" DAO คืออะไร ? เป็นระบบการปกครองแห่งอนาคตที่ดี จริงหรือ "

Reading time 10 Mins
Share :
COVER

Table of Contents

เริ่มจากRecap เหตุการณ์ดราม่า Arbitrum Foundation

ในช่วงวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้มีเหตุการณ์ที่ทีม Arbitrum ได้เสนอ Proposal แรกบน Arbitrum DAO ชื่อว่า AIP-1(Arbitrum Improvement Proposal) ในเรื่องที่ว่าต้องการที่จะจัดสรร ARB Tokens

จาก Arbitrum Foundation : Dao Treasury ไปให้กับ Arbitrum Foundation เพื่อเป็น Special grants program ตีเป็นมูลค่าประมาณ 750m $ARB Tokens หรือประมาณ $1bn

DAO

ขอบคุณภาพจาก snapshot.org/

ซึ่งจุดที่เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันใน Community ของ Arbitrum คือการที่มีคนไปเห็นว่า Arbitrum foundation ได้ทำการเคลื่อนย้าย $ARB ที่กล่าวข้างต้น ไปยัง Wallet ของทาง Foundation แล้ว ทั้งๆที่ Proposal ยังไม่มีการเคาะมติ และหลังจากผลโหวต เสียงส่วนใหญ่หันไปทางไม่เห็นด้วย ในเรื่องนี้ โดยคิดเป็น 76.67% ในส่วนคนที่เห็นด้วยคิดเป็นเพียงแค่ 12.54% ซึ่งมากกว่าครึ่งไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นจำนวนเงินที่เยอะและยังดูคลุมเครือ โดยมีผู้ดูแลในการจัดการเงินก้อนนั้นเพียงแค่ 3คน ทำให้คนอาจกังวลในเรื่องความไม่โปร่งใส

ทำให้เกิดกระแสดราม่าที่ค่อนข้างร้องแรงเลยทีเดียว จากนั้นทาง Foundation ก็ออกแถลงว่า Proposal นี้เป็นเพียงแค่การแจ้งให้ทราบ ไม่ได้เป็นการขออนุญาต ทำให้เป็นเหมือนการที่ ราดน้ำมันลงบนกองไฟ เพราะนั่นคือการขัดกับหลักการ DAO ที่จะใช้การบริหารแบบ Decentralized และหักหลัง Community จนทำให้ ณ ช่วงเวลานั้น ราคา ARB ตกลงมาถึง -14.80%

DAO

ขอบคุณภาพจาก Tradingview.com

Proposal ล่าสุด AIP-1.05: Return 700M $ARB to the DAO Treasury

DAO

ขอบคุณภาพจาก snapshot.org/#/

จากสถานการณ์ความไม่โปร่งใสของ AIP-1 ที่ทำให้คนใน Community Arbitrum เกิดความเคลือบแคลง จากนั้นไม่นานก็ได้มี AIP-1.05: ที่เสนอว่า 

  • Arbitrum Foundation ต้องคืนเงินจำนวน 700m $ARB กลับคืนสู่ DAO Treasury 
  • ทำการ Buy Back 10m $ARB ที่ทีมได้ทำการ Dump ขายไป
  • เปิดเผยรายละเอียด Deal ระหว่าง Wintermute ในการทำ Market Maker
  • หยุด AIP-1.1 และ AIP-1.2

ซึ่ง ณ ช่วงเวลาที่เขียนบทความนี้ ทิศทางเสียงส่วนใหญ่ก็หันไปทาง เห็นชอบ(For) เป็นสัดส่วนเกินครึ่งที่ 60.21% ในส่วนของคนที่ไม่เห็นชอบ(Against) คิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 37.1% ซึ่งน้อยกว่า จากผลโหวตจะเห็นได้ว่าคนส่วนใหญ่ ยังคงไม่เห็นชอบในการกระทำของ Arbitrum Foundation ซึ่ง Proposal นี้จะจบในวันที่ 15 เมษายน ก็ต้องรอดูกันว่า ผลสุดท้ายจะเป็นไปในทิศทางไหน จะเกิดการพลิกผลโหวตหรือไม่ จากเหตุการณ์ เราก็คงจะเห็นปัญหาและเกิดข้อสงสัยว่า DAO จะเป็นการปกครองแห่งอนาคตที่ดีจริงหรือ ซึ่งต่อจากนี้ก็จะมาเล่าเกี่ยวกับระบบ DAO และโปรเจคที่เคยมีเหตุการณ์คล้ายๆกัน บนโลก Crypto เพื่อเป็นข้อมูลให้ทุกคน ได้วิเคราะห์และพิจารณาด้วยตัวเอง ต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ และอนาคตว่าทิศทางจะเป็นยังไง และควรจะเป็นแบบไหน ซึ่งท้ายที่สุดจากเหตุการณ์ ทาง Arbitrum ก็ได้มี AIP-1.2 เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งสามารถตามไปติดตามกันได้ แต่ถ้าผลโหวต Proposal AIP-1.05 นี้ผ่าน AIP-1.2 ก็ต้องหยุด ยังไงก็ต้องรอดูท่าทีของทาง Foundation ต่อไปว่าจะตอบสนองต่อผลนี้ยังไง

DAO หรือ decentralized autonomous organization

DAO เป็นระบบองค์กรการปกครองแบบอัตโนบัติยุคใหม่โดยไร้ศูนย์กลาง บนโลก Blockchain ซึ่งใครหลายคนก็มักจะได้ยินว่า นี่จะกลายเป็นระบบการปกครองแห่งโลกอนาคตที่จะแก้ปัญหาในโลกปัจจุบันได้

ขอบคุณภาพจาก learn.swyftx.com

เปรียบเทียบ DAO กับ องค์กรทั่วไป จากภาพจะเห็นว่าองค์กรทั่วไปเป็นกลุ่มคนที่รวมตัวเพื่อเป้าหมายเดียวกัน มีระดับขั้น สูงไปต่ำเป็นขั้นบันได โดยใหญ่สุดคือ ผู้บริหาร บอร์ดบริหาร ผู้ถือหุ้น รองลงมาเป็นผู้จัดการ ลงไปอีกก็ระดับพนักงาน เป็นระบบที่บริษัทใช้กัน ซึ่งระบบนี้อำนาจในการตัดสินใจสูงสุดคือ ระดับบริหาร มีหน้าที่ในการบริหารเงินองค์กร ออกนโยบายต่างๆ ซึ่งพนักงานไม่สามารถมีส่วนร่วมออกเสียงหรือแย้งได้ มีหน้าที่แค่ทำงานตามหน้าที่ และถูกครอบด้วยกฎขององค์กรอีกที ที่ออกกฎโดยผู้บริหาร 

ในส่วนของ DAO ตัว Concept คล้ายๆกับระบบประชาธิปไตย ที่มีการโหวตและทำประชามติต่างๆ แต่ที่ต่างออกไปคือ DAO ทุกคนมีส่วนร่วมในกระบวนต่างๆ ร่วมโหวตในการออกนโยบาย และจัดการบริหารเงินกองกลาง กำหนดทิศทาง Community ผ่านสิ่งที่เรียกว่า Governance Token ที่ทุกคนมีสิทธิ์ครอบครองเหมือนกัน โดยคนที่มี Tokens จะมีสิทธิ์ในการโหวตในทุกๆ Proposal และเราสามารถ Delegate สิทธิ์ ให้กับผู้แทนที่เราไว้ใจได้ คล้ายกับ สส  ในปัจจุบัน โดยไม่จำเป็นต้องมีคนใดคนนึงเป็นหัวเดียวในการขับเคลื่อนองค์กร 

ระบบองค์กรทั่วไปหากขาดส่วนหัวคือ ผู้บริหาร ทิศทางองค์กรอาจเดินหน้าลำบาก หรือหากอยากนำระบบ DAO มาใช้ในองค์กรทั่วไป องค์กรก็ต้องเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ให้ได้ แล้วจึงเอาหุ้นกระจายไปให้คนในองค์กรหรือคนนอกที่อย่างจะมีส่วนร่วมในธุรกิจ โดยอุปสรรค์คือการเอาบริษัทเข้าตลาดหุ้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

ซึ่งโดยสรุป DAO เป็นระบบปกครองแบบกระจายศูนย์ ไม่มีตัวกลาง ปกครองด้วยตัวเองผ่านชุมชน (Community) ปัจจุบันระบบ DAO ได้นำมาใช้อย่างจริงจัง บนโลก Defi , Metaverse , NFT , Web3.0  เพื่อให้ตัวโปรเจคขับเคลื่อนและกำหนดทิศทางผ่าน Community แทนการขับเคลื่อนด้วยใครคนใดคนนึง ถือว่าเป็นขั้นกว่าของระบบบริหาร ในการปรับใช้กับองค์กรและบริษัทต่างๆในอนาคต

โดยโปรเจคเด่นๆที่ใช้ระบบ DAO ในการขับเคลื่อนหลักๆ เช่น Uniswap , Optimism , Aave , Stargate , และ Gitcoin ซึ่งจะเห็นได้ว่า Community มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนตัว Protocol และกำหนดทิศทางได้

ขอบคุณภาพจาก snapshot.org/#/

ระบบการโหวต การออกเสียงบน DAO (Voting Mechanism)

1.Token Based Quorum Voting

เป็น Mechanism ในการโหวตแบบ กำหนดเกณฑ์ ยกตัวอย่างเช่น มีคนเสนอทำ Proposal บน Uniswap ในการจะทำอะไรสักอย่าง ก็จะมีกำหนดเกณฑ์ว่าต้องมีคนโหวต Proposal นี้ถึง 1m $UNI Proposal นี้ถึงจะผ่าน ถ้าไม่ถึงในเวลาที่กำหนดก็ไม่ผ่าน ซึ่ง Quorum Voting เป็นการโหวต หนึ่งในประเภทที่ DAO นิยมใช้มากที่สุด แต่ก็จะมีโทษเหมือนกันคือ หาก Community ตั้งเกณฑ์ในการโหวตที่ต่ำเกินไป ก็จะทำให้ Proposal แปลกๆผ่านได้ง่าย และอาจก่อให้เกิดปัญหามากมาย เพราะฉะนั้นทางที่ดี Community ควรตั้งเกณฑ์ให้สูงเข้าไว้

2.Permissioned Relative Majority

แนว Mechanism นี้จะเป็นการนับจำนวนสัดส่วนว่า คนโหวตเห็นด้วยกี่% หรือง่ายๆก็คือ การโหวตตามมติเสียงข้างมาก ซึ่งจะไม่มีการตั้งเกณฑ์ขั้นต่ำ เป็นระบบที่หลาย Platforms ใช้กันและคนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับระบบนี้ แต่ข้อเสียก็คือการที่ คนๆนึงสามารถที่จะมี Voting Power สูงตาม ยิ่งมี Governance Tokens เยอะ ซึ่งค่อนข้างจะเสี่ยงต่อการผูกขาดเสียงของกลุ่มคนทุนสูงในการซื้อสะสม Governance Tokens เยอะๆ

3.Rage Quitting

จะเป็น Mechanism ที่ช่วยนำเสนอปัญหาก่อนที่จะทำการโหวตได้ โดยการจะทำ Proposal ให้คนโหวตต้องผ่านการเห็นชอบก่อน เช่น เรามีประเด็นนำเสนอให้แก่ Community จากนั้น Community ก็จะมาโหวตกันว่าประเด็นนี้ ควรทำเป็น Proposal ไหม จากนั้นมาร่วมโหวตกัน หากผ่าน ประเด็นนี้ก็จะได้สร้างเป็น Proposal แล้วก็นำ Proposal นั้นมาโหวตอีกรอบว่าสิ่งนี้ คนเห็นชอบที่จะทำตามประเด็นที่เสนอไหม ซึ่งเห็นได้ว่า กว่าจะเปิดโหวต Proposal ได้ ต้องผ่านขั้นตอนการเห็นชอบให้นำประเด็นขึ้นมาทำเป็น Proposal ซึ่งข้อดีคือ ประเด็นการโหวตการพิจารณาแต่ละอย่างจะละเอียดและปลอดภัย แต่ข้อเสียคือใช้เวลานานและช้า

4.Quadratic Voting

ระบบ Quadratic Voting จะเป็นการโหวตโดยขึ้นอยู่กับความเชื่ออย่างแรงกล้าในสิ่งๆนั้นโดยปกติแล้ว 1 Governance Token = 1 Voting Power แต่ระบบนี้จะเป็นการที่ 1 Token = 1 Voting Power → 4 Tokens = 2 Voting Power → 9 Token =  3 Voting Powers ซึ่งจะเห็นว่ายิ่งใครอยากได้ Voting Power เยอะ ยิ่งต้องใช้ Tokens เยอะขึ้นเรื่อยๆ โดยระบบนี้จะช่วยกรองกลุ่มคนไม่หวังดี ที่ต้องการผ่าน Proposal แบบฉาบฉวยผ่านการกว้านซื้อ Governance Token

5.Conviction Voting

Mechanism แนวนี้ค่อนข้างที่จะแปลกแหวกแนวหน่อย เพราะการโหวตแบบ Conviction Voting ก็คือการนำตัวแปรด้านเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยหลักการในการโหวต Proposal จะมีวันสิ้นสุดการโหวต ซึ่ง ณ เวลา เปิดโหวต เราจะสามารถโหวต A แต่แล้วสามารถเปลี่ยนใจมาโหวต B ได้ภายหลัง แต่ถ้ายิ่งเราเปลี่ยน Vote ภายหลังจะทำให้ Voting Power เราลดลงตามระยะเวลาโหวตที่น้อยลงๆเรื่อยๆ หากใครโหวตวันแรก A วันสิ้นสุดการโหวตก็ยังเป็น A ก็จะได้รับ Voting Power แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

6.Holographic Consensus

โดยทั่วไปบางทีคนตัวเล็กตัวน้อยในการเสนอ Proposal ก็อาจไม่ได้รับความสนใจจาก Community การทำ Holographic Consensus จึงเป็นวิธีการแก้ปัญหา โดยเปิดให้คนสามารถ Bet ได้ว่า Proposal นี้จะผ่านไหม ด้วยการวางเงินเดิมผัน ถ้าผ่านก็ได้เงิน แต่ถ้าทายผิดก็เสียเงิน เป็นการใช้หลักการพนัน เพื่อดึงดูดให้คนมาสนใจ Proposal แต่ข้อเสียก็คือ งบประมาณในแต่ละครั้งแพง ไม่ค่อยยั่งยืนคนจะสนใจแต่การทายผิดทายถูก เพื่อที่จะได้ตังเพิ่ม

7.Multisig Voting

Multisig Voting จะนิยมใช้ในแบบองค์กร ในการที่จะดูแลเงินกองกลาง จะเป็นการที่คนบริหารเงินร่วมกัน ผ่านการ Sign อนุญาตตามเกณฑ์ขั้นต่ำ โดยตัวอย่างการใช้ Mechanism นี้คือ มี Multisig นึงสมาชิกมีอยู่ 20 คน โดย Multisig นี้ตั้งเกณฑ์ว่าการจะทำอะไรในนี้จะต้องขอ Signature จากสมาชิก ขั้นต่ำ 10 Signatures ระบบถึงจะทำการส่งคำสั่งในรายการที่เราต้องการทำได้

8.Liquid Democracy

Liquid Democracy จะเป็นการที่ DAO จะนำเสนอกลุ่มคนผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นมาแก้ปัญหาและเสนอแนวทาง ซึ่งจะมีตัวเลือกหลายคน จากนั้นก็ให้ Community มาโหวต(Delegate)ว่าจะเลือกใคร เพื่อที่จะให้ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับเลือก มีสิทธิ์ในการแก้ปัญหาต่างๆ คล้ายๆกับการโหวตเลือกผู้แทน แล้วให้ ผู้แทนที่เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ แก้ปัญหาในด้านที่ตัวเองถนัด หากผู้แทนทำตัวไม่ถูกใจ Community ก็สามารถเปลี่ยนไปโหวตให้คนอื่นเข้ามาทำหน้าที่ได้เลย

สรุประบบการโหวต Voting Mechanism

ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าหลาย Platforms ก็จะมี DAO ที่มี Voting Mechanism ที่ต่างกันไป ซึ่งแต่ละแบบจะมีจุดเด่น จุดด้อยที่ต่างกัน หากเป็น DAO ที่จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการแก้ปัญหา อาจจะต้องใช้ระบบ Liquid Democracy หรือในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อคนหมู่มาก ก็อาจจะไปใช้มติเสียงข้างมากอย่าง Permissioned Relative Majority ทางที่ดีควรมีการประยุกต์ใช้ Voting Mechanism ให้เหมาะสมและตอบโจทย์กับรูปแบบการบริหาร DAO นั้นๆ จะส่งผลดีและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

แผนภาพระบบ DAO

จากภาพจะเป็นการอธิบายขั้นตอนของ DAO ตั้งแต่ต้นจนถึงสิ้นสุดของกระบวนการในการโหวตเพื่อทำอะไรสักอย่าง โดยทั่วไปแล้ว หากคนใน Community ต้องการทำอะไรสักอย่างก็จะมีขั้นตอนกระบวนการโหวตหลักๆอยู่ 2 แบบ ที่แต่ละโปรเจคใช้ต่างกันคือ  1.เขียน Smart Contract รอไว้ และ Contract จะทำงานเมื่อโหวตผ่าน อัตโนมัติ 2.รอผลโหวตแล้วค่อยเขียน Contract แบบและใช้คำสั่งเอง

ยกตัวอย่างเช่นกรณีแรก นาย A ต้องการทำ 1 นาย A ก็เปิด Proposal แล้วบอกคนใน Community ว่า อยากจะทำ 1 ถ้า Community เห็นด้วยให้นำ Governance Token มาโหวต ถ้าโหวตผ่าน นาย A ก็ค่อยเขียน Smart Contract หรือ อีกกรณีคือ นาย A อาจจะเขียน Smart Contract รอแล้ว จากนั้นก็ทำ Proposal แล้วเปิดโหวต หาก Community โหวตเห็นด้วย ตัว Contract ก็จะทำงานอัตโนมัติ

โปรเจค DAO ยุคบุกเบิก “Dash”

ขอบคุณภาพจาก dashnews.org/

Dash เป็น Blockchain ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็น Digital Cash เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนบนโลกดิจิทัล โดยระบบของ Dash จะมี Miner และ Masternode ซึ่งทุกคนสามารถเป็น Masternode ได้ด้วยการค้ำประกัน 1,000 $Dash โดยหน้าที่ Masternode คือการยืนยันธุรกรรมเหมือน Validator บนเชน Ethereum ซึ่ง Dash ถือว่าเป็น Dao ระดับเชน

โดยทั่วไปแล้วทุกรางวัลของการขุด 45% จะแบ่งให้นักขุด และ 45% แบ่งให้กับ Masternode ส่วนอีก 10% นำเงินเข้าระบบ Dash Treasury เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปพัฒนา Dash Ecosystem โดยเงินบน Treasury ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการได้

คนใน Community สามารถที่จะเสนอได้ว่า เราอยากจะนำเงินใน Treasury จำนวนนึงไปทำบางอย่างแล้วถาม Community ว่าเห็นด้วยไหม จากนั้นจึงเปิดโหวต โดย 1 Masternode = 1 เสียง หากมี Masternode เห็นด้วยมากกว่าหรือเท่ากับ 51% ของระบบ Proposal ที่เราเสนอ Community ก็จะอนุมัติผ่าน จากนั้นก็ได้รับเงินไปทำตามที่เราเสนอไป ซึ่งจะเห็นได้ว่านี่แหละคือ DAO ที่ทุกๆคนมีสิทธิ์ในการร่วมตัดสินใจ เพื่อขับเคลื่อน Ecosystem ของตัวเอง

เกริ่นปัญหาเกี่ยวกับ DAO

ในการบริหารโปรเจคบนโลก Blockchain & Web3.0 ที่เป็น Platfrom แบบกระจายศูนย์(Decentralized) ผ่านระบบ DAO เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และขาดไม่ได้ แต่ถึงแม้จะเป็นการปกครองที่ใหม่ และ Concept ดี แต่ในทางปฎิบัติก็ยังเกิดปัญหามากมาย ซึ่งต่อจากนี้จะพาไปดูว่า มีโปรเจคไหนบ้างที่เกิดช่องโหว่และเกิดปัญหาบน DAO จนสร้างผลเสีย และทำให้เกิดผลกระทบในทางลบ

รวมเหตุการณ์ปัญหาจากระบบ DAO 

จากเรื่องข้างต้นที่เล่ามาให้รู้ถึงระบบ DAO ในเรื่องของปัญหาต่างๆกันบ้างไปแล้ว ทีนี้ก็จะมายกเคส เหตุการณ์ปัญหา DAO ที่เคยเกิดขึ้นจริงๆ กับโปรเจคต่างๆบนโลก Blockchain & Web3.0 คือ

1.มหากาพย์ The DAO

The Dao ถือว่าเป็น DAO แรกยุคบุกเบิก ซึ่งก่อตั้งและอยู่บน Ethereum โดย The DAO ก่อตั้งขึ้นตามหลัง Ethereum เพียงไม่นาน ซึ่งได้ทำการระดมทุนได้กว่า 11m $ETH คิดเป็น $150m ณ เวลานั้น ถือว่าได้รับเงินลงทุนเยอะที่สุดในช่วงนั้น ซึ่ง The DAO ได้ถือครอง ETH คิดเป็น 14% ของ Circulating Supply และได้แจกจ่าย DAO Tokens ให้กับกลุ่มนักลงทุน และสามารถใช้ DAO Tokens เป็นสิทธิ์ในการโหวต

ซึ่งจุดประสงค์ของ The DAO ก่อตั้งมาเพื่อเป็นคล้ายๆกลุ่มกองทุน เพื่อสนับสนุนคนที่ต้องการนำเงินไปสร้างโปรเจคต่างๆ โดยการเสนอไอเดียขอทุนกับ Community ใน DAO หากอนุมัติผ่านก็จะโอนเงินไปให้กับเจ้าของโปรเจคในการนำเงินไปพัฒนา ถ้าหากโปรเจคนั้นก่อกำไรได้ The DAO ก็จะนำเงินไปแจกจ่ายให้กับ Community แบบอัตโนมัติ โดย The DAO บริหารเงินทุนผ่าน Smart Contract ซึ่งมีช่องโหว่ จนทำให้เกิดการแฮ็คขึ้นมา

DAO , Ethereum Forked

ขอบคุณภาพจาก bitpanda.com

โดยได้เกิดการแฮ็คและโจรได้เงินไปกว่า 3.6m $ETH ตีเป็นมูลค่ากว่า $50m โดยคิดเป็น 4% ของ Circulating Supply หลังจากนั้นได้โอน ETH ไป “Child DAO” ซึ่งเป็น DAO ของโจร ที่ Fork มาจาก The DAO ทั้งหมดและทำให้ ETH โดนล็อค 28 วัน จากนั้น Vitalik Buterin (Co-founder ของ Ethereum) ได้เข้ามาร่วมแก้ปัญหาด้วยการเสนอการ Soft Fork แต่ว่ามีความเสี่ยงในการเกิดบัคได้ จึงโดนปัดตก จากนั้นจึงได้เสนอการทำ Hard Fork แทน เพื่อที่จะยึด ETH นั้นคืนมา ซึ่งคนใน Community ของ Ethereum ก็ได้โหวตเห็นชอบให้ทำการ Hard Fork จึงเกิดเป็น Ethereum

ณ ปัจจุบัน ในส่วนของคนที่ไม่เห็นด้วยก็แยกออกมาเป็น Ethereum Classic ซึ่งก็คือเชนดั้งเดิมของ Ethereum ผลกระทบนี้จึงทำให้ทีมและ Community ของ Ethereum แตกออกมาสองฝั่งจนถึงปัจจุบัน

2.Mango Markets มหกรรมโดนโจรขโมยเสียงโหวต

โดย Mango Markets เป็น Decentralized Exchange(DEX) ที่มีบริการ Perputual Futures และบริการกู้ยืมโดยใช้ Crypto เป็นหลักประกัน ทำให้เราสามารถที่จะเทรดแบบ Margin ได้และมีการบริหารผ่าน DAO แต่ซึ่งแน่นอนว่า Platform แนวนี้มักจะมีความเสี่ยงพอสมควร จากการโดน Flashloan 

จากนั้น Mango Markets ก็เกิดเหตุการณ์โดน Flashloan จริง ทำให้ Liquidity ของ Platform สูญไปกว่า $117m ในวันที่ 11 ต.ค 2565 โดยคนร้ายใช้ต้นทุน $10m ด้วยวิธีการที่คนร้ายใช้ 2 Wallets ในการปั่น $MNGO ผ่าน MANGO-PERP บน Platform ซึ่งเป็น Governance Token ของ Platform

โดยวิธีการคือ

1.โจรแบ่งเงิน เป็นกระเป๋าใบละ $5m เช็คจากธุรกรรมนี้ เป็นการฝากเงินเข้า Wallet#1 จำนวน $5m จากนั้นก็เริ่มโจมตีด้วยการเปิด Short ด้วย Wallet#1 จนราคาร่วง และได้ฝากเงินเข้า Wallet #2 จำนวน $5m มารอซื้อ(Long) ที่ราคาข้างล่างคือ $0.0382 

2.ซึ่งจากนั้นราคา $MNGO บนตลาด Spot ก็ดีดขึ้นไปที่ราคา $0.91 จาก $0.0382 ทำให้ Wallet#1 ที่เปิด short เกิด Unrealized P&L ขาดทุน ส่วน Wallet#2 ที่เปิด long นั้นกำไร

3.และโจรก็ได้เอา Wallet#2 ที่กำไรอยู่ไปทำการกู้ (Borrow) เหรียญอื่นบน Platform ออกมา จากนั้นก็ปล่อย Wallet#1 ที่ขาดทุนอยู่ทิ้งไว้ ด้วยมูลค่าทั้งหมด $11.3m ในส่วนของ Wallet#2 ที่กู้เงินออกไป ได้โอนเงินดังกล่าวออกจาก Platform แล้วสร้างหนี้เสีย(Bad Debt) ไว้ -$115m

ทำให้ผลกระทบตกไปอยู่ที่ Users และ Protocol ที่ไม่มี Liquidity เหลืออยู่เลย ส่งผลให้ Users ไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ Protocol จึงเกิดหนี้เสีย(Bad Debt)เป็นจำนวนมาก จากนั้นทีมจึงได้เสนอรางวัล Bug Bounty เป็นรางวัลนำจับคนร้าย 

คนร้ายจึงสร้าง Proposal ว่าจะคืนเงิน $67m ให้ DAO เพื่อเป็นเงินเยียวยา และส่วนที่เหลือจะขอเก็บเป็นค่า Bug Bounty $47m และขอนิรโทษกรรมตัวเอง ห้ามทีมดำเนินคดีทางอาญา จากนั้นคนก็มาโหวตเห็นด้วยเพราะอยากได้เงินคืน ส่วนโจรก็มาร่วมโหวตด้วยในช่วงแรก จนทำให้จำนวนคนเห็นด้วยคิดเป็น 99.9% ซึ่งเป็นจำนวนโหวตจากโจรด้วย Governance Token ที่ขโมยมากว่า 32m $MNGO

DAO
DAO

ขอบคุณภาพจาก mashable.com

สุดท้าย Proposal ก็ถูกปัดตกภายหลังเพราะได้มี Governance Tokens อีกจำนวนใหญ่ได้โหวต Against จน Proposal นั้น failed ไปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจะเห็นได้ว่า นี่ก็ถือเป็นช่องโหว่ของ DAO ที่แม้ว่าคนทำผิดก็มีสิทธิ์มาโหวตเพื่อให้ตัวเองรอดและหาผลประโยชน์ในสถานการณ์แบบนี้หากโจรสามารถขโมย Governance Tokens ได้มากกว่านี้ โจรก็มีโอกาสจะรอดมากขึ้น

3.Fee – Switch UNISWAP

DAO

ขอบคุณภาพจาก tokenterminal.com/terminal

Uniswap เป็น Platform Decentralized Exchange (DEX) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกนี้อันดับ 1 ถ้านับจาก Trading Volume ซึ่งเยอะที่สุด โดยจะมี Token ประจำ Platform คือ $UNI เป็น Governance Token ที่ไว้ใช้ในการโหวตทิศทางของ Platform ผ่าน Proposal ต่างๆ ซึ่งก็เป็นการใช้ระบบ DAO เข้ามาบริหารซึ่งระบบ DAO ของ Uniswap จะมีอยู่ 3 Phaeses หลักๆคือ

Phase 1 : Temperature Check – Discourse/Snapshot ซึ่งจุดประสงค์ของ Phase นี้คือเพื่อเช็คว่า ประเด็นที่จะเสนอมีน้ำหนักพอต่อการสร้างความ เปลี่ยนแปลง โดยการ

  • ถามคนใน Community ด้วยความคิดเป็นกลางลงใน Forum gov.uniswap.org เกี่ยวกับประเด็นที่เราอยากเสนอ
  • หัวข้อ Forum ควรมีแปะว่า “Temperature Check – [ชื่อประเด็นที่เราสนใจ]” และมีการแปะลิงค์ไปยัง Snapshot Poll
  • Voters ใช้ Platform Snapshot ในการโหวต  โดยระยะเวลาโหวตตั้ง 2 วัน นับถอยหลัง
  • จากนั้นก็รอผลโหวต ส่วนใหญ่โหวตผ่านหรือไม่ รอนับผลตามระยะเวลาที่ตั้ง
  • ถ้าเกณฑ์โหวตเกิน 25k $UNI ก็ถือว่าผ่านจากนั้น Topic จะไปสู่ Stage ถัดไปคือ Consensus Check แต่ถ้าไม่ผ่านก็โดนปัดตก

Phase 2 : Consensus Check – Discourse/Snapshot ซึ่งจุดประสงค์ของ Phase นี้ จะเป็นการอภิปรายแบบเป็นทางการ ตัวForum ที่ตั้งก็ต้องแจงรายละเอียด และเป็นแบบแผนมากขึ้น เพื่อที่จะดู Potential ของ Proposal นั้นๆ

  • นำ Feedback จากรอบ Temparature Check มาปรับและสร้าง Snapshot Poll ที่มี Choice มากขึ้น แล้วต้องมีตัวเลือกว่า “Make no change” ที่สำคัญระยะเวลา Poll คือต้อง 5 วัน นับถอยหลัง
  • สร้าง Topic บน Forum gov.uniswap.org และแปะว่า “Consensus Check – [ชื่อประเด็นที่เราต้องการเสนอ]” โดยจะแจ้งเตือนไปยัง Community ว่า Proposal นี้ผ่าน Temperature Check แล้ว และ Topics ไหนที่อยู่บน “Consensus Check” แต่ยังไม่ผ่าน “Temperature Check” จะโดนลบ และต้องแปะลิงค์ Snapshot Poll ใหม่
  • สื่อสารไปยัง Community ให้เยอะๆเพื่อสร้างแรง Supports จากชุมชนพยายามตอบคำถามและ Feedback จาก Community เพื่อแสดงให้เห็นถึง เจตนา มุมมอง จุดประสงค์ เพื่อสื่อสารเป้าหมายของเรา
  • นับถอยหลัง 5 วันและ Phase นี้ จำเป็นต้องได้รับ 50k $UNI Votes เห็นด้วย ถึงจะเข้าเกณฑ์ผ่าน Phase นี้เพื่อเข้าสู่ Stage สุดท้าย แต่ถ้าเกิดส่วนใหญ่โหวต “Make no change” Proposal นี้จะถูกปิดโดย Moderators

Phase 3 : Governance Proposal – Governance / Portal โดย Phase นี้จะเป็นจุดตัดสินว่า Proposal นี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่

  • เขียน Code สำหรับ Prososal ที่เราอยากจะทำ โดยมีการแปะ Code ให้คนเข้าไปเช็คได้ ซึ่ง Code ควรจะต้องถูก Audited โดยผู้เชี่ยวชาญ โดยค่า Audited สามารถขอจาก Community Treasury ได้
  • และต้องมั่นใจว่ามีอย่างน้อย 2.5m $UNI ที่คน Delegate ให้ เพื่อที่จะ Submit Proposal ได้ หาคนที่มี $UNI เพียงพอ เพื่อเป็นแรงซัพพอร์ทได้
  • สร้าง Topic บน Forum พร้อมแปะว่า “Governance Proposal – [ประเด็นที่เราจะทำ]” และแปะลิงค์ของ Snapshot Poll ถ้าเกิด Topic บน Governance Proposal ยังไม่ได้โหวตจาก Temperature Check & Consnsus Check จะถูกลบโดย Moderators
  • Call the propose() function เพื่อที่จะ Deploy code เมื่อโหวตผ่าน
  • เมื่อใช้ function แล้ว จะต้องรอ 2 วันในการเปิดโหวต และระยะเวลานับถอยหลัง 7 วัน ในการถกเถียงและโหวต หากโหวตผ่าน Code ที่เราทำจะต้องรอ Timelock 2วัน และ Code ที่เราทำ จะเริ่มทำงานจริง Deploy & Execute

ซึ่งขั้นตอนในด้าน Governance ของ Uniswap จะค่อนข้างมีขั้นตอนที่เยอะพอสมควรโดย Usecase ของ $UNI ณ ปัจจุบันยังทำได้เพียงแค่การโหวต ส่วน Fees ของ Platform จะแบ่งให้แค่ Liquidity Provider ไม่มีการแบ่งรายได้มายัง Holders ทำให้ Demand $UNI ถือว่ายังน้อย ด้วย Usecase ที่ยังมีไม่เยอะเพราะฉะนั้นคนใน Community จึงเสนอการทำ Fee – Switch เพื่อนำรายได้บางส่วนจาก Platformมาแบ่งให้กับ $UNI Holders ซึ่งมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ก็เป็นที่ถกเถียงกันว่ารายได้ที่ได้ ถ้านำมาแบ่ง Holders ก็ได้เพียงนิดเดียวอยู่ดี น่าจะเพิ่มแรงซื้อ คิดเป็นตัวเลขเพียงแค่ 0.12% ของ Trading Volume ซึ่งไม่น่าจะเกิด Usecase ที่ Impact ขนาดนั้น และอีกอย่าง Liquidity Providerก็จะได้รับ Fees น้อยลง อาจะทำให้คนแห่ไปให้ Liquidity กับ Platform ที่ได้รายได้ที่เยอะกว่านี้และอาจจะเกิดปัญหาในด้านสภาพคล่องได้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับ (Dex)

และ Proposal ก็ผ่าน Temperature Check และ Consensus Check แล้ว เหลือขั้นตอนสุดท้ายคือ Governance Proposal ซึ่ง 16 ธันวาคม 2022 ช่วงที่คนเริ่มโหวต ดูเหมือนว่ามีประเด็นนึงยกขึ้นมา ทำให้ผู้เสนอ Proposal คุณ Leighton Cusack ได้ถอยมาทบทวนและเปลี่ยนใจซึ่งก็ต้องรอติดตามกันต่อไปว่า Proposal ตัวนี้จะถูกเสนออีกครั้งด้วย แนวทางที่ดีกว่าเดิมไหม ในปี 2023

ผลกระทบจากความเสื่อมศรัทธาต่อระบบ DAO

ระบบ DAO อยู่ได้ด้วยการขับเคลื่อนของ Community ผ่าน Governance Token (Gov Token) ซึ่งแน่นอนว่า Value ของ Governance Token ย่อมขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นใน DAO นั้นๆ

หากเกิดปัญหาและการถูกหักหลังจากผู้พัฒนา ก็มักจะจบด้วยการที่มูลค่าของ Governance Token นั้นหายไป จากการถูกเทขายด้วยความเสื่อมศรัทธา และทำให้ความแข็งแรงของ DAO นั้นๆลดลงและจบสิ้นได้ หากไม่ได้รับการแก้ไขที่เหมาะสมและทันท่วงทีต่อปัญหาที่เกิด

สรุป

ปัญหาและช่องโหว่ของระบบ DAO

ปัจจุบันยังมองว่ามีปัจจัยต่างๆที่ยังเป็นอุปสรรคต่อ DAO คือ

  • ความทุนนิยมความผูกขาดบน DAO เพราะโดยทั่วไปแล้ว การบริหารและการโหวต proposal ต่างๆมักจะต้องใช้ Gov Token เป็นสิทธิ์ในการโหวต ซึ่งยิ่งคนมีเงินเยอะก็สามารถที่จะซื้อ Gov Tokens มาเก็บไว้เยอะๆ เพิ่มอำนาจให้ตัวเอง ทำให้สามารถโหวตกำหนดทิศทางได้ตามใจชอบขอแค่มีเงินเยอะ
  • ปัญหาจากการโดนแฮ็ค หากเกิดการโดนแฮ็ค Smart Contract หรือ เกิดการขโมย Gov Token ของ DAO ก็จะทำให้เกิด Proposal แปลกๆและถูกโจรโหวตผ่านได้ตามใจชอบได้ จน Community และ Protocol เสียหาย ไม่สามารถทำอะไรได้ 
  • การ Lobby ของรายใหญ่ที่เป็นกลุ่มคนเพียงส่วนน้อย ที่มี Gov Token เยอะมารวมกันเพื่อโหวต Proposal ที่อาจจะขัดกับเสียงคนใน Community เพียงเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว
  • ปัจจัยความไม่ Mature ของ Community ซึ่งปัจจุบันคนในโลก Crypto ส่วนใหญ่ก็ยังเน้นการเกร็งกำไรทั้งราคา และแอรดรอป ทำให้หลายๆคนมาร่วมโหวตเพื่อที่จะเกร็งแอรดรอป และอาจเกิดการโหวตมั่วเพียงเพื่อที่จะให้ตรง Criteria ในการได้ Airdrop เพียงเท่านั้น โดยที่ไม่ได้สนใจตัวเนื้อหาของProposal นั้นจริง
  • ทีมนักพัฒนา เพราะถ้าหากทีมสร้าง Proposal มาเพื่อต้องการจะทำบางอย่าง แต่ผลโหวตของ Community กลับสวนทาง ซึ่งทำให้ทีมไม่สามารถบรรลุเป้าหมายนั้นๆได้ทีมนักพัฒนาก็สามารถที่จะล้มกระดาน ไม่ทำตามผลโหวตนั้นๆได้ หรืออาจจะสร้าง Proposal ใหม่แต่ Lobby คนมาโหวตให้ผ่านได้ และยึดมั่นทำตามเป้าหมายของตัวเองโดยไม่สนใจ Communityได้ 

ตัวอย่าง DAO ที่ดี

ส่วนตัวจากเหตุการณ์ที่เล่ามาข้างต้น คงจะทำให้หลายคนมองภาพลบไปบ้าง แต่จริงๆแล้วก็ยังมีโปรเจคที่ถือว่าบริหาร DAO ได้ดี และเกิดความแฟร์ต่อ Community อย่างเช่น Optimism ที่เป็น Layer 2 Scaling Solution บน Ethereum โดยมี Gov Token คือ $OP Token

โดย Optimism ได้แจก Airdrop $OP ที่เป็น Governance Token  ให้กับ Community ที่เป็น Early Adopter ซึ่งการแจก Airdrop เป็นการแจกให้กับ Commmunity จริงๆ แทนที่จะแจกให้กับ VC หรือนักลงทุนก่อน โดยสามารถนำ Token ไป Delegate อำนาจในการโหวตให้ตัวเองหรือผู้แทนที่เป็นโปรเจคต่างๆได้

ขอบคุณภาพจาก https://community.optimism.io/

ซึ่งการแจก Governance Token = เข้าสู่ DAO โดยการมอบอำนาจในการโหวตและกำหนดทิศทาง ให้กับ Community ซึ่งทางทีมจะล็อคเงิน VC หรือนักลงทุน 1ปี เพื่อป้องกันการโดน Dump ของราคา Governance Token โดยทีมมีการจัดสรรให้ 25% เป็น Ecosystem Fund และ 20% เป็น Retroactive Public Goods funding ที่เป็นเงินก้อนสำคัญที่กระตุ้นให้คนอยากจะมาสร้างสิ่งดีๆที่มีประโยชน์บน Ecosystem

ซึ่งสิ่งที่เรียกว่า Retroactive Public Goods Funding (Public Goods) เป็นเงินตอบแทนให้กับ คนที่มาสร้างสิ่งดีๆเช่น สร้างโปรเจค Dapp เป็น Educator หรือ Contribute ต่างๆให้กับ Ecosystem

ขอบคุณภาพจาก https://community.optimism.io/

เพราะ Impact = Profit เมื่อ Optimism และบางโปรเจคที่มีรายได้หรือใครก็ตามสามารถนำเงินบางส่วนบริจาคให้กับ Public Goods เป็นเงินที่นำไปแจกให้กับคนที่สร้างสิ่งที่มีประโยชน์และ impact ต่อ Ecosystem

โปรเจคหรือใครก็ตามที่สร้าง Impact ต่อ Ecosystem จะสามารถถูกเสนอชื่อโดยใครก็ได้ แล้วคัดอีกที โดยทีมของ Optimism เอง จากนั้นก็นำโปรเจคที่ผ่านการคัดเลือก เข้ามาโหวตใน Citizen House ว่าใครคู้ควรจะได้เงินทุนไป เพื่อเป็นรางวัลสำหรับคนที่สร้างสิ่งดีๆแก่ Ecosystem 

Optimism DAO

ขอบคุณภาพจาก optimism.mirror.xyz

ซึ่ง Optimism จะมีสิ่งที่เรียกว่า Retroactive Public Goods Funding เพื่อเป็นเงินตอบแทน ให้กับโปรเจค หรือใครก็ตามที่สร้าง Impact ต่อ Ecosystem โดยผ่านการเสนอชื่อโดยใครก็ได้ แล้วคัดอีกทีโดยทีมของ Optimism เอง จากนั้นก็นำโปรเจคที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาโหวตใน Citizen House ว่าใครจะได้เงินทุนไป เพื่อเป็นรางวัลสำหรับคนที่สร้างสิ่งดีๆแก่ Ecosystem 

โดยปกติแล้ว ระบบ DAO ของ Optimism จะมีอยู่สองส่วนคือ Token House และ Citizen House ซึ่ง Token House ก็จะเป็นเหมือนสภาที่โหวตโดย คนที่ถือ $OP นั่นก็คือ Community มีอำนาจในการโหวต  1.Project Incentives  2.Protocol Upgrades 3.Treasury Funds 

สุดท้ายแล้วคนใน Optimism DAO จะไม่ค่อยแตกแยกกัน และไม่ค่อยเกิดดราม่ากันภายใน DAO เพราะทาง Foundation ได้วางแผนแม่แบบคล้ายๆ รัฐธรรมนูญ เพื่อให้คนใน Community มองไปทางเดียวกัน จนทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันได้และความเข้าใจร่วมกัน

สรุปข้อดีและข้อเสนอแนะ

ถึงแม้ DAO จะมีข้อเสียบ้าง หากเกิดปัญหาหรือเกิดการแบ่งแยกกัน ก็ทำให้การไปต่อของ Platform ช้าลง เนื่องจากความไม่ลงตัวกัน แต่ก็มีข้อดีไม่น้อยเลยทีเดียว โดยข้อดีคือ DAO ไม่มีลำดับขั้น ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน จึงถือว่าเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้คนใน Community ได้มีสิทธิ์และส่วนร่วมในการจะทำอะไร เพื่อผลักดัน Platform ไปด้วยกัน สามารถที่จะเสนอแนวคิดใหม่ๆการดูแลและกำกับ DAO และพัฒนาร่วมกันได้

การมีระบบโหวตแบบยุติธรรมบน On-chain ที่เราสามารถรู้ที่มาที่ไปได้ และมีตัว Smart Contract เป็นเหมือนสัญญาคล้ายๆกฎหมายที่ไม่สามารถบิดเปลี่ยนได้ ทุกคนสามารถเข้าตรวจสอบ Code Smart Contract ได้ และหากมีใครทำผิด คนใน Community สามารถช่วยกันตรวจสอบได้เลย ซึ่งเป็นข้อดีของ Blockchain ที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ 

และทุกการโหวตจำเป็นต้องมี Goverance Token ซึ่งหากโหวตหรือทำให้ Platform ไปผิดทาง อาจส่งผลต่อ Value ของ Goverance Token ได้ ทำให้ทุกคนจะทำอะไรก็มักจะต้องคิดไตร่ตรองเป็นอย่างดีในสิ่งๆนั้นๆ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ต่อส่วนตนและส่วนรวม

ท้ายที่สุดแล้วทุก Platforms บนโลก Blockchain อาจไม่จำเป็นต้องบริหารผ่าน DAO เสมอไป แต่การที่ใช้ DAO ก็จะช่วยเสริมให้ Branding ของ Platform นั้นๆดีขึ้นได้ ถ้าคิดที่จะใช้ DAO ก็ควรที่จะใส่ใจ Community จริงๆ หาก Platform หักหลัง Community อาจทำให้ Platform โดนคนเกลียดจนไม่สามารถมีจุดยืนบนโลก Web3.0 ได้อีกเลย

ทิ้งท้าย

ข้อมูลต่างๆเป็นการรวบรวมจากหลายแหล่งนำมาวิเคราะห์ บางส่วนอาจมีการใส่ความคิดเห็นของผู้เขียนลงไป หากข้อมูลผิดพลาดประการใดต้องขออภัยมา ณ ทีนี้

Author

Share :
Related
สรุป CoinTalk (1/12/2023):
Memeland โปรเจกต์ NFT สุด Meme จากทีม 9GAG
Blast จะเป็น Scam ตัวต่อไปหรือไม่ ? | Roundup Podcast EP.10
CoinTalk (24/11/2023): ปัจจัยต่างๆยังบวก ไม่มีอะไรมาหยุดพี่ได้