Table of Contents
- Airdrop คืออะไร ?
- Airdrop มีที่มาอย่างไร ?
- อยากได้ Airdrop ต้องทำอย่างไร ?
- ข้อควรระวังสำหรับการล่า Airdrop
- Airdrop จากการเข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มโดยตรง
- ได้ Airdrop แล้วทำอย่างไรดี ?
- ข้อคิดเห็น
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ค่อยสู้ดีนักทั้งเรื่อง Macroeconomics และ Geopolitics ส่งผลให้ตลาดทุนแทบทั่วโลกปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยีต่าง ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา และแน่นอนว่าก็ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดคริปโทเคอร์เรนซีอย่างมากด้วยด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามตลาดคริปโทเคอร์เรนซีนั้นไม่ได้กระทบแค่จากปัจจัยดังกล่าวเพียงเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบจากเหตุการณ์ล่มสลายของ Terra Ecosystem ที่สร้างความเสียหายหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤษภาคม และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่จน Hedge Fund ชื่อดังอย่าง 3 Arrows Capital (3AC) และบริษัทคริปโท ฯ ที่เกี่ยวข้องหลายบริษัทก็ได้ล้มละลายตามกันไป ทำให้บรรยากาศในตลาดคริปโท ฯ ค่อนข้างซบเซาและคงไม่กลับมาเป็นขาขึ้นได้ง่าย ๆ ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งหลายคนก็ต้องปรับกลยุทธ์ของตัวเองเป็นทาง Defensive มากขึ้นแต่ก็มีหลายคนเลือกที่จะออกจากตลาดไป
แต่ท่ามกลางตามซบเซาแบบนี้ก็ยังมีโอกาสให้ผู้ที่ศึกษาและหาความรู้ในโลกของคริปโทเคอร์เรนซีอยู่เสมอ เพราะในช่วงตลาดหมีเป็นช่วงเวลาที่ดีที่หลาย ๆ โปรเจกต์จะได้โฟกัสกับการพัฒนา Product ของตัวเองและพวกเขาก็มักจะเปิดให้ผู้ใช้งานได้เข้าไปทดลองใช้งาน Product ต่าง ๆ เหล่านั้น ซึ่งโปรเจกต์เหล่านี้ก็มักจะมีการ “Airdrop” อะไรบางอย่างให้กับผู้ใช้งานกลุ่มแรก ๆ (Early Adopter) หรือให้กับผู้ที่ถือครองอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับโปรเจกต์นั้น ๆ โดยมีเงื่อนไขในการแจกแตกต่างกันไปในแต่ละโปรเจกต์ ซึ่งในบทความนี้จะเป็นการพูดถึง Airdrop และวิธีการหา Airdrop ว่ามีรายละเอียดเบื้องต้นอย่างไรบ้าง พร้อมทั้งให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับ Airdrop เหล่านี้เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ที่สนใจ
1) Airdrop คืออะไร ?
Airdrop คือการที่โปรเจกต์คริปโท ฯ ต่าง ๆ แจก Digital Asset ให้ผู้ใช้งานแบบฟรี ๆ โดยส่วนมากจะเป็นการแจกเหรียญหรือโทเคน แต่ในพักหลังนี้ก็มีการ Airdrop เป็น NFT ให้เห็นกันมากขึ้นแล้ว โดยพวกโทเคนหรือ NFT นี้ส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับโปรเจกต์นั้นโดยตรงเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถมีส่วนร่วมกับโปรเจกต์เหล่านั้นได้มากขึ้น เช่น การ Airdrop โทเคนเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้โทเคนนั้นในการโหวตออกเสียงเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาของโปรเจกต์นั้น ๆ ได้ หรือที่ถูกเรียกกันว่า Governance Token นั่นเอง ซึ่งการ Airdrop ในลักษณะนี้จะมีให้เห็นกันบ่อยที่สุด โดยโปรเจกต์ที่แจก Airdrop แล้วทำให้เป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวางและมีหลายโปรเจกต์ทำตามก็คือ Uniswap ที่ได้ Airdrop เหรียญ UNI ซึ่งเป็น Governance Token ของแพลตฟอร์มให้กับผู้ที่เคยเข้าไปใช้งานก่อนวันที่ 1 กันยายน 2020 จำนวน 400 UNI ซึ่งราคา UNI ในช่วงเปิดตัวนั้นอยู่ที่ประมาณ $5 ซึ่งเป็นมูลค่ารวมแล้วกว่า 60,000 บาทและถ้าหากขายที่จุดสูงสุดได้ที่ $45 ก็จะกลายเป็น Airdrop ที่มูลค่าสูงถึงเกือบ 600,000 บาทเลยทีเดียว
นอกจากการ Airdrop เป็นเหรียญหรือโทเคนต่าง ๆ แล้ว การแจก NFT เป็น Airdrop ก็เริ่มมีให้เห็นกัน แต่ส่วนมากก็จะเป็นโปรเจกต์ NFT ที่ทำ Airdrop ในลักษณะนี้ ยกตัวอย่างเช่น NFT Collection ที่ชื่อ CLONE X – X TAKASHI MURAKAMI ของ RTFKT Studio ที่ทำร่วมกับศิลปินชื่อดังอย่าง Takashi Murakami ก็ได้มีการ Airdrop ชิ้นงาน NFT จำนวนหลายชิ้นที่เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ในอนาคตให้กับผู้ที่ถือ NFT ซึ่งภายหลังมี Nike มาเกี่ยวข้องด้วย จนทำให้ NFT ที่ Airdrop มาทั้งหมดนั้นเคยมีมูลค่ารวมกันเป็นหลักล้านบาทเลยทีเดียว หรือจะเป็นการ Airdrop เหรียญ APE และที่ดินดิจิทัลของโปรเจกต์ Otherside ให้ผู้ถือ Bored Ape Yacht Club ซึ่งมูลค่ารวมก็หลายล้านบาทเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม Airdrop จาก NFT นั้นต้องใช้เงินค่อนข้างมากเพราะอย่าง CloneX ของ RTFKT หรือ Bored Ape Yacht Club ก็มีมูลค่าอย่างต่ำหลักแสนจนไปถึงเกือบ 10 ล้าน แถมไม่รู้ว่าในอนาคตจะมี Airdrop อะไรอีกหรือไม่ เพราะฉะนั้นในบทความนี้จะเป็นการพูดถึงการหา Airdrop ที่ไม่ใช่จากการถือ NFT แต่จะเป็นลักษณะคล้ายกับ Uniswap ที่เป็น Airdrop สำหรับผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม DeFi ซึ่งจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก และยังเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้เรียนรู้การใช้งานแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไปในตัวอีกด้วย
2) Airdrop มีที่มาอย่างไร ?
แนวคิดเริ่มต้นของการแจก Airdrop คือเนื่องจากเมื่อก่อนนั้น DeFi ยังเป็นเรื่องใหม่ที่ยังมีคนรู้จักน้อย ดังนั้นแพลตฟอร์ม DeFi เหล่านี้จำเป็นต้องหาทางที่จะหาผู้ใช้งานหน้าใหม่พร้อมกับรักษาผู้ใช้งานเดิมด้วย เปรียบเสมือนกับพวก Shopee, Lazada, Grab, Robinhood ที่ต้องยอมนำเงินส่วนหนึ่งมาจัดโปรโมชันเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้ใช้งานเข้ามาทดลองใช้งานแพลตฟอร์ม เพราะหากผู้ใช้งานคุ้นเคยกับแพลตฟอร์มเดิม ๆ อยู่ก่อนแล้วก็อาจมีไม่กี่คนที่จะอยากเข้าไปทดลองใช้แพลตฟอร์มใหม่ ๆ
ก่อนหน้านี้ในช่วงยุคแรก ๆ ก่อนที่จะมี DeFi ก็มีการแจก Airdrop เหมือนกัน แต่จะมาในรูปของสิ่งที่เรียกว่า Faucet ซึ่งส่วนมากจะเป็นเว็บไซต์ที่ให้เราเข้าไปทำอะไรบางอย่างเช่น การดูโฆษณา, ทำ Quiz, คลิก Link หรือแม้กระทั่งแค่การกด Captcha แล้วเราจะได้คริปโท ฯ มาอย่างละนิดอย่างละหน่อย
โดยสาเหตุที่เรียกว่า Faucet ก็เพราะเป็นการแจกที่เล็กน้อยมากเปรียบเหมือนหยดน้ำที่ออกมาจากก็อกที่รั่วนั่นเอง ซึ่งจุดประสงค์ในการแจกก็เพื่อจูงใจให้คนที่ได้รับคริปโท ฯ เหล่านั้นเข้ามาศึกษาโลกคริปโท ฯ มากขึ้น เพราะในขณะนั้นคริปโท ฯ ยังเป็นเรื่องที่ใหม่มากและมีเพียงไม่กี่ตัวในตลาด
คริปโท ฯ ตัวแรกที่มีการแจกแบบ Faucet ก็คือ Bitcoin ที่ถูกเริ่มต้นจากหนึ่งในอดีต Bitcoin Developer ชื่อว่า Gavin Andresen โดยเขาได้ทำเว็บไซต์สำหรับ Bitcoin Faucet ขึ้นในเดือนมิถุนายน 2010 และได้แจก 5 BTC ให้ทุกคนที่เข้ามาพิมพ์ Captcha ถูก ซึ่งเป็นจำนวนบิตคอยน์ทั้งสิ้น 19,700 BTC โดยราคาบิตคอยน์ในขณะนั้นมีราคาอยู่ที่ $0.05 ทำให้ในขณะนั้นมูลค่าทั้งหมดที่ Gavin Andressen แจกอยู่ที่ $985 หรือประมาณ 35,000 บาท แต่หากนำมาเทียบกับราคาตอนนี้แล้วก็เป็นมูลค่าสูงถึงประมาณ 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 16,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันดูเหมือนจะไม่ค่อยมีในลักษณะนี้แล้วเพราะการคลิก Link แปลก ๆ หรือเข้าไปในเว็บไซต์แปลก ๆ ก็มีความเสี่ยงที่อาจจะโดน Hack ได้ และในตอนนี้โลกคริปโท ฯ ก็เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ๆ แล้ว
ส่วนแพลตฟอร์ม DeFi แรก ๆ ที่ได้ทำ Airdrop จนเป็นที่ถูกพูดถึงกันมากก็คือ Uniswap ซึ่งสิ่งที่เป็นแรงผลักดันให้ Uniswap ต้องทำเช่นนั้นก็คือการที่ Uniswap เปิดเผย Code เป็น Open Source แล้วมีคนคัดลอก Code ของ Uniswap ไปทั้งหมดแล้วไปเปิดแพลตฟอร์มใหม่ชื่อว่า Sushiswap แล้วทาง Sushiswap ได้เปิด Liquidity Mining หรือการที่ผู้ใช้งานเข้าไปเพิ่มสภาพคล่องในแพลตฟอร์ม Sushiswap แล้วจะได้ SUSHI Token เป็น Reward อีกส่วนหนึ่งด้วย ทำให้ในขณะนั้นผลตอบแทนที่ได้จากการวางสภาพใน Sushiswap สูงมากจนดูดสภาพคล่องจาก Uniswap ไปได้เยอะพอสมควร ทาง Uniswap ก็เลยต้องแก้เกมโดยการ Airdrop โทเคนของแพลตฟอร์มตัวเองชื่อว่า UNI และเปิด Liquidity Mining เช่นเดียวกัน แต่ด้วยเทคโนโลยีและความสามารถของ Developer ของ Uniswap ที่ได้พิสูจน์ตัวเองมามากจึงทำให้คนมั่นใจใน Uniswap และนำสภาพคล่องกลับมาที่ Uniswap
โดยโทเคนที่ Airdrop เหล่านี้ส่วนมากจะเป็น Governance Token ที่จะถูกใช้ในการโหวตทิศทางการพัฒนาของแพลตฟอร์มนั้น ๆ ซึ่งจะเป็นการกระจายอำนาจให้กับผู้ใช้งานมากขึ้น เลยทำให้หลาย ๆ แพลตฟอร์มที่เกิดใหม่ก็มักจะมีการทำในลักษณะนี้เพื่อกระจายอำนาจและเป็นแรงจูงใจในการดึงดูดผู้ใช้งานเข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มของตนเอง
3) อยากได้ Airdrop ต้องทำอย่างไร ?
สิ่งที่เราต้องมองหาเป็นอันดับแรกนั้นค่อนข้างตรงไปตรงมานั่นคือต้องหาแพลตฟอร์มที่ยังไม่มีการแจก Airdrop นั่นเอง ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้มักจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่พึ่งพัฒนาเสร็จและเปิดให้เข้าไปทดลองใช้งาน โดยผู้ที่เข้ามาทดลองใช้งานเป็นกลุ่มแรก ๆ ก็จะมีโอกาสได้มากกว่าเพราะหลาย ๆ โปรเจกต์จะมีเกณฑ์การแจก Airdrop ว่าต้องเป็นคนที่เคยเข้ามาใช้งานก่อนวันที่นั้น ๆ ถึงจะมีสิทธิ์ได้หรือที่เรียกว่า “Snapshot”
มากไปกว่านั้นการที่จะได้รับ Airdrop ไม่มีวิธีการตายตัวหรือรู้ได้แน่ชัดว่ามีรายละเอียดการ Airdrop แบบไหน อย่างไรบ้าง โดยสาเหตุที่ต้อง Airdrop แบบไม่มีการบอกรายละเอียดล่วงหน้านั้นก็คือเพื่อต้องการกระจายโทเคนไปสู่ผู้ใช้งานเป็นวงกว้าง และป้องกันไม่ให้มีเพียงคนไม่กี่กลุ่มถือไว้แล้วสามารถควบคุมราคาหรือควบคุมเสียงโหวตส่วนมากได้ง่ายๆ
เพราะฉะนั้นเมื่อเราเจอแพลตฟอร์มลักษณะดังกล่าวแล้วเราก็ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมว่าแพลตฟอร์มไหนน่าเชื่อถือแล้วมีโอกาสแจกแค่ไหนและน่าจะต้องทำอะไรบ้างเนื่องจากแต่ละแพลตฟอร์มก็มีลักษณะที่ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น
- Decentralized Exchange แบบ Automated Market Maker (AMM) : ก็จะมี 2 อย่างให้ทำหลัก ๆ ก็คือการซื้อขายแลกเปลี่ยน (Swap) และการเข้าไปเป็นผู้เพิ่มสภาพคล่อง (Liquidity Provider)
- Decentralized Exchange แบบ Derivative : เข้าไปวาง Orderbook, เทรดแบบ Leverage หรือเพิ่มสภาพคล่อง
- Bridge : เข้าไปใช้งาน Bridge โดยการโอนข้ามไปมาระหว่างบล็อกเชน
- Name Service : เข้าไปจด Name Service กับแพลตฟอร์ม
อย่างในจุดเริ่มต้นอย่าง Uniswap ที่เป็น Decentralized Exchange แบบ AMM นั้นมีเกณฑ์การคัดที่ไม่เข้มงวดมากนัก โดยแค่เป็นคนที่เคยเข้ามา swap เพียง 1 ครั้ง ก็ได้รับสิทธิ์ในการรับ 400 UNI ไปแบบฟรี ๆ แต่ตอนนี้บอกตามตรงว่าไม่ง่ายอย่างนั้นแล้วเพราะหลังจากที่มีหลาย ๆ แพลตฟอร์มทำตามก็ทำให้เกิดนักล่า Airdrop หรือ Airdrop Hunter ขึ้นมา ที่จะสร้าง Wallet ขึ้นมาเยอะ ๆ แล้วก็เข้าไปใช้งานอย่างละนิดอย่างละหน่อย หรือถ้าเป็นคนที่มีความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ก็สามารถสร้าง Bot ให้ทำตามที่ต้องการได้เลยโดยไม่ต้องนั่งทำทีละ Wallet ซึ่งก็จะทำให้ความตั้งใจแรกที่จะกระจายอำนาจสู่ผู้ใช้งานจริงได้เลือนหายไป
ดังนั้นพักหลังจึงมีหลักเกณฑ์การคัดที่เข้มงวดขึ้นเพื่อป้องกันการกระทำข้างต้น เช่น Wallet ที่นำมาใช้งานจะต้องมีเงินมากกว่าที่กำหนด, มีการกำหนดจำนวนครั้งที่ใช้งานภายในระยะเวลาที่กำหนด, หรือจะใช้เกณฑ์ที่เป็นลำดับขั้นเช่น คนที่ใช้งานบ่อยหรือเป็นคนที่คอยถามตอบใน Discord บ่อย ๆ ก็จะได้เยอะกว่าปกติ เป็นต้น โดยจะเห็นได้จาก Airdrop ของ Lyra Finance เมื่อปลายปีที่แล้ว และของ Optimism เมื่อไม่นานมานี้ที่มีการ Airdrop โดยแยกตามเกณฑ์ที่ค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็น Reference สำหรับการลุ้น Airdrop ในแพลตฟอร์มอื่น ๆ ในอนาคตได้
3.1) OP Airdrop
จากภาพจะเห็นได้ว่า Optimism ได้แบ่งเกณฑ์ออกเป็น 6 อย่างหลัก ๆ คือ
- Optimism Users : ผู้ที่เป็น Early Adopter ของ Optimism ที่เข้าไปใช้งานก่อน 23 มิถุนายน 2021 หรือหากเป็นหลังวันดังกล่าวจะต้องมีการใช้งานบน Optimism มากกว่า 1 วัน ถึงจะมีสิทธิ์รับ Airdrop ในส่วนนี้
- Repeated Optimism User : ผู้ที่เข้าใช้งาน Dapps ต่าง ๆ บน Optimism ซ้ำในช่วงเวลาให้หลัง 1 เดือนนับจากวันที่ทำธุรกรรมครั้งแรก
- DAO Voters : ผู้ที่เคยโหวตหรือเสนอ Proposal ใน Community
- Multisig Signers : ผู้ถือ key ใน protocol ต่าง ๆ บน Optimism
- Gitcoin Donors : ผู้ที่บริจาคให้ Developer ผ่านแพลตฟอร์ม Gitcoin
- Users Priced Out of Ethereum : ผู้ที่ใช้งาน Ethereum เป็นประจำโดยถ้าหนีไปบล็อกเชนอื่นแล้วไม่มีการทำธุรกรรมบน Ethereum เลยก็จะไม่ได้รับในส่วนนี้
ซึ่งแต่ละข้อก็จะได้โทเคน OP ไม่เท่ากัน แต่หากทำได้มากกว่า 4 ข้อก็จะได้เพิ่มเติมในส่วนของ Overlap Bonus ซึ่งได้เพิ่มเยอะกว่าปกติมาก ๆ โดยทาง Optimism ให้เหตุผลว่าบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ใช้งานที่จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนา Optimism
3.2) LYRA Airdrop
Lyra Finance ที่เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่อยู่บน Optimism ที่ได้มีเกณฑ์ในการแจก Airdrop ที่ใช้ความ Active ใน Discord เป็นหนึ่งในเกณฑ์ในการแจกโดยยิ่งพูดคุยกันมากก็ยิ่งได้เยอะ และอีกเกณฑ์หนึ่งก็คือผู้ที่ได้รับ POAP Badge ที่ได้จากการเข้าร่วม Community Call ในแต่ละครั้งของ Lyra จะได้รับ Airdrop มากกว่าปกติ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า Lyra Finance ได้ให้ความสำคัญกับ Community มาก จึงตั้งเกณฑ์การแจก Airdrop ในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่าง ๆ ภายใน Community ของ Lyra เอง
4) ข้อควรระวังสำหรับการล่า Airdrop
เนื่องจากเราไม่มีทางรู้ว่ารายละเอียดต่าง ๆ ของ Airdrop เป็นอย่างไรบ้างเพราะฉะนั้นหลัก ๆ แล้วความเสี่ยงของการล่า Airdrop ก็จะมีดังต่อไปนี้
- ลองเข้าไปใช้งานแล้วทางแพลตฟอร์มไม่ได้แจก Airdrop หรือใช้งานแล้วไม่เข้าเกณฑ์ที่ตั้งไว้เนื่องจากพักหลังหลาย ๆ แพลตฟอร์มเข้มงวดในการแจก Airdrop มากขึ้น
- เข้าไปใช้งานหลักวัน Snapshot ทำให้ไม่ได้รับ Airdrop
- อาจเสียค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมเยอะแล้วได้ Airdrop ไม่คุ้มค่ากับค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายในการทำธุรกรรมเนื่องจาก Airdrop ส่วนมากจะแจกบนบล็อกเชน Ethereum ซึ่งมีค่า Gas หรือค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมค่อนข้างแพงในบางช่วง หรือแย่ที่สุดคือไม่ได้ Airdrop เลยแล้วต้องเสียค่า Gas ไปฟรี ๆ
- ควรระวังโทเคนหรือเหรียญแปลกปลอมที่อยู่ดี ๆ ถูกโอนเข้ามาในกระเป๋า ซึ่งอาจมีชื่อหรือ Ticker ที่คล้ายกับแพลตฟอร์มที่เคยเข้าไปใช้งาน โดยหากพบเจอในลักษณะนี้ต้องตรวจสอบกับแพลตฟอร์มให้แน่ชัดว่าเป็นของจริงหรือไม่ แต่ส่วนมากก็จะเป็น scam ซึ่งไม่ควรทำอะไรกับเหรียญเหล่านั้นหรือกด Link แปลกปลอมที่ปรากฎอยู่บน Block Explorer ของ Address ที่ส่งมา
- แพลตฟอร์มหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ อาจมีข้อผิดพลาดหรือช่องโหว่บางอย่างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้นควรใช้เงินจำนวนไม่มากในการเข้าไปลองใช้งานเพราะถ้าหากโดน Hack ขึ้นมาอาจเสียเงินไปมากกว่า Airdrop ที่จะได้รับ
5) Airdrop จากการเข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มโดยตรง
ในปัจจุบันมีโปรเจกต์คริปโท ฯ กว่า 20,000 โปรเจกต์ซึ่งมีหลากหลายประเภทและกระจายอยู่ในหลากหลายบล็อกเชนหรือ Scaling Solution ต่าง ๆ อีกทั้งยังมีเกณฑ์ในการแจก Airdrop ที่เข้มงวดขึ้นกว่าเดิมมาก ๆ ทำให้การล่า Airdrop ในปัจจุบันนี้ไม่ได้ง่ายเหมือนก่อน ซึ่งจากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นการล่า Airdrop ในส่วนของผู้ใช้งาน (User) แต่จริง ๆ แล้วยังมีอีกส่วนหนึ่งที่จะได้รับ Airdrop นั่นก็คือส่วนของผู้ที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับโปรเจกต์โดยตรง (Contributor) ซึ่งอาจมีโอกาสได้รับ Airdrop มากกว่าการไปลองใช้งานแพลตฟอร์มมากมายเหล่านั้น
ด้วยความที่โปรเจกต์คริปโท ฯ ต่าง ๆ ค่อนข้างเปิดกว้างและมีแนวคิดไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดเป็นโปรเจกต์จำนวนมากดังที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งแต่ละโปรเจกต์นั้นก็อาจจะมี Developer ไม่ได้เยอะ อีกทั้งการมีแต่ Developer ก็จะทำให้โปรเจกต์ไปต่อได้ยากเพราะจะขาด Content Writer, Graphic Designer, Community Manager เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญให้โปรเจกต์ประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ทำให้โปรเจกต์เหล่านี้ต้องทำตัวเหมือนบริษัทที่จะมีการเปิดรับคนเพิ่มทั้ง Full Time หรือ Part Time ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็จะเป็นพวก Contributor นั่นเอง
ซึ่งบางทีคุณอาจจะเป็น Graphic Designer ที่มีเวลาว่างแล้วอยากหางานทำที่จะสามารถเก็บใน Portfolio ได้ ทำให้ทางเลือกนี้ก็อาจจะเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจเพราะนอกจากจะได้งานเข้า Portfolio แล้วยังมีโอกาสได้รับ Airdrop จากโปรเจกต์นั้น ๆ โดยตรงด้วย พูดให้ง่ายก็คือ หากคุณมีความสามารถที่เป็นที่ต้องการของโปรเจกต์เหล่านี้ก็สามารถเข้าไปสมัครเพื่อทำงานกับพวกเขาได้ ซึ่งนอกจากจะได้ประสบการณ์แล้วก็มีโอกาสได้รับ Airdrop ด้วย
แต่จากที่กล่าวไปข้างต้นว่ามีโปรเจกต์เกิดขึ้นเยอะมาก ซึ่งไม่สามารถรู้ได้ง่าย ๆ เลยว่าโปรเจกต์ไหนมีศักยภาพมากพอหรือเป็นโปรเจกต์ที่ไม่ใช่โปรเจกต์หลอกลวง ทำให้ Contributor ต้องมีความรู้ในการคัดกรองให้ดีเพื่อที่จะลงแรงแล้วไม่เสียเปล่า แต่หากไม่มีความรู้ในการเลือกก็อาจจะต้องไปหาเพื่อนหรือคนรู้จักที่เคยทำในลักษณะนี้มาช่วยคัดกรองหรือคอยพาเราไปหาโปรเจกต์ต่าง ๆ ซึ่งในประเทศไทยก็มี Community ในลักษณะนี้ชื่อว่า “ContributionDAO”
Contribution DAO เป็น Community ของคนไทยที่คอยช่วยกันหาโปรเจกต์ที่มีศักยภาพและคัดเลือกแต่โปรเจกต์ที่ดีทและมีโอกาสในการแจก Airdrop ให้เหล่า Contributor สูง ซึ่งเมื่อได้โปรเจกต์แล้วก็จะช่วยกันเข้าไป Contribute ให้กับโปรเจกต์นั้น ๆ โดยแบ่งตามความสามารถของแต่ละคน
6) ได้ Airdrop แล้วทำอย่างไรดี ?
หลายคนที่ได้ Airdrop มาอาจทำอะไรไม่ถูกว่าควรซื้อเพิ่ม ถือต่อ หรือขายเลยดีซึ่งในส่วนนี้จะเป็นการวิเคราะห์กราฟราคาของโทเคน Airdrop ต่าง ๆ โดยในที่จะนี้จะยกตัวอย่าง OP, APE, ENS, DYDX, UNI และ ANC
- 6.1) OP – Optimism
หากพิจารณากราฟของ OP แล้ว จะเห็นได้ว่าราคาเปิดตัวในวันที่ 31 พฤษภาคมใน KUCOIN Exchange อยู่ที่ $2.5 และราคาก็เคยขึ้นไปถึงเกือบ $3 แต่ก็โดนแรงเทขายจนเหลือต่ำกว่า $1 ภายในไม่กี่ชั่วโมง หลังจากนั้นก็มีแรงซื้อขึ้นมาถึง $2 แล้วก็โดนเทขายจนทำ New Low ซึ่งมีจุดต่ำสุดที่ประมาณ $0.4 โดยหากวัดจากจุดสูงสุดมาที่จุดต่ำสุดจะเห็นได้ว่าในช่วง 1 เดือนภายหลังการเปิดการซื้อขาย ราคา OP ได้ตกลงมากว่า 86% และในช่วงไม่กี่วันระหว่างที่เขียนบทความก็มีแรงซื้อทำให้ราคา OP ขึ้นมาบ้างแต่ก็ยังอยู่ที่ประมาณ -75%
เนื่องจาก OP เป็น Airdrop ตัวล่าสุดที่ถูกพูดถึงกันเยอะเลยอยากจะเขียนเรื่อง Valuation เพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อย จากภาพด้านบนแสดงให้เห็นว่าในฝั่งของ Scaling Solution หรือที่เรียกว่า Layer 2 ของ Ethereum นั้น Optimism อยู่ในลำดับที่ 2 โดยมี Total Value Locked (TVL) ประมาณ 840 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งถือว่าก็สูงประมาณหนึ่งแล้วแต่ก็ยังเป็นรอง Arbitrum อยู่ค่อนข้างมาก
หากพูดถึงโอกาสเติบโตในด้านของการใช้งาน ด้วยความที่จุดประสงค์ของการทำ Layer 2 ของ Ethereum นั้นคือการทำให้เร็วขึ้นและมีค่าธรรมเนียมที่ถูก ซึ่งก็เปรียบได้กับ Blockchain Infrastructure (L1) ตัวอื่น ๆ เช่น BNB Smart Chain, Solana, Avalanche
ซึ่งหากผู้ใช้งานต้องการใช้งานตัวเลือกอื่นนอกจาก Ethereum (L1) แล้วก็คงต้องเลือกว่าจะไป Layer 2 หรือจะไปใช้ Layer 1 ตัวอื่น ๆ ดังกล่าว ดังนั้นถ้า Optimism สามารถพัฒนาจนได้การยอมรับ มี Dapps เยอะมากขึ้น แล้วผู้ใช้งานเลือกมาใช้แทน L1 ตัวอื่น ๆ ได้ โอกาสเติบโตของการใช้งาน Optimism ก็จะเพิ่มขึ้นจนสามารถแย่งส่วนแบ่งจาก L1 ตัวอื่น ๆ มาได้นั่นเอง
โดยจากรูปด้านบนที่แสดง TVL ของแต่ละบล็อกเชนชั้นนำ 6 อันดับแรก จะเห็นได้ว่ามี TVL ตั้งแต่ $1.85b ถึง $6.61b ทำให้อย่างน้อย Optimism ก็น่าจะโตได้ 2-3 เท่านับจากนี้หาก Optimism ประสบความสำเร็จ แต่อย่างไรก็ตามการเติบโตของ Optimism อาจไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อ OP token เพราะ use case ของ OP นั้นแตกต่างกับ BNB, SOL, AVAX ที่เป็น Native Token ของ Blockchain Infrastructure นั้น ๆ อย่างชัดเจน
- 6.2) APE – Ape Coin
ในช่วงเปิดตัวเหรียญ APE นั้นมีกระแสค่อนข้างดีและเป็นที่จับตามองจากคนหมู่มากพร้อมกับการที่ Community ของ Bored Ape Yacht Club ค่อนข้างมีความเหนียวแน่นและยังเป็น Community ของคนมีเงิน ซึ่งถึงแม้จะเป็น Airdrop หลักล้านบาทแต่ก็อาจมีแค่ส่วนน้อยที่ได้ขายออกไปทั้งหมด ทำให้เกิดแรงขายที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบแรงซื้อมากกว่าจากนักเก็งกำไร ทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างบ้าคลั่ง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณ $7.2 ไป จนถึงประมาณ $18 หรือคิดเป็นเกือบ 150% ภายในเวลาไม่ถึง 1 วัน
แต่หากพิจารณาแค่แท่งเทียนแรกซึ่งเป็นแท่งเปิดการซื้อขายที่มีไส้เทียนยาวขึ้นไปจนถึง $28 โดยหากทำการขายราคาตลาดในช่วงตลาดเปิดก็อาจทำให้สามารถขายได้ในช่วงประมาณ $9 – $28 ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ไม่ได้แย่เลยหากมองโดยภาพรวม
เพราะในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากจนเกือบทำจุดสูงสุดใหม่ได้นั่นเป็นเพราะการเปิดซื้อขาย Otherdeed หรือที่ดินดิจิทัลของโปรเจกต์ Otherside ในวันที่ 30 เมษายน 2022 ทำให้เกิดแรงซื้อเข้ามาทั้งจากคนที่ต้องการซื้อที่ดินที่ต้องใช้ Ape Coin ในการซื้อหรือจะเป็นนักเก็งกำไร ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงขึ้นของราคาจาก Event ใหญ่ที่อาจนำพิจารณาโดยภาพรวมไม่ได้มากนัก
แต่ในลักษณะนี้สามารถให้ข้อสังเกตได้ว่า หากรู้ว่าจะมีการขายอะไรพิเศษโดยใช้เหรียญที่ Airdrop ในการซื้อขายหรือมี Event ใหญ่ก็อาจพิจารณาขายส่วนหนึ่งในตอนแรกแล้วเก็บส่วนหนึ่งไว้ลุ้นตอนช่วงกิจกรรมได้ อย่างไรก็ตามการที่มีการเปิดขายอะไรพิเศษหรือมี Event ใหญ่ไม่ได้แปลว่าราคาจะต้องปรับตัวขึ้นตามเสมอ ดังนั้นการบริหารให้เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ
- 6.3) ENS – Ethereum Name Service
ในช่วงแรกที่มีการเปิดเทรดหลังจากการ Airdrop ได้มีการเทขาย ENS จำนวนมากทำให้มีการซื้อขายในช่วงราคาตั้งแต่ประมาณ $43 – $120 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่กว้างมาก หลังจากนั้นก็มีแรงซื้อขึ้นมาจนกลับมาที่ราคาประมาณ $87 แล้วก็มีการเทขายอีกครั้งจนทำ New Low ที่ประมาณ $38 และหลังจากนั้นไม่กี่วันก็ปรับตัวขึ้นมากว่า 100% และก็โดนเทขายจนทำ New Low และเป็น Trend ขาลงมาโดยตลอดตั้งแต่ช่วง โดยทำ All Time Low ที่ประมาณ $7.5 ซึ่งหากพิจารณาดูแล้ว ENS ก็เป็นอีกหนึ่งตัวที่ควรขายเมื่อตอนเปิดการซื้อขายในช่วงแรก ๆ
- 6.4) DYDX – dYdX Exchange
ในช่วงเปิดการซื้อขายของ DYDX ก็มีการปรับตัวลงมาประมาณ 45% จากประมาณ $16 จนเหลือ $9 และก็มีแรงซื้อขึ้นมาจนทำ All Time High ที่ $18 หรือขึ้นมากว่า 100% ในไม่กี่วัน และในช่วงปลายเดือนกันยายนก็ได้เกิดกระแสที่ประเทศจีนปิดกั้นประชาชนจากคริปโท ฯ และทำให้หลาย Exchange ต้องมีปัญหาหรือไม่สามารถให้บริการคนจีนได้ ซึ่งคนจีนถือว่ามียอดปริมาณการซื้อขายคริปโท ฯ อันดับต้น ๆ ของโลกโดยเฉพาะการเทรดแบบ Derivative
ทำให้เกิดกระแสของ Decentralized Exchange แบบ Derivative ขึ้นมา พร้อมกับในตอนนั้นมี DYDX เป็นผู้นำในด้านนี้ ทำให้มีหลายคนคาดว่าคนจีนจะหนีมาใช้งาน DYDX แล้วจะทำให้ DYDX มีมูลค่าสูงขึ้นเลยแห่กันเข้ามาซื้อจนราคาปรับตัวสูงขึ้นจากประมาณ $11 ไปทำ All Time High ที่เกือบ $28 หรือคิดเป็นประมาณ 147%
แต่แท้จริงแล้วโทเคน DYDX นั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับปริมาณการซื้อขายบน DYDX โดยตรงแถมยังไม่มี Utility ที่มากพอ ซึ่งทำได้เพียงเป็นโทเคนสำหรับใช้โหวตทิศทางการบริหารหรือที่เรียกว่า Goverance Token เท่านั้น ทำให้เกิดการเทขายจนกลายเป็น Trend ขาลงตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนเป็นต้นมา ทั้ง ๆ ที่ในขณะนั้น Bitcoin กำลังเป็นขาขึ้นก่อนที่จะไปทำ All Time High ที่ประมาณ $69,000 ในต้นเดือนพฤษจิกายน 2021
โดย DYDX ได้ทำ All Time Low ที่ประมาณ $1 หรือคิดเป็นการตกจาก All Time High กว่า 96% และในปัจจุบันก็ได้ปรับตัวขึ้นมายืนที่ระดับ $2 ซึ่งจะเห็นได้ว่าหากพิจารณาการขายในวันแรก ๆ ก็จะได้ราคาที่ดีกว่านี้มาก
- 6.5) UNI – Uniswap
กราฟของ UNI ในช่วงแรก ๆ ในปี 2020 ภายหลังการ Airdrop จะเห็นว่าก็มีลักษณะที่คล้ายกับตัวอย่างด้านบนเช่นเดียวกัน โดยในแท่งเทียนแรกของวันที่เปิดให้มีการซื้อขายก็เกิดแรงขายจำนวนมากจนเกิดช่วงราคาที่กว้างมาก และในวันต่อไปก็มีแรงซื้อจนราคาปรับตัวขึ้นประมาณ 150% จากที่ประมาณ $3.3 ไปจนถึง $8.5 แต่หลังจากนั้นก็ปรับตัวลงมาทำ Low ที่ประมาณ $1.7 ซึ่งเป็นการปรับตัวลงจาก High ที่ $8.5 กว่า 80% และหากวัดจาก All Time High ในขณะนั้นก็จะเป็นการปรับตัวลงกว่า 87%
หลังจากนั้น Bull Run ของตลาดคริปโท ฯ ก็กลับมาอีกครั้งในช่วงปลายปี 2020 พร้อมกับกระแส DeFi Summer ที่เป็นที่พูดถึงกันอย่างมาก ทำให้ UNI สามารถขึ้นไปทำ All Time High ใหม่ได้ที่ประมาณ $45 ในเดือนพฤษภาคม 2021 ซึ่งหากไม่มีกระแส DeFi และไม่ได้อยู่ในช่วงที่เป็น Bull Run พอดีก็อาจไม่สามารถทำให้ UNI สามารถขึ้นไปได้ขนาดนั้น
- 6.6) ANC – Anchor Protocol
ในส่วนของ ANC ของ Anchor Protocol ที่ได้มีการ Airdrop ในช่วงเดือนมีนาคม 2021 ซึ่งเป็นช่วง Bull Run ที่หลาย ๆ เหรียญพากันทำ All Time High แต่สำหรับ ANC นั้นเมื่อมีการเปิดให้มีการซื้อขายใน Exchange ก็ถูกเทขายเช่นเดียวกับหลาย ๆ เหรียญที่กล่าวมา โดย ANC ได้ขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ประมาณ $8.5 ในวันที่สองของการซื้อขายและก็ได้มีการเทขายจนเป็นขาลงต่อเนื่องทำให้ราคา ANC ปรับตัวลดลงมากว่า 54% ภายในสองอาทิตย์แต่ก็มีการ Rebound ขึ้นมาประมาณ 66% หลังจากนั้นแล้วก็เจอช่วง May Crash ที่มีการเทขายทั้งตลาด ทำให้ ANC ทำจุดต่ำสุดที่ประมาณ $1.7 และก็ได้ปรับตัวขึ้นมาที่ประมาณ $4.5 หรือคิดเป็น 150% จากจุดต่ำสุดประมาณ โดยขึ้นมาพร้อม ๆ กับที่ทั้งตลาดฟื้นจน Bitcoin ทำจุดสูงสุดใหม่ได้ที่ประมาณ $69,000 แต่จะสังเกตได้ว่าแม้ราคาจะขึ้นมาขนาดนั้นแต่ก็ยังอยู่ในจุดที่ต่ำกว่าราคาในช่วงเริ่มต้น
6.7) มุมมองภาพรวม
จากกราฟของ OP, APE, ENS, DYDX, UNI และ ANC ที่ได้แสดงไปข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่าภาพรวมกราฟในช่วงแรกภายหลังการ Airdrop นั้นมีลักษณะค่อนข้างคล้ายกันมาก ๆ นั่นคือมีการเทขายจำนวนมากภายในหนึ่งอาทิตย์แรกที่มีการเปิดให้มีการซื้อขายใน Exchange ซึ่งจากตัวอย่างที่ได้ยกมานั้นส่วนมากก็ได้ปรับตัวลดลงมาพอสมควรและถึงจะมีการ Rebound ขึ้นมาบ้างแต่ก็เป็นการ Rebound เพื่อลงต่อเท่านั้น นอกจากจะมีเหตุการณ์พิเศษที่ช่วยเข้ามาผลักดันราคาอย่างเช่น DYDX หรือ APE
ดังนั้นคงเป็นที่ชัดเจนในระดับหนึ่งว่าหากไม่มีเหตุการณ์พิเศษมาช่วยผลักดันราคา การขายตั้งแต่เริ่มเปิดการซื้อขายก็เป็นทางเลือกที่ดี และถึงจะมีเหตุการณ์มีช่วยผลักดันราคาก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้ราคาไม่เป็นไปตามที่คาดได้เพราะฉะนั้นก็ควรมีการแบ่งขายออกไปบ้าง
และเนื่องจากส่วนมากจะมีการเทขายแล้วในระยะกลางถึงยาวจะเป็นขาลงซึ่งลงได้อย่างต่ำถึง 70% ดังนั้นหากมั่นใจในโปรเจกต์นั้น ๆ แล้วอยากจะถือระยะยาวก็สามารถขาย Airdrop ที่ได้ก่อนแล้วค่อยมาเก็บของใหม่ตอนราคาปรับตัวลงมา ไม่ควรจะรีบซื้อตั้งแต่เปิดซื้อขายในช่วงแรก ๆ เพราะในช่วงแรก ๆ มักจะเป็นการเทขายของผู้ที่ได้รับ Airdrop จำนวนมาก ซึ่งหากแรงซื้อไม่แข็งแรงจริงก็ไม่อาจต้านทานแรงขายมหาศาลนั้นได้นั่นเอง
ประเภทของเหรียญที่ Airdrop มานั้นก็มีความสำคัญในการพิจารณาเช่นกันเพราะเหรียญที่เป็น Governance Token นั้นส่วนมากจะสามารถได้รับจากการทำ Yield Farming ด้วย ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดแรงขายซ้ำเติมได้อีกในระยะยาวทำให้ค่อนข้างยากที่ราคาจะกลับมาหากไม่ใช่ช่วง Bull Run ซึ่งจะแตกต่างกับเหรียญ APE ที่เป็น Utility Token ที่ไว้ใช้ใน Ecosystem ของโปรเจกต์ Otherside Metaverse ซึ่งจะมีการใช้งานที่หลากหลายกว่าและอัตราการปล่อยเหรียญเข้ามาในระบบก็จะต่ำกว่า ดังนั้นแรงขายก็จะไม่เยอะเท่า Governaance Token ปกติ
7) ข้อคิดเห็น
ถึงแม้ว่า Airdrop จะเป็นเงินฟรีในโลกคริปโท ฯ แต่ก็ใช่ว่าจะได้มาง่าย ๆ เหมือนแต่ก่อน เนื่องจากในปัจจุบันมีนักล่า Airdrop เยอะจนทำให้หลาย ๆ โปรเจกต์ต้องมีการคัดกรองที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อที่จะสามารถกระจาย Airdrop ให้เข้าถึงผู้คนได้ทั่วถึงมากขึ้น
เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะทำให้มีโอกาสได้รับ Airdrop มากขึ้นในปัจจุบันก็คือการตั้งใจในการเข้าไปศึกษาและลองใช้งานอย่างจริงจังจนกลายเป็นผู้ใช้งานของแพลตฟอร์มนั้นจริง ๆ ยกตัวอย่างเช่นหากพบเจอแพลตฟอร์ม Derivative DEX ที่มีโอกาสแจก Airdrop แล้วคุณเป็นคนที่เทรด Future บน Centralized Exchange ทุกวันอยู่แล้ว ทางที่จะทำให้มีโอกาสได้ Airdrop มากขึ้นก็คือแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาเทรดบนแพลตฟอร์มนี้เป็นประจำด้วยและก็ค่อย ๆ ศึกษาว่าในแพลตฟอร์มนั้น ๆ มีอะไรที่เราสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งได้บ้างแล้วก็เข้าไปใช้งานตรงนั้น
อย่างไรก็ตามก็ต้องเผื่อใจว่าสิ่งที่เราทำไปทั้งหมดนั้นก็อาจสูญเปล่าก็ได้หรืออาจได้ Airdrop น้อยกว่าที่คาดคิด ซึ่งทางที่ดีก็ไม่ควรคาดหวังมากเกินไป หากมองสิ่งที่ทำไปทั้งหมดเป็นในแง่ของการศึกษาแทนที่จะมองว่านั่นคือการล่า Airdrop ก็จะทำให้เมื่อเราไม่ได้รับ Airdrop หรือได้น้อยกว่าที่คิดก็จะไม่เสียใจมากเพราะไม่ได้คาดหวังไว้มากตั้งแต่แรก
หากให้พูดถึงว่าช่วงนี้มีโปรเจกต์ไหนน่าสนใจบ้างที่มีโอกาสจะแจก Airdrop ก็คงหนีไม่พ้นโปรเจกต์ที่เป็น Scaling Solution ของ Ethereum นั่นก็คือ Optimism, Arbitrum และ zkSync ซึ่งถึงแม้ว่า Optimism จะเคยแจกไปแล้วแต่ก็คิดเป็นเพียง 5% จากที่จะแจกทั้งหมด 19% เท่านั้น
ส่วน Arbitrum ที่ตอนนี้ได้จัดกิจกรรม Arbitrum Odyssey ที่มีจุดประสงค์ให้ผู้ใช้งานเข้ามาทดลองใช้งานแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่อยู่ใน Arbitrum Ecosystem ซึ่งจะมีความหลากหลายตั้งแต่ DeFi จนไปถึง NFT และเกม โดยระยะเวลาของกิจกรรมจะกินเวลา 2 เดือนโดยแบ่งกิจกรรมเป็น 8 อาทิตย์อย่างชัดเจน และก็จะมีการแจก NFT อาทิตย์ละ 2 ชิ้น รวมเป็น 16 ชิ้น แต่หากเราสะสมได้มากกว่า 13 ชิ้น จะมีสิทธิ์ได้รับ NFT ชิ้นที่ 17 เป็นชิ้นพิเศษ
ซึ่งในส่วนนี้ผู้เขียนมีข้อคิดเห็นว่า การที่ Arbitrum จัดกิจกรรมพร้อมบอกรายละเอียดออกมาชัดเจนขนาดนี้ มีแนวโน้มสูงว่า NFT ในกิจกรรมนี้จะเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการได้รับ Airdrop แบบเป็นโทเคนเท่านั้น ซึ่งอาจใช้ NFT เหล่านี้ร่วมกับกิจกรรมการใช้งานจริงไม่ว่าจะก่อนหรือหลังกิจกรรม เพื่อที่จะได้ Airdrop ให้ผู้ที่เป็นผู้ใช้งานจริง ๆ ที่ไม่ใช่นักล่า Airdrop ที่เข้ามาเพียงแค่ทำตามรายละเอียดกิจกรรมแล้วไม่ได้ใช้งานต่อเลย
หากท่านใดสนใจสามารถตามไปอ่านรายละเอียดวิธีการลุ้น Airdrop เหล่านี้ได้จากโพสต์ด้านล่างนี้
Layer 2 Airdrops – Cryptomind Advisory