที่ดอกเบี้ยเงินกู้มากขึ้นก็ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินฝากมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้คนมาฝากเงินอีกทีหนึ่ง หากมองดีๆ นี้คือธนาคารบนโลกการเงินแห่งใหม่ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยด้วยความต้องการในการกู้เงิน (Demand) และความต้องการในการฝากเงิน (Supply) ซึ่งเข้าใกล้สิ่งที่เรียกว่าตลาดเสรีที่ไร้การควบคุมมากที่สุด

ข้อดีและข้อเสียของ AMM

หลังจากเข้าใจ AMM กันคร่าวๆ แล้วเรามาสรุปกันหน่อยดีกว่าว่า AMM มีข้อดีอะไรบ้าง

  • โปร่งใส ไม่มีการควบคุม ทุกอย่างทำผ่านเงื่อนไข (Code) บน Smart Contract
  • เปิดโอกาสในการเข้าถึงตลาดรองให้กับโปรเจกต์เหรียญที่กำลังระดมทุน
    • ผลดีกับโปรเจกต์เพราะได้รับเงินทุน
    • ผลดีกับนักลงทุนเพราะเพิ่มโอกาสและตัวเลือกในการลงทุน
  • มีรางวัลให้กับคนที่มาวางสภาพคล่องให้
    • เปิดโอกาสในการทำกำไรแบบใหม่ หรือเปิดโอกาสให้คนธรรมดาเป็น Market Maker ได้
  • ทุกคนสามารถเข้ามาใช้งานได้แบบไม่มีเงื่อนไข

แน่นอนว่ามีข้อดีก็ต้องมีข้อเสีย นั่นคือ

  • Impermanent Loss แต่สามารถบรรเทาได้โดย Probability AMMs
  • ความเสี่ยงของ Platform และ Smart Contract ที่ใช้งาน
  • ความเสี่ยงจากการโดนหลอก Swap เหรียญปลอม รวมถึงเว็ปปลอม
  • ต้นทุนค่าธรรมเนียมที่ต้องคำนึงถึง
  • ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ
  • ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาเนื่องจากสภาพคล่องตำ่

สรุป

Automated Market Maker เป็นเครื่องมือที่สำคัญในโลก DeFi ที่ทำให้โลกการเงินบนอินเทอร์เน็ตเป็นไปได้จริง และเป็นส่วนสำคัญในความโปร่งใสของบล็อกเชน ตัวโมเดลมีทั้งข้อดีและข้อเสียปะปนกันไป แต่ในบทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในโลก DeFi เพียงเท่านั้น สิ่งเหล่านั้นกำลังรอให้คุณได้ไปเรียนรู้และค้นพบมันอยู่นะครับ

Author

Share :
Related
Cryptomind Monthly Outlook (November 2024)
Cryptomind Monthly Outlook (October 2024)
Thailand Blockchain Landscape 2024
Technical Analysis $SUI $FTM by Cryptomind Advisory (15 Oct 24)