Search
Close this search box.

Cryptomind Bi-weekly Outlook (1-15 November 2022)

Share :
1-15 NOV

Table of Contents

Bitcoin ปรับตัวลงรุนแรงทำจุดต่ำสุดใหม่ในรอบหลายเดือนที่ราคา $15,588 ซึ่งเป็นโซน Fibo projection ที่เราใช้หาเป้าขาลงใน Time frame Day มาค่อนข้างนาน และจาก Fibo อันเดียวกันนี้เราจะเห็นว่าใน Time frame Day ยังเหลือเป้าขาลงอยู่ที่ ราคา $14,200 และ $11,500 ตามลำดับ (เส้นสีแดง) และจาก Price action ของราคาในปัจจุบันยังไม่มีการทำสัญญาณกลับตัว หรือ สัญญาณของความขัดแย้งใดๆ รวมถึงภาพใหญ่ยังคงเป็นการเคลื่อนที่ในเทรนด์ขาลงตลอดมา ทำให้โอกาสที่เราจะเห็นราคาลงมาทดสอบสองแนวนี้สูง

เมื่อเราย่อยกราฟเข้ามาดูใน  TF 4 H จะพบว่าราคาได้ลงมาในโซน 261.8 – 432.6% ของ Fibo สีขาวพร้อมกับมีการทำ Oversold ของ Stochastic RSI ทำให้เราอนุมานได้ว่าการลงของคลื่นย่อยน่าจะต้องมีการพักตัว หรือปรับตัวขึ้นเล็กน้อยเพื่อลงต่อ ซึ่งถ้ามีการเด้งขึ้นจริงมองว่าเราสามารถใช้กราฟราคาของ TF 30 min ในการประเมินได้ซึ่งจะออกมาตาม Fibo สีชมพู จึงมองว่าเป้าหมายราคาของการเด้งขึ้นจะอยู่ที่ราคา $17,800 และ $18,800 ตามลำดับ
โดยสรุปมองว่าการลงมาในรอบนี้จะต้องมีการเด้งขึ้นหนึ่งรอบเพื่อสะสมกำลังในการลงต่อไปที่โซนแนวรับสำคัญที่ราคา $14,200 และ $11,500 โดยสำหรับนักลงทุนที่ต้องการซื้อ Bitcoin อาจจะรอซื้อได้ที่แนวรับดังกล่าว ส่วนสำหรับการเก็งกำไรมุมมองทางขาลงจะได้เปรียบมากกว่าและพิจารณาการเข้าเก็งกำไรได้ที่แนวต้านสำคัญที่ราคา $17,800 และ $18,800 ตามลำดับ

สำหรับเหรียญ $SOL เป็นอีกเหรียญที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์การล้มละลายของ FTX และได้มีการปรับตัวลงอย่างรุนแรงกว่า 60%  ทำให้ $SOL ปรับตัวลงจากจุดสูงสุดกว่า 95% เป็นที่เรียบร้อย 

ในด้านของการวิเคราะห์กราฟ จะเห็นว่าราคาเคลื่อนที่อยู่ในแนวโน้มขาลง โดยมีแนวรับที่สำคัญจาก Fibo projection คือที่ราคา $11.4 ซึ่งราคาได้มาทดสอบเป็นที่เรียบร้อย และจากการวิเคราะห์ Price action นั้นไม่เห็นรูปแบบการกลับตัวที่ชัดเจน ร่วมกับแนวโน้มในภาพใหญ่ที่เป็นขาลง ทำให้ราคามีโอกาสเคลื่อนตัวหลุดแนวรับนี้สูง โดยแนวรับถัดไปของ $SOL จากการใช้ Fibo projection จะอยู่ที่ $7.3

โดยสรุป $SOL ได้มีการปรับตัวลงอย่างรุนแรงผ่านแนวรับที่สำคัญหลายๆแนวและปัจจุบันราคากำลังทดสอบอีกแนวรับสำคัญอยู่ ซึ่งหากหลุดจากแนวนี้จะต้องมองที่โซนแนวรับถัดไปที่ $7.3 ทันที ในมุมมองเชิงเทคนิคคอลจะไม่แนะนำให้เข้าซื้อหรือเทรดจนกว่าจะมีการทำฐานราคาหรือมีสัญญาณการกลับตัวที่ชัดเจน

สถานการณ์เงินบาทของไทยปัจจุบันอยู่ในอัตราการแลกเปลี่ยนอยู่ที่ประมาณ 35.7 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งได้ทำการย่อตัวลงมาค่อนข้างเยอะ เนื่องจากตัว DXY หรือดัชนีของดอลล่าร์สหรัฐทำการย่อตัวเพราะตลาดทุนหรือตลาดสินทรัพย์เสี่ยงเริ่มถูกสนใจมากขึ้น สาเหตุโดยหลักมาจาก ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาเริ่มลดลง ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงจึงเริ่มคลายกังวล และนักลงทุนเริ่มขยับเงินออกจากดอลลาร์ไปยังสินทรัพย์อื่น

บวกกับปัจจัยอีก 2 ปัจจัย
1. เงินเฟ้อในประเทศไทย (Thailand Inflation Rate) ก็ลดลงเช่นกัน ซึ่งตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าประเทศยังไม่ได้อยู่ในจุดที่เงินเฟ้อควบคุมไม่ได้เหมือนประเทศอื่นที่มีปัญหาอยู่ แต่ก็ต้องจับตามองในระยะยาว ว่าจะลดลงได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่
2. อัตราการว่างงานในไทย (Thailand Unemployment rate) ก็ลดลงเช่นกัน แสดงให้เห็นว่า “เศรษฐกิจไทยยังคงไม่ได้เข้าขั้นวิกฤต” โดยตัวเลขคนว่างงานก็ลดลงอย่างต่อเนื่องทุกไตรมาสของปี 2022 เป็นต้นมา

มุมมองในช่วงนี้: เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าโดยมีอัตราแลกเปลี่ยนที่ 35 บาทต่อดอลล่าร์เป็นจุดแลกเปลี่ยนที่มีนัยยะสำคัญ 

หลังจากตัวเลข CPI ของ US ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้เราเห็นถึง การเปลี่ยนแปลงอย่างมีทิศทางที่ดีในสถานการณ์เงินเฟ้อของ US มากขึ้น ตอนนี้เหมือนตลาดเริ่มเห็นภาพแล้วว่าการขึ้นดอกเบี้ยของ FED ที่ก้าวกระโดดนั้นค่อนข้างส่งผลได้ชัดในทางผลลัพธ์

ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ตลาดเริ่มคลายกังวลในท่าทางของ FED ว่าจะเริ่มลดความเข้มงวดทางการเงินลง จึงนำไปสู่การ Price in อัตราดอกเบี้ยที่จะถูกประกาศในการประชุม FOMC ในเดือนธันวาคมว่า FED อาจจะขึ้นดอกเบี้ยที่ 50 basis point และจบปี 2022 ด้วยดอกเบี้ยที่ 4.5%

ดังนั้นเอง สินทรัพย์เสี่ยงจึงเริ่มมีความสนใจมากขึ้น นักลงทุนจะเริ่มขยับเม็ดเงินของตัวเองไปลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกอย่างอื่นที่ไม่ใช่ดอลลาร์มากขึ้น และล่าสุดตลาดหุ้นของสหรัฐก็เริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้นหลังจากตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดออกมาดี 

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาด Cryptocurrency ปรับตัวลดลง ถึงแม้ว่าสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นจะปรับตัวขึ้นสดใสตอบรับตัวเลขเงินเฟ้อ CPI ที่ประกาศในวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งออกมาในระดับต่ำกว่าคาด โดยสาเหตุหลักมาจากการล่มสลายของ FTX Exchange นั่นเอง ทำให้นอกจากราคาเหรียญต่างๆจะปรับตัวลดลงแล้ว TVL โดยรวมของ DeFi ยังลดลงเฉลี่ยกว่า 20% นำโดยเชน Solana ที่ TVL ลดลงกว่า 66% เทียบกับก่อนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นเพราะว่าเชน Solana เชื่อมโยงโดยตรงกับ FTX และ Sam Bankman-Fried และยังส่งผลให้ Wrapped Asset ต่างๆบนเชนที่ออกโดย FTX หรือ Alameda อย่างเช่น soBTC, soETH หลุด Peg อย่างมากในระดับมากกว่า 70% แล้ว 

ซึ่งจากสาเหตุดังกล่าวทำให้เชน Solana หลุดอันดับเชนที่มี TVL สูงสุด 5 อันดับและ Polygon ขึ้นมาแทนที่เรียบร้อย โดยก็ถือว่า Polygon นั้นเป็นอีกเชนที่น่าจับตามองเพราะว่าที่ผ่านมามี Partnership เด่นๆมากมายอย่างเช่น J.P Morgan, Disney, Starbucks, Meta, Instagram เป็นต้น นอกจากนี้อีกกระแสที่น่าจับตามองในช่วงนี้คือ Decentralized Exchanges และ Decentralized Derivatives/Perpetual Exchanges ที่ได้รับประโยชน์ในช่วงนี้ที่ตลาดมีความเคลือบแคลงสงสัยในความโปร่งใสของ Centralized Exchanges ทำให้ Trading Volume บน DEX เพิ่มสูงขึ้น และราคาเหรียญในกลุ่มนี้อย่างเช่น DYDX, GMX, GNS, INJ แข็งกว่าตลาดค่อนข้างมาก ถือว่าเป็นอีกหนึ่ง Narrative ของ DeFi ที่น่าจับตามองต่อไป

ข่าวที่ร้อนแรงที่สุดในวงการคริปโทฯ ตอนนี้คงจะหนีไม่พ้นการ “ยื่นขอล้มละลายของ FTX” บริษัทแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นอันดับ 2 ของโลก แม้ว่าในตอนนี้ต้นเหตุการล่มสลายจะมาจากวันที่ 2 พฤศจิกายน ข้อมูลหลุดของงบดุลบริษัท Alameda Research ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ FTX ที่สำนักข่าว Coindesk เอามาเปิดเผย โดยชี้ให้เห็นว่าสินทรัพย์ทั้งหมดมี 14,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยที่กว่า 40% เป็นเหรียญ FTT หรือเหรียญของบริษัท FTX เองซึ่งเป็นสัดส่วนที่เยอะมาก และยังมีเหรียญคริปโทฯ ตัวอื่นที่สภาพคล่องต่ำมาก หากหนี้สินที่ตอนนี้มี 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดนเจ้าหนี้ทวงคืน การเทขาย FTT และเหรียญอื่นๆ จะไม่สามารถทำได้ทั้งหมด จนสุดท้ายก็จะล้มละลายในที่สุด 

แต่ข่าวนี้เมื่อออกมาแล้วกลับไม่มีผลมากต่อตลาดเท่าไหร่ เพราะนักลงทุนหลายคนไม่คิดว่าเป็นเรื่องจริงและคิดว่าระดับ Exchange อันดับ 2 ของโลกน่าจะรับมือเหตุการณ์เหล่านี้ได้ เรื่องนี้จึงได้เงียบไป แต่ก็ได้ไม่กี่วัน

วันที่ 6 พฤศจิกายน Changpeng Zhao (CZ) เจ้าของ Binance ก็ได้ประกาศใน Twitter ส่วนตัวว่าเงินที่เคยถอนการลงทุนใน FTX เมื่อปี 2021 จำนวน 2,100 ล้านดอลลาร์ในรูป BUSD และ FTT จะมีส่วนที่เป็น FTT เทขายลงไปในตลาดเป็นระยะเวลาหลายเดือน

ข่าวนี้ทำให้นักลงทุน Panic และชิงเทขาย FTT ก่อนล่วงหน้าจนราคาตกอย่างรุนแรง แม้ว่า Caroline CEO ของ Alameda Research จะประกาศว่างบที่หลุดออกมาไม่เป็นความจริงและบอก CZ ว่าจะรับซื้อนอกตลาด (OTC) ที่ราคา 22 ดอลลาร์ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าตลอดตอนนั้นนิดหน่อย ราคา FTT จึงหายตกใจแล้วกลับมายืนแถว 22 ดอลลลาร์ได้แต่ก็ได้เพียง 1 วันเท่านั้น เพราะวันถัดมาก็ร่วงต่อมาอยู่แถว 15 ดอลลาร์อย่างไม่มีสาเหตุ จนถึงในช่วง 5 ทุ่มเวลาไทย CZ ประกาศว่าได้โทรคุยกับ Sam Bankman-fried เจ้าของ FTX และ Alameda Research แล้วยินดีจะทำ “สัญญาแบบไม่ผูกมัดในการซื้อ FTX” ซึ่งจะขอเวลา Due Diligence ก่อน ข่าวดีนี้ทำให้ตลาดขึ้นได้ชั่วคราวเพราะไม่กี่ชั่วโมงถัดมาราคาก็ร่วงจากความกังวลเรื่องการผูกขาดและปัญหาที่น่าจะใหญ่เกินแก้ไข ราคาจึงลงอย่างรุนแรงไปที่ 3 ดอลลาร์สหรัฐ และดีลนี้ก็ไม่เกิดขึ้นจริงๆ

สถานการณ์ของ FTX แย่ลงเรื่อยๆ จากการปฏิเสธดีลของ CZ นักลงทุนแห่ถอนเงินออกจาก FTX จำนวนมากเพราะกลัวว่าเงินของตัวเองจะไม่ได้คืนหาก Alameda Research ล้มละลายจะกระทบต่อมาที่ FTX ซึ่งมีเจ้าของเป็นคนเดียวกัน ข่าวการผิดถอนของ BlockFi ที่ FTX เคยช่วยเหลือ ข่าวการหลบหนีของ Sam ที่ตอนนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจนว่าหนีออกจาก Bahamas ที่เป็นที่ตั้งของ FTX หรือยัง 

จนในที่สุด วันที่ 11 พฤศจิกายน Sam ก็ประกาศลาออกหลังจากยื่นล้มละลายตามมาตรา 11 ตามมาด้วยข่าวการปิดถอนเงิน การถูกแฮคขโมยเงินออกไปซึ่งคาดว่าเป็นฝีมือคนใน การพบช่องโหว่ของโค้ดที่มีระบบในการดึงเงินของลูกค้าออกไปใช้โดยที่รอดพ้นระบบตรวจสอบทั้งหมด มีการถูกคุ้ยประวัติเรื่องการเล่นตุกติกทางการเมืองในการสกัดคู่แข่งอย่าง Binance โดยบริจาค 50 ล้านดอลลาร์สูงเป็นอันดับ 2 ให้พรรค Democrat และความสัมพันธ์ของพ่อ Sam ที่เกี่ยวข้องกับ Gary Gensler ซึ่งเป็นประธาน ก.ล.ต. ของสหรัฐ

ความเสียหายของเหตุการณ์ในครั้งนี้มีการคาดการ์ว่าใหญ่กว่าการล่มสลายของ Terra หลายเท่านักเพราะกระทบนักลงทุนมากกว่า 1 ล้านคนที่ใช้งาน และ Hedge Fund ชื่อดังในวงการ Venture Capital ที่เคยลงทุนใน FTX ก็เสียหายหนักเช่นกัน ซึ่งผลกระทบจะหนักถึงขั้นไหนก็ยังไม่สามารถสรุปได้ ดังนั้น นักลงทุนจึงควรระมัดระวังในการลงทุนช่วงนี้อย่างสูง

อยย่างไรก็ตาม โปรเจคต่างๆ จะถูกคัดกรองอย่างเข้มงวดมากขึ้น มีการทำ Proof of Reserve ที่แสดงความโปร่งใสของ Exchange มากขึ้น (มีข่าวว่าบาง Exchange ยืมเงินคนอื่นมาเพื่อ Snapshot ชั่วคราาว) วิกฤตในครั้งนี้จึงทำให้วงการมีความใสสะอาดมากยิ่งขึ้น โปรเจคที่ไม่ดีก็จะตายออกไป และมาตรฐานต่างๆก็จะพัฒนาขึ้นเพื่อป้องกันให้เกิดเรื่องที่ผิดพลาดเช่นนี้อีก

WuBlockchain สำนักข่าวด้านคริปโทฯ จากประเทศจีนได้รวบรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นของนักลงทุนที่ลงทุนใน FTX และ Alameda Research โดยมีทั้งเปิดเผยตัวเลยและยังไม่เปิดเผย เราจะเห็นว่าทั้งหมดที่เปิดเผยตัวเลขรวมเป็นเงินมากกว่า 1,223.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในส่วนของกลุ่มที่ยังไม่เปิดเผยที่อาจมีความเสียหายที่หนักไม่แตกต่างกัน

จากข่าวการยื่นล้มละลายของ FTX อาจทำให้คริปโทฯ มีความเสี่ยงโดนเทขายจนเกิดการ Cascading Liquidation หรือการโดนบังคับแบบต่อเนื่องบน DeFi ได้ ดังนั้นจุดเสี่ยงที่จะเกิดการ Liquidation จึงเป็นประเด็นสำคัญที่นักลงทุนควรจับตามองอย่างใกล้ชิดในช่วงที่ยังมีความผันผวนสูงแบบนี้
เหรียญแรกที่น่าจับตามองคือเหรียญ ETH ซึ่งถ้าอ้างอิงข้อมูลจาก DeFillama จุด Liquidate สำคัญจุดแรกคือ ณ ราคา $750 ซึ่งหากราคาปรับตัวลงต่ำกว่าราคานี้จะมี ETH จำนวน 313,000 ETH มูลค่า 34.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐถูกเทขายทันที และจะทำให้มีความเสี่ยงที่จะไหลไปที่จุด Liquidation สำคัญอีกสองจุดคือที่ราคา $714 และ $677 ซึ่งจะทำให้มีเหรียญ ETH จำนวน 230,000 ETH และ 188,000 ETH มูลค่ารวมทั้งหมด 291 ดอลลาร์สหรัฐถูกเทขายตามมา

นอกจากเหรียญ ETH แล้ว อีกเหรียญที่น่าจับตามองคือ stETH ที่เป็น Liquid Staking token จากการฝาก ETH บน Lido Finance ซึ่งมีราคาแปรผันตรงกับ ETH โดยจุดเสี่ยงของ Cascading Liquidation จุดแรกคือที่ราคา $1067 ที่ถ้าราคาปรับลงถึงจุดนี้จะมี ETH จำนวน 86,000 ETH ถูกเทขาย และอีกจุดที่ราคา $785 จะทำให้ ETH จำนวน 89,000 ETH ถูกเทขาย มูลค่าที่เกิดจากการ Liquidation ทั้งสองจุดรวมทั้งหมด 161 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ยังมีเหรียญอื่นๆที่มีความเสี่ยงสูงอีก 4 เหรียญที่เราควรติดตามดูราคาจุดเสี่ยงที่จะเกิด Liquidation เช่น wstETH, WBTC, MSOL และ BNB ซึ่งสามารถติดตามอ่านต่อได้ที่เว็บไซต์ของ Cryptomind Research: อัพเดทจุดเสี่ยง Liquidation ครั้งใหญ่

หลังจากเหตุการณ์ FTX ซึ่งเป็น Centralized Exchange ล่มสลายก็ทำให้ Wallet ส่วนตัว และ DeFi มีการใช้งานสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่างเช่น ETH network ที่มีค่าธรรมเนียมการทำธุกรรมพุ่งสูงสุดหลังจาก The Merge ทำให้ตอนนี้ ETH ได้มีการ Burn ไปอย่างมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเหตุการณ์ FTX ที่มีการ Burn ETH ไปเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ตาม Decentralized Exchange (DEX) อย่าง Uniswap ก็มีตัวเลข Volume การซื้อขายเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น คู่เหรียญ ETH ที่ปกติในช่วงเวลาทั่วๆไปจะมีตัวเลข Volume อยู่ที่ประมาณ 800m – 1b USD ต่อวัน แต่หลังจากเหตุการณ์ FTX ตัวเลขก็พุ่งสูงขึ้นไปกว่า 3b ต่อวัน ซึ่งยังไม่รวมกับคู่เหรียญอื่นๆอีกมากมาย ทำให้โดยรวมแล้วในแง่ของ Volume เทรด และ ค่า Fee ที่ Uniswap เก็บได้พุ่งขึ้นไปกว่า 3 เท่าหลังเหตุการณ์ FTX

จากเหตุการณ์นี้ เราจึงเห็นได้ว่าผู้คนส่วนใหญ่ต่างตระหนักในเรื่องการเก็บ Digital Asset ใน Wallet ของตัวเองมากขึ้นเนื่องจากหากเราเก็บไว้ใน Exchange ก็เปรียบเสมือนเราไปฝากคนอื่นถือเหรียญของเรา ดังนั้นการถือด้วย Private Key ของตัวเองจึงมีความปลอดภัยมากกว่า “Not your key , Not your coin”

Ethereum Blockchain ได้มีการเปลี่ยนระบบฉันทามติจาก PoW เป็น PoS (The Merge) ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาให้ Blockchain มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และยังทำให้อัตราการผลิตเหรียญ Ethereum ลดลงเพราะไม่ต้องจ่าย Block Reward ให้ Miner จากเดิมมีอัตราการผลิตเหรียญ 13,500 ETH ต่อวัน เหลือเพียง 1,300 ETH ต่อวัน นอกจากนี้การอัพเกรด EIP – 1559 ที่เปลี่ยนระบบการจ่ายค่าธรรมเนียมแบบประมูลเป็นการจ่ายค่าธรรมเนียม 3 ส่วน คือ Base Fee, Piority Fee และ Max Fee ซึ่ง Base Fee จะถูกตั้งจากทาง Ethereum และนำไป Burn เหรียญที่อยู่ในระบบ ซึ่งจากปัจจัยทั้งการผลิตเหรียญ Ethereum ที่ลดลงกว่า 9ุ6% และ Base Fee ที่นำมา Burn เหรียญในระบบ ซึ่งถ้ามีการทำธุรกรรมสูงก็จะยิ่งเก็บค่าธรรมเนียมที่นำมา Burn ได้เยอะ จนถึงจุดที่อัตราการ Burn สูงกว่าการสร้างเหรียญเพิ่มก็จะทำให้ Ethereum เข้าสู่สภาวะ Deflationary 

กระแส  Ethereum Ultrasound Money  เป็นที่พูดถึงอีกครั้งเนื่องจากการใช้งาน Decentralized Blockchain พุ่งสูงขึ้น จากเหตุการณ์ FTX ล่มสลายในวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้ Ethereum สามารถนำค่าธรรมเนียมมา Burn เหรียญได้มากกว่าจำนวนที่ผลิตออกมาใหม่ จนเข้าสู่สภาวะ Deflationary Token เป็นครั้งแรกหลังจากที่มีการอัพเกรด The Merge ไป 56 วัน โดยปัจจุบันมีเหรียญ ETH หายไปจากระบบวันละ 6,000 ETH หรือคิดเป็น Deflation Rate 0.029% ต่อปี แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันเป็นช่วงที่หลายคนมีความกังวลกับ Centralized Exchange จึงทำให้คนย้ายไปทำธุรกรรมบน Decentralized Blockchain จำนวนมาก แต่หากสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ จำนวนธุรกรรมลดลง Deflation Rate อาจจะลดลงจนกลายเป็น Inflation เหมือนเดิม แต่ในอนาคตถ้า Ethereum Blockchain มีการพัฒนาประสิทธิภาพให้สูงขึ้นอยู่ตลอด มีจำนวนการธุรกรรมสูงและยังคงความนิยมในการเป็น Decentralized Blockchain อันดับหนึ่งไว้ได้อย่างต่อเนื่อง เราก็อาจจะได้เห็น Ethereum เป็น Deflationary Token ที่จำนวนเหรียญในระบบจะค่อยๆลดลงเรื่อยๆได้

ผลตอบแทนที่ได้จากการฝากธนาคารและการฝากพันธบัตรรัฐบาลให้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 2.51% ส่วนผลตอบแทนจากการฟาร์มหรือปล่อยกู้ Stablecoin บนแพลทฟอร์มต่างๆให้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 4.21% ซึ่งสำหรับการฟาร์ม Stablecoin สามารถเลือกฝากกับแพลทฟอร์มที่มีความปลอดภัยสูงและเปิดมานาน เช่น Curve, UniSwap, PancakeSwap, Aave, Compound, Traderjoe และ Spookyswap หรือจะเลือกฝากบนแพลทฟอร์มที่ใหม่กว่าและผลตอบแทนสูงกว่าอย่างเช่น Velodrome ก็ได้เช่นกัน โดยผลตอบแทนเฉลี่ยระหว่างการฝากธนาคารหรือพันธบัตรเทียบกับการฟาร์ม Stablecoin ต่างกันอยู่ที่ประมาณ 1.67 เท่า

เมื่อเทียบกับเดือนก่อนๆจะพบว่าผลตอบแทนจากเงินฝากและพันธบัตรเพิ่มขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ  ส่วนผลตอบแทนในการฝาก Stablecoin กลับลดลงค่อนข้างมากจาก APR ประมาณ 8% ในช่วงไตรมาสแรกของปี ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผลตอบแทนส่วนใหญ่มาจาก Trading Fee & Borrowing แต่เมื่อมีการทำธุรกรรมดังกล่าวลดลงจากสภาวะของตลาด ผลตอบแทนจึงลดลงตาม

สภาวะตลาด NFT ในช่วง 30 วันที่ผ่านมาพบว่าปริมาณซื้อขาย NFT บน Ethereum Blockchain นั้นได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ระดับประมาณ 10% โดยคาดว่าเป็นผลมาจากข่าวเรื่อง FTX ที่ทำให้ผู้คนพยายาม Risk off และ Liquidate สินทรัพย์ที่ความเสี่ยงสูงและสภาพคล่องต่ำอย่าง NFT ซึ่งตรงนี้เห็นชัดจากการที่คอลเลคชั่น Bored Ape Yacht Club ได้มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุดบน Ethereum Blockchain และ มี Floor Price ปรับลงมาอยู่ในระดับ 60 ETH ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบหนึ่งปี แต่สำหรับ Solana Blockchain นั้นถือว่าลดลงพอสมควรเนื่องจากเป็นบล็อกเชนที่มี FTX เป็น Backer เพราะฉะนั้นจึงเห็นการปรับตัวลงจากการที่ผู้คนอาจเลิกสนใจใน NFT ของบล็อกเชนนี้

อย่างไรก็ตามถึงแม้ข่าว FTX จะส่งผลต่อตลาดอย่างหนัก แต่ในฝั่งของ NFT นั้นยังคงมีแบรนด์เข้ามาเรื่อย ๆ ด้วยเหตุผลเรื่องตัวเทคโนโลยี โดยอย่างล่าสุดที่ Nike ได้เปิดตัว Footballverse ที่คาดว่าจะนำเทคโนโลยี NFT มาใช้ใน Ecosystem 

ฉะนั้นต่อจากนี้สำหรับ NFT เราจึงน่าจะได้เห็นการเข้ามาของแบรนด์ที่มากขึ้นและสร้าง Ecosystem ให้กับพื้นที่ตรงนี้

เมื่อวันที่ 11 พฤจิกายนที่ผ่านมา Nike ได้เปิดตัว Trailer Footballverse ระยะเวลา 30 วินาทีบน Youtube ซึ่งเป็นเนื้อเรื่องประมาณว่ามีนักวิทยาศาสตร์ประเทศฝรั่งเศษกับบราซิลเถียงกันว่าระหว่าง Mbappé ปี 2022 กับ Ronaldinho ปี 2006 ใครจะเตะบอลได้ดีกว่ากัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สองคนก็ได้ตกลงกันว่า เราจะมาสร้าง Multiverse และให้นักเตะสองคนนี้เตะแข่งกัน

ซึ่งจากนั้นก็ได้ใช้เทคโนโลยีดึง Mbappé กับ Ronaldinho ออกมา แต่จู่ ๆ ฉากสุดท้ายก็มี Cristiano Ronaldo ออกมาแล้วก็ตัดจบไป

ถึงแม้รายละเอียดของ Footballverse จะยังไม่มีการเปิดเผย แต่สิ่งที่น่าสนใจของวิดีโอนี้คือได้มีการซ่อน Easter Egg ไว้หนึ่งจุดที่สำคัญ ซึ่งก็คือรูป Clone X ที่กำแพงห้อง เพราะเราทราบกันดีว่า Nike ก็ได้เป็นเจ้าของ RTFKT หรือผู้ที่สร้าง Clone X เพราะฉะนั้นจึงหมายความว่าใน Footballverse เราก็อาจจะเห็นการที่เอา Nike เอา IP Clone X มาต่อยอดในอุตสาหกรรมฟุตบอลด้วยก็เป็นไปได้

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิยายนที่ผ่านมา Wemade ได้ทำการระดมทุนรอบล่าสุดไปได้ 46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง Microsoft และสถาบันการเงินชั้นนำของเกาหลีใต้อย่าง Shinhan Asset Management และ Kiwoom Securities 

ก่อนหน้านี้ Mircrosoft ก็ได้มีการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวกับ Blockchain และ Web3 มาบ้างแล้วอย่างเช่น Consensys ที่เป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับ Blockchain ที่ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยในการช่วยพัฒนา CBDC ของประเทศไทยหรือบาทดิจิทัลด้วย
Wemade เป็นบริษัทผู้พัฒนาเกมเก่าแก่ของเกาหลีใต้ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2000 โดยในปี 2018 Wemade ได้ผันตัวมามุ่งหน้าพัฒนา Blockchain Gaming และสร้างแพลตฟอร์มเกม Web3 ที่ชื่อว่า Wemix โดยมีเกมที่เป็นที่นิยมมากมาย เช่น MIR4, The Legend of MIR series และ Rides of Icarus เป็นต้น

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน The Sandbox ได้ประกาศความร่วมมือกับ LINE Studio ที่เป็นผู้ผลิตเกมต่างๆ ที่มีเชื่อมต่อกับ LINE Application เช่น LINE Bubble, LINE Ranger

ในความร่วมมือครั้งนี้ LINE มีเป้าหมายจะสร้างพื้นที่เป็น Theme ที่เกี่ยวข้องกับเกมต่างๆ จาก LINE Studio ในพื้นที่ของ K-Verse ที่ซึ่งเป็นที่รวบรวม Content ต่างๆ ของเกาหลีใต้

และนอกจากนั้น LINE Studio และ The Sandbox มีแผนจะสร้างธุรกิจต่อยอดจากโปรเจกต์นี้ด้วยอย่างเช่น การนำ NFT มาเชื่อมกับตัวละครและสิ่งต่างๆ ภายในเกมของ LINE Studio ซึ่งในอนาคตอาจสามารถเชื่อมต่อกับ The Sandbox Metaverse ได้ด้วย

.

คำเตือนความเสี่ยง : คริปโทเคอร์เรนซี่มีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวนและสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคต

Author

Share :
Related
Cointalk (19 July 2024) - ตลาด risk off คริปโตเด้งแรง
Automated Market Maker (AMM)
Technical Analysis $TON $INJ โดย Cryptomind Advisory (17 July 24)
Cryptomind Monthly Outlook (July 2024)