Search
Close this search box.

Cryptomind Bi-weekly Outlook (1-15 January 2023)

Share :
10-15 Jan

Table of Contents

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอีกหนึ่งเหรียญที่มาแรงตัวหนึ่งคือ LDO จาก Lido finance ซึ่งได้ปรับตัวขึ้นมากว่า 100% ตั้งแต่ช่วงปีใหม่

จากกราฟราคาใน Timeframe day นั้นจะพบว่า LDO อยู่ในแนวโน้มขาขึ้นอย่างสมบูรณ์ เห็นได้จากการย่อทำ Higher low(HL) และขึ้นเบรคจุดสูงสุดก่อนหน้าทำ Higher high(HH) ตามเส้นการเคลื่อนที่สีเหลือง แต่จาก Fibo externsion ที่ใช้หาเป้าหมายการเคลื่อนที่ของราคาพบว่าราคาได้ขึ้นไปถึงเป้า Fibo 423.6% ซึ่งเป็นโซนที่มักพบการย่อตัว พร้อมกับ StochRSI มีการทำ Overbought ร่วมกับการเห็นรูปแบบแท่งเทียนกลับตัวขนาดใหญ่ จากข้อมูลเหล่าจึงมองว่าราคามีโอกาสอยู่ในสถานะการพักตัวเพื่อรอการขึ้นต่อมากที่สุด

สำหรับการเคลื่อนที่ของราคาใน Timeframe 4 H นั้น ยังคงเคลื่อนที่อยู่ในแนวโน้วขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีสัญญาณการกลับตัวเป็นขาลงที่ชัดเจน ทำให้ราคาจะสามารถเคลื่อนที่ได้สองกรณี อันแรกคือการพักตัวเลยตามแนวโน้มของภาพใหญ่เพื่อลงมาที่แนวรับเส้นสีส้มที่โซนราคา $1.55 และ $1.25 ตามลำดับ และกรณีที่สองคือการขึ้นต่อเพื่อไปทดสอบจุดสูงสุดเดิม โดยหากราคาเคลื่อนที่ขึ้นต่อจะต้องมาวิเคราะห์อีกครั้งว่าจะสามารถผ่านจุดสูงสุดก่อนหน้าได้หรือไม่

โดยสรุปกราฟราคาของ LDO ทั้งภาพใหญ่และภาพระยะกลางมีการเคลื่อนที่อยู่ในแนวโน้มขาขึ้นทั้งคู่ อย่างไรก็ตามจากข้อมูลใน Time Frame Day บอกว่าราคามีแนวโน้มที่จะพักตัวต่อมากกว่าขึ้นต่อ โดยมีแนวรับที่ต้องจับตามองสองแนวคือที่ราคา $1.55 และ $1.25 ตามลำดับ

สำหรับ $SOL นั้นแม้ว่าจากผ่านวิกฤตครั้งใหญ่มาในช่วงปลายปี 2022 จนราคาได้ปรับตัวลงอย่างรุนแรงจนทำจุดต่ำสุดที่ราคา $8.00 ในช่วงสิ้นปี แต่หลังจากวันที่ 1 มกราคม 2023 นั้นราคาได้มีการปรับตัวขึ้นมากว่า 100% เป็นที่เรียบร้อย ทำให้เกิดคำถามว่า $SOL นั้นลงถึง Bottom แล้วหรือยัง

โดยจากข้อมูลใน Timeframe day นั้นจะเห็นว่า ราคาได้มีการเคลื่อนที่อยู่ในแนวโน้มขาลงมาโดยตลอดจนกระทั่งราคาได้มีการพุ่งขึ้นจนเบรคจุดสูงสุดก่อนหน้าที่แนวเส้นสีฟ้าขึ้นไปและทำ Higher high เป็นครั้งแรก ทำให้ราคามีโอกาสกลับตัวเป็นแนวโน้มขาขึ้นได้ อย่างไรก็ตามเราจะยังไม่ยืนยันจนกว่าจะเห็นการพักตัวในรอบต่อไปซึ่งห้ามหลุดแนวเส้นสีแดงที่ราคา $8.00 และหากราคาเคลื่อนที่ในแนวโน้มขาขึ้นจริงแนวต้านถัดไปที่ต้องจับตามองคือที่ราคา $19.30

ในส่วนของราคาใน Timeframe 2 H นั้นมีการเคลื่อนที่อยู่ในแนวโน้มขาขึ้นเป็นที่เรียบร้อย และยังไม่มีสัญญาณการเสีย Momentum ของการขึ้นในครั้งนี้ โดยปัจจุบันราคาอยู่ในสถานะการพักตัวเพื่อขึ้นต่อซึ่งการพักตัวนี้ห้ามหลุดโซนราคา $12.70 (เส้นประสีแดง) หากหลุดจะมีโอกาสกลับตัวเป็นขาลงได้ แนวรับต้องจับตามองในการพักตัวครั้งนี้คือที่โซนราคา $14.85 และ $14.40 ตามลำดับ (เส้นประสีส้ม)

โดยสรุป $SOL ในภาพใหญ่มีโอกาสกลับตัวเป็นขาขึ้นได้ แต่จะต้องเฝ้าระวังการพักตัวของราคาในปัจจุบันว่าจะหลุดทั้งแนวรับสำคัญของทั้ง Time Frame Day และ 4 H หรือไม่ เนื่องจากหากหลุดจะมีโอกาสกลับไปเป็นขาลงได้ แต่หากไม่หลุดเราจะสามารถไปเฝ้าระวังที่โซนแนวต้านสำคัญที่ราคา $19.30 เป็นลำดับถัดไป

อัตราการแลกเปลี่ยนดอลล่าร์สหรัฐต่อบาทไทย ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 32.8 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ถ้าดูจากภาพด้านซ้ายในเชิง Technical จะเห็นได้ว่าเงินบาทได้การแข็งค่ากลับมาจากการเบรคเทรนด์แนวรับที่ 37 บาท และ 35 บาท ตามลำดับ ซึ่งหลังจากการอ่อนค่าของดอลล่าร์สหรัฐบวกกับนักลงทุนเริ่มเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ส่งผลให้่เงินบาทกลับมาแข็งค่าอีกครั้ง โดยมีแนวรับที่ต้องจับตามองที่ 32.3 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ

ปัจจัยที่ต้องจับตามองหลักๆที่ส่งผลต่อค่าเงินบาทในช่วงนี้ได้แก่
การเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวจีน ให้เข้ามาเที่ยวในประเทศไทย อาจจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยที่ค่อนข้างมีสัดส่วนการพึ่งพามาจากการท่องเที่ยวอยู่เยอะ ทำให้ประเทศไทยได้กลับมามีสภาพคล่องมากขึ้น และส่งผลเงินบาทจะกลับมาแข็งค่ามากขึ้น รวมทั้งเป็นผลดีต่อผู้สะสม Stablecoin เช่น USDC, USDT

Purchasing customer expenditure คือ ตัวเลขที่ใช้วัดอำนาจการใช้จ่ายซื้อของของประชาชนทั่วไป ซึ่งสามารถใช้ในการคาดการณ์เศรษฐกิจในอนาคตได้ โดยถ้าดูจากภาพทางซ้ายมือจะเห็นได้ว่าในปี 2021 และ 2022 มีการใช้จ่ายในสีส้ม และ สีแดง ซึ่งก็คือ สินค้าทั่วไป หรือ สินค้าฟุ่มเฟือย แสดงให้เห็นว่าช่วงนั้นประชาชนนั้นจับจ่ายใช้สอยเยอะ และมีเงินมากมายพอใช้ ซึ่งก็ตรงกับช่วงของที่ US ทำการ QE ฉีดเงินสภาพคล่องเข้าระบบเช่นกัน

ทว่า หลังจากที่เห็น FED ทำการ QT และขึ้นดอกเบี้ยในอัตราก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าสัดส่วนของ สีส้มและสีแดง เริ่มน้อยลงเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่าประชาชนเริ่มจะ ประหยัด มากขึ้นลดการใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น ซึ่งสิ่งนี้เองทำให้เศรษฐกิจนั้นอาจจะเข้าสู่การชะลอตัว และวิ่งเข้าสู่ Recession ในที่สุด

แต่อย่างไรก็ตลาดมักจะไวกว่าการคาดการณ์เสมอ ดังนั้นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จึงมองว่าการที่รอให้ Recession เกิดก่อนแล้วค่อยลงทุนนั้น อาจจะถือว่าสายไปเสียแล้ว ดังนั้นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จึงแนะนำว่าการลงทุนในช่วง Q1, Q2 นี้อาจจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดในปีนี้

เข้าสู่ช่วงหลังปีใหม่ตลาดคริปโตฯ ปรับตัวขึ้นสดใสตอบรับจากการประกาศตัวเลข CPI ของสหรัฐฯรอบเดือนธันวาคม 2022 ที่ออกมาลดลงเป็นเดือนที่หกติดต่อกันแล้ว ทำให้ในระยะนี้ ราคาเหรียญรวมถึงตลาด DeFi ได้รับผลบวกกันไป โดยภาพรวม TVL ของ DeFi เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 1.3% เทียบกับช่วงปลายปี 2022 ที่ผ่านมา ส่วนประเด็นที่น่าติดตามที่อาจกระทบตลาดคริปโตฯโดยรวมได้คือความเสี่ยงล้มละลายของ Genesis และ Gemini ซึ่งยังคงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด

โดยเชนที่มี TVL เพิ่มขึ้นคือเชน Ethereum, BNB และ Polygon เท่านั้น แสดงถึงความแข็งแกร่งของทั้งสาม ส่วนเชนอื่นๆมี TVL ลดลงเล็กน้อย โดยเชน Arbitrum ปรับตัวลดลงสูงสุดราว 6% ซึ่งก็ถ้าเทียบกับช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาที่เชน Arbitrum เติบโตได้โดดเด่นมาโดยตลอด ก็ถือว่า TVL ไม่ได้ลดลงมากอะไร ซึ่งในระยะสั้นถึงกลางนักวิเคราะห์ยังมองว่า Arbitrum น่าจะยังโดดเด่นไปจนกว่าจะประกาศวันที่จะแจก Airdrop เหรียญ ARB เป็นอย่างน้อย

สำหรับ DeFi Narrative ที่นักวิเคราะห์มองว่ามาแรงในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ก็คือ Liquid staking โดยเป็นกลุ่มที่ Outperform ค่อนข้างมากในช่วงต้นปี ซึ่งน่าจะเป็นการขึ้นเพื่อตอบรับ Shanghai upgrade ที่ตามแผนของ Ethereum developerr คาดว่าจะเสร็จสิ้นประมาณช่วงเดือนมีนาคม 2023 โดยการ Upgrade ดังกล่าวจะทำให้ผู้ที่ Stake เหรียญ ETH ไม่ถูกล็อคอีกต่อไป ส่งผลบวกต่อ Liquid staking นั่นเอง ซึ่งเหรียญที่ได้ประโยชน์ก็อย่างเช่น LDO, RPL 

ดูเหมือนผลกระทบของการล่มสลายของ FTX และ 3AC จะยังไม่หมดไป โดยตอนนี้สองบริษัทที่ควรเฝ้าระวังมากที่สุดคือ Genesis ที่ค้างเงินลูกค้าของ Gemini Earn กว่า 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้วยังไม่เปิดให้ถอนเงินมานานกว่า 2 เดือนแล้ว โดย Genesis ให้เหตุผลการปิดถอนว่า “ตลาดอยู่ในความผันผวนแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

ซึ่งเมื่อเจาะลึกเข้าไปแล้วมีสิ่งที่น่าสงสัยอยู่คือ Genesis สูญเสียเงิน 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากการปล่อยกู้ให้ 3AC และสูญเสียเงิน 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ FTX แม้ว่า Digital Currency Group (DCG) บริษัทแม่ของ Genesis จะประกาศช่วยเหลือด้วยจำนวนเงิน 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เงินก้อนนี้เป็นเพียง “ตั๋วสัญญาใช้เงินแบบเรียกร้องสิทธิ์ไม่ได้” เพื่อทำให้งบการเงินของ Genesis ดูแข็งแกร่งเท่านั้น

มีการคาดการณ์ว่าภายใน Genesis เองน่าจะเกิดปัญหาสภาพคล่องจริงเพราะ Binance ปฏิเสธ ปฏิเสธการลงทุนใน Genesis ในจำนวนเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และถึงแม้จะลดวงเงินเหลือ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐก็ยังไม่สามารถหานักลงทุนได้ ดังนั้นในกรณีของ Gemini จึงมีความเป็นไปได้เช่นกันว่าจะไม่ได้รับเงินคืนเนื่องจาก Genesis อาจประกาศล้มละลายจากการขาดสภาพคล่อง

ซึ่งหาก Genesis ล้มละลายจริง Gemini ก็อาจเกิดปัญหาได้เช่นกัน พี่น้อง Winklevoss เจ้าของ Gemini จึงได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง Barry Silbert เจ้าของ DCG บน Twitter เพื่อทวงหนี้ 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐแทนแต่ดูเหมือนว่า DCG ไม่มีทีท่าในการช่วยเหลือปัญหาสภาพคล่องของ Genesis เลยและย้ำว่าหาก Genesis ล้มละลายจริงก็ยังไม่ต้องให้เงินตามตั๋วสัญญาก็ได้

ดังนั้นสถานการณ์ Genesis และ Gemini ในตอนนี้จึงถือว่าอยู่ในจุดที่เสี่ยงล้มละลายมาก นักลงทุนจึงควรระวังการเทขายสินทรัพย์เพื่อเอามาใช้หนี้ของทั้งสองบริษัทนี้ในช่วงก่อนประกาศล้มละลาย

ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา Solana พุ่งจากจาก $8.3 เป็น $17 (+100%) จากกระแสตอบรับเหรียญ $BONK เหรียญ Meme Coin ที่เปิดตัวไปในวันที่ 25 ธันวาคม 2022 เพื่อสร้างความสนุกสนานและความคึกคักของชุมชน Solana ให้กลับมาสดใสอีกครั้ง ซึ่ง 50% ของเหรียญ $BONK จะมีการแจกจ่าย AirDrop ไปยังชุมชน Solana แบ่งเป็นสัดส่วนดังนี้

  • 20% ไปที่คอลเล็กชัน NFT ของ Solana
  • 15% สำหรับเทรดเดอร์ OpenBook รุ่นแรก
  • 10% สำหรับนักสะสมและศิลปินของ Solana
  • 5% สำหรับนักพัฒนา Solana

ปัจจุบันราคาเหรียญ $BONK ปรับตัวสูงขึ้นกว่า +1,000 % และเคยไปทำ ATH ที่ + 4,000 % จากราคาเปิดตัว

ในปี 2022 Solana ต้องประสบกับปัญหาใหญ่และท้าทายที่สุดจากการล่มสลายของ FTX โดยช่วงที่ FTX ล่มสลาย ในวันที่ 6 – 10 พฤศจิกายน 2022 Raydium DEX อันดับหนึ่งบน Solana มี TVL ลดลงจาก 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือเพียง 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และลดลงอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันมี TVL เหลือเพียง 33.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมติดลบไปกว่า 73% จากการล่มสลายของ FTX
นอกจากนี้การล่มสลายของ FTX ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักพัฒนาใน Chain เป็นอย่างมากจนหลาย Project เริ่มย้ายออก เช่น Phantom Wallet ขยายการใช้งานไปบน Ethereum และ Polygon นอกจากนี้ Project NFT อันดับหนึ่งบน Solana อย่าง DeGod และ y00ts ที่ก็เตรียมย้ายไปบน Ethereum และ Polygon เช่นกัน

Solana ได้ออกแบบการ Execution ธุรกรรมที่มีความเร็วถึง 50,000 TPS ซึ่งเร็ว แรง และค่าธรรมเนียมถูกมากอยู่แล้วเหลือเพียงการแก้ปัญหาในด้านความเสถียรของเครือข่ายไม่ให้ล่มแบบที่ผ่านมา ดั้งนั้นทิศทางในปี 2023 ของ Solana ยังต้องสานต่อการพัฒนาเทคโนโลยี QUIC QoS และ Fee markets ที่พึ่ง Live on Mainnet-beta ในปี 2022 เพื่อแก้ปัญหาเรื่องระบบล่ม
เรื่องการปลดล็อคเหรียญ Sol จากการล่มสลายของ FTX ทาง Solana ได้ออกมาชี้แจ้งเกี่ยวกับ Token Unlocked ที่ทาง Alameda Research เคยลงทุนไปว่าจะสามารถปลดล็อคได้ 7.5 ล้าน $Sol ในปี 2025 ส่วนอีกประมาณ 50 ล้าน $Sol จะการค่อยๆปลดล็อกออกมาเป็น Linear ในทุกๆเดือน เฉลี่ยเดือนละ 600,000 $Sol ตั้งแต่ปี 2021 ถึงปี 2028 จึงคลายความกังวลในเรื่องการเทขาย $Sol ก้อนใหญ่ออกสู่ตลาดในปี 2023 ไปได้

นอกจากนี้ในปี 2023 Solana จะเน้นไปที่การฟื้นฟู Ecosystem และดึงดูดนักพัฒนาให้อยากขึ้นมาสร้าง Dapps บน Solana ด้วยการจัด Hackathon และ ให้ Grant กับ Project ที่โดดเด่นเพื่อให้ Chain มี Dapps ดีๆที่จะดึงดูดผู้ใช้งานต่อไปได้ในอนาคต และการมาของ Nitro Neon และ Eclipse ถือเป็นหมากตัวสำคัญในการขยาย Ecosystem ของ Solana ให้ Dapps สามารถขึ้นมาสร้างบน SVM ได้กว่าในอดีต แต่ในทางกลับกันก็ทำให้ Dapps บน Solana ย้ายไปพัฒนาบน Etheruem และ Cosmos ได้สะดวกเช่นกัน
ปีนี้จึงถือเป็นปีแห่งการแก้เกมของ Solana ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เหตุการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องเลวร้ายและท้าทายที่สุด ถ้าสามารถผ่านไปได้ก็จะเป็นอีกหนึ่ง Blockchain ที่เเกร่งและยิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง

เมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา สำนักข่าว Coindesk รายงานว่า Adam Landis ทนายความคดีละลาย FTX จากสำนักงานกฎหมาย Sullivan & Cromwell สามารถกู้คืนสินทรัพย์จาก FTX ได้เป็นจำนวนกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งประกอบไปด้วยเงินสดและ Cryptocurrency แบบมีสภาพคล่องสูง ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าทีมผู้บริหารชุดใหม่ของ FTX ที่เคยกล่าวเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ว่าสามารถกู้คืนสินทรัพย์ได้เพียง 1,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

โดยสินทรัพย์ที่สำนักงานกฏหมายสามารถกู้คืนมาได้นั้น ยังไม่รวมถึงสินทรัพย์ส่วนหนึ่งที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ของบาฮามาสอีกจำนวนกว่า 425 ล้านดอลลาร์ ทำให้ในปัจจุบัน สินทรัพย์รวมของ FTX ที่ถูกกู้คืนมาได้คิดเป็นจำนวนทั้งหมด 5,425 ล้านดอลลาร์

ซึ่งในตอนที่ FTX มีการยื่น Chapter 11 ในช่วงแรกนั้นมีการกรอกแบบฟอร์มประเมินยอดหนี้ทัี้งหมดอยู่ที่ราวๆ 1,000 – 10,000 ล้านดอลลาร์ แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่ทราบยอดหนี้และจำนวนเจ้าหนี้ที่แน่ชัดของ FTX ว่ามีทั้งหมดเท่าไร ทางศาลล้มละลายจึงชี้ขาดให้ทีมผู้บริหารของ FTX จำเป็นจะต้องแจ้งข้อมูลทั้งหมดต่อศาลภายในวันที่ 15 มีนาคมนี้

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา ทาง Sam Bankman-Fried อดีต CEO FTX ก็ได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความผิดทั้งหมด 8 กระทง รวมไปถึงการฉ้อโกงทางโทรศัพท์และการละเมิดในการรณรงค์หาเสียง จึงทำให้ทางผู้พิพากษาได้นัดไต่สวนคดีอีกครั้งในเดือนตุลาคมปีนี้

ผลตอบแทนที่ได้จากการฝากธนาคารและการฝากพันธบัตรรัฐบาลให้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 2.45% ส่วนผลตอบแทนจากการฟาร์มหรือปล่อยกู้ Stablecoin บนแพลทฟอร์มต่างๆให้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 4.28% ซึ่งสำหรับการฟาร์ม Stablecoin สามารถเลือกฝากกับแพลทฟอร์มที่มีความปลอดภัยสูงและเปิดมานาน เช่น Curve, UniSwap, PancakeSwap, Aave, Compound, Traderjoe* หรือจะเลือกฝากบนแพลทฟอร์มที่ใหม่กว่าและผลตอบแทนสูงกว่าอย่างเช่น Velodrome ก็ได้เช่นกัน โดยผลตอบแทนเฉลี่ยระหว่างการฝากธนาคารหรือพันธบัตรเทียบกับการฟาร์ม Stablecoin ต่างกันอยู่ที่ประมาณ 1.75 เท่า
เมื่อเทียบกับเดือนก่อนๆจะพบว่าผลตอบแทนจากเงินฝากและพันธบัตรเพิ่มขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยทั้งหมด 3 ครั้ง ส่วนผลตอบแทนในการฝาก Stablecoin กลับลดลงค่อนข้างมากจาก APR ประมาณ 8% ในช่วงไตรมาสแรกของปี ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผลตอบแทนส่วนใหญ่มาจาก Trading Fee & Borrowing แต่เมื่อมีการทำธุรกรรมดังกล่าวลดลงจากสภาวะของตลาด ผลตอบแทนจึงลดลงตาม

*ผลตอบแทนฟาร์มบน Traderjoe พุ่งช่วงนี้เนื่องจากเพิ่งเปิดตัว V2

สภาวะตลาด NFT ในช่วง 30 วันที่ผ่านมาพบว่าปริมาณซื้อขาย NFT บน Ethereum Blockchain มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ประมาณ 8% เนื่องจากที่ NFT หลาย ๆ คอลเลคชั่นนั้นอย่าง Ecosystem ของ Yuga Labs และตัวอื่น ๆ มีการปรับตัวขึ้นสูงขึ้นกว่า 40-50% แต่อย่างไรก็ตามสำหรับฝั่งจำนวนผู้ใช้งานก็ยังพบว่ามีการลดลงพอสมควรอยู่ที่ประมาณ 20% และเมื่อไปดูบล็อกเชนอื่นก็จะพบว่าทั้งในมุมของปริมาณการซื้อขายและจำนวนผู้ใช้งานนั้นยังมีการลดลงอยู่ ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าในช่วงนี้ผู้คนนิยมใช้ NFT ของฝั่ง Ethereum มากกว่า

แต่อย่างไรก็ตามถ้าหากเกิด Bull-run กับฝั่ง NFT ของ Ethereum Blockchain ก็สามารถมีแนวโน้มได้ด้วยว่าจะเกิดการวิ่งของราคา NFT ในฝั่ง Blockchain อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทาง Yuga Labs หรือเจ้าของ Bored Ape Yacht Club ได้ออกมาขยาย Ecosystem ด้วยการมอบ Airdrop Sewer Pass ให้กับผู้ที่ถือตัว Bored Ape Yacht Club และ Mutant Ape Yacht Club ที่จะแบ่งออกเป็น 4 Tier ตาม NFT ที่ถือ โดย Tier 1 จะเป็นสำหรับผู้ที่ถือ MAYC, Tier 2 จะเป็นสำหรับผู้ที่ถือ MAYC และ BAKC(Bored Ape Kennel Club), Tier 3 จะเป็นสำหรับผู้ที่ถือ BAYC และ Tier 4 จะเป็นสำหรับผู้ที่ถือ BAYC และ BAKC

ซึ่งเมื่อถึงวันที่ 17 มกราคมจะมีการมอบ Airdrop Sewer Pass และจะได้สิทธิในการเล่นเกมสุดพิเศษที่จะมีผลต่อการได้รับ Rewards ต่อในอนาคต โดยเกมนี้จะเปิดให้เล่นตั้งแต่วันที่ 18 มกราคมจนถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ซึ่งผู้เล่นสามารถเล่นกี่ครั้งก็ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดนี้ แต่ระบบจะนับคะแนนที่สูงที่สุดเท่านั้นในการมอบ Rewards เมื่อกิจกรรมสิ้นสุด

ในปี 2022 ที่ผ่านมา The Sandbox ได้มีการพัฒนาหลายๆ อย่างเกิดขึ้นมากมายแม้ว่าจะเป็นช่วงตลาดหมีก็ตาม โดยในตอนนี้ The Sandbox มี

  • Partner ที่เป็น Agency และ Studio กว่า 200 รายที่จะสามารถช่วยให้ผู้คนเข้ามาสร้างสิ่งต่างๆ ใน The Sandbox (เพิ่ม 10 เท่าจากปี 2021)
  • Partner ที่เป็น Gaming Studio อีกกว่า 100 รายที่จะคอยสร้างประสบการณ์ต่างๆ ใน The Sandbox พร้อมเงินสนับสนุนอีก 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่ม 2 เท่าจากปี 2021)
  • Partner ที่ดูแลเรื่องการสอนสร้าง Metvaerse มากกว่า 20 ราย (เพิ่ม 4 เท่าจากปี 2021)
  • Partner ที่ดูแลเรื่อง Tech มากกว่า 10 ราย

และที่สำคัญที่สุดคือมีแบรนด์และบริษัทต่างๆ เข้ามาร่วมกับ The Sandbox แล้วมากถึง 400 ราย ซึ่งแต่ละรายก็เป็นแบรนด์หรือบริษัทระดับโลกกันทั้งนั้น ซึ่งคิดเป็นจำนวนที่มากกว่าปี 2021 ถึง 2 เท่า โดยในปี 2023 นี้ ทาง The Sandbox ก็ตั้งใจจะหา Partner เข้ามาให้ได้มากขึ้นและจะทำ Resource Hub ที่จะอำนวยความสะดวกให้การเข้ามาใน The Sandbox ง่ายขึ้น

หลังจากที่ห่างหายกันไปพักหนึ่ง ทาง Otherside ก็ได้มีการเคลื่อนไหวอีกครั้งโดยเป็นการออกมาอัพเดทว่าโปรเจกต์จะมีการพัฒนาไปในทิศทางไหนและจะเปิดให้เข้าไปทดลองเล่นอีกครั้งได้เมื่อไร

โดยในปี 2023 ทาง Yuga Lab จะมี Daniel Alegre จาก Activision Blizzard เข้ามาเป็น CEO คนใหม่และก่อนหน้านี้ก็ได้มีการแต่งตั้ง Spencer Tucker ที่เคยเป็น President of Games ที่ Scopely มาเป็น Chief Gaming Officer ซึ่งสองคนนี้มีประสบการณ์ด้านเกมมาอย่างโชกโชนทำให้อนาคตของ Otherside น่าจับตามองอย่างมาก

ส่วนเรื่องการพัฒนา Feature ต่างๆ นั้นก็น่าสนใจเช่นเดียวกันคือจะมีการทำ Playable Avatars ที่คนที่ถือ NFT อย่าง BAYC, MAYC, Meebit จะสามารถ Log in เข้า Otherside โดยมี Avatar เป็น NFT นั้นๆ ได้เลยหรือจะสร้าง Avatar ใหม่เองก็ได้ผ่าน Otherside Development Kit (ODK) ที่ทำร่วมกับ Improbable ที่เป็นผู้พัฒนา Game Engine ของ Otherside ซึ่ง ODK ก็รวมถึงเรื่องการสร้าง Environment ต่างๆ ใน Metaverse ด้วย

และท้ายที่สุดก็คือเรื่อง Second Trip ที่มีแผนว่าจะเปิดให้ให้เข้ามาทดลองเล่นอีกรอบในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2023 นี้ ซึ่งนี่จะเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญเรื่องหนึ่งของ Otherside เพราะจะได้เห็นพัฒนาการของ Otherside ว่ามีการพัฒนาไปแล้วมากน้อยขนาดไหน

.

คำเตือนความเสี่ยง : คริปโทเคอร์เรนซี่มีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวนและสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคต

Author

Share :
Related
เข้าสู่ยุคใหม่ของ Bitcoin ? พาส่อง Bitcoin Ecosystem ปี 2024 
Cryptomind Monthly Outlook (April 2024)
Technical Analysis $PENDLE, $BNB โดย Cryptomind Advisory (22 Apr 24)
CoinTalk (19/4/24):