Search
Close this search box.

การประเมินมูลค่า Altcoin สำหรับการลงทุนระยะยาว

Reading time 15 Mins
Share :
Altcoin - Landscape

Table of Contents

ในปี 2023 ที่ผ่านมา Bitcoin ทำราคาขึ้นกว่า 154% อีกทั้งวงการคริปโตฯ ก็กลับมาเป็นกระแสมากขึ้นทำให้มีหลายคนคิดว่าเราได้เข้าสู่จุดเริ่มต้นของตลาดกระทิงแล้ว ซึ่งนี่คงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะตามหาเหรียญ Altcoin ที่น่าสนใจเพื่อที่เราจะลงทุนได้ตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นโปรเจกต์ Altcoin มีเป็นพันๆ โปรเจกต์ในทุกรูปแบบที่เราจะนึกถึงได้ เราจะรู้ได้ยังไงว่าตัวไหนนั้นน่าลงทุนและตัวไหนนั้นควรถูกคัดออกจากกองไป ในบทความนี้จาพาไปดูแนวทางการประเมินมูลค่า Altcoin สำหรับการลงทุนในระยะยาวกันครับ

จากการที่ตลาดคริปโตนั้นมีความผันผวนที่สูง ต้องยอมรับว่าการลงทุนคริปโตในปัจจุบันนั้นเน้นไปทางด้าน Technical เป็นหลัก แม้กระทั่งบทวิเคราะห์จากนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ก็ยังเป็นไปในเชิงการวิเคราะห์ทางเทคนิคซะส่วนมาก อีกหนึ่งตัวชี้วัดที่ถูกใช้โดยนักลงทุนรายย่อยก็คือ Social Metric ถ้าหากโปรเจกต์นั้นๆ สามารถสร้างกระแสความนิยมหรือมีชื่อเสียงขึ้นมาได้ ก็จะเป็นที่พูดถึงในการซื้อขายเก็งกำไรในระยะสั้นได้

อย่างไรก็ตามสำหรับการลงทุนในระยะยาวนั้นแตกต่างกัน โดยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis) และ การวิเคราะห์มหภาค (Macro Analysis) นั้นควรถูกนำมาใช้ควบคู่กันเพื่อทำการคาดการณ์มูลค่าของโปรเจกต์นั้นๆ 

ในตลาดเดิมนั้น โครงสร้าง การดำเนินงาน และผลประกอบการของบริษัทนั้นคงถูกนำมาใช้เพื่อประเมินการลงทุนระยะยาว แต่สำหรับโปรเจกต์คริปโตแล้วการวิเคราะห์นั้นจะใช้ตัวชี้วัดที่แตกต่างกัน ในบทความนี้จะทำการประเมินความน่าลงทุนในโปรเจกต์คริปโตผ่านการวิเคราะห์เทคโนโลยีและประโยชน์ของโปรเจกต์ โดยจะดูจาก Tokenomics (เศรษฐศาสตร์ของเหรียญ) Governance (การบริหารจัดการ) ราคาเหรียญในปัจจุบันและปัจจัยมหภาค

ประเมินเทคโนโลยีและการใช้งานจริง

การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานนั้นประกอบไปด้วยการประเมินฐานะการเงิน อุตสาหกรรม และข้อมูลต่างๆ ในตลาดเพื่อนำมาใช้วิเคราะห์บริษัทนั้น ซึ่งในการลงทุนระยะยาวก็ควรมีการประเมินรูปแบบนี้รวมอยู่ด้วย แต่ทั้งนี้สำหรับโปรเจกต์คริปโตแล้ว การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานในรูปแบบเดิมๆ นั้นแทบจะไม่สามารถทำได้เนื่องจากตลาดคริปโตนั้นเป็นอะไรที่ใหม่มาก อีกทั้งต้นทุนการทำโปรเจกต์นั้นก็เรียกว่าแทบจะไม่มี เราจะวิเคราะห์กระแสเงินสดของโปรเจกต์พวกนี้ได้ยังไง ถ้าไม่มีข้อมูลกระแสเงินสดเลยด้วยซ้ำ อีกทั้งในแง่มุมของคริปโต การเป็นผู้ถือเหรียญของโปรเจกต์นั้นๆ ถึงแม้จะมีบางส่วนที่คล้ายกับการถือหุ้นบริษัท แต่ก็ไม่สามารถเทียบเท่ากันได้อยู่ดี นี่ก็เป็นเหตุผลที่การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานแบบเดิมๆ นั้นไม่สามารถใช้ได้กับคริปโต

แต่สุดท้ายแล้ว ในบางกรณีการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะว่าโปรเจกต์ที่จะเติบโตต่อไปได้นั้นก็แสดงว่าต้องมีคนใช้งาน หรือมันมีประโยชน์อะไรบางอย่างที่แก้ Pain Point ของผู้ใช้ได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว อะไรที่มีประโยชน์และเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินก็มักจะใช้การวิเคราะห์พื้นฐานได้นั่นเอง เพราะฉะนั้นคำถามแรกที่สำคัญในการวิเคราะห์พื้นฐานโปรเจกต์คริปโตนั้นก็คือ โปรเจกต์นั้นๆ แก้ปัญหาอะไร? มีประโยชน์อะไร? แล้วสิ่งที่ผลิตภัณฑ์หรือ Product ที่โปรเจกต์นี้กำลังพัฒนาอยู่มันจำเป็นต้องใช้บล็อกเชนมั้ย? พูดอย่างง่ายก็คือ ในการประเมินโปรเจกต์บล็อกเชนนั้น บล็อกเชนเข้ามาช่วยส่งเสริมให้การใช้งานมันง่ายขึ้น หรือสะดวกขึ้นหรือไม่?

บางโปรเจกต์ในโลกคริปโตนั้นเรียกว่าแนวคิดที่ดีและมีประโยชน์จริง แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันนั้นยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอในการทำให้มันเติบโตได้ โดยตัวอย่างที่ของโปรเจกต์ประเภทนี้คือ SocialFi (โซเชียลมีเดียไร้ตัวกลาง) ที่พยายามจะผูกบัญชีโซเชียลมีเดียและข้อมูลส่วนตัวของเราให้เข้ากับระบบบล็อกเชน ในทางทฤษฎีแล้วโปรเจกต์รูปแบบนี้สามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดกับแพลตฟอร์มแบบเดิมๆ ได้ เนื่องจากว่าโดยพื้นฐานแล้วผู้ใช้นั้นจะอยากเป็นเจ้าของข้อมูลของตัวเอง และ SocialFi นั้น ทำให้เป็นเจ้าของ Content ได้อย่างสมบูรณ์และยังสามารถสร้างรายได้โดยตรงจาก Content เหล่านั้นอีกด้วย

แต่ในความเป็นจริงแล้วโปรเจกต์ SocialFi นั้นไม่ได้เติบโตราบรื่นอย่างที่คิด โดยปัญหาสำคัญที่เจอนั้นคือการที่โปรเจกต์ไม่สามารถดึงดูดผู้ใช้ให้มาใช้งานได้จากความยากในการใช้งาน อาทิ ผู้ใช้จะต้องสร้างกระเป๋าคริปโตเพื่อมาใช้งานทั้งยังต้องใส่เงินเข้ามาเพื่อเป็นค่าทำธุรกรรมอีกด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้โปรเจกต์พวกนี้ไม่สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับแพลตฟอร์มได้ ถึงแม้ว่าจะมีความต้องการใช้งาน SocialFi อยู่จริง แต่ความลำบากและซับซ้อนในการใช้งานก็ทำให้การใช้งานที่แพร่หลายนั้นเป็นไปได้ยาก

ในอีกมุมหนึ่งนั้นก็มีบางโปรเจกต์ที่สามารถปรับใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนได้อย่างดีเยี่ยมและการใช้งานก็ราบรื่นกว่ารูปแบบเดิมๆ อย่างมาก ตัวอย่างที่ดีเลยคือ XRP โดย XRP นั้นเป็นโปรเจกต์คริปโตที่ออกแบบมาเพื่อการใช้จ่ายข้ามสกุลเงินโดยเฉพาะ ซึ่ง XRP นั้นสามารถยืนยันธุรกรรมจากคนละฟากโลกได้ภายใน 3-5 วินาทีและมีค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมต่ำกว่า ~35 สตางค์ (1 Cent) ซะอีก ถ้าเทียบกับระบบการโอนเงินข้ามประเทศในรูปแบบเดิมๆ ที่ใช้เวลานาน ค่าธรรมเนียมที่สูง แถมยังต้องมีการนำเงินฝากไว้กับธนาคารก่อนอีกด้วย ถึงแม้จะมีความท้าทายมากมายก่อนที่ XRP จะถูกยอมรับเป็นระบบชำระเงินที่น่าเชื่อถือ แต่ถ้าเราพิจารณาในมุมมองด้านเทคนิคของระบบบล็อกเชนอย่างเดียวแล้ว เราก็อาจจะเห็นระบบการโอนเงินที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนได้

อีกหนึ่งตัวอย่างการใช้งานบล็อกเชนที่เห็นได้ชัดคือบล็อกเชน Layer 1 ต่างๆ ที่สร้างมาเพื่อเกม การสร้างเกมใน Layer 1 นั้นโดยธรรมชาติแล้วจะกระตุ้นให้เกิดตลาดรองได้ จากการที่ไอเทมต่างๆ ในเกมนั้นจะเป็น NFT ที่สามารถซื้อขายได้ระหว่างผู้เล่นด้วยกัน นอกจากนี้การที่ไอเทมในเกมเป็น NFT ก็ยังกระตุ้นให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างเกมได้ จากการที่ในทางทฤษฎีแล้ว NFT 1 ชิ้นในเกมนึงสามารถนำไปใช้กับอีกเกมนึงได้ ถ้าในอนาคตมีการสร้างเกมคุณภาพสูงในโลกคริปโต เราก็อาจจะเห็นการใช้งานจริงของบล็อกเชน Layer 1 เหล่านี้ได้

โดยสรุปแล้ว ในการลงทุนโปรเจกต์คริปโตระยะยาวนั้น ขั้นแรกนักลงทุนควรจะตอบคำถามสองอย่างให้ได้ก่อนว่า 1) โปรเจกต์คริปโตนั้นพยายามจะแก้ปัญหาอะไร และ 2) เทคโนโลยีบล็อกเชนนั้นเป็นคำตอบสำหรับปัญหานั้นๆ หรือไม่ ถ้าหากโปรเจกต์นั้นมีพื้นฐานที่ดี (ในมุมมองคริปโต) และสามารถดึงดูดผู้ใช้งานจำนวนมากได้ เราก็สามารถมั่นใจได้เลยว่า ราคาเหรียญของโปรเจกต์นั้นๆ จะขึ้นไปได้แน่นอนในอนาคต

Tokenomics และการบริหารโปรเจกต์

Tokenomics (เศรษฐศาสตร์เหรียญคริปโต) นั้นพูดถึงประโยชน์ ปริมาณ และรูปแบบการกระจายเหรียญ ซึ่งโปรเจกต์ที่มี “Tokenomics ที่ดี” หลักๆ จะเกี่ยวกับการที่เหรียญมีผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือเหรียญเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์

ประโยชน์ของเหรียญนั้นอาจจะเกี่ยวข้องกับอำนาจในการโหวตเพื่อกำหนดทิศทางโปรเจกต์ การนำเหรียญไปฝาก (Stake) เพื่อรับผลตอบแทน การนำเหรียญไปใช้งานเป็นสกุลเงิน และอื่นๆ ตามแต่ละโปรเจกต์ ในอีกส่วนหนึ่งของการประเมินมูลค่าเหรียญก็ต้องมองดูด้วยว่าเหรียญนั้นๆ มีโมเดลการกระจายรายได้เหมือนกับการปันผลหรือไม่ หรืออย่างน้อยผู้ถือเหรียญมีโอกาสที่จะได้รับรายได้จากเหรียญในอนาคตหรือเปล่า

สำหรับปริมาณหรืออุปทาน (Supply) ของเหรียญนั้นจะมีคำศัพท์ที่สำคัญดังต่อไปนี้ 

  • Circulating Supply หรือปริมาณเหรียญที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเป็นสาธารณะ โดยคนทั่วไปสามารถซื้อขายได้
  • Total Supply หรือปริมาณเหรียญทั้งหมดที่มีในระบบทั้งที่ถูกล็อกอยู่และปลดล็อกแล้ว
  • Market Capitalization (MC) หรือมูลค่าตลาดของเหรียญนั้นๆ โดยจะคำนวณจาก 

ราคาเหรียญ x Circulating Supply

  • Fully Diluted Market Capitalization (FDMC) หรือมูลค่าตลาดของเหรียญนั้นๆ หากเหรียญทั้งหมดในระบบถูกปลดล็อกออกมาสู่สาธารณะแล้ว โดยจะคำนวณจาก 

ราคาเหรียญ x Total Supply

ในส่วนของ MC นั้นจะผันผวนขึ้นลงในกรณีที่มีการปลดล็อกเหรียญออกมาในตลาดมากขึ้น เพราะฉะนั้นแล้วในการลงทุนระยะยาว FDMC จึงเป็นตัวชึ้วัดที่เหมาะสมกว่าในการประเมินมูลค่า Altcoin ในระยะยาว

ในรูปแบบการกระจายเหรียญ (Token Distribution) นั้น เราจะสามารถรู้ได้เลยว่าโปรเจกต์นั้นๆ มีความเป็นรวมศูนย์มากมั้ย หรือเหรียญนั้นๆ มีแรงเทขายสูงมั้ย ไม่ว่าจะจากคนที่ลง ICO หรืออาจจะเป็นจาก Venture Capital ต่างๆ จากเกณฑ์การกระจายเหรียญของโปรเจกต์ ตัวอย่างเช่นในกรณีที่มีสถาบันทุนซื้อเหรียญในราคาถูกมากๆ ในรอบระดมทุน สถาบันนี้ก็จะมีแรงจูงใจให้เทขายเหรียญในวันที่ปลดล็อกได้เพราะต้องการล็อกกำไรเอาไว้ อีกตัวอย่างคือในปริมาณเหรียญทั้งหมดในตลาด เจ้าของเหรียญถืออยู่กว่า 90% ของเหรียญทั้งหมด ก็อาจจะมีความเสี่ยงที่เจ้าของจะเทขายเพื่อเป็นการทำกำไรได้เช่นกัน นอกจากเรื่องของการล็อกกำไรของคนที่ซื้อก่อนแล้ว ยังมีเรื่องของการที่หากปริมาณเหรียญส่วนใหญ่อยู่ในมือคนกลุ่มน้อย ก็แปลว่าคนกลุ่มนั้นมีอำนาจในการตัดสินทิศทางของโปรเจกต์ที่มาก ก็อาจจะกำหนดเงื่อนไขบางอย่างที่จะทำให้รายย่อยเสียเปรียบได้ เป็นต้น

ความสมเหตุสมผลของราคาเหรียญ

ราคาของเหรียญในโลกคริปโตนั้นมีความผันผวนอย่างมาก ซึ่งหลายครั้งเราก็คงคิดว่า “เหรียญนี้มันพุ่งได้ยังไงวะ” ซึ่งการที่เราจะทำความเข้าใจราคาของเหรียญ Altcoin นั้นการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อประเมินราคาที่เหมาะสมของเหรียญนั้นๆ

Market Comparable หรือว่า Comps (วิธีการเปรียบเทียบตลาด) เป็นหนึ่งในการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานที่ถูกใช้กันมากในการลงทุนในหุ้น โดยจะเป็นการเปรียบเทียบบริษัทที่เราต้องการประเมินว่าทำกิจการประมาณไหนแล้วเทียบอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ กับบริษัทที่ทำกิจการใกล้เคียงกันที่อยู่ในตลาดเดียวกันว่ามีราคาถูก/แพง มีโอกาสขึ้น/ลง มากน้อยเท่าไหร่ ซึ่งเป็นวิธีที่ทั่วไปมากๆ ที่เราใช้กันในการประเมินมูลค่าของอะไรบางอย่าง เช่น ถ้าเราสงสัยว่าบ้านเรามูลค่าประมาณเท่าไหร่ ก็คงจะเปรียบเทียบกับราคาของบ้านในละแวกเดียวกันที่มีลักษณะคล้ายกัน เป็นต้น

ในการคำนวณอัตราส่วน ก็จะต้องมีการเลือกตัวเลขที่จะนำมาใส่ในตัวเศษ (เลขด้านบน) และส่วน (เลขด้านล่าง) ซึ่งในโลกคริปโตนั้น เลขที่ใช้สำหรับเศษนั้นมักจะเป็น FDMC เป็นหลัก เพราะในทางทฤษฎี เราต้องการประเมินมูลค่าของโปรเจกต์นั้นๆ ในเคสที่เหรียญทั้งหมดถูกปลดล็อกแล้วนั่นเอง

สำหรับตัวส่วนนั้นมีความสำคัญไม่แพ้กัน แต่จะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิดโปรเจกต์ โดยจะประกอบไปด้วย

  • Total Value Locked (TVL) คือมูลค่าของเหรียญทั้งหมดที่ถูก Stake หรือฝากไว้บน Protocol นั้นๆ TVL ที่มากจะเป็นตัวชี้วัดได้ว่าโปรเจกต์นั้นๆ มีชื่อเสียง (ความเสี่ยงน้อย) และมีสภาพคล่องที่สูง เพราะฉะนั้นโปรเจกต์ที่มี TVL สูงก็มักจะดันให้ราคาของเหรียญที่เกี่ยวข้องขึ้นตามไปได้ด้วยเช่นกัน 
  • User Count / Transactions คือปริมาณผู้ใช้งานกับจำนวนธุรกรรมที่เกิดขึ้น โดยข้อมูลตรงนี้จะเป็นตัวประเมินว่าโปรเจกต์นั้นๆ มีผู้ใช้ต่อวันเท่าไหร่ (Daily Active Users: DAUs) และยอดผู้ใช้นี้สามารถเติบโตขึ้นได้มากอีกแค่ไหนหากเปรียบเทียบกับโปรเจกต์ที่คล้ายๆ กันแล้ว ซึ่งตัว User Count นี้ยังสามารถทำให้เราประเมินขนาดตลาด (Market Size) และประสิทธิภาพของโปรเจกต์นั้นๆ ได้อีกด้วย

ในการใช้งาน FDMC เป็นตัวเศษนั้น อัตราส่วนที่น้อยนั้นมีความหมายว่าโปรเจกต์นั้นๆ มีมูลค่าที่ค่อนข้างถูกหากเปรียบกับโปรเจกต์ที่มีอัตราส่วนที่มากกว่า อย่างไรก็ตามอัตราส่วนที่น้อยก็ไม่ได้แปลว่าโปรเจกต์นั้นๆ เป็นโปรเจกต์ที่ดีกว่าเสมอไป โดยเราจะไปเจาะลึกอย่างละเอียดมากขึ้นในตัวอย่างด้านล่างนี้ที่เราจะใช้ Comps ในการประเมินมูลค่าเหรียญของโปรเจกต์

อัตราส่วนเปรียบเทียบจากจำนวนผู้ใช้งาน

CyberConnect เป็นโปรเจกต์ Web3 Social Network บนบล็อกเชนที่ Developers สามารถเข้ามาสร้าง Social Projects แบบไร้ศูนย์กลางทำให้ผู้ใช้นั้นมีสิทธิในการครอบครองข้อมูลของตัวเองแบบ 100% ในการประเมินมูลค่าของ CyberConnect นั้น Ruceto ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มค้นคว้าวิจัยได้ทำการใช้ Comps ในการประเมินราคาเหรียญ CyberConnect ในช่วงเดือนกันยายน 2023 (ราคาอยู่ที่ ~$10.3) ว่ามีมูลค่าสูงเกินจริงไป (Overvalued) หากเปรียบเทียบกับแอพโซเชียลมีเดียจาก Web2 แบบเดิม

ในการทำวิเคราะห์ Comps นั้นเราจะเปรียบเทียบ CyberConnect กับโปรเจกต์ Social Network Web2 เดิม โดยในที่นี้คือ Facebook (Meta) 

เรานำ FDMC ของเหรียญ $CYBER มาหารด้วยตัวเลขจำนวนผู้ใช้รายเดือน (Monthly Active Users: MAU) ของ CyberConnect เพื่อหาอัตราส่วนมูลค่าต่อ 1 ผู้ใช้

CyberConnect’s Value per User = FDMC / MAU

หลังจากนั้นเรานำเอาตัวเลขที่ได้มาเปรียบกับของ Facebook โดยจะนำเอามูลค่าบริษัทมาหารเฉลี่ยด้วย MAU เช่นเดียวกัน

Facebook’s Value per User = Enterprise Value / MAU

ซึ่งจากผลลัพธ์ที่เห็นได้จากตารางด้านล่าง จะเห็นเลยว่า CyberConnect นั้นมีมูลค่าต่อผู้ใช้สูงกว่า Facebook 10 เท่า หรือแปลได้ว่า CyberConnect ต้องเติบโตแบบก้าวกระโดดเพื่อทำให้ราคาของเหรียญนั้นสมเหตุสมผล หรืออีกนัยนึงคือราคาของเหรียญนั้นมีมูลค่าสูงเกินจริง และต้องลดน้อยลงนั่นเอง

อัตราส่วนเปรียบเทียบจากปริมาณเงินฝาก

Avalanche เป็นโปรเจกต์บล็อกเชน Layer 1 ที่เราสามารถใช้ FDMC / TVL ในการวิเคราะห์ได้ การเลือกตัวเปรียบเทียบที่เหมาะสมนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ในตัวมันเอง โดยต้องเลือกตัวที่สมเหตุสมผลและมีความคล้ายกันมากพอ เช่น หากเราจะประเมินมูลค่าบ้าน 3 ห้องนอน 1 หลัง ก็ควรจะเปรียบเทียบกับบ้าน 3 ห้องนอนด้วยกัน

โดยสำหรับ Avalanche แล้ว ไม่ใช่ว่าเราจะเลือกบล็อกเชน Layer 1 ตัวไหนก็ได้มาเพื่อเปรียบเทียบ แต่ควรจะเลือก Layer 1 ที่มีโครงสร้างคล้ายกันและอยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน โดยบล็อกเชนนั้นมี 2 ประเภทนั่นคือ Modular และ Monolithic 

  • Modular เป็นบล็อกเชนที่ถูกออกแบบมาเพื่อฟังก์ชันเฉพาะบางอย่าง ทั้งยังเน้นไปที่ความสามารถในการปรับตัวและความยืดหยุ่นในการใช้งานโดยมีการใช้งานหลายบล็อกเชนร่วมกันเป็นเครือข่าย Module ต่างๆ 
  • Monolithic เป็นบล็อกเชนที่การทำงานทุกอย่างและ ฟังก์ชันต่างๆ นั้นทำงานทั้งหมดอยู่ในบล็อกเชนเดียว

จากการที่ Avalanche เป็น Modular Blockchain เราก็ควรจะหา Modular Blockchain ที่อยู่ในตลาดและมี TVL อย่างน้อย $100 ล้านขึ้นไป เพื่อที่จะเป็นคู่เปรียบเทียบที่เหมาะสมกับ Avalanche อย่างไรก็ตามควรคำนึงว่าการหาตัวเปรียบเทียบนั้นไม่ควรเฉพาะเจาะจงเกินไป ไม่งั้นจะเป็นการจำกัดมุมมองของเราในการเปรียบเทียบ

ในรูปด้านบนจะเห็นว่าผลลัพธ์ของการคำนวณนั้นส่วนมากจะมีระยะที่กว้างมาก (8.1x – 30.7x) ซึ่งตัวที่มีค่าไกลจากระยะมากๆ นั้นต้องมีสาเหตุว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ค่ามีความแปลกแยกมาก เช่น Avalanche (AVAX) นั้นถูกซื้อขายในอัตราส่วนที่สูง (29.6x) หลังจากที่มีการทำราคาขึ้นรุนแรงในช่วงปลายปี 2023 ซึ่งอัตราส่วนที่สูงนั้นไม่ควรจะเป็นตัวชี้ขาดว่าเราไม่ควรเข้าซื้อ แต่ควรมีการวิเคราะห์ที่ถี่ถ้วนขึ้นว่าการซื้อเหรียญที่ราคาและอัตราส่วนที่สูงนี้มันสมเหตุสมผลหรือไม่ มีความเป็นไปได้สูงว่า AVAX นั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากการประกาศเป็นพาร์ทเนอร์กับสถาบันลงทุนยักษ์ใหญ่ เช่น JP Morgan และ Citigroup ซึ่งทำให้นักลงทุนมีการคาดการณ์ว่า TVL และการใช้งาน Avalanche นั้นจะมีมากขึ้นในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามก็ขึ้นอยู่ที่ตัวนักลงทุนแต่ละคนว่าอัตราส่วนที่สูงขนาดนี้นั้นมันสมเหตุสมผลหรือไม่อยู่ดี

Aptos นั้นเป็นบล็อกเชน Layer 1 ประเภท Monolithic ที่มุ่งเน้นไปที่การรองรับผู้ใช้ที่มาก (Scalability) ความปลอดภัย (Security) และความมั่นคง (Reliability) ในการเปรียบเทียบ Aptos นั้น เราจึงหา Monolithic บล็อกเชนตัวอื่นๆ ที่มี TVL ขั้นต่ำ $100 ล้านเพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน และเป็นเช่นเคยที่อัตราส่วนนั้นมีระยะที่กว้างมากๆ

Aptos มีอัตราส่วน FDMC/TVL อยู่ที่ 84.7x ซึ่งมากกว่าค่ากลางของกลุ่มเปรียบเทียบกว่า 2 เท่า ถึงแม้ว่าบล็อกเชนอื่นๆ ที่แสดงอยู่ในตารางจะมี TVL ที่มากขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมา มันก็ยากที่บล็อกเชนตัวใหญ่อย่าง Ethereum จะเติบโตในอัตราส่วนเปอร์เซ็นที่มากเหมือนตัวอื่นๆ เพราะ TVL ก็ใหญ่มากอยู่แล้วจึงเป็นที่มาของอัตราส่วนเพียง 9.7x เท่านั้น

Aptos ถูกพัฒนาขึ้นโดยพนักงานเก่าของ Facebook โดยใช้ภาษา Move ซึ่งเป็นภาษาที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรองรับผู้ใช้ แพลตฟอร์ม NFT ของ Aptos ที่ชื่อ Graffio นั้นได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากตลาดตอนที่เปิดตัว นอกจากนี้ Aptos ยังมีพาร์ทเนอร์กับบริษัทที่มีชื่อเสียงอย่าง Alibaba, Coinbase Pay และ Microsoft อีกด้วย

อัตราส่วนที่สูงของ Aptos นั้นจึงเป็นเงาสะท้อนถึงความคาดหวังว่า Aptos จะต้องกลายเป็นบล็อกเชน Layer 1 ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากในอนาคต ถ้าในอนาคตข้างหน้า Aptos สามารถเติบโตได้เทียบเท่ากับ Ethereum ก็แปลว่าการลงทุนในตอนนี้ก็อาจจะคุ้มค่ามากถึงแม้ว่าอัตราส่วนที่คำนวณออกมาจะสูงถึง 84.7x อย่างไรก็ตามก็เป็นดุลยพินิจของนักลงทุนว่าการลงทุนเพื่อหวังการเติบโตขนาดนี้นั้นคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหรือไม่

ตัวอย่างการใช้ Comps เพื่อประเมินมูลค่าระยะยาวนั้นแสดงให้เห็นว่าราคาของเหรียญแต่ละโปรเจกต์นั้นสามารถไปในทิศทางที่แตกต่างกันได้อย่างมากถึงแม้ว่าจะมีฟังก์ชันการใช้งานที่คล้ายๆ กัน และเนื่องจากโลกคริปโตนั้นยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น นักลงทุนควรจะคำนึงเสมอว่าราคาเหรียญนั้นมีความผันผวนที่สูงและในหลายๆ ครั้งคาดเดาทิศทางได้ยากมาก ถึงอย่างนั้นการประเมินมูลค่าขั้นพื้นฐานเหล่านี้ก็ยังคงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่จะสามารถช่วยให้เราวิเคราะห์ถึงมูลค่าของเหรียญต่างๆ ในระยะยาวได้

ข้อจำกัดในการประเมินราคาเหรียญคริปโต 

การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานนั้นมีข้อจำกัดบางอย่างที่เฉพาะเจาะจงกับคริปโต อาทิ ในการเปรียบเทียบระหว่างโปรเจกต์ Web3 กับ Web2 นั้นโดยส่วนมากผลลัพธ์ที่ได้คือโปรเจกต์ Web3 นั้น Overvalued (มูลค่าสูงเกินมูลค่าพื้นฐาน)

หลายๆ ครั้งโปรเจกต์คริปโตที่ทำการระดมทุนได้ก็ไม่ได้นำเงินนั้นมาสร้างประโยชน์เท่าไหร่นักไม่ว่าจะกับระบบการเงินหรือกับผู้ใช้งาน อีกทั้งในหลายๆ โปรเจกต์นั้นแทบไม่เห็นหนทางการทำกำไรเลยแม้แต่น้อยหากคริปโตไม่เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลาย ในมุมกลับกันบริษัท Web2 ทั่วไปที่ถูกนำมาใช้เป็นเกณฑ์การเปรียบเทียบนั้นมีกระแสเงินสดหลั่งไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้บางครั้งการเปรียบเทียบบริษัท Web2 กับ Web3 นั้นทำได้อย่างยากลำบาก และให้ความรู้สึกเหมือนกับการเอาแอปเปิ้ลมาเทียบกับส้มเลยก็ว่าได้ 

นอกเหนือจากนี้ปริมาณของเหรียญในระบบก็เป็นอุปสรรคที่สำคัญในการประเมินมูลค่าของเหรียญเช่นกัน ในหลายโปรเจกต์แล้วจะมีเหรียญที่ถูกล็อกไว้และรอการปลดอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งการปลดเหรียญแต่ละครั้งก็จะสร้างแรงเทขายเหรียญที่มากตามไปด้วย ยิ่งหากเหรียญนั้นมีสภาพคล่องที่ต่ำก็จะทำให้ราคาลงอย่างรุนแรงได้ ตัวอย่างเช่นในช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 2023 มีการปลดล็อกเหรียญ SUI ออกมาส่งผลให้ราคาติดลบ 8.8% ภายในวันเดียว 

ในอีกส่วนหนึ่งก็ยังมีเหรียญ Meme ที่ไม่ได้มีประโยชน์หรือมูลค่าพื้นฐานอะไรทำให้ประเมินมูลค่าพื้นฐานไม่ได้แต่ราคาก็ยังพุ่งขึ้นไปได้จากกระแสและการที่นักลงทุนรายย่อยแห่ซื้อ โดยถึงแม้ว่าส่วนใหญ่เหรียญ Meme ที่พุ่งขึ้นแบบนั้นจะร่วงลงมาในเวลาไม่นาน บางเหรียญก็สามารถยืนระยะอยู่ได้อย่างยาวนาน

แนวโน้มและปัจจัยมหภาค

ภาพรวมอุตสาหกรรมและข้อบังคับต่างๆ นั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างมากที่ส่งผลต่อราคาเหรียญคริปโตโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Altcoin ในช่วงตลาดหมีปี 2022 นั้น Altcoin มูลค่ามากที่สุด 72 จาก 100 เหรียญมีมูลค่าตกลงมากว่า 90% หลังจากที่ขึ้นไปทำจุดสูงสุดมาในช่วงราคาขึ้นปลายปี 2021 เพราะฉะนั้นแล้วการวิเคราะห์ภาพใหญ่นั้นก็ควรจะเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์พื้นฐานด้วย

ในช่วงตลาดกระทิงนั้น เราคงคาดเดาได้ว่า Altcoin ก็คงพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงมากและเช่นเดียวกันในตลาดหมี Altcoin ก็อาจจะราคาลงรุนแรงมาก ถึงแม้ว่าจะมีพื้นฐานที่ดีและแข็งแรงขนาดไหนก็ตาม โดยในส่วนถัดไปจะพูดถึงว่าปัจจัยอะไรบ้างที่ทั้งแง่บวก (Bull) และแง่ลบ (Bear) ที่อาจส่งผลกระทบถึงตลาดคริปโตได้

ตลาดกระทิง

จากการที่ Bitcoin ราคาขึ้นกว่า 154% ในปี 2023 ทำให้หลายคนเชื่อว่า 2024 จะเป็นช่วงเริ่มต้นของตลาดกระทิงอย่างแน่นอน โดยลิสท์ข้างล่างจะเป็นปัจจัยแง่บวกต่างๆ ที่อาจจะเข้ามาส่งเสริมตลาดคริปโตได้

  1. ประโยชน์และการใช้งานจริง – คริปโตนั้นทำให้การชำระเงินหรือโอนเงินนั้นสะดวกขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะการโอนไปต่างประเทศ ในบริบทเกมแล้ว บล็อกเชน Layer 1 ก็เป็นโครงสร้างที่ดีสำหรับเกม ทั้งในการทำงานร่วมกันระหว่างหลายๆ เกม หรือแม้กระทั่งการซื้อขายไอเทมก็สะดวก นอกจากนี้การเชื่อมต่อกระเป๋าคริปโตเข้ากับแพลตฟอร์มก็ทำให้การโหวตในทิศทางโปรเจกต์ต่างๆ นั้นทำได้อย่างง่ายดาย
  2. การใช้งานที่แพร่หลายในระดับสถาบันนั้นยังคงเกิดขึ้นต่อ – ถึงแม้ว่ารายย่อยนั้นอาจจะมีการใช้งานที่ลดลง แต่นักลงทุนระดับสถาบันต่างๆ ก็ยังคงให้ความสนใจคริปโตอย่างมาก ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากการอนุมัติ Bitcoin ETF ที่ทำให้สถาบันใหญ่ๆ อย่าง Blackrock และ Franklin Templeton เข้ามามีส่วนร่วมในโลกคริปโตได้มากยิ่งขึ้น
  3. ข้อบังคับคริปโตต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับการใช้งานคริปโตเลยแม้แต่น้อย – การออกกฎหรือข้อบังคับต่างๆ จากรัฐบาลนั้นสร้างความกังวลให้กับโลกคริปโตอยู่บ้าง แต่โดยส่วนมากแล้วข้อบังคับเหล่านั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการที่เทคโนโลยีบล็อกเชนนั้นใช้ไม่ได้ หรือไม่เกิดประโยชน์

ตลาดหมี

จากความผันผวนที่สูงของคริปโต นักลงทุนนั้นต้องเตรียมใจที่จะสูญเสียเงินทุนทั้งหมดอยู่เสมอ ซึ่งปัจจัยที่อาจส่งผลในแง่ลบต่อตลาดคริปโตนั้นได้แก่ 

  1. โปรเจกต์คริปโตนั้นมีเยอะเกินไป – ในเดือนพฤศจิกายน 2023 นั้นมีโปรเจกต์คริปโตทั้งหมดกว่า 10,000 โปรเจกต์ และแน่นอนว่าคงเป็นไปได้ยากที่โปรเจกต์ทั้งหมดนี้จะมีประโยชน์และจะมีการใช้งานจริง ซึ่งแปลว่า Altcoin หลายตัวนั้นก็อาจจะไม่ถูกใช้งานหรืออาจจะหายสาบสูญไปในที่สุด
  2. มูลค่าปัจจุบันนั้นมีการเติบโตขึ้นมาสูงแล้ว – อัตราส่วนของ Altcoin ต่างๆ นั้นสูงมากหากเปรียบเทียบกับหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ แปลว่าถึงแม้หลายๆ โปรเจกต์จะมีโอกาสเติบโตที่สูง แต่ในปัจจุบันโปรเจกต์เหล่านั้นก็มีการเติบโตมามากแล้ว ซึ่งการจะโตต่อไปได้โปรเจกต์ก็จะต้องทำตามความคาดหวังที่มากขึ้นไปด้วย แต่ถ้าทำไม่ได้ก็แปลว่าราคาเหรียญจะต้องร่วงลงมาเพื่อให้มูลค่าเทียบเท่าบริษัทที่เราเปรียบเทียบในตลาดหุ้น
  3. เทคโนโลยีในปัจจุบันนั้นยังไม่สะดวกเท่าที่ควร – ซึ่งปัจจัยที่อาจส่งผลทำให้การใช้งานอย่างแพร่หลายนั้นเกิดขึ้นได้ยาก อาทิ
  1. การสร้างกระเป๋าคริปโตและการเตรียมเงินสำหรับธุรกรรมนั้นเป็นขั้นตอนที่ซับซ้อนและทำได้ไม่ง่ายนัก
  2. การซื้อขายเหรียญคริปโตจากหลายๆ บล็อกเชนนั้นยังคงเป็นเรื่องน่าสับสนสำหรับคนที่พึ่งเริ่มต้น
  3. การเสียค่าธรรมเนียมธุรกรรม (Gas Fees) นั้นทำให้การทำธุรกรรมลำบากและยุ่งยาก อีกทั้งการเหรียญที่ใช้จ่ายนั้นยังจำกัดเฉพาะแค่บางเหรียญอีกด้วย

บทสรุป

คริปโตนั้นมีความผันผวนรุนแรงและยากต่อนักลงทุนในการประเมินทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่เชื่อในเทคโนโลยีและสนใจจะลงทุนในระยะยาวนั้นก็ควรจะประเมินประโยชน์ของโปรเจกต์อย่างมีหลักการและเป็นเหตุเป็นผล

วิเคราะห์ปัจจัยของโปรเจกต์อย่างการใช้งานโปรเจกต์ Tokenomics ราคา ปัจจัยมหภาค ก็จะช่วยให้นักลงทุนนั้นสามารถประเมินได้ว่าความสำเร็จของโปรเจกต์นั้นขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง ซึ่งถึงแม้การวิเคราะห์แบบนี้ยังไม่สมบูรณ์แบบแต่อย่างน้อยก็เป็นหลักการเบื้องต้นที่นักลงทุนพอจะใช้การได้

การจะหาโปรเจกต์ Altcoin ที่ดีและน่าลงทุนนั้นคงเหมือนกับการงบเข็มในมหาสมุทรอยู่บ้าง แต่อย่างน้อยการมีชุดเครื่องมืออย่างการวิเคราะห์ Comps ก็จะมีส่วนช่วยให้นักลงทุนทำการประเมินโปรเจกต์ต่างๆ ได้อย่างดียิ่งขึ้น

.

*Disclaimer: The content presented is for informational purposes only and does not constitute financial, investment, tax, legal, or professional advice. Nothing contained in this report is a direct or indirect recommendation or suggestion to buy, sell, make, or hold any investment, loan, commodity, or security, or to undertake any investment or trading strategy with respect to any investment, loan, commodity, security, or any issuer. Ruceto does not guarantee the accuracy, completeness, sequence, or timeliness of any of this content. Please see our Terms of Service for more information.

Authors

Share :
Related
Ethena และ USDe กับยุคใหม่ของ Stablecoin
Cryptomind Research Investment Outlook 2025
Crypto AI Agent ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน
NFT กลับมาแล้ว ?