Search
Close this search box.

Cryptomind Bi-weekly Outlook (16-31 July 2022)

Share :
Bw 16-31 July

Table of Contents

ปัจจุบันอัตราการแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทต่อดอลล่าร์สหรัฐนั้นเคลื่อนไหวอยู่ที่ 36.22 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ จะพบได้ว่าตัวกราฟราคานั้นได้ย่อตัวลงมาจาก High เดิมที่เกือบ 37 บาท ปัจจัยหลักๆมาจากการที่นักลงทุนเริ่มคลายกังวลเกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงแล้ว ทำให้เริ่มเกิดเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์ Safe haven อย่างดอลล่าร์กลายเป็นสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆตามไปนั่นเอง 

สิ่งที่ต้องจับตาดูก็คือวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ที่จะถึงนี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีมาตรการในการขึ้นดอกเบี้ยอย่างไร ถ้าหากขึ้นมากกว่าที่คาดเงินบาทก็จะแข็งขึ้น ถ้าขึ้นน้อยเงินบาทก็อาจจะอ่อนค่าต่อไป

หลังจากตัวเลข GDP ไตรมาสที่สองของอเมริกาออกมาที่ -0.9% ซึ่งไตรมาสหนึ่งออกมาที่ -1.6% ทำให้นักลงทุนหลายคนเริ่มรับรู้แล้วว่าเศรษฐกิจของอเมริกานั้นเริ่มเข้าสู่ช่วง Recession แล้ว ถึงแม้ตัว Powell ประธาน Fed ยังคงบอกว่าตลาดแรงงานยังคงแข็งแรงอยู่ อาจจะทำให้นักลงทุนแตกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายที่เชื่อคำพูดประธาน Fed และฝ่ายที่เชื่อตัวเลข Indicator

ในเชิงสถิติบอกว่า ถ้าหาก GDP ของประเทศใดประเทศหนึ่งได้ทำการติดลบติดต่อกันสองไตรมาส แสดงให้เห็นว่าประเทศนั้นไม่มีการเติบโต และเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจถดถอยแล้วนั่นเอง โดยปกติแล้วตลาดมักจะ Price in ราคาไปก่อนตัวเลขเสมอ ดังนั้นในช่วงนี้อาจจะเป็นช่วงราคาสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ในโซน Buy the dip แล้วนั่นเอง เนื่องจากตลาดรับข่าวแย่ๆมานานแล้ว

หลังจากตัวเลข DGP ของประเทศอเมริกาออกมาติดลบสองครั้ง และ Fed ประกาศขึ้นดอกเบี้ยที่อัตรา 0.75% (75 Basis point) ทำให้นักลงทุนหลายคนเริ่มทยอยเก็บของมากขึ้น เริ่มมีแรงซื้อเพิ่มขึ้นในตลาดสินทรัพย์เสี่ยง หลังจากถูกเทขายติดต่อกันมาหลายสัปดาห์จากแรง Panic ต่างๆจากข่าวเศรษฐกิจ และ ความเข้มงวดของธนาคารกลาง ซึ่งปัจจุบัน Bitcoin เองก็ปรับตัวขึ้นจากฐานที่ $18,000 มาอยู่ที่ $24,000 ได้ในช่วงที่ผ่านมา บวกกับปัจจัยตลาดหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐที่เริ่มฟื้นตัวหลังจากประกาศงบไตรมาสที่สองออกมาดีกว่าที่คาดไว้

แต่สิ่งที่ต้องจับตามองก็คือแนวต้านในช่วง $24,500 ถึง $25,000 ที่ค่อนข้างเป็นแนวต้านที่แข็งแรงและเป็นแนวต้านเชิงจิตวิทยาด้วย อาจจะเป็นโซนที่ราคาค่อนข้างผันผวน

Zipmex เป็น Exchange อันดับสองของประเทศไทยซึ่งได้ออกบริการ ZipUp ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ Zipmex Asia ซึ่งเป็นคนละส่วนกับส่วนที่เป็น Exchange (Exchange อยู่ภายใต้บริษัท Zipmex Thailand) เพื่อให้คนที่ต้องการจะลงทุนระยะยาวในคริปโทเคอเรนซี่ต่างๆ เช่น BTC , ETH , USDC โดยทาง ZipUp ได้อนุญาติให้นำเหรียญเหล่านี้มาฝากและจะได้ผลตอบแทนกลับไปที่ประมาณ 3-5% ต่อปี จึงทำให้นักลงทุนหลายๆคนโดยเฉพาะนักลงทุนชาวไทยเข้าใจผิดว่าเงินส่วนนี้ที่ฝากกับบริการ ZipUp จะปลอดภัยเนื่องจาก Zipmex นั้นเป็น Exchange ที่ใหญ่เป็นอันดับสองในประเทศไทยและยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกลต.

เมื่อนักลงทุนนำคริปโทเคอเรนซี่มาฝากกับทาง ZipUP แล้ว บริษัท Zipmex Global จะนำเหรียญเหล่านี้ไปฝากต่อกับแพลตฟอร์ม CeFi ชื่อดังต่างๆที่เป็นคู่ค้าด้วยเช่น Celsius และ Babel Finance  

หลังจากเกิดเหตุการณ์ของ 3AC (3Arrow Capital) ล่มสลายทำให้แพลตฟอร์มให้กู้ยืมเงิน CeFi หลายๆแพลตฟอร์มออกมาประกาศล้มละลายเนื่องจากผิดรับชำระหนี้ หนึ่งในนั้นมีแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Celsius และ Babel Finance อยู่ด้วยทำให้เงินที่ทาง ZipUp นำเงินลูกค้าไปฝากกับบริการเหล่านี้ไม่สามารถถอนออกมาได้ ส่งผลให้ทาง Zipmex ต้องออกมาประกาศระงับการถอนคริปโทเคอเรนซี่ที่ฝากไว้ใน ZipUp ทั้งหมดซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 50 ล้านดอลลาร์ (1800 ล้านบาท)ล่าสุดทาง Zipmex Global ได้ยื่นคำร้องขอความคุ้มครองการล้มละลายในสิงคโปร์ มีผลให้พักชำระหนี้ได้นานสูงสุด 6 เดือน แต่ทาง Zipmex Thailand ก็ออกมายืนยันว่าจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุดเพื่อที่จะสามารถหาเงินมาคืนลูกค้าที่ฝากได้

จากเหตุการณ์ครั้งนี้อาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยในระดับหนึ่ง แต่อาจไม่มีผลต่อตลาดโลกเนื่องจากประเทศไทยกินส่วนแบ่งการตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับโลกน้อยกว่า 1% เท่านั้น

ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาถึงแม้จะเป็นช่วงที่ตลาด Cryptocurrency ยังคงผันผวน แต่เมื่อ Fed ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ที่ออกมาในระดับ 75 bps ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้ในสัปดาห์นี้ตลาดปรับตัวขึ้นตอบรับกับการประกาศดังกล่าว นอกจากนี้ ท่ามกลางตลาดที่ผันผวน ยังคงมีปัจจัยบวกต่างๆอย่างเช่น การประกาศ Timeline ที่ชัดเจนของ Ethereum 2.0 นอกจากนี้เราคงยังได้เห็นว่า DeFi Platform ชื่อดังต่างๆก็ยังมีการพัฒนา Product ของตัวเองอย่างต่อเนื่อง เช่น Aave ที่ก่อนหน้านี้ได้เปิดตัว Stablecoin ของตัวเอง และล่าสุดที่ทาง Curve ก็ได้แย้มออกมาว่าจะเปิดตัว Stablecoin ของตัวเองเช่นกัน ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่า DeFi นั้นยังไปต่อได้แน่นอน

และนอกจากนี้จะเห็นได้ว่าภาพรวม TVL ของ DeFi บน Chain ต่างๆก็ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 12%  นำโดย Ethereum ที่ปรับเพิ่มขึ้น 14.98% และ Binance Smart Chain มี TVL เพิ่มขึ้น 5.3% ซึ่งแสดงถึงว่ายังคงมีความต้องการการใช้งานบน DeFi โดยเฉพาะบน Chain ที่มีความแข็งแกร่งและเป็นผู้นำตลาด โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทางบริษัท Santiment ก็ได้ออกมา Tweet ว่าจำนวน Address ของผู้ใช้งานรายวันบน Ethereum เพิ่มขึ้นทำลายสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2018 

เมื่อวันที่ 19 กรกฏาคมที่ผ่านมา ทางคุณ Vitalik Buterin ผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum ได้มีการอัพเดตแผนระยะยาวเกี่ยวกับการอัพเกรดครั้งสำคัญของ Ethereum ที่เรียกว่า “The Merge” ในงานประชุม EthCC ครั้งที่ 5  เอาไว้ว่า การอัพเกรด The Merge นั้นเสร็จสมบูรณ์ไปแล้วกว่า 90% และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเครือข่ายให้กลายเป็น Ethereum 2.0 ในวันที่ 19 กันยายนนี้

The Merge คือการนำเครือข่าย Ethereum Mainnet ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันซึ่งเป็น Proof of Work นำมารวมเข้าด้วยกันกับ Beacon Chain ซึ่งเป็นเครือข่ายสำหรับการ Staking เหรียญ ETH ซึ่งใช้ระบบ Proof of Stake เพื่อเปลี่ยนระบบโดยรวมของ Ethereum จาก Proof of Work ให้กลายเป็น Proof of Stake นั่นเอง

ซึ่งก่อนที่จะมีการผสานรวมกัน (The Merge) ในเครือข่าย Ethereum ตัวหลักนั้น นักพัฒนาก็ได้มีการทดสอบขั้นตอน The Merge ในตัวระบบ Testnet ไปแล้วทั้งหมด 2 ตัว  ได้แก่ Ropsten Testnet ในวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา และ Sepolia Testnet ในวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อเป็นการลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุดก่อนจะเกิดขั้นตอน The Merge เครือข่ายหลักขึ้น และจะได้มีเวลาแก้ไขจุดบกพร่องหากการทดลอง Merge ในตัว Testnet นั้นเกิดปัญหา และในตอนนี้ก็เหลือแค่การทดสอบ Merge ในตัว Goerli Testnet ซึ่งเป็นการทดสอบ Testnet ตัวสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นภายในวันที่ 10 สิงหาคม ก่อนที่ขั้นตอน The Merge ตัว Ethereum Mainnet กับ Beacon Chain จะเกิดขึ้นจริงในวันที่ 19 กันยายนตามแผนการระยะยาวของ Ethereum 

โดยหลังจาก The Merge เสร็จสิ้นแล้ว ก็จะทำให้เครือข่าย Ethereum ประหยัดพลังงานมากยิ่งขึ้น และมีอัตราการผลิตเหรียญ Ether ลดลงจากวันละ 15,000 ETH เหลือเพียงวันละ 1,200 ETH เท่านั้น แต่การอัพเกรด The Merge ก็ไม่ได้ทำให้เครือข่ายรองรับธุรกรรมที่มากขึ้นกว่าเดิมได้ แต่สิ่งที่จะทำให้เครือข่ายรองรับธุรกรรมได้มากขึ้น คือการอัพเกรดในขั้นตอน The Surge ซึ่งเป็นขั้นตอนที่จะเพิ่มความสามารถที่เรียกว่า Sharding ให้กับ Ethereum เพื่อให้เครือข่ายสามารถรองรับธุรกรรมได้มากยิ่งขึ้น โดยขั้นตอน The Surge นี้หากอ้างอิงตามแผน ก็จะเริ่มต้นในช่วงปี 2023 นั่นเอง

นับตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคมที่ทีมของ Polygon เปิดเผยว่า อีก 5 วันถัดมาจะมีการเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดทำให้หลายคนเฝ้ารอคอยและเก็งกำไรกันจนราคาเหรียญ MATIC ขึ้นไป 40% ก่อนวันเปิดตัว ในวันที่ 20 กรกฎาคม Polygon ก็ได้เปิดตัว “Polygon zkEVM” ซึ่งเกิดจากการร่วมมือกันของ Polygon’s ZK Team (Hermez, Zero และ Miden) ที่ช่วยสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา

โดยปกติ การพัฒนา Ethereum ให้มี Scalability โดยที่ไม่ลดความ Decentralization และ Security นั้นมีทางออกหนึ่งคือการใช้ ZK-Rollups ซึ่งเป็นการทำบน Layer 2 ของ Ethereum ที่จะมัดรวม Transaction เป็นก้อนเดียวแล้วตรวจสอบพร้อมกันทั้งหมด ทำให้ช่วยลดค่าธรรมเนียมและเพิ่มความเร็วได้ ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถทำถึงระดับนั้นได้ อีกทั้งการเขียนโค้ดจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ทำให้นักพัฒนาเดิมที่ใช้ระบบ EVM นั้นต้องเรียนรู้ใหม่และเกิดความยุ่งยากในการทำงาน

Polygon zkEVM เป็นเทคโนโยลีแบบ EVM-Equivalent ซึ่งหมายถึงเครื่องมือและโครงสร้างการเขียนต่างๆจะเหมือนเขียนบน Ethereum ทุกประการ และยังใช้ ZK-Rollups ทำให้ Polygon zkEVM นั้นมีความครบเครื่องทั้งเรื่องความสะดวกแก่นักพัฒนาในการต่อยอด ความเร็วในการจัดการธุรกรรมที่ส่งเข้ามา และค่าธรรมเนียมที่ต่ำลง ทำให้การอัพเกรดในครั้งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ของการแข่งขันระหว่าง Layer 2 อย่างมาก

ในตอนนี้ Polygon zkEVM เปิดให้ทดลองใช้งานบน Public Testnet แบบ Open-Source ซึ่งถ้าใช้งานได้ดีก็จะนำไปใช้ต่อใน Mainnet ในอนาคต

เปรียบเทียบผลตอบแทนที่ได้จากการฝากธนาคารและการฝากพันธบัตรรัฐบาลที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดกับผลตอบแทนจากการฟาร์ม Stablecoin บน Curve, UniSwap, Compound, Aave, PancakeSwap, Traderjoe และ SpookySwap ซึ่งมี TVL มากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่ได้รับการ Audit และเปิดมานานแล้วจึงมีความปลอดภัยที่ค่อนข้างสูง พบว่าในกลุ่มแรกได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 1.67% ต่อปี ส่วนในกลุ่ม DeFi นั้นมีผลตอบแทนอยู่ที่ 2.88% ซึ่งต่างกันอยู่ที่ 1.72 เท่า แต่ผลตอบแทนที่มากกว่าส่วนหนึ่งก็จากที่การฝากใน DeFi Platform ยังถือว่ามีความเสี่ยงสูงในสายตาของคนส่วนใหญ่

เมื่อเทียบกับเดือนก่อนๆจะพบว่าผลตอบแทนจากเงินฝากและพันธบัตรเพิ่มขึ้น ส่วนผลตอบแทนในการมาฝาก Stablecoin ลดลงค่อนข้างมากจาก APR ประมาณ 8% ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผลตอบแทนส่วนใหญ่มาจาก Trading Fee & Borrowing แต่เมื่อมีการทำธุรกรรมดังกล่าวลดลงจากสภาวะของตลาด ผลตอบแทนจึงลดลงตาม

สภาวะตลาด NFT ย้อนหลัง 30 วันพบว่าปริมาณการซื้อขายและจำนวนผู้ใช้งานของแพลตฟอร์มซื้อขาย Opensea บน Ethereum Blockchain ยังคงเป็นแบบ Sideway ซึ่งตรงนี้เป็นเหมือนผลดีให้กับ Narrative ของ NFT เนื่องจากก่อนหน้านี้ที่ NFT บนแพลตฟอร์มอันดับหนึ่งอย่าง  มีปริมาณซื้อขายมากโดยอยู่ที่ราว ๆ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงพีค ๆ และได้ลดลงมากกว่า  70% ในช่วง 1-2 เดือนก่อน แต่การลดลงตรงนี้ก็ไม่ได้ทำให้ตลาด NFT หายไปแต่อย่างใด เพราะราคาโปรเจค NFT Bluechip ยังคงยืน Floor(BAYC, MAYC, Azuki, Clone X) ได้แม้ในช่วงที่ตลาดผันผวน เพราะฉะนั้นจึงมองว่าสำหรับ NFT Bluechip เมื่อถึง Bull-run แล้วน่าจะมีโอกาสในการกลับมาได้อย่างแน่นอน 

เพราะปัจจุบัน NFT ที่เป็น Bluechip ถูกนำไปผูกกับแบรนด์ต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น อย่างเช่นเพลงล่าสุดของ Eminem กับ Snoop Dogg ก็มีการนำ BAYC ของพวกเขาสองคนไปแสดงใน MV หรือ RTFKT(Clone X) ก็มีการออกของเป็นแบรนด์ร่วมกับ Nike ซึ่งถ้าหาก Use Case เหล่านี้ยังเกิดขึ้นอย่างต่อ ก็จะยิ่งทำให้พื้นฐานของ NFT แข็งแกร่งมากขึ้นเลยทีเดียว

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมาโปรเจค RTFKT(เจ้าของ Clone X) ได้ทำการเปิดให้ผู้ที่ถือ Clone X และ Cryptokicks ได้มิ้นเสื้อฮู้ด NFT ซึ่งมี Supply ทั้งหมด 8,888 ชิ้น ที่จะให้สามารถเลือกไปรับเสื้อฮู้ดจริง ๆ โดยสิ่งที่ต่างกับเสื้อฮู้ดทั่วไปคืออันนี้จะมี NFC Chip ที่จะให้สามารถเชื่อมต่อกับ NFT จริงแล้วพิสูจน์ความเป็นเจ้าของได้อีกด้วย และที่สำคัญซึ่งแตกต่างอีกอย่างหนึ่งก็คือจะเสื้อฮู้ดนี่จะมีเทคโนโลยี AR(Augmented Reality) ที่จะเป็นปีกมาผสมด้วยนั่นเอง

นอกจากนั้นความพิเศษของเสื้อฮู้ดนี้คือ RTFKT ได้ออกร่วมกับ Nike โดยตรง และเป็นอย่างที่รู้กันดีว่า Nike เป็นแบรนด์สตรีทแฟชั่นอันดับต้น ๆ ของโลก จึงหมายความว่าถ้าหากเสื้อฮู้ดนี่เกาะกระแสเป็นเทรนด์ได้จริง ๆ เราก็อาจจะเห็นแบรนด์อื่น ๆ ออก NFT แล้วนำการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของตรงนี้มาใช้ เนื่องจากในปัจจุบันการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของหรือความแท้สินค้านั้นมักต้องอาศัยผู้รู้จริง ๆ เพื่อทราบข้อมูลดังกล่าว แต่สิ่งที่ RTFKT และ Nike ทำนั้นก็อาจเปลี่ยนแปลงตรงนี้ไปได้เลย นอกจากนั้นฟังก์ชั่น AR แม้เป็นสิ่งที่ผู้คนส่วนมากเคยคุ้นหูหรือได้ยิน แต่ก็ยังถือว่าเป็นของใหม่ที่ผู้ใช้งานส่วนมากในปัจจุบันยังไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเข้ามาใช้ แต่ก็เป็นไปได้ว่าด้วยชื่อเสียงของ Nike ก็จึงอาจเป็นผู้จุดเทรนด์ของกระแสนี้ได้ด้วยเช่นกัน

ในวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา Yuga Labs ได้เปิดให้ผู้ครอบครอง Otherdeed (Voyager) ในฝั่งทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปบางประเทศได้เข้ามามีส่วนร่วมใน “First Trip” ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ส่วนหนึ่งของ Otherside พร้อมทั้งมีกิจกรรมที่สามารถให้ผู้เข้าร่วมทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ โดยผู้เข้าร่วมใน First Trip ครั้งนี้มีจำนวนสูงถึงประมาณ 4,500 คน ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถเข้ามาอยู่ในพื้นที่เดียวกันได้โดยแทบจะไม่กระตุกเลย

ทำให้กิจกรรม First Trip ของ Yuga Labs ค่อนข้างประสบความสำเร็จและสร้างความประทับใจให้ผู้เข้าร่วมอย่างมาก รวมถึงผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมแต่เห็นบรรยากาศภายในกิจกรรมก็ประทับใจไม่แพ้กันเพราะเห็นได้ชัดว่าเทคโนโลยี M2 ของ Improbable ที่ Otherside ใช้นั้นมีประสิทธิภาพมาก ๆ ที่สามารถทำให้รองรับคนได้ดีถึงขนาดนี้และด้วยสิ่งนี้ก็ทำให้ได้เห็นศักยภาพของ Otherside ที่จะสามารถก้าวขึ้นมาสู้กับ The Sandbox และ Decentraland ได้อย่างสูสีแม้ว่าจะเพิ่งเปิดตัวไปไม่นาน

ภายหลังกิจกรรมทาง Yuga Labs ก็ได้ปล่อย Litepaper ออกมาซึ่งได้กล่าวถึง Roadmap ของโปรเจกต์ Otherside ซึ่งมีรายละเอียดคร่าว ๆ ดังนี้

  • Yuga Labs กำลังจะทำ NFT Marketplace ของตัวเอง
  • การพัฒนา Phase 1 จะถูกแบ่งออกเป็น 11 ส่วนซึ่งระหว่างการพัฒนานี้จะเปิดให้เฉพาะ Voyager เท่านั้นที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้และ Otherdeed จะกลายเป็น Dynamic NFT ซึ่งเมื่อเข้าร่วมแต่ละกิจกรรมแล้วจะมีการอัพเดท Otherdeed เพื่อเป็น heck point โดยผู้ที่เข้าร่วมจะได้รับ Otherdeed ที่เหลืออีก 100,000 ชิ้น (กล่าวไว้ใน Litepaper แต่ยังไม่มีรายละเอียดการแจก)
  • ทำ Otherside Development Kit (ODK) เพื่อให้นักพัฒนาเข้ามาสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ใน Otherside ได้ง่ายขึ้น
  • มุ่งหน้าพัฒนาเทคโนโลยีให้รองรับได้ทุก device, รองรับคนได้มากขึ้น และสามารถพูดคุยกันได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2022 ทาง The Sandbox ได้ประกาศความร่วมมือกับ Gravity เพื่อนำ Ragnarok เข้าสู่ The Sandbox Metaverse โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะมีการสร้าง Ragnarok LAND และจะมีการใช้ Intellectual Property ของ Ragnarok เพื่อทำ Avatar และ Content ต่าง ๆ ด้วย

ตั้งแต่ Gravity ได้เริ่มสร้าง Ragnarok Online ขึ้นในปี 2002 และได้รับความนิยมไปทั่วโลก Ragnarok ก็กลายเป็นที่จดจำของผู้คนในยุคนั้นและกลายเป็น Intellectual Property หลักของ Gravity จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งถึงแม้ในปัจจุบัน Ragnarok จะไม่ได้รับความนิยมเหมือนก่อนแต่ก็ไม่เคยห่างหายไปเพราะทาง Gravity ก็ได้ทำเกมในใช้ IP ของ Ragnarok ออกมาเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น Ragnarok M: Eternal Love, Ragnarok Origin, Ragnarok X: Next Generation เป็นต้น 

ซึ่งความร่วมมือกับ The Sandbox ในครั้งนี้ก็น่าจะกลายเป็นที่สนใจไม่น้อยสำหรับเด็ก ๆ ในยุครุ่งเรืองนั้นหรือก็คือผู้ใหญ่วัยทำงานในตอนนี้ที่อาจคิดถึงการเล่น Ragnarok กับเพื่อนในวัยเด็กและอยากเข้ามาเป็นเจ้าของ Avatar หรือเข้ามาใน Metaverse ที่มีความเป็น Ragnarok อยู่ ซึ่งก็จะทำให้ The Sandbox น่าจะกลายเป็นตัวเลือกแรก ๆ สำหรับผู้คนเหล่านั้นได้

Author

Share :
Related
CoinTalk (26/4/2024):
เข้าสู่ยุคใหม่ของ Bitcoin ? พาส่อง Bitcoin Ecosystem ปี 2024 
Cryptomind Monthly Outlook (April 2024)
Technical Analysis $PENDLE, $BNB โดย Cryptomind Advisory (22 Apr 24)