Search
Close this search box.

LayerZero: นวัตกรรมแก้ปัญหาการสื่อสารข้าม Blockchain

  • Kuljira Ittiamornkul
  • Parit Boonluean

    A guy who loves crypto like Bitcoin and Ethereum. He's not the best writer, but his love for DeFi makes up for it. He's an easygoing guy who makes learning about crypto fun and easy.

Share :
AW_LayerZero-01(1)

Table of Contents

ขอบคุณภาพจาก LayerZero network

ในช่วงที่ผ่านมาหลายๆคนน่าจะเคยได้ยินเกี่ยวกับโปรเจกต์ที่มีชื่อว่า LayerZero ไม่ว่าจะเป็นจากข่าวที่ทาง LayerZero Labs เพิ่งได้รับเงินระดมทุนครั้งใหญ่ด้วยมูลค่า 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนทำให้ตอนนี้ LayerZero มีมูลค่าโปรเจกต์รวมทั้งสิ้นกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ถือว่าสูงเป็นอันดับต้นๆ หรือจะเป็นจากกระแสการเก็ง Airdrop ที่คาดการณ์กันว่าน่าจะเป็นหนึ่งใน Airdrop ที่มีมูลค่าสูงอีกตัวหนึ่งทำให้เป็นที่สนใจพูดถึงกันมากมาย 

โดยอย่างที่ทุกคนน่าจะพอทราบว่า LayerZero เป็นโปรโตคอลรูปแบบใหม่ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาและช่วยยกระดับการโอนเหรียญและข้อมูลข้ามเชน หรือแม้แต่ทำงานประสานกันระหว่างหลาย Blockchain ในทันทีโดยที่ยังได้ทั้งเรื่องความปลอดภัยและสะดวกสบาย ยกตัวอย่างปัญหาที่ LayerZero จะเข้ามาช่วยแก้ไขได้คือปัญหาที่เห็นกันบ่อยๆจากการใช้งาน Cross-chain bridge ซึ่งถ้านับปี 2022 มาจนถึงขณะที่เขียนบทความ ถือว่าเป็นปีที่ยากลำบากของโปรโตคอลกลุ่ม Cross-chain Bridge อย่างมาก เพราะจากข้อมูลของ Chainanalysis บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลด้าน Blockchain พบว่า Cross-chain Bridge โดนแฮคมากกว่า 2,000 ล้านดอลาร์สหรัฐในปีเดียว ซึ่งสาเหตุที่แพลตฟอร์มนี้โดนโจมตีบ่อยอาจมาจากปัญหาด้านการออกแบบ ถ้าออกแบบให้กระจายตัวมาก ต้นทุนก็สูง แต่ถ้ารวมกลุ่มเกินไปก็จะโดนโจมตีได้ง่าย ดังนั้นปัญหาการโดนแฮคจึงยังมีข่าวออกอยู่เสมอ ซึ่ง LayerZero ก็ได้บอกว่าตัวเองเป็นนวัตกรรมใหม่ที่แก้ปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย LayerZero มีหลักการทำงานอย่างไรที่จะเข้ามาแก้ปัญหาเหล่านี้ เราจะไปหาคำตอบกันในบทความนี้ 

นอกจาก Cross-chain bridge แล้ว เทคโนโลยีของ LayerZero ยังสามารถนำไปใช้กับ Application อื่นๆได้หลากหลาย อย่างไรก็ตามคนส่วนใหญ่อาจจะไม่รู้ Scope เกี่ยวกับโปรเจกต์ LayerZero ว่าทำอะไรบ้างและมี Ecosystem ที่เติบโตไปขนาดไหนแล้ว ดังนั้นบทความนี้เราจึงจะพามาทำความรู้จักกับ Layer Zero โปรโตคอลตัวใหม่ที่น่าจับตามากตัวหนึ่งในอนาคต

Blockchain Interoperability: มาตรฐานการสื่อสารระหว่าง Blockchain

ขอบคุณภาพจาก Defillama

หลังจากการเกิดขึ้นของ Smart Contract Blockchain อย่าง Ethereum ทำให้การใช้งานและเม็ดเงินต่างหลั่งไหลเข้ามาในโลก Cryptocurrency มากขึ้น ทั้งการประยุกต์ไปทำการระดมทุนโดยไม่ต้องผ่านรัฐอย่าง ICO, การสร้างระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลางอย่าง DeFi และ NFT, GameFi รวมถึง Metaverse ที่เริ่มเชื่อมโยง Use Cases ต่างๆให้มีเข้าถึงกลุ่มคนทั่วไปได้มากขึ้น

ขอบคุณภาพจาก Coin98

แต่การใช้งานที่มากขึ้นบน Ethereum ก็ทำให้เกิดความหนาแน่นของธุรกรรมจนช้าและค่าธรรมเนียมสูง จึงเกิด Blockchain Layer 1 ทางเลือกขึ้นมามากมายโดยมีทั้งเน้นไปที่ความเร็วเป็นหลักบ้าง เน้นการใช้งานด้านเกมส์หรือ NFT เป็นหลักบ้าง โดยในตอนนี้มีมากกว่า 150 เชนที่ลิสต์อยู่ในรายชื่ออย่างเป็นทางการบน Defillama แล้ว และเพียงในเดือนตุลาคม 2022 ก็เกิดเชนใหม่ที่มีศักยภาพและได้เงินระดมทุนถึง 7 เชน โดยรายละเอียดการออกแบบ Blockchain แต่ละตัวนั้นล้วนแตกต่างกันทั้งภาษาที่เขียน Software ที่ใช้ประมวลผล เป็นต้น ทำให้การสื่อสารข้ามกันระหว่างเชนด้วยกันนั้นยังไม่สามารถทำได้ราบรื่นนัก ซึ่งความสามารถในการทำงานร่วมกันข้ามเครือข่าย (Cross-chain interoperability) ถือเป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอุตสาหกรรม Blockchain และคริปโทฯ ดังนั้นจึงมีแนวคิดเกี่ยวกับ Solution ต่างๆในการส่งข้อมูลระหว่างเชนขึ้นมา ซึ่งหนึ่งในนั้นที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุดก็คือการใช้ Cross-chain bridge ที่ใช้ในการส่ง Asset ข้ามเชน โดยในปัจจุบันส่วนมากเทคโนโลยีที่คนพูดถึงกันเยอะที่สุดก็มีอยู่ 2 ประเภทหลักด้วยกันคือ Intermidiate Layer และ Light Client ช่วยในการเป็นตัวกลางในการส่งข้อมูลระหว่างสองเชน โดยแต่ละวิธีก็มีจุดเด่นและจุดด้อยที่แตกต่างกันไป

Intermediate Layer คืออะไร

ขอบคุณภาพจาก Colourbox

Intermidiate Layer หรือ Middle Chain เป็นตัวกลางที่อยู่ระหว่าง Blockchain ทั้งสองที่ต้องการสื่อสารระหว่างกัน โดย Middle Chain นี้มีหน้าที่รับข้อมูล (Receive), ตรวจสอบความถูกต้อง (Validate) และส่งคำสั่งหรือข้อมูลระหว่างเชน ทำให้ Middle Chain เปรียบเสมือนผู้ที่มีสิทธิ์ขาดและอำนาจทั้งหมดในการส่งคำสั่ง แล้วทั้งสองเชนนี้ต้องเชื่อถือว่าเป็นความจริง ยกตัวอย่างโปรเจกต์ที่เป็น Intermediate layer ที่เรารู้จักกันดี อย่างเช่น Relay chain ของ Pokadot นั่นเอง ซึ่งข้อดีของ Intermediate Layer คือ แม้ว่าจะเป็นวิธีการที่เข้าใจได้ง่าย มีประสิทธิภาพ และต้นทุนไม่สูง (เมื่อเทียบกับ Light Node) อย่างไรก็ตาม Intermediate layer ก็ยังข้อจำกัดที่น่ากังวลดังนี้

  • การทำงานร่วมกันที่ถูกจำกัด (Limited Composability)
ขอบคุณภาพจาก Blockspaper

ถึงแม้ว่าการใช้ Intermidiate Layer จะทำให้ทั้งสองเชนสื่อสารกันได้ แต่ก็ไม่สามารถเชื่อมแพลตฟอร์มบนเชนใดเชนหนึ่งเข้ากับอีกเชนได้อย่างไรรอยต่ออย่างที่ควรจะเป็น ยกตัวอย่างเช่น การที่แต่ละเชนรองรับภาษาที่ต่างกัน โดย Blockchain ที่ใช้ Ethereum Virtual Machine (EVM) จะใช้ภาษา Solidity ในการเขียน ส่วน Non-EVM Blockchain จะใช้ภาษา Rust, Cairdro หรือ Move เป็นต้น

นอกจากนี้ การทำงานร่วมกันอาจถูกจำกัดเพียงแค่รับ-โอนสินทรัพย์ระหว่างกันด้วยเหรียญ Wrapped Token เท่านั้น เช่น USDC.e บน Avalanche จะอ้างอิง USDC ที่โอนมาจาก Ethereum หรือบางเหรียญที่ไม่ถูกเขียนให้รองรับก็ไม่อาจส่งข้ามมาหากันได้ หรือการที่มีแพลตฟอร์มกู้ยืม (Lending Protocol) เดียวกันเปิดอยู่ทั้งสองเชนแต่เขียนกันคนละภาษา การที่จะวางเงินค้ำประกันในเชนแรกและกู้สินทรัพย์ในอีกเชนก็ถือเป็นอีกโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทายในการปฏิบัติจริง

  • จุดเดียวของความล้มเหลว (Single Point of Failure)
ขอบคุณภาพจาก Vootwerk

ด้วยความที่ตัวกลางอย่าง Intermidiate Layer เป็นศูนย์กลางที่เชื่อมระหว่างทั้งสองเชน ทำให้เกิดการรวมศูนย์ (Centralization) อย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งถึงแม้ว่าเรื่องของความ Decentralization นั้นจะสามารถเพิ่มได้ตามจำนวน Node แต่ก็ยังถือเป็นจุดอ่อนที่ร้ายแรงหาก Intermidiate Layer นี้มีปัญหา ทั้งสองเชนก็จะไม่สามารถสื่อสารกันได้ หรือหากกรณีที่ร้ายแรงกว่านั้นคือการเป็นเป้าหมายที่ถูกเพ่งเล็งจากการแฮคได้ง่าย เพราะมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการส่งคำสั่งให้ทั้งสองเชนอย่างอิสระ

On-chain Light Node คืออะไร ต่างจาก Ultra Light Node ของ LayerZero อย่างไร

ขอบคุณภาพจาก Ko Medium

On-chain Light Node หรือ Light Client เป็นอีกทางเลือกสำหรับการเชื่อมต่อระหว่างสองเชน ที่ช่วยแก้ปัญหาและข้อจำกัดต่างๆของวิธีการแบบ Intermediate layer ซึ่ง Light Client จะมีหลักการคล้ายกับ Full Node โดยปกติแล้ว Full Node ของ Blockchain จะมีหน้าที่รับ-ส่งข้อมูล, ตรวจสอบข้อมูลและเก็บข้อมูลทั้งหมดที่อยู่บน Blockchain ทำให้ใช้พื้นที่และในการเก็บข้อมูลมหาศาลซึ่งนั่นคือข้อดีเพราะว่าหากมีการส่งคำสั่งที่ผิดพลาดมา Full Node จะตรวจสอบและปฏิเสธข้อมูลนั้นได้ทันทีและอัตโนมัติ 

ในทางปฏิบัติแล้ว การใช้ Full Node ต้นทุนสูงมหาศาล ต้องเปิด 24 ชั่วโมง และยังสิ้นเปลืองพลังงาน ข้อมูลธุรกรรมก็ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบทั้งหมดขนาดนั้นด้วย การใช้ Full Node จึงไม่เหมาะสมสำหรับการเป็นตัวเชื่อมระหว่างสองเชน ดังนั้น On-chain light node จึงเข้ามาแก้ปัญหาของ Full node โดยการเก็บเฉพาะข้อมูลธุรกรรมที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แทนที่การเก็บข้อมูลของทั้งเชน ทำให้ On-chain light node มีต้นทุนที่ต่ำกว่า Full node ค่อนข้างมาก ด้วยความปลอดภัยที่เทียบเท่ากับ Full node แต่ถึงแม้ว่าจะมีต้นทุนการ Operate ที่ต่ำกว่า Full node แต่ก็ยังถือว่าสูงกว่าแบบ Intermediate layer ค่อนข้างมาก

กล่าวโดยสรุปคือ On-chain light node นั้นมีความปลอดภัยและยืดหยุ่นกว่า Intermediate layer อย่างไรก็ตาม จากข้อจำกัดในด้านค่าใช้จ่ายของ On-chain light node ทำให้ในปัจจุบัน โปรเจกต์ส่วนมากยังเลือกพัฒนา Cross-chain Bridge แบบ Intermediate layer อยู่ ซึ่งอย่างที่อธิบายไปข้างต้น Intermediate layer ก็มีข้อจำกัดหลายอย่างทำให้ยังไม่ได้เป็น Solution ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับ Blockchain interoperability นั่นเอง

ดังนั้นจึงมีอีกแนวคิดที่ต่อยอดมาจาก On-chain light node ซึ่งก็คือ Ultra Light Node (ULN) ที่ได้ผสานข้อดีของทั้งสองมารวมกัน กล่าวคือ ความปลอดภัยในระดับเดียวกับ Light node แต่ยังมีต้นทุนต่ำในแบบ Intermediate layer ซึ่งก็เป็นเทคโนโลยีที่ทาง LayerZero พัฒนาขึ้นมานั่นเอง ซึ่งหลักการทำงานเป็นอย่างไร แตกต่างจาก On-chain light node มากแค่ไหน เราจะไปหาคำตอบกันในพาร์ทถัดไป

Ultra Light Node ของ LayerZero

หลักการของ Ultra light node ของ LayerZero ในการสื่อสารและตรวจสอบธุรกรรมระหว่างสองเชนนั้นมีความคล้ายกับ On-chain light node แต่ว่ามีวิธีการในการปรับการทำงานให้มีความ Cost-effective มากขึ้น ก่อนอื่นเราจะมาดูรายละเอียดการทำงานของ On-chain light node กันก่อนที่จะลงรายละเอียดของ Ultra light node

ขอบคุณภาพจาก Near.org

ซึ่งหลักการของ On-chain light node (Light client) คือ Smart contracts ที่เก็บข้อมูลเฉพาะในส่วนของ Block header ล่าสุดเท่านั้น จึงเป็นการช่วยลด Storage space ใน Light node ได้ ซึ่งการดึงข้อมูลเพียงแค่ Block Header ล่าสุดก็สามารถตีความข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดที่เป็นจริงเทียบเท่ากับการโหลดมาทั้ง Blockchain ทำให้สามารถใช้เพียงแค่ Light Client ก็สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในการทำธุรกรรม Cross-chain ได้ ยกตัวอย่างตามภาพด้านบน เช่น ถ้าเป็นการสื่อสารระหว่างเชน Ethereum กับ Near จะมี Light node ที่เกี่ยวข้องจำนวน 2 Light node ซึ่งตัวที่อยู่บนเชน Ethereum จะเก็บ Block header ของ Near ส่วนตัวที่อยู่บนเชน Near จะเก็บ Block header ของ Ethereum โดยจะมี Relay ที่คอยทำหน้าที่ส่งทุกๆ Block header ไปที่ Light node ของอีกฝั่งเพื่อยืนยันความถูกต้องของธุรกรรมระหว่างเชน จะเห็นว่า On-chain light node มีการใช้ Relay เป็น Security หลักในการสื่อสารข้ามเชน ซึ่งเป็นการใช้ Smart contracts ที่ไม่ต้องอาศัยการวางใจ Thrid party จึงมีความ Trustless และปลอดภัยค่อนข้างสูง

สำหรับในกรณีของ Ultra light node (หรือเรียกอีกชื่อว่า LayerZero Endpoint) ที่ LayerZero ใช้นั้นมีหลักการในการ Validate คล้ายกันกับ On-chain light node ที่มีความ Trustless แต่จะแตกต่างกันตรงที่ Ultra light node จะใช้กระบวนการตรวจสอบธุรกรรมแบบ Off-chain (ถ้าเป็น On-chain light node ตัว Relay จะอยู่ On-chain)  โดยการใช้ Decentralized oracle และ Relayer ที่จะทำหน้าที่ในการดึง Block header และการตรวจสอบธุรกรรม ทำให้เป็นการช่วยลดโหลดที่เกิดขึ้นบน On-chain ลงได้ นอกจากนี้ LayerZero ยังไม่ต้องสื่อสารผ่าน Intermediate chain ในส่วนทั้งหมดนี้จึงส่งผลให้ Cost ถูกลง 

ขอบคุณภาพจาก LayerZero

นอกจากนี้ อีกความแตกต่างหนึ่งระหว่าง On-chain light node กับ Ultra light node ก็คือ Ultra light node จะมีการใช้ Oracle เพิ่มขึ้นมาจากการใช้ Relayer ในการส่งข้อมูล Block header ระหว่าง Endpoint (ซึ่ง Endpoint ก็คือ Ultra light node) ซึ่งเป็นการเสริมความแข็งแกร่งในเรื่อง Security ไปอีกขั้น หรืออธิบายง่ายคือถ้าจะแฮค Bridge แบบ Ultra light node ได้นั้นจะต้องผ่านทั้งด่าน Relayer และ Oracle ทั้งหมดทั้งมวลทำให้ Ultra light node นั้นมี Security ระดับเดียวกับ On-chain light node ด้วยต้นทุนแบบ Intermediate layer นั่นเอง

หลักการทำงานของ LayerZero

หลังจากที่ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับ Ultra Light Node ที่ทาง LayerZero ใช้แล้ว ในพาร์ทนี้เราจะไปดูกันว่า LayerZero มีหลักการทำงานอย่างไรในแง่ของการสื่อสารข้ามเชน โดยการทำงานจะมี Component ที่เกี่ยวข้อง 3 ส่วนหลักด้วยกันคือ Endpoint, Relayer และ Oracle

ขอบคุณภาพจาก LayerZero

Oracle

Oracle ทำหน้าที่อ่านและตรวจสอบ Block header ที่เกี่ยวข้อง และทำการส่งจากเชนหนึ่งไปที่อีกเชนหนึ่ง ซึ่ง Oracle จะต้องเป็น Third party ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ LayerZero โดยปัจจุบันทาง LayerZero ใช้บริการของ Chainlink และ Band protocol

Relayer

ทำหน้าที่คล้ายกับ Oracle ในการตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมช้ามเชน ความแตกต่างระหว่าง Oracle กับ Relayer คือ Oracle จะอ่านและตรวจสอบ Block header ที่เป็น Generic data แต่ว่า Relayer จะตรวจสอบหลักฐานที่ยืนยันว่าธุรกรรมภายใน Block header นั้นอีกทีว่าถูกต้อง นอกจากนี้ตามหลักการ Oracle และ Relayer จะต้องไม่มีความเกี่ยวข้องกันและเป็นอิสระต่อกัน ตอนนี้ทางทีมงาน LayerZero เป็นผู้ดูแลและให้บริการในส่วนของ Relayer อยู่ แต่ว่าในทางปฏิบัติผู้ใช้งานสามารถตั้ง Relayer หรือ Decentralied relayer network ขึ้นมาเองก็ได้เช่นกัน

ในตอนนี้ก็มีหลายๆฝ่ายออกมาเก็งว่าทาง LayerZero จะออกเหรียญของตัวเอง (อาจจะมีชื่อว่า ZRO) ซึ่งถ้ามีการออกเหรียญจริง อาจจะทำให้สามารถ Stake เหรียญ ZRO บน Relayer เพื่อเพิ่มความ Decentralization ได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอติดตามประกาศอย่างชัดเจนจากทีมงานอีกครั้ง

Endpoint

Endpoint คือชุด Smart contracts ที่ทำหน้าที่เป็น User interface ซึ่งจะอยู่บนทุกเชนภายใน LayerZero Network โดยถ้าเชนไหนหรือ DApps ไหนต้องการใช้ LayerZero ก็แค่ทำการติดตั้ง Endpoint ได้อย่างง่ายดาย โดยภายใน Endpoint ประกอบไปด้วยส่วนประกอบที่ทำหน้าที่สามอย่างคือ Communicator, Validator และ Network เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ขอยกตัวอย่างแบบง่ายๆดังนี้

  1. สมมติว่าทำธุรกรรมข้ามเชนจากบนเชน A (เช่น ฝาก Asset บนแพลทฟอร์ม Lending บนเชน Ethereum และยืม USDC จากแพลทฟอร์มเดียวกันบนเชน Polygon เป็นต้น) ธุรกรรมดังกล่าวจะถูกส่งไปที่ Endpoint ของเชน A
  2. Endpoint ส่งข้อมูลไปที่ Relayer และ Oracle ที่อยู่ Off-chain
  3. Oracle ทำหน้าที่ตรวจสอบและคอนเฟิร์มความถูกต้อง Block header ที่ส่งมา
  4. Relayer ตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมบนเชน A อีกครั้ง ซึ่งจริงๆแล้ว Relayer ทำหน้าที่คล้ายกับ Oracle เลยเพียงแต่ว่าจะตรวจสอบชุดข้อมูลที่แตกต่างกันเพื่อ Complement ซึ่งกันและกันได้
  5. ถ้าทั้ง Oracle และ Relayer ไม่เจออะไรผิดปกติ ธุรกรรมที่ส่งจากเชน A จะนำไป Finalized บนเชน B (หรือตามตัวอย่างคือ USDC จะถูกส่งไปใน Wallet บนเชน Polygon) อย่างไรก็ตามถ้า Oracle และ Relayer มีความเห็นไม่ตรงกัน ธุรกรรมจะถูกหยุดไว้และไม่ถูกส่งต่อไปที่เชน B

The Bridging Trilemma

ก่อนที่จะไปดู Use case อื่นๆของ LayerZero เราจะไปดูกันก่อนว่าทุกวันนี้ข้อจำกัดของ Cross-chain bridge ที่ LayerZero เข้ามาแก้ปัญหานั้นมีอะไรบ้าง ซึ่งปัญหาหนึ่งของ Cross-chain bridge ที่เป็นที่รู้กันก็คือเรื่องของ Bridging trilemma โดยคุณลักษณะ 3 อย่างที่ Bridge ควรมีนั้นประกอบด้วย Instant Guaranteed Finality, Unified Liquidity และ Native Assets แต่ละอย่างมีรายละเอียดดังนี้

ขอบคุณภาพจาก Stargate Official
  • การยืนยันความสมบูรณ์ของธุรกรรมในทันที (Instant Guaranteed Finality): หมายถึงการรับประกันว่าเมื่อทำธุรกรรมโอนเงินจากเชนต้นทางเรียบร้อย เงินหรือข้อมูลจะส่งไปถึงเชนปลายทางได้ในทันที
  • สภาพคล่องที่ใช้ร่วมกันเพียงแห่งเดียว (Unified Liquidity): จากปกติที่การเพิ่มสภาพคล่องจะเป็นคู่ของแต่ละเชนซึ่งไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับการใช้ Unified Liqudiity ที่สภาพคล่องทุกเชนจะรวมกันอยู่ในกลุ่มก้อนเดียว
  • เป็นเหรียญจริงที่ใช้งานบนเชน (Native Assets): เป็นเหมือนการโอนเหรียญนั้นไปจริงๆ ไม่ใช่การสังเคราะห์เหรียญใหม่ (Wrapped asset) ออกมาโดยอ้างอิงมูลค่าตามเหรียญที่ลอคอยู่กับ Bridge 

อย่างไรก็ตามคุณสมบัติทั้ง 3 อย่างนี้จะถูกเลือกได้เพียง 1-2 คุณสมบัติเท่านั้น ไม่มีทางได้ทั้งหมด จึงเป็นเหมือน Trillema หรือทางสามง่ามที่ต้องมีการตัดสินใจในการออกแบบที่ดี โดยผลลัพธ์ที่ได้จะแตกต่างกันไป ยกตัวอย่างดังนี้:

Instant Guaranteed Finality

ขอบคุณภาพจาก Avalanche Bridge

การเลือก Instant Guaranteed Finality เพียงอย่างเดียวจะทำให้ปลายทางของเชนได้รับเงินในทันที แต่ Bridge นั้้นจำเป็นต้องสร้าง Pool ระหว่างทั้งสองเชนนั้นและเหรียญที่ได้ในอีกฝั่งจะไม่ใช่เหรียญที่มาจากต้นทางจริง เป็นเพียงแค่ Synthetic Asset ที่สร้างขึ้นแล้วอ้างอิงมูลค่าของเหรียยที่ลอคอยู่กับ Brdige นั้น 

ยกตัวอย่างเช่น การโอน USDC จาก Ethereum Mainnet ไปยัง Avalanche ผ่าน Avalanche Bridge เมื่อเราส่งคำสั่งไป USDC ของเราจะไปลอคอยู่กับ Bridge แล้วจะมีการสร้าง USDC.e ขึ้นบน Avalanche โดย USDC.e นั้นจะอ้างอิงมูลค่ากับ USDC ที่ลอคอยู่ ดังนั้น USDC.e จึงแทบจะมีคุณสมบัติเท่ากับ USDC ของจริงทุกประการ ยกเว้นเพียงแต่ว่า Bridge นั้นถูกแฮค USDC ออกไป จะทำให้ USDC.e ที่เราถือนั้นไม่มีสินทรัพย์จริงอ้างอิงจนมูลค่ากลายเป็นศูนย์

Native Assets and Unified Liquidity

ขอบคุณภาพจาก Stargate Official

การเลือกใช้ทั้ง Native Assets จะทำให้ผู้รับนั้นมีความเป็นเจ้าของกับเหรียญนั้นจริงโดยที่ไม่ต้องไปฝากไว้ในตัวกลางไหนก็ตาม และ Unified Liquidity จะทำให้สภาพคล่องประสิทธิภาพสูงสุดเนื่องจากเชนไหนที่มีคนเพิ่มสภาพคล่องต่ำก็สามารถดึงสภาพคล่องจากเชนที่มีเยอะกว่าได้

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียที่เกิดขึ้นก็คือแต่ละเชนนั้นมีความต้องการและความเร็วที่แตกต่างกัน อาจจะมีสภาพคล่องถูกถ่ายไปเชนใดเชนหนึ่งเท่านั้น หรือบางเชนก็ช้ากว่าอีกเชนจนไม่สามารถอัพเดทข้อมูลหรือเหรียญได้ในทันทีจนธุรกรรมบางอันต้องถูกยกเลิกไป ทำให้ผู้ใช้งานเสียค่าธรรมเนียมโดยเปล่าประโยชน์ หรืออาจจะต้องมีการย้อนธุรกรรมในเชนหนึ่งออกไปเพราะยังไม่ได้ส่งเงินไปจริง (ยากในทางปฏิบัติ) วิธีการนี้จึงมีจุดอ่อนที่ร้ายแรงและเสี่ยงต่อการโดนโจมตีได้เช่นกัน

Δ Algorithm: Unified Native Asset Pools and Instant Guaranteed Finality

อย่างไรก็ตาม แนวคิดในการสร้าง Bridge ที่สามารถตอบโจทย์คุณสมบัติทั้ง 3 ข้อนั้นก็ยังมีความท้าทายอยู่มาก แต่ทาง LayerZero ก็ได้พัฒนาวิธีการที่เรียกว่า Δ Algorithm ซึ่งเป็น Algorithm ตัวแรกที่สามารถแก้โจทย์ของ Bridge trilemma ได้ทั้งสามข้อ ซึ่งการที่สามารถแก้ Trilemma ได้ทั้งสามข้อ ร่วมกับการ Streamline ผ่านการใช้ Ultra light node นั้นทำให้การทำ Cross-chain messaging ผ่าน LayerZero มีความยืดหยุ่น มีความสามารถในการเชื่อมโยงและมีปฏิสัมพันธ์กันได้อย่างอิสระ (Composability) และเปิดรับ Cross-chain application ต่างๆได้หลายหลาย ซึ่งจะพูดถึงในพาร์ทถัดไป

LayerZero มากกว่าความเป็น Cross-chain Bridge

ในพาร์ทก่อนหน้า เราได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี Ultra light node และ Delta algorithm ที่ทาง LayerZero ใช้กันไปแล้ว โดยนอกจากเทคโนโลยีดังกล่าวจะสามารถปรับใช้กับ Cross-chain bridge แล้ว ด้วยความที่เทคโนโลยีมีความยืดหยุ่นและมีความ Trustless เราจึงสามารถเรียกว่า LayerZero เป็น General messaging protocol ที่สามารถปรับใช้ได้กับ Application อื่นๆหลายอย่าง เช่น Cross-chain decentralized exchanges, Multichain yield aggregator, Crosschain lending เป็นต้น อย่างไรก็ตาม พอพูดถึง DApps ที่สามารถทำงานข้ามเชนได้ หลายๆคนก็อาจจะนึกถึงโปรเจกต์ที่เป็นที่รู้จักและคุ้นเคยอยู่แล้ว อย่างเช่น THORChain, Polkadot หรือ Cosmos ซึ่ง LayerZero แตกต่างกับโปรเจกต์เหล่านี้อย่างไรบ้าง เราจะไปหาคำตอบกัน

THORChain

ขอบคุณภาพจาก THORChain

THORChain เป็นหนึ่งใน Cross-chain DEX (มีบล็อกเชนเป็นของตัวเอง) ซึ่ง Liquidity pool ที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนเหรียญจะผูกคู่ไว้กับเหรียญ RUNE ที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวกลาง (Intermediate token) ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนเหรียญต่างๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่อง Scalability ที่ส่งผลให้ไม่ให้มีจำนวน Liquidity pool มากเกินไปได้ อย่างไรก็ตามวิธีการที่ THORChain ใช้มีความซับซ้อนในส่วนของ Algorithm ค่อนข้างมาก โดยอดีตที่ผ่านมา THORChain ก็ผ่านการถูกแฮคไปหลายครั้ง นอกจากนี้ การใช้สกุลเงินกลางก็ยังทำให้ต้องใช้การ Subsidy เพื่อแก้ปัญหา Impermanent loss ให้แก่ผู้ใช้งานด้วย ซึ่งถ้าเป็น LayerZero ก็จะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ทั้งหมดโดยไม่ต้องใช้สกุลเงินกลางให้ยุ่งยาก 

หมายเหตุ: ตัวอย่าง Bridge อื่นๆที่ใช้หลักการคล้าย THORChain คือใช้ Intermediate token และมีบล็อกเชนเป็นของตัวเอง เช่น Synapse, AnySwap, Multichain เป็นต้น

Polkadot

ขอบคุณภาพจาก Polkadot

Polkadot ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่มีเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกับ LayerZero ในแง่ที่ว่าเชนต่างๆที่เรียกว่า Parachain ภายใน Ecosystem สามารถเชื่อมต่อกันได้แบบยืดหยุ่น ทั้งส่ง Asset ข้ามเชนและรวมไปถึง Application ต่างๆที่หลากหลาย อย่างไรก็ตามข้อจำกัดของ Polkadot ก็คือการสื่อสารระหว่างเชนจะต้องทำผ่าน Relay chain เสมอ และเชนที่จะเชื่อมต่อกันได้ต้องเป็นเชนที่รองรับเท่านั้น หลักการจึงคล้ายกับ Intermediate layer วิธีจึงมีข้อจำกัดอย่างที่ได้อธิบายไปในพาร์ทก่อนหน้า ซึ่งเทคโนโลยีของ LayerZero จะตัดตัวกลางที่เป็น Middle chain ออกไปนั่นเอง 

นอกจากนี้ข้อจำกัดอีกอย่างของ Polkadot คือการสื่อสารข้ามเชนที่ไม่ได้อยู่ภายใน Polkadot ecosystem นั้นตอนนี้ยังทำไม่ได้ การที่จะย้าย Asset ข้ามเชนจะต้องผ่านการ Bridge ออกมาก่อนเท่านั้น เราจึงยังไม่สามารถเรียกว่า Polkadot เป็นโปรโตคอล General cross-chain messaging อย่างเท้จริง

Cosmos

ขอบคุณภาพจาก Delphi digital

Cosmos ก็เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่คล้ายกับ Polkadot โดยเชนต่างๆที่รองรับจะสามารถเชื่อมต่อกันได้และรองรับ Cross-chain DApps ในรูปแบบต่างๆโปรโตคอลที่ชื่อว่า Inter-Blockchain Communication (IBC)  ความแตกต่างระหว่าง Cosmos กับ LayerZero ก็คือว่า IBC นั้นใช้ Transport layer ที่ใช้หลักการ On-chain light node ในการสื่อสารระหว่างเชน ซึ่งทำให้ IBC นั้นมีข้อจำกัดในเรื่องของต้นทุนการใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเชน Ethereum และเชนที่เป็น EVM อื่นๆที่ทำให้การนำ IBC มาใช้ทำได้ยาก

นอกจากนี้การสื่อสารระหว่างเชนจะต้องทำผ่าน Intermediate layer (ไม่ว่าจะเป็น Cosmos hub หรือ Hub อื่นๆ) นอกจากนี้ทั้ง Cosmos และ Polkadot จะเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ได้กับเชน Proof-of-stake ที่รองรับเท่านั้น ต่างจาก LayerZero ที่สามารถใช้งานกับเชนไหนก็ได้แบบไม่มีข้อจำกัด รวมถึงเชนที่เป็น Proof-of-work ก็รองรับได้ด้วยเช่นกัน

ขอบคุณภาพจาก LayerZero

อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจคือ IBC สามารถทำงานร่วมกับ LayerZero ได้จากการที่ทั้งสองมาจับมือกัน โดยนักพัฒนาสามารถแทนที่ Transport layer ของ IBC ด้วยการใช้ LayerZero แทน ก็จะทำให้ตัดข้อจำกัดที่ IBC มีได้ทั้งหมด ซึ่งในจุดนี้ทำให้ IBC ไม่ใช่คู่แข่ง แต่เทคโนโลยีของ LayerZero สามารถช่วยเสริมให้ IBC มีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังทำให้ LayerZero มีจุดแข็งเพิ่มขึ้นในฐานะ Cross-chain messaging protocol

Axelar

ขอบคุณภาพจาก Axelar

อีกหนึ่งโปรโตคอล Cross-chain communication ที่เป็นที่รู้จักกันอีกตัวหนึ่งคือ Axelar ซึ่งเป็น Blockchain และ Validator set ของตัวเองที่สร้างอยู่บน Cosmos ecosystem โดย Axelay ใช้หลักการ Intermediate chain และ On-chain light client ที่ถึงแม้จะมีจุดแข็ง แต่ก็มีข้อเสียหลายอย่าง เช่น ต้นทุนที่สูงกว่า, การส่งข้ามเชนจะได้รับเป็น Wrapped asset เป็นต้น ตามที่ได้อธิบายไปในพาร์ทก่อนหน้านี้ ซึ่งหลักการโดยรวมมีความคล้ายกับ Cosmos โดยสำหรับ Axelar เชนที่เข้ามาใช้งานจะสามารถเชื่อมต่อผ่าน IBC ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้อดีของ Axelar คือสามารถรองรับเชนต่างๆได้อย่างไม่จำกัดตามแบบ LayerZero ไม่ว่าจะเป็น POS หรือ POW blockchain โดย Gateway smart contract ของ Axelar นั้นเปรียบเทียบได้กับ Endpoint ของ LayerZero ที่นักพัฒนาสามารถนำไป Deploy เพื่อทำให้ DApps หรือเชนของตัวเองรองรับ Cross-chain messaging ผ่านเครือข่ายของ Axelar ได้แบบง่ายดาย

Chainlink Cross-chain Interoperability Protocol (CCIP)

ขอบคุณภาพจาก Chainlink

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่มีความใกล้เคียงกับ LayerZero มากที่สุดคือ Cross-chain Interoperability Protocol หรือ CCIP ของ Chainlink ซึ่ง CCIP สามารถทำทุกอย่างได้เหมือนกับ LayerZero เลยคือการเป็น General messaging protocol ที่ช่วยในการสื่อสารระหว่างเชนต่างๆแบบ Trustless เช่นกัน 

ขอบคุณภาพจาก Chainlink

นอกจากนี้หลักการสื่อสารระหว่างเชนยังมีความคล้ายกันค่อนข้างมาก โดย Messaging Router Smart Contracts (MRSCs) ของ Chainlink ก็ทำหน้าที่แบบเดียวกับ Endpoints ของ LayerZero ซึ่งเป็น Interface ที่อยู่บนเชนต่างๆในเครือข่าย นอกจากนี้ CCIP ยังมีการใช้ Off-chain Decentralized oracle ในการตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมข้ามเชนแบบเดียวกับ LayerZero อย่างไรก็ตามฟังก์ชั่น Oracle ของทาง CCIP จะถูกกำหนดเป็น Chainlink Decentralized Oracle Networks (DONs) ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีระบบ Cross-check ความถูกต้องของธุรกรรมเพื่อเพิ่ม Security layer อีกชั้นหนึ่งที่ทำโดย Anti-Fraud Network ซึ่งก็มีหน้าที่คล้ายกับ Relayer ของ LayerZero นั่นเอง

โดยความแตกต่างหลักระหว่าง CCIP กับ LayerZero ก็คือสำหรับ CCIP ฟังก์ชั่นของ Oracle/Relayer จะทำโดย Chainlink ทั้งหมด ดังนั้นมองในมุมหนึ่งข้อดีของ Chainlink ก็คือการมี Nodes ที่มีความ Decentralized มากกว่า Relayer ของ LayerZero ในเวลานี้ แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งก็คือ การที่นำความเชื่อมั่นหรือ Trust ทั้งหมดวางไว้ที่ Chainlink ก็อาจจะเป็นความเสี่ยงได้เช่นกัน 

อีกความแตกต่างที่เป็นจุดขายของ CCIP คือมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า Hybrid Smart Contracts ที่ทำให้ CCIP สามารถเชื่อมต่อทั้ง On-chain และ Off-chain smart contracts ได้ ซึ่งเรามองว่า ถ้าจะให้เปรียบเทียบกับเทคโนโลยี Cross-chain ที่มีทั้งหมดตอนนี้ CCIP ดูมีศักยภาพในการเทียบเคียงกับ LayerZero ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามก็ต้องคอยติดตามดูหลังการเปิดตัวของ CCIP กันอีกที ซึ่งคาดว่าน่าจะเปิดตัวในช่วง Q2 ในปี 2023 นี้ (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Chainlink ได้ที่นี่)

Use case ของ LayerZero

อย่างที่เกริ่นไปในพาร์ทก่อนหน้าว่า LayerZero เป็น General cross-chain messaging protocol ดังนั้นเทคโนโลยีนี้จึงสามารถนำไปใช้กับ Use case อื่นๆที่มากกว่าความเป็น Bridge ในการส่ง Asset ระหว่างเชน โดยในพาร์ทนี้เราจะไปดูกันว่ามี Use case อะไรที่สามารถใช้เทคโนโลยีของ LayerZero ได้บ้างและมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง

State Sharing

State sharing เป็นการแก้ปัญหาเกี่ยวกับความยุ่งยากของการสร้างแพลทฟอร์มเมื่อต้องขยายไปตาม Blockchain ต่างๆที่มีอยู่จำนวนมากซึ่งใช้ภาษาการเขียน Code และมีระดับความปลอดภัยแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้แพลทฟอร์ม SushiSwap ขยายไปสร้างบนเชนต่างๆกว่า 19 เชน ซึ่งถ้าต้องการซิงค์สถานะกับเชนหลัก Ethereum ทางทีมงานจะต้องเขียน Code สำหรับการใช้ Wormhole, Rainbow bridge, Polygon network bridge หรือ Avalanche bridge เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีความยุ่งยากจากการที่ทีมงานต้องเขียน Code และทำ User interface ใหม่ทุกครั้งเมื่อจะต้องย้ายไปที่เชนอื่นที่รองรับคนละภาษา และความเสี่ยงของแต่ละเชนที่ต้องใช้การจัดการแตกต่างกันออกไป 

ลองนึกภาพว่าถ้าในอนาคตมีเชนเกิดเพิ่มขึ้นอีก จะต้องใช้การจัดการที่ซับซ้อนมากขนาดไหน อย่างไรก็ตาม ถ้า SushiSwap มาสร้างบน LayerZero ก็ใช้แค่ User interface เดียวและเขียน Code แค่ครั้งเดียวในการขยายไปยังเชนอื่นๆได้อย่างไม่จำกัดและทำได้แบบง่ายๆ

Unified Liquidity Bridge

เนื่องจากทุกวันนี้มีจำนวนเชนเกิดขึ้นมากมาย ทำให้มี Bridge เกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่ง Bridge ต่างๆก็ต่างแข่งขันเพื่อดึงผู้วาง Liquidity เข้ามาให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ในแต่ละคู่เหรียญของแต่ละ Bridge ก็จะต้องมีการแข่งขันกันเองเพื่อดึง Liquidity กันเองอีก ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องกระจัดกระจาย (Liquidity fragmentation) ที่มีผลต่อ Capital efficiency และประสิทธิภาพของ Bridge โดยตรง

ขอบคุณภาพจาก Stargate.finance

ซึ่งถ้าเป็น Bridge ที่ใช้เทคโนโลยีของ LayerZero ก็จะสามารถแก้ปัญหาการกระจายตัวของ Liquidity ได้ หมายถึงว่าถ้าในฐานะผู้วาง LP แทนที่จะต้องเลือกวาง Asset บนเชนใดเชนหนึ่งและได้รับค่า Fee จากเชนเดียว ก็จะสามารถได้รับค่า Fee จากทุกๆเชนที่เข้ามาเชื่อมต่อ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าวาง Liquidity เป็นเหรียญ USDC บน Stargate finance ไว้ที่เชน Ethereum ก็จะได้รับค่า Fee จากทุกๆเชนที่ทำการ Bridge USDC เข้ามาที่เชน Ethereum ได้ นอกจากนี้ผู้ใช้งานยังสามารถวาง Asset แบบเดี่ยว (Single-sided) แทนที่การวางแบบเป็นคู่ Pair ที่มักจะเกิดปัญหาจาก Impermanent loss

Cross-chain Swaps (DEX)

โดยปกติถ้าเป็น Cross-chain DEX ทั่วไป จะใช้หลัก Intermediate chain (หรือจะเรียกว่า Intermediate layer ก็ได้) และทำการสร้าง Wrapped token ในอีกเชนที่เราต้องการจะส่งไป โดยเหรียญที่ผู้ใช้งานจะได้รับในอีกเชนจะไม่ใช่ Native asset แต่อย่างใด โดยวิธีการที่สามารถทำให้ผู้ใช้งานได้รับ Native asset ก็คือการใช้ Intermediate token แบบที่ THORChain ใช้ ซึ่งมีเหรียญ RUNE เป็นเหรียญตัวกลางซึ่งก็มีข้อจำกัดหลายอย่างตามที่ได้อธิบายไปในพาร์ทก่อนหน้า

ขอบคุณภาพจาก LayerZero

ซึ่งถ้าใช้เทคโนโลยีของ LayerZero ก็จะช่วยตัดขั้นตอนของ Intermediate chain หรือ Intermediate token ออกไปได้เลย โดยที่ปลายทางจะได้รับเป็น Native asset เลย ซึ่งกระบวนการทำงานของการทำ Cross-chain swap ที่สร้างบน LayerZero นั้นดูได้จากรูปภาพด้านขวาสุด ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ใช้งานใช้งานที่เชน A ก็จะเกิดธุรกรรมการแลกเปลี่ยนขึ้นบนเชน A และส่ง Message ไปบอกที่เชน B ให้ส่ง Asset ให้กับผู้ใช้งานที่เชน B ที่อยู่ปลายทาง (ทั้งเชน A และ B ก็มี Liquidity pool ของตัวเอง) ซึ่งจะเห็นได้ว่าการแลกเปลี่ยนนั้นทำโดย Smart contract ที่อยู่บนเชนต้นทางและปลายทางเท่านั้น โดย LayerZero มีหน้าที่เพียงเป็นตัวส่ง Message สื่อสารระหว่างสองฝั่ง ลักษณะการทำงานแบบนี้ทำให้มีความยืดหยุ่นมาก

Multi-chain Yield Aggregator

ในปัจจุบันแพลทฟอร์ม Yield aggregator ส่วนมากมักจะเป็นแพลทฟอร์มที่ทำงานอยู่บนเชนใดเชนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งทำให้มีข้อจำกัดจากคือจะทำให้พลาดโอกาสการสร้าง Yield จากในเชนอื่นๆได้ ซึ่งเทคโนโลยีของ LayerZero ทำให้สามารถสร้าง Multi-chain yield aggregator ที่สรรหาแหล่งสร้าง Yield ที่ดีที่สุดในจากหลายๆเชนไปในเวลาเดียวกันได้

Multi-chain Lending

ในปัจจุบันถ้าผู้ใช้งานมี Asset อยู่ที่เชน A แต่ว่าต้องการกู้เงินแล้วนำไปฟาร์มเพื่อหาผลตอบแทนบนเชน B ก็จะต้องมีหลายขั้นตอนสักหน่อย โดยที่จะต้องวางสินทรัพย์ค้ำประกันไว้บนเชน A กู้เหรียญออกมาและทำการ Bridge asset ไปที่เชน B เพื่อนำไปฟาร์ม และเมื่อต้องการจะคืนเงินกู้ ก็จะต้องทำการ Bridge กลับจากเชน B มาที่เชน A อีกรอบเพื่อจ่ายคืนเงินกู้ ทำให้อาจจะไม่สะดวกเท่าไหร่ในแง่การใช้งาน ลองนึกภาพว่าถ้าราคาตกหนักๆแล้วต้องทำการคืนเงินแบบด่วน ก็อาจจะไม่ทันการได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าใช้ LayerZero ผู้ใช้งานสามารถวางสินทรัพย์ค้ำประกันบนเชน A และเลือกกู้บนเชน B ตามที่ต้องการได้เลย ตัดขั้นตอนการ Bridge และค่า Fee ที่เกี่ยวข้องออกไปได้ทั้งหมด

LayerZero Ecosystem

Use case ของเทคโนโลยี LayerZero ที่ยกตัวอย่างไปในพาร์ทที่แล้วเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะด้วยความยืดหยุ่นของ Messaging protocol ทำให้เรามองว่ามีความเป็นไปได้ในการสร้าง Use case ที่เกี่ยวกับ Cross-chain อื่นๆได้อีกมากมายที่เราอาจจะคิดไม่ถึง

ขอบคุณภาพจาก Cryptoviet

โดยในปัจจุบันก็ได้มีโปรเจกต์จำนวนมากมาพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีของ LayerZero ซึ่งประกอบด้วยโปรเจกต์หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น Wallet, Bridge, DeFi, NFT, DEX, Marketplace เป็นต้น ยกตัวอย่างบางโปรเจกต์ที่สร้างบน LayerZero เช่น

Radiant Capital

ขอบคุณภาพจาก Radiant capital

Radiant capital เป็นหนึ่งในแพลทฟอร์ม Money market ที่สร้างบน LayerZero โดยในปัจจุบันผู้ใช้งานสามารถปล่อยกู้หรือวางสินทรัพย์ค้ำประกัน (Collateral) จากบนเชน Arbitrum หรือ BNB Chain ได้ นอกจากนี้ ถ้าต้องการที่จะกู้ (Borrow) เราสามารถเลือกการกู้ Asset ไปไว้บนเชนที่รองรับอย่าง Ethereum, Arbitrum หรือ Optimism ได้เลย 

Rage Trade

ขอบคุณภาพจาก Bixin ventures

Rage trade เป็นแพลทฟอร์มที่สร้าง Omnichain perpetual trading โดยมีเป้าหมายจะเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องของ Liquidity fragmentation ที่เกิดกับแพลทฟอร์ม Perps trading อื่นทั่วไป เพราด้วยเทคโนโลยีของ LayerZero ที่ทำให้สามารถรวม Liquidity มาจากจากหลายๆเชนเพื่อรองรับการเทรดแบบ Low slippage และ Low fee ได้ โดย Rage trade ได้ใช้วิธีการที่เรียกว่า Omnichain recycled liquidity ในการเพิ่ม Capital efficiency ให้กับผู้ใช้งานและเพิ่ม Liquidity บนแพลทฟอร์ม อธิบายให้เห็นภาพคือ ผู้ใช้งานสามารถนำ LP จากหลายแหล่งหลายเชน เช่น GLP, Curve LP มาฝากเป็น Liquidity บน Rage trade ได้ ทำให้ Rage trade มี LP จากหลายเชน ไม่ว่าจะเป็น Polygon, Avalanche, Solana เป็นต้น ในขณะเดียวกันผู้ใช้งานก็มีโอกาสได้รับ Yield เพิ่มเติมได้

Omni X

ขอบคุณภาพจาก Omni X twitter

Omni X เป็นแพลทฟอร์มที่พัฒนา Omnichain NFT Marketplace โดยมีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาของ NFT ที่มักจะมีที่อยู่บนเชนเดียวเท่านั้น โดยตอนนี้ Omni X ยังมีสถานะเป็น Beta ที่รองรับการซื้อขาย NFT แบบ Cross-chain บนเชนต่างๆมากกว่า 8 เชน ประกอบด้วย Ethereum, Arbitrum, Optimism, BNB Chain, Avalanche, Moonbeam, Polygon, and Fantomthereum, Arbitrum, Optimism, BNB Chain, Avalanche, Moonbeam, Polygon, และ Fantom ทำให้การซื้อขาย NFT มี Liquidity ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังมี Use case อื่นๆที่เป็นไปได้อีกมาก เช่น Omnichain bidding โดยผู้ใช้งานสามารถส่งคำสั่ง Bid หรือกดรับ Offer จากเชนไหนก็ได้ที่ทาง Omni X รองรับ โดยไม่ต้อง Bridge ไปมาให้ยุ่งยาก หรืออีกตัวอย่างหนึ่งอาจจะเป็น Cross-chain minting ที่ผู้ใช้งานสามารถ Mint NFT บนเชน B ผ่านเชน A ได้ เป็นต้น

ความเสี่ยงและ Trust Assumption ของ LayerZero

ในบทความนี้เราก็ได้ไปดูข้อดีและโอกาสต่างๆในการใช้เทคโนโลยีของ LayerZero กันไปแล้ว ทีนี้เราจะมาดูกันบ้างว่านอกจากข้อดีแล้ว ตัวเทคโนโลยีมีจุดอ่อนอะไรบ้าง โดยตามข้อมูลในเอกสารของ LayerZero นั้นบอกว่าโปรโตคอลนั้นเป็น “Trustless” แต่การที่จะบอกว่าเป็น Trustless ที่แท้จริงหรือไม่หรือมีความ Trustless แค่ในระดับหนึ่ง ก็ต้องไปดูกันที่ Trust assumption ว่าเราจะต้องใช้ Trust ในจุดไหนอยู่บ้าง โดยที่จริงแล้วสำหรับ LayerZero เองนั้นเรายังต้องใช้ Trust อยู่ระดับหนึ่ง ซึ่งจุดอ่อนหลักของ LayerZero นั้นมีที่มาจากความเชื่อมั่นที่ต้องมีต่อ Oracle/Relayer และอีกประเด็นสำคัญคือการที่สามารถให้นักพัฒนาเลือกใช้ Oracle และ Relayer ที่ต้องการได้เอง หรือที่เรียกว่า Isolated security

ความเสี่ยงจาก Oracle/Relayer และความ Centralization

ความปลอดภัยของ LayerZero ขึ้นอยู่กับ Oracle และ Relayer เป็นหลัก ดังนั้นความเสี่ยงหลักจึงมาจากจุดนี้ ซึ่งหลักการของ Security คือ Oracle และ Relayer จะต้องไม่มีความเกี่ยวข้องกันเพื่อที่จะทำให้ไม่เกิดการร่วมมือกันเพื่อโจมตีระบบได้นั่นเอง ซึ่งโดย Default นั้น Oracle จะเป็น Chainlink ส่วน Relayer จะเป็นทีม LayerZero Labs เอง ซึ่งถึงแม้ตามหลักความจริงจะมีความปลอดภัยค่อนข้างสูงมาก เพราะ Chainlink เองก็เป็น Oracle ที่ผ่านการทดสอบมาอย่างยาวนาน 

อย่างไรก็ตามโดยหลักการ Relayer ที่ Operate โดย LayerZero Labs ในตอนนี้ยังมีความ Centralized สูงและทั้งหมดทั้งมวลยังมีความเสี่ยงในเรื่องของ Trust อยู่ในระดับหนึ่ง แต่ว่าความเสี่ยงตรงนี้จะลดลงตามความ Decentralization ที่เพิ่มขึ้นตามจำนวน Relayer ใน Network ที่ควรจะมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต 

Isolated Security

นอกจากนี้ ตามระบบของ LayerZero จะเปิดให้ DApps หรือเชนต่างๆที่เข้ามาใช้งานในเครือข่ายของ LayerZero สามารถเลือก Relayer และ Oracle เองได้แบบ Permissionless โดยไม่ต้องยึดตาม Default ดังนั้นก็น่าจะเป็นการยากที่จะยืนยันได้ว่า Oracle และ Relayer นั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกันจริงๆ ซึ่งถ้ามีผู้สร้าง DApps รายไหนที่ไม่หวังดีแล้วเกิดสร้าง Oracle และ Relayer ขึ้นมาเป็นของตัวเองและสมรู้ร่วมคิดกันสร้างธุรกรรมปลอมขึ้นมาก็ทำได้เลย

ถึงแม้ตามความเป็นจริงแล้วคงไม่มี DApps ที่มีเจตนาดีอยากสร้าง Oracle/Relayer ขึ้นมาเองเพื่อขโมยเงินนักลงทุน หรือไปเลือกใช้งาน Oracle ที่ไม่มีคุณภาพที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงได้ แต่ทั้งหมดก็ล้วนเป็นไปได้ ดังนั้นผู้ใช้งานควรตรวจสอบ Relayer และ Oracle ที่ DApps ก่อนเข้าไปใช้งานทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย

Operational Risks

เนื่องมาจากว่าการทำงานของ LayerZero ขึ้นอยู่กับ Thrid party (Oracle และ Relayer) เพื่อให้ระบบสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น หมายถึงว่าจะมีความเสี่ยงที่มาจาก Operational risk เพิ่มเติมอีกที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของ LayerZero

LayerZero Token และข่าวลือการแจก Airdrop

ในช่วงเวลาที่เขียนบทความนี้ในเดือนพฤษภาคม 2023 ทาง LayerZero ยังไม่ได้ออกเหรียญของตัวเอง จึงยังไม่สามารถบอกได้ในตอนนี้ว่าถ้ามีเหรียญออกมาจริง จะมี Use case อะไรบ้าง อย่างไรก็ตามก็ได้มีหลายคนออกมาคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้สูงว่าทาง LayerZero จะมีการออกเหรียญในที่สุด โดยคาดเดากันว่า Use case หลักจะใช้ไปในการ Staking บน Relayer เพื่อทำให้ Relayer มีความ Decentralized มากขึ้น และทำให้สามารถลงโทษผู้ที่เข้ามาเป็น Relayer ที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องผ่านการ Slashing ได้

ขอบคุณภาพจาก LayerZero

โดยจนกว่าจะมีการประกาศที่ชัดเจน ก็ยังไม่มีใครรู้แน่ว่าจะมีการออกเหรียญจริงหรือไม่และมี Use case ที่แท้จริงเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม จากการที่มีโปรเจกต์ต่างๆอย่าง Arbitrum, Optimism ได้ทำการแจก Airdrop ให้กับผู้ใช้งานไปในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นาน ทำให้หลายๆคนก็ได้เข้าไปใช้งาน DApps ต่างๆบน LayerZero โดยคาดหวังว่าจะได้รับ Airdrop เช่นกัน โดยถ้ามีการแจก Airdrop จริง ก็คาดว่าน่าจะเป็น Airdrop ที่ค่อนข้างมีมูลค่า เพราะทาง LayerZero เพิ่งได้รับเงินระดมทุนรอบ Series B จาก Backer ขนาดใหญ่ไปจำนวน 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้โปรเจกต์มี Valuation กว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่า Arbitrum ที่ระดมทุนได้แค่ประมาณ 120 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

ขอบคุณภาพจาก Cryptoviet

ซึ่งสำหรับใครที่สนใจลุ้น Airdrop ก็สามารถลองเข้าไปใช้งาน DApps ต่างๆได้ เช่น การ Bridge asset โดยใช้ Stargate finance, The Aptos Bridge, Liquidswap ผ่านหลายๆเชน หรือจะไปวาง Liquidity ผ่านแพลทฟอร์ม Lending อย่าง Radiant Capital ซึ่งนอกจากการใช้งาน Bridge และวาง Liquidity เราอาจจะไปทดลองใช้งาน Cross-chain swap ผ่าน SushiSwap, Hashflow หรือการ Mint/Trade NFT ผ่านแพลทฟอร์มอย่าง Ominisea, Omni X เป็นต้น โดยพยายามใช้งานอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าทุกอย่างเป็นแค่การคาดเดาเท่านั้น จึงควรใช้เงินจำนวนน้อยที่เสียได้ในการเก็ง Airdrop เท่านั้น

สรุปเกี่ยวกับ LayerZero

ถ้าในอนาคตเราเชื่อว่าจะไม่ได้มีแค่ Blockchain เดียวที่กินรวบทั้งหมด แต่ว่าเป็นการอยู่ร่วมกันระหว่างหลายๆเชนทั้ง Layer 1 และ Layer 2 ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า โปรโตคอลที่จะช่วยในการสื่อสารข้ามเชนที่สามารถช่วยในการก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆจะมีความสำคัญอย่างมาก ซึ่ง LayerZero ก็เป็นหนึ่งในผู้เล่นดังกล่าวที่เราคิดว่าก็มีข้อดี และข้อได้เปรียบต่างๆหลายอย่าง ถึงแม้จะมีตัวเลือกในตลาดอยู่หลายเจ้า อย่างเช่น Chainlink CCIP, Cosmos IBC เป็นต้น

โดยที่ LayerZero ถือเป็นหนึ่งโปรโตคอล Omnichain general messaging ที่น่าจับตามองเพราะว่าได้แก้ปัญหาที่เกี่ยวกับ Cross-chain communication ระหว่างเชนต่างๆ โดยเทคโนโลยีเฉพาะตัวอย่าง Ultra light node และการใช้ Security verification แบบ Off-chain ทำให้ LayerZero สามารถรองรับ Cross-chain application ได้หลากหลายมาก เช่น Cross-chain swap, Cross-chain lending, Cross-chain NFT marketplace เป็นต้น นอกจากนี้ด้วยความยืดหยุ่น ความ Cost-effeictive และความง่ายในการ Onboard ของเทคโนโลยี ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าจะมี Application อื่นๆนอกเหนือเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ซึ่งถึงแม้ว่าเทคโนโลยีของ LayerZero จะมีข้อดีหลายอย่างและมีความปลอดภัยที่ค่อนข้างสูง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่บ้าง โดยความเสี่ยงหลักๆเกิดขึ้นจาก Oracle/Relayer ที่เป็นตัวทำหน้าที่ดูแลเรื่อง Security ทั้งหมดของโปรโตคอล ดังนั้นผู้ใช้งานจะต้องตรวจสอบชุด Oracle/Relayer ที่ DApps เลือกใช้เพื่อช่วยในการคัดกรองและลดความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง

Authors

Share :
Related
Cryptomind Monthly Outlook (November 2024)
Cryptomind Monthly Outlook (October 2024)
Thailand Blockchain Landscape 2024
Technical Analysis $SUI $FTM by Cryptomind Advisory (15 Oct 24)