Search
Close this search box.

NFT Creator 101 : ปูพื้นฐาน NFT Creator เริ่มยังไง

Share :
FEATURED IMAGE ON WEBSITE

Table of Contents

เกริ่นนำ

แม้ว่าในช่วงตลาดหมีจากวิกฤติเศรษฐกิจต่างๆหลังจากช่วง 2022 จะทำให้คนเข้ามาสร้างผลงานหรือเก็บผลงานในรูปแบบ NFT น้อยลงบ้าง แต่ระหว่างในระยะเวลาที่ผ่านมาก็ยังคงมีศิลปินบางส่วนที่ยังคงสร้างผลงานต่อมาตลอด

จากการที่ผู้เขียนเองสร้างผลงานในรูปแบบ NFT ด้วย ตลอดเวลาที่ผ่านมาผู้เขียนได้พูดคุยกับคอมมูนิตี้ Creator มาโดยตลอดและเห็นถึงปัญหาต่างๆ เลยเป็นที่มาในการเกริ่นถึง NFT 101 ในบทความนี้แบบง่ายๆให้เป็นไกด์ให้กับเพื่อนๆ NFT Creator ในปัจจุบันและในอนาคตต่อไป

เริ่มจากในปี 2021 คำว่า NFT (Non-fungible Token) กลายเป็นคำพูดที่แพร่หลายในหมู่ของศิลปินที่เข้ามาเป็น NFT Creator ภายในบล็อกเชน

ในช่วงเวลานั้น มีการสนทนาเกี่ยวกับ NFT อย่างไม่หยุดหย่อนในชุมชนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นใน Discord, Twitter, Twitter Space, Clubhouse, Youtube ทำให้นักสะสมก็ทะยอยเข้ามาเก็บผลงานเพื่อสนับสนุนศิลปินหรือหาโอกาสในการทำกำไร

บรรยากาศในช่วงเวลานั้นสนุกสนานมาก ศิลปินแต่ละคนสร้างสรรค์ผลงานและจัดกิจกรรมกันออกมาทุกวันจนแทบตามไม่ถูกว่าแต่ละวันต้องไปร่วมกิจกรรมในคอมมูนิตี้ไหนบ้าง

– หลากหลายความหมายของ ‘NFT’

หลายคนมักจะติดภาพว่า NFT คือ ‘ภาพวาด’ เท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว NFT เป็นเพียงวิธีการในการบันทึกข้อมูลลงไปในบล็อกเชนและข้อมูลนั้นจะเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น รูปวาด ภาพถ่าย วีดีโอ โมเดล3D เพลง กลิ่นและอื่นๆ

ด้วยความกว้างของการบันทึกข้อมูลเป็น NFT นี้เอง สิ่งนี้เปิดโอกาสให้เกิดการใช้งานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำตั๋วเข้างานเป็น NFT ต่างๆ, เป็นของที่ระลึกการไปเที่ยวที่ต่างๆ, บัตรลดราคา, ไปรษณียบัตร และอื่นๆ

เมื่อ Creator เข้าใจว่า NFT สามารถพลิกแพลงได้หลากหลาย ก็มีโอกาสที่จะสร้างสรรค์ผลงานที่แปลกใหม่ได้

– ปัญหาต่างๆ ของ NFT Creator

จากการพูดคุยกับ Creator หลายๆคน ส่วนมากตอนที่เข้ามาเริ่มสร้างผลงานในตลาด NFT ไม่ค่อยมีใครทราบว่าบล็อกเชนคืออะไร มีความเสี่ยงที่ต้องระวังตรงไหน และควรเริ่มจากจุดไหน

บทความนี้จะเขียนถึงข้อคำนึงและคำถามต่างๆที่เจอบ่อยเพื่อเป็นแนวทางสำหรับ NFT creator หรือผู้ที่สนใจใน NFT

1. เชน? แพลตฟอร์ม NFT? ต่างกันอย่างไร?

ปกติแล้วการซื้อขายทรัพย์สินนอกบล็อกเชน การซื้อขายจะอยู่ในจักรวาลเดียวกันเชื่อมถึงกันได้หมด ไม่ว่าจะทำการขายแบบ P2P หรืออาศัยตัวกลางแบบ Facebook

แต่สำหรับในโลกบล็อกเชนแล้ว แต่ละเชน (Layer 1 ต่างๆ) เช่น Ethereum (ETH), Cardano (ADA), Solana (SOL), Tezos (XTZ) และอื่นๆจะถือว่าอยู่คนละจักรวาลกัน ทำอะไรข้ามกันโดยตรงไม่ได้:

  • เราไม่สามารถที่จะซื้อผลงานใน Solana (SOL) ในขณะที่เราใช้งานในฝั่ง Ethereum (ETH) อยู่ (ด้วยวิธีปกติ)
  • เราไม่สามารถจะทำธุรกรรมบนเชน Solana (SOL) ในขณะที่เราใช้งานฝั่ง Ethereum (ETH) อยู่ (ด้วยวิธีปกติ)

ในแต่ละจักรวาลของแต่ละเชน นักพัฒนาสามารถสร้างแพลตฟอร์ม NFT ได้หลากหลาย และสามารถนำ NFT จาก 1 แพลตฟอร์มไปขายอีกแพลตฟอร์มภายในจักรวาลเดียวกันได้ เช่น

  • Ethereum (ETH): Opensea, Foundation, X2Y2, Blur, LooksRare และอื่นๆ
  • Solana (SOL): Magic Eden, Solanart, Exchange.art
  • Tezos (XTZ): Objkt, HEN, fxhash

การพัฒนาเพื่อให้เกิด Cross Chain NFT Marketplace หรือแพลตฟอร์ม NFT ข้ามระหว่างเชนได้เป็นหนึ่งในหัวข้อที่พัฒนากันอยู่ และในอนาคตจะทำให้คนสามารถเข้ามาใช้งานได้อย่างง่ายขึ้น

Holograh เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่พัฒนาให้คนสามารถเข้าไป Mint NFT ได้จากหลากหลายเชน และสามารถโอน NFT ข้ามเชนกันได้อย่างอิสระผ่านเทคโนโลยี Layer Zero

ที่มา: holograph

2. NFT Creator ควรเลือกเชนไหน? และแพลตฟอร์มไหน? สำหรับการลงผลงาน

สิ่งแรกสุดที่ NFT Creator ต้องเผชิญคือ คำถามว่าเราควรจะเลือกเชนไหนและแพลตฟอร์มไหนในการเข้าไปลงผลงานเพื่อให้เกิดโอกาสในการขายมากที่สุดหรือมีผู้ใช้งานมาใช้งานมากที่สุด

ในทางที่ง่ายที่สุด เราอาจจะตามแพลตฟอร์มที่ศิลปินที่เราติดตามลงขายอยู่ก็ได้

แต่ในอีกทางหนึ่ง แต่ละเชนและแต่ละแพลตฟอร์มก็มีความแข็งแกร่งและความเสี่ยงที่ต่างกัน หากเราสามารถหาข้อมูลเองได้ เราก็จะสามารถตัดสินใจได้ว่าเรากำลังทำงานอยู่ที่ไหน หรือควรจะย้ายไปหาโอกาสที่ไหน

2.1 ความสำคัญระดับเชน

โดยส่วนใหญ่แล้วทุกเชนที่รองรับ Smart Contract จะสามารถสร้าง NFT ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Ethereum (ETH), Cardano (ADA), Avalanche (AVAX), Fantom (FTM), Solana (SOL) และอื่นๆ และเมื่อทุกเชนนับว่าเป็นคนละจักรวาลกัน การเลือกลงงานไปอยู่ที่ใดที่หนึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก และควรพิจารณาดังนี้

1.) ความยั่งยืนของเชน

  • แม้ว่า NFT จะถูกบันทึกลงในบล็อกเชนและตามทฤษฏีแล้วมันจะไม่หายไปไหน แต่หากเชนนั้นๆไม่ได้ยั่งยืนจนสามารถอยู่รอดได้นาน (ในบางครั้งก็อาจจะหยุดพัฒนาไปเลย) ก็อาจจะทำให้ NFT นั้นๆหมดความหมายได้เช่นกัน
  • แต่ละเชน แม้ว่าจะอยู่บนฐานของคำว่า Decentralized ในการกำหนดทิศทางของเชน แต่ในขณะเดียวกัน แต่ละเชนก็ยังจำเป็นต้องมีค่าดำเนินการต่างๆสำหรับการพัฒนา การดูแล รวมถึงการรัน Node ซึ่งแต่ละเชนอาจจะมีรายรับมาจาก Fee จากผู้ใช้งานหรืออาจจะมาจากเงินจากนักลงทุน

    การเข้าไปศึกษาถึงเงินจากนักลงทุน อาจจะเป็นเรื่องที่ยากขึ้นมาหน่อย แต่ถ้ามองจากพื้นฐานทั่วไปในเรื่องของจำนวนผู้ใช้งาหรือค่า Fee Revenue ก็อาจจะบ่งบอกได้ระดับหนึ่งว่าเชนนี้ยั่งยืนขนาดไหน และมีทิศทางไปทางไหน
ตัวอย่างรายได้เชนจากค่า Fee จาก Cryptofees

เพราะฉะนั้นแล้ว หากต้องการให้ NFT ที่เราสร้างขึ้นมามีความยั่งยืนพร้อมกับเชน การเข้ามาดูข้อมูลในส่วนนี้เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน

2.) การถูกรองรับของเชน

ที่มา: Opensea
  • ถ้า NFT ถูกนำไปต่อยอดและใช้งานได้อย่างหลากหลาย NFT นั้นๆก็จะมีคุณค่ามากขึ้นเช่นกัน เมื่อ NFT ในเชนนั้นๆถูกรองรับโดยหลากหลายที่ก็จะดีกับทั้ง Creator และ Collector ที่สามารถนำไปใช้ หรือโชว์ได้จริง ยกตัวอย่างเช่น Twitter Blue ซึ่งรองรับ NFT จากบน Ethereum Mainnet เท่านั้นในตอนนี้

3.) จำนวนผู้ใช้งานในเชน

จำนวนผู้ Trade NFT ภายใน Ethereum Mainnet (ที่มา: https://dune.com/hildobby/NFT)
  • เมื่อเชนนั้นๆมีผู้ใช้งานเยอะ ก็หมายถึงคนที่มีโอกาสจะมาเป็น Collector ให้กับงานของเราก็มีเยอะเช่นกัน การใช้งานในเชนที่มีผู้คนใช้งานอย่างคับคั่งจึงเป็นเรื่องที่สำคัญในการดูและเลือกเชน
  • จำนวนนี้อาจจะดูได้จากหลากหลายแหล่งที่ไม่ว่าจะเป็น Messari, Dappradar, Dune
  • หากมองจำนวนผู้ใช้งานด้าน NFT แล้ว ในปัจจุบัน ETH ก็ยังคงอันดับ 1 ตามมาด้วยอันดับ 2 คือ Solana

4.) ชื่อเสียงเกี่ยวกับ NFT ของเชนนั้นๆ

  • แม้ว่า NFT จะมีอยู่แทบทุกเชนก็จริง แต่แต่ละเชนนั้นก็มีชื่อเสียงเกี่ยวกับ NFT ไม่เท่ากัน ในบางเชน NFT อาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จัก (คนเน้นเข้าไปใช้งานทางด้าน DeFi มากกว่า) ทำให้โอกาสในการขายค่อนข้างน้อย
  • ตัวอย่างเชนที่มีชื่อเสียงด้าน NFT คือ Ethereum, Solana, Tezos และตัวอย่างเชนที่มีชื่อเสียงด้าน NFT น้อย คือ Fantom, Avalanche, Harmony ONE

5.) ความยากในการย้ายเชนภายหลัง

  • ตามที่ได้เขียนไว้ก่อนหน้านี้ แต่ละเชนถือว่าอยู่บนคนละจักรวาล หากทำการ Mint NFT บนเชนหนึ่งไปแล้ว มันก็จะติดอยู่บนเชนนั้นๆ
  • แต่ในขณะเดียวกัน เราก็สามารถย้ายเชนเองได้ โดยทั่วไปแล้วจะใช้วิธีให้ผู้ถือ NFT อยู่ส่ง NFT คืนให้คนสร้าง แล้วค่อยไป Mint แล้วส่งให้ใหม่บนอีกเชน แต่ปัญหาของวิธีนี้คือวิธีนี้ค่อนข้างใช้เวลา และจำเป็นต้องลงทุนกับค่า gas ในการ Mint และส่งไปให้แต่ละคน

จากแต่ละข้อด้านบน การเลือกเชนที่จะลงผลงานจึงเป็นเรื่องที่สำคัญในการคิดอันดับแรก

2.2 ความสำคัญระดับแพลตฟอร์ม

หลังจากที่เลือกเชนหรือจักรวาลในการ Mint NFT แล้ว ข้อดีของการลงในบล็อกเชนคือการมี Ownership อย่างแท้จริง และสามารถย้ายแพลตฟอร์มในการขายได้อย่างอิสระ

  • ก่อนหน้านี้ในเชน Solana หลากหลาย Creator พากันไปสร้างผลงานใน Formfunction จนกระทั่งในช่วงต้นปี 2023 Formfunction ก็ประกาศปิดตัวลง หลังจากตอนนั้นเอง Creator ก็ย้ายกันไปสร้างผลงานที่ Exchange.art แทนซึ่งมีความคล้ายคลึงกัน

แต่ละแพลตฟอร์ม NFT จะมีสไตล์การขายงานหรือลักษณะผลงานที่คนเข้าไปดูกันคนละรูปแบบ Creator ควรจะเข้าไปศึกษาก่อนว่าแต่ละแพลตฟอร์มเน้นการขายในรูปแบบไหนที่เหมาะสม ยกตัวอย่างในฝั่ง Ethereum

  • Opensea จะเป็นแพลตฟอร์มที่ค่อนข้างกว้างและให้คนเข้ามาลงผลงานได้หลากหลาย มีการลงงานทั้งแบบ Generative Art หรือการวาด 1 ต่อ 1 มีทั้งโปรเจคจาก Creator หน้าใหม่และโปรเจกต์ใหญ่ สามารถซื้อขายได้ทั้งในรูปแบบปกติ หรือการ Bid (ประมูลซิ้อขาย)
  • Foundation จะเป็นแพลตฟอร์มที่นิยมในการสร้างงาน 1 ต่อ 1 และคนมักจะติดภาพในการสร้างงานที่ยิ่งใหญ่ให้สมกับมูลค่า เพราะแพลตฟอร์มนี้เองเน้นการขายในรูปแบบของการ Bid (ประมูล) ซึ่งต่อมาในช่วงตลาดซบเซาลง Foundation ได้เพิ่มฟังก์ชั่นในการให้ขายในรูปแบบหลาย Edition ได้ (ทำให้ราคาต่ำลง คนกล้าที่จะเข้ามาเก็บ NFT มากขึ้น)
  • Blur เป็นแพลตฟอร์มที่เน้นสำหรับการเทรด NFT เท่านั้นและไม่ได้มีฟังก์ชั่นให้คนเข้าไป Mint NFT ภายในแพลตฟอร์มได้

2.3 พาส่องวิธีดูข้อมูลแพลตฟอร์ม NFT ต่างๆ

สิ่งหนึ่งที่ดีในโลกบล็อกเชนคือ เราสามารถมองเห็นธุรกรรมและจำนวนผู้ที่ใช้งานได้เสมอ ทำให้เราสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เกี่ยวกับแต่ละแพลตฟอร์มต่อได้

1.) Dappradar เป็นเวปไซต์ที่รวบรวมข้อมูล dapps ต่างๆจากทุกเชน เราสามารถตั้งค่าเพื่อดูแค่ในเรื่องของแพลตฟอร์ม NFT อย่างเดียวก็ได้เช่นกัน

ที่มา: Dappradar

จากภาพด้านบนแพลตฟอร์ม NFT ที่มา Volume ของการซื้อขายเยอะที่สุดคือ Blur และรองลงมาคือ Opensea และโดยรวมแล้ว Volume การซื้อขาย NFT จะอยู่บนเชน Ethereum (ETH) หลายแพลตฟอร์ม รองลงมาคือ Solana (SOL) ในแพลตฟอร์ม Magic Eden และตามมาด้วย JPG Store ในเชน Cardano (ADA)

ที่มา: Dappradar

ภาพด้านบนคือตัวอย่างข้อมูลจากแพลตฟอร์ม Magic Eden จาก Solana (SOL) และในกราฟด้านบนมี 3 ข้อมูลหลักดังนี้:

  • UAW คือ Unique Active Wallet หรือก็คือจำนวนของ Address ที่แตกต่างกันที่ทำธุรกรรมในแพลตฟอร์ม ตัวเลขนี้บ่งบอกถึงจำนวนของผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์ม (อาจจะต้องหักลบจากตัวเลขนี้นิดหน่อย เนื่องจากบางผู้ใช้งานก็อาจจะใช้หลาย Address ได้)
  • Volume คือ มูลค่าของธุรกรรมรวมทั้งซื้อและขายภายในแพลตฟอร์ม
  • Transactions คือ จำนวนของธุรกรรม (โดยไม่ได้คำนึงถึงมูลค่า)

จากภาพด้านบนจะเห็นได้ว่าจำนวน UAW (ผู้ใช้งาน) ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา แต่จำนวนธุรกรรมยังคงเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ และเมื่อรู้ข้อมูลตรงนี้แล้วก็จะสามารถบอกภาพรวมของแพลตฟอร์มได้ว่ากำลังดำเนินไปในทิศทางไหน

2.) Dune เป็นเวปไซต์ที่เปิดให้คนสามารถเขียนโค้ดเพื่อดึงข้อมูล on-chain ต่างๆมาดู (เน้นเฉพาะในฝั่ง Ethereum) ในเวปไซต์นี้มีข้อมูลหลากหลายตั้งแต่ข้อมูล Dapps ทั่วไป ข้อมูลการแจก Airdrop หรือแม้แต่ในเรื่องของ NFT ต่างๆ

หากเราต้องการเน้นดูในเรื่อง NFT เราสามารถกดค้นหา keyword ‘NFT’ เพื่อหาข้อมูลที่คนเคยเขียนทิ้งไว้แล้วได้ทั้งหมด

ที่มา: Dune

จากภาพด้านบน เราสามารถดูถึงภาพรวมของตลาด NFT ใน Ethereum ได้ว่าอยู่ในทิศทางไหน เช่น เราสามารถเปรียบเทียบระหว่าง Opensea กับ Blur ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ว่า:

  • Volume การเทรด Blur > Opensea
  • จำนวน Transaction การเทรด Blur < Opensea
  • จำนวนผู้ใช้งาน Blur < Opensea
ที่มา: Dune

ข้อมูลด้านบนบอกถึงจำนวน Transaction ของแต่ละแพลตฟอร์ม ซึ่งเราสามารถเห็นช่วงที่ Blur เริ่มเข้ามามีบทบาทในภาพรวมวงการ NFT ได้ และข้อมูลในรูปแบบนี้ทำให้เราเห็นข้อมูลได้อีกในอนาคตว่ามีแพลตฟอร์มไหนที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้นๆ

ที่มา: Dune

ข้อมูลด้านบนบอกถึงจำนวนผู้ใช้งาน/เทรดในแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ว่าจะแพลตฟอร์มไหน ค่อนข้างจะอยู่ในขาลงมาโดยตลอด ซึ่งหากเราเริ่มเห็นข้อมูลนี้เริ่มกลายเป็นขาขึ้น ก็อาจจะเป็นตัวช่วยบ่งบอกได้ว่า ช่วงนี้น่ามาสร้างผลงานภายในแพลตฟอร์มต่างๆ

ในช่วงแรกข้อมูลอาจจะเยอะ แต่ถ้าเข้าไปลองเล่นจนชิน ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากในการช่วยดูเทรนด์ต่างๆในวงการ NFT

3. เทรนด์ของ NFT ต่างๆในช่วงที่ผ่านมา

ตลอดเวลาที่ผ่านมา NFT ก็ได้มีการพัฒนาไปด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิธีการสร้าง วิธีการขาย รูปแบบ วิธีการใช้งาน การเข้ามาศึกษาและอัปเดตถึงเทรนด์ต่างๆเหล่านี้สำคัญมากสำหรับ NFT Creator

3.1 Cross-chain NFT

จากการที่ NFT อยู่บนแต่ละเชนเดี่ยวๆ ทำให้การใช้งานค่อนข้างไม่อิสระ นักพัฒนาจึงพยายามหา Solution ต่างๆในการช่วยให้ NFT ตัวเดียวกันไปอยู่ในหลากหลายเชนได้

หนึ่งใน Solution นั้นมาจากเทคโนโลยี Layer Zero (อ่านข้อมูลละเอียดได้จากบทความนี้) ซึ่งช่วยให้สามารถสร้างคอลเลคชั่น NFT เดียวกันได้ในหลากหลายเชนพร้อมกัน และสามารถ Bridge (ส่งข้ามเชน) ได้

มีหลากหลายแพลตฟอร์มที่เข้ามาร่วมใช้เทคโนโลยีนี้ เช่น Holograph, Omnisea, Polyhedra ซึ่งมีหลายคอลเลคชั่นได้ทดลองเข้ามาใช้เทคโนโลยีนี้แล้ว รวมไปถึง Bored Town ซึ่งเป็นผลงานจากศิลปินคนไทย

แม้ว่าในเวลานี้ Cross-chain NFT อาจจะไม่ได้ถูกพูดถึงมากในฝั่ง Creator แต่ในอนาคตอันใกล้ เทคโนโลยีนี้จะต้องเข้ามามีบทบาทแน่นนอน

3.2 แพลตฟอร์มที่แข่งกันลด Royalty สำหรับศิลปิน

โดยปกติแล้ว NFT Creator จะมีรายได้ในการขาย NFT ได้หลักๆ 2 วิธี ได้แก่การขาย หรือการได้รับ Royalty จากการมีการขาย NFT ต่อ ซึ่งศิลปินสามารถเลือกได้ว่าจะบังคับให้แบ่งเงินจากทุกการขายเป็นกี่ %

Royalty เป็นสิ่งที่ทำให้ NFT Creator ยังมีรายได้อยู่เรื่อยๆ จากการขายต่อนี้เอง รวมถึงบางคอลเลคชั่นที่ใช้วิธีให้ Free Mint (แจกฟรี) และได้รับเงินจากค่า Royalty นี้เอง

*แต่สิ่งเหล่านี้อาจจะกำลังจะหายไป

ในช่วงที่ผ่านมา จากการมาขอแพลตฟอร์ม Blur ที่ไม่ได้บังคับค่า Royalty ให้ NFT Creator อีกต่อไป ผู้ที่ทำการขายสามารถตั้งว่าจะแบ่งให้กับ Creator เท่าไหร่ก็ได้ตามสมัครใจ โดยต้องตั้งขั้นต่ำที่ 0.5% (จากที่เมื่อก่อน NFT Creator จะตั้งที่ราวๆ 5%) ทำให้แพลตฟอร์ม Opensea จึงต้องขยับตาม และไม่บังคับอีกต่อไปเช่นกัน (สามารถอ่านเต็มๆได้จากบทความ Blur vs Opensea)

และล่าสุด Opensea ก็ได้ประกาศว่าจะไม่บังคับเรื่อง Fee ให้กับคอลเลคชั่นใหม่ต่อจากนี้แล้ว ซึ่งทำให้การได้รายได้จากศิลปินในรูปแบบนี้อาจจะหายไป รวมไปถึงโมเดลของการให้ Free Mint ของโปรเจกต์ต่างๆ

ที่มา: X ของ Opensea

และเมื่อแพลตฟอร์มอย่าง Opensea มาเริ่มในการไม่บังคับในรูปแบบนี้ หลายแพลตฟอร์มอาจจะปรับตามไปในรูปแบบคล้ายๆกันต่อจากนี้

3.3 NFT บน Bitcoin?

ที่มา: Paxful

ในช่วงที่ผ่านมา มีคนเข้ามาเริ่มทำ NFT บน Bitcoin มากขึ้นและเริ่มมีหลายแพลตฟอร์มที่เข้ามารองรับ NFT เหล่านี้ตั้งแต่ Magic Eden และ Binance

หลายคนอาจจะมีคำถามว่า ในเมื่อ Bitcoin ไม่ได้รองรับ Smart Contract แล้ว คนจะสามาระสร้าง NFT ภายใต้ระบบของ Bitcoin ได้อย่างไร?

NFT บน Bitcoin นี้มีชื่อเรียกว่า Ordinals ซึ่งมีวิธีการสร้างต่างจากเชนอื่นๆที่มี Smart Contract ซึ่งหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ

  • NFT บนเชนทั่วไปคือการสร้างผ่านสัญญา Smart Contract และมีการเก็บข้อมูลแยก
  • NFT Ordinals เปรียบเสมือนกับการเพ้นท์บนกำแพงและเก็บข้อมูลอยู่ใน SAT (หน่วยย่อยของ Bitcoin)

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนา Layer 2 บน Bitcoin ซึ่งรองรับ Smart Contract เช่น Stacks (อ่านบทความเต็มเรื่อง Stacks) ที่ทำให้สามารถสร้าง NFT แท้ผ่าน Smart Contract เหมือนเชนอื่นๆได้

Bitcoin (BTC) ยังไงก็ยังคงเป็นคริปโตที่คนเชื่อถือมากที่สุด และผู้คนกำลังมองเห็นโอกาสในการเข้าไปต่อยอดในระบบที่คนเชื่อถือนี้ เทรนด์ในเรื่องการพัฒนา NFT บน Bitcoin เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าจับตามองต่อจากนี้เช่นกัน

สรุป

NFT ยังคงมี Volume และมีการพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง และด้วยความหมายที่แท้จริงของ NFT ที่กว้างกว่าที่หลายคนคิด ทำให้ NFT ยังมีความเป็นไปได้ในการเติบโตและใช้งานในอนาคตอีกมาก

ในบทความนี้ครอบครุมถึงเรื่องการเลือกเชน แพลตฟอร์ม การดูข้อมูล รวมถึงเรื่องเทรนด์ NFT ต่างๆในช่วงที่ผ่านมา หลายอย่างเป็นสิ่งที่สำคัญที่ NFT Creator ควรจะอ่านผ่านตาเอาไว้เพื่อที่จะทำความเข้าใจหรือแม้แต่เข้าถึงข้อมูลได้

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าเขียนเป็นไกด์ให้กับ NFT Creator อีก ซึ่งผู้เขียนอาจจะเขียนเพิ่มอีกต่อจากนี้

Author

Tags : NFT
Share :
Related
DeSci: เมื่อ Web3 ปฏิวัติวงการวิทยาศาสตร์และการวิจัย
Cryptomind Monthly Outlook (November 2024)
Cryptomind Monthly Outlook (October 2024)
Thailand Blockchain Landscape 2024