ปีนี้นับได้ว่าเป็นปีที่เหล่า DeFi OG ต่างมีพัฒนาการที่น่าสนใจแม้ว่าจะอยู่ในช่วงตลาดหมีก็ตาม ล่าสุดเมื่อคืนที่ผ่านมา Uniswap DEX อันดับต้นๆของโลก Cryptocurrency ได้เปิดตัว ” Uniswap V4 ” ขึ้นหลังจาก V3 ที่ออกมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว การอัปเดตครั้งนี้ได้ยกเครื่อง Uniswap ให้กลับมาน่าสนใจอีกครั้ง ทั้ง ” Hook ” ที่เป็น Smart Contract รูปแบบใหม่ที่ตั้งเวลาการทำงานได้ และ ” Singleton ” ที่จะรวม Pool เหรียญทุกคู่ไว้ใน Smart Contract เดียว ทำให้ประยุกต์การใช้งานได้อีกมาก
แม้ว่า Uniswap V4 จะยังอยู่ในระหว่าง Audit แต่ก็ไม่น่าจะมีอะไรต่างจาก Whitepaper มากนัก ทาง Cryptomind Research จะพาผู้อ่านมาเจาะลึกถึงพัฒนาการครั้งยิ่งใหญ่นี้
Timeline การพัฒนา Uniswap
พฤศจิกายน 2018: Uniswap V1
เปิดตัวครั้งแรก โดยใช้หลักการ AMM ที่ทุกคู่เหรียญต้องจับคู่กับ ETH เท่านั้น ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการ Swap ข้ามเหรียญที่ต้องเสียค่าธรรมเนียม 2 ต่อ ถึงแม้จะมีความไม่สะดวกแต่ก็ถือเป็น Proof of concept ที่ใช้งานได้ จน Paradigm ให้เงินทุน $1m
มีนาคม 2020: Uniswap V2
แก้จุดอ่อนที่ V1 เคยมีเช่น สามารถจับคู่เหรียญใดก็ได้แล้ว และเพิ่ม Flash swap, Oracle, Protocol Charge (Fee switch ในปัจจุบัน) นอกจากนี้ยังขยายทีมจาก 3 คนเป็น 10 คน ทำให้ยุคนี้ถือเป็น “ยุคทองของ Uniswap” เลยก็ว่าได้ ทำให้ในปีนั้น Uniswap มี Market Share มากกว่า 50% แล้วเป็นอันดับ 5 ของตลาด Exchange ทั่วโลก
มีนาคม 2021: Uniswap V3
ได้เปิดตัวอีกครั้งด้วย Function ใหม่ที่เรียกว่า “Concentrated Liquidity” ที่สภาพคล่องสามารถถูกกำหนดให้อยู่ใน Range ที่เราต้องการได้ ช่วยให้ผู้เพิ่มสภาพคล่องกำหนดความเสี่ยงจากราคาที่เหวี่ยงเกินไปและได้รับค่าธรรมเนียมสูงขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ใช้งานก็จะได้รับอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีมากยิ่งขึ้นจาก Deep Liquidity การอัพเกรดครั้งนี้ยิ่งทิ้งห่างคู่แข่งเข้าไปอีกเพราะทำให้สภาพคล่องยิ่งกระจุกมาอยู่ในที่เดียว และการมี Business Source License ทำให้คู่แข่งไม่สามารถ Fork ไปใช้ได้ 2 ปี
Uniswap V4
มิถุนายน 2023 ทาง Uniswap Labs ได้ประกาศว่า Uniswap V4 จะต่อยอดจาก Uniswap V3 เดิมที่เพิ่มความยืดหยุ่นกับประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้นให้กับผู้ใช้งาน Uniswap ด้วยการนำเสนอ 2 Feature หลัก คือ ” Hook ” และ ” Singleton ” โดยทั้ง 2 ลักษณะนี้จะมีรายละเอียดดังนี้
1. Hook
Hook คือ Smart Contract รูปแบบใหม่ที่สามารถ “กำหนดให้ทำงานตามช่วงเวลาที่กำหนด” ได้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิด Function ใหม่ๆ ได้ดังนี้
– Time-weighted average price (TWAMM)
ปัญหาของนักลงทุนรายใหญ่คือการ Swap แต่ละครั้งจะเกิด Price Impact ได้ แต่ถ้าให้ทยอย Swap ก้อนเล็กๆ ก็จะเสียทั้งเวลาและพลังงานอีกด้วย TWAMM หรือการซื้อ-ขายแบบเฉลี่ยตามเวลา จึงเกิดขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนรายใหญ่
Hook สามารถเขียน TWAM ที่จะส่งคำสั่งซื้อขายที่นักลงทุนต้องการแบ่ง Order นั้นให้ระบบช่วยทยอยส่งคำสั่งแบบแบ่งจำนวนตามระยะเวลาและจำนวน Order ที่เรากำหนด ข้อดีนี้จะช่วยให้
- Crypto Trader ที่ Track การ Swap ก้อนใหญ่นั้นติดตามได้ยากขึ้น
- หลบเลี่ยง MEV Bot ก็ได้เช่นกัน
– Dynamic Fees
Uniswap V2 และ V3 จะมีการกำหนดค่าธรรมเนียมได้ 4 ค่าเท่านั้น คือ 0.01%, 0.05%, 0.3% และ 1% แม้ว่าจะดูครบถ้วนแต่ถ้าเลือกไปแล้ว ก็ไม่สามารถปรับแก้ไขระหว่างให้บริการสภาพคล่องได้
แต่เราสามารถใช้ Hook เขียนคำสั่งให้สามารถแก้ไข Fee ให้ปรับเปลี่ยนตาม Volatility ของตลาด หรือ Input ที่เรากำหนดได้ เช่น ตอนที่ตลาดซื้อขายมากก็เพิ่ม Fee และลด Fee เมื่อตลาดค่อนข้างเงียบ ความยืดหยุ่นนี้จะช่วยผู้เพิ่มสภาพคล่องให้สามารถรีดผลตอบแทนสูงสุดในทุกช่วงตลาดได้ดียิ่งขึ้นไปอีก
– Onchain Limit Orders
Limit Order เป็นการตั้งราคาซื้อ-ขายที่เราต้องการลงไป เมื่อราคาวิ่งไปถึงจุดที่เรากำหนด Smart Contract ของเราก็จะทำงานโดยอัตโนมัติ วิธีการนี้จะใช้ใน DEX ทั่วไปไม่ได้ แต่สำหรับ Uniswap V4 หรือ DEX อื่นๆที่อัปเดตมาในช่วง 1 ปีที่ผ่านมานี้ เริ่มมีหลายแพลตฟอร์มรองรับ Function นี้ก่อนเรียบร้อยแล้ว
– ฝาก LP ที่หลุด Range เข้าไปใน Lending protocol ทันที
ใครที่เคยใช้ Uniswap V3 มาก่อนจะทราบดีว่าหากคู่เหรียญที่เราฝากเข้าไปนั้น ราคาวิ่งเกิน “กรอบราคา” ที่เรากำหนด จะทำให้ไม่ได้รับค่าธรรมเนียมนอกกรอบราคา และทำให้ LP ของเรานั้น “All in ไปกับเหรียญที่มูลค่าน้อยกว่า”
เช่น การเพิ่มสภาพคล่อง ETH-USDT ใน Range “1,500 – 2,000” หากราคา ETH มากกว่าหรือเท่ากับ $2,000 >> LP จะ All in USDT เพราะมูลค่าต่ำกว่า ETH ที่กำลังราคาสูงขึ้น ในขณะเดียวกันถ้า ETH ราคาต่ำกว่าหรือเท่ากับ 1,500 >> LP จะ All in ETH ให้เพราะ ETH ราคาต่ำกว่า เป็นต้น
ซึ่งเมื่อเกิดการ All in แล้วทำให้ LP เหมือนกับไม่ได้เพิ่มสภาพคล่อง ดังนั้นเราสามารถปรับแต่ Hook ให้นำ LP นี้แตกออกจาก Uniswap V4 แล้วไปปล่อยกู้ใน Lending Protocol อื่นๆ เช่น Compound และ Aave ได้ ซึ่งทำให้สภาพคล่องของเรานั้นได้รับผลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์ในเรื่อง “การปรับแต่ง Oracle”, การนำ Fee จาก LP มาทบต้นให้ (ปกติ V3 ทำไม่ได้) หรือ Uniswap V4 จะทำ Internal MEV เองแล้วนำรายได้แบ่งให้ผู้ถือสภาพคล่องก็เช่นกัน จะเห็นว่า Hook นั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้หลากหลายอย่างมาก
2. Singleton
Singleton เป็นการ “รวมทุก Pool ไว้ใน Smart Contract เดียว” จากปกติที่การสร้าง Pool ใน Uniswap V3 แต่ละครั้งจะเป็นเหมือนกันสร้าง Smart Contract ใหม่ขึ้นมา ซึ่งมีข้อเสียคือ ค่าแก๊ส/ค่าใช้จ่ายในการสร้างสูงมาก เพราะเป็น Smart contract ที่ละเอียด การเปลี่ยนเป็น Singleton จึงมีข้อดีคือลดค่าแก๊สเป็นหลัก
– ลดค่าแก๊สจากการรวม Pool ไว้ใน Smart Contract เดียว
การที่รวมทุก Pool ไว้ใน Smart Contract เดียวกันจะช่วยประหยัดค่า Gas ในการสร้าง Pool ใหม่ได้ถึง 99% (จากการประมาณ) เพราะ Smart Contract ตัวหลักนั้นได้สร้างไว้แล้ว การสร้าง Pool ใหม่หลังจากนี้จะไม่จำเป็นต้องเป็น Smart Contract ที่ยาวและยุ่งยากซับซ้อนอีกต่อไป
– ลดค่าแก๊สจาก Flash accounting (รอ EIP-1153)
การที่ทุก Pool อยู่ใน Smart Contract เดียวกันนั้น เราสามารถทำ “Flash Accounting System” ซึ่งเป็นการรายงาน Net Balance ของเหรียญทั้งหมดได้เลย โดยที่ไม่ต้องรายงานทุกการ Swap แต่ละครั้ง ยกตัวอย่าง คือ
โดยสมมติให้ 1 ETH = $1,700
- นาย A ต้องการ Swap USDC -> USDT จำนวน 1,000,000 USDC
- นาย B ต้องการ Swap USDC -> USDT จำนวน 500,000 USDC
- นาย C ต้องการ Swap USDT -> USDC จำนวน 900,000 USDC
- นาย D ต้องการ Swap USDT -> USDC จำนวน 300,000 USDC
สรุปผลกระทบของ Pool จะมีดังนี้
- USDT -300,000
- USDC +300,000
หากเป็นการรายงานผลการ Swap แบบปกติลง Smart Contract จะต้องรายงานทั้งหมด 4 ครั้ง แต่สำหรับ Flash Accounting System จะรายงานเพียงครั้งเดียวว่ามีการ Swap 300,000 USDC เป็น 300,000 USDT ก็ได้ผลลัพธ์เหมือนกันแล้ว ช่วยให้ประหยัดค่าแก๊สอีกทางหนึ่งได้เช่นกัน
แต่ระบบนี้ยังไม่พร้อมใช้งานจนกว่า EIP-1153: Transient storage opcodes จะเริ่มใช้งาน (Uniswap Labs คาดว่าจะรวมอยู่ใน Hard Fork ครั้งหน้า)
สามารถใช้ ETH แทน WETH
การเพิ่มสภาพคล่องใน Uniswap V4 บางครั้งจะต้องใช้ Wrapped ETH (WETH) แทน ซึ่งสร้างความวุ่นวายให้ผู้ใช้งานในการเพิ่มอีก 1 ขั้นตอน ดังนั้นการที่ V4 เปิดให้ใช้ ETH Native Token ได้โดยตรงจะช่วยให้ลดค่าแก๊าและความวุ่นวายได้ดีขึ้น
Governance
Uniswap V4 ยังความเป็น Public Infrastructure อยู่ซึ่งหมายความว่า Smart Contract ที่เขียนลงไปนั้นจะไม่สารถแก้ไขย้อนหลังได้ (Non-Upgradable) และมีความ Decentralization จากการให้ Uniswap DAO หรือผู้ถือ $UNI เป็นคนร่วตัดสินใจทิศทางของ Uniswap เช่นเดิม ยกตัวอย่างเช่น Fee Switch ก็ยังนำมาให้ UNI Holder Vote เช่นเดิม
License
Uniswap V4 มีการจด Business Source License 1.1 คุ้มครอง Code เป็นระยะเวลาสูงสุด 4 ปี ทำให้ในช่วงที่เริ่มใช้งาน จะไม่มีใคร Fork ไปใช้งานได้ แม้การใช้ License คุ้มครองให้ไม่มีใครลอกได้จะเป็นอะไรที่ค่อนข้างขัดกับความ Decentralized แต่ Uniswap V2 เคยให้บทเรียนมาแล้วว่าการเปิด Public จะทำให้มี Vampire Attack อย่าง Sushiswap กำเนิดขึ้นแล้ว Fork Code ไปใช้งานทันที ดังนั้นการมีการคุ้มครองระดับหนึ่งในช่วงแรกจึงยอมรับได้ แต่ผู้เขียนมองว่า 4 ปีเป็นการคุ้มครองที่นานเกินไป
Timeline
ในตอนนี้ Uniswap V4 อยู่ในระหว่าง Audit และมีการให้ Community ช่วยตรวจสอบโค้ดแล้ว ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นานก็พร้อมใช้งานจริง
สรุป
Uniswap V4 ถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าทางวงการ DEX ครั้งใหญ่อีกครั้ง นอกจากจะเสริมความแข็งแกร่งของ Concentrated Liquidity ที่ทำได้ดีมากแล้วใน V3 ให้ดียิ่งขึ้น ยังมีการพัฒนา Hook และ Singleton ที่ช่วยลดค่าแก๊สและประสบการณ์ใช้งานให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
เรามองว่าหลังจากนี้ DEX จะเริ่มมี Function ที่ดีเทียบเท่ากับ CEX มากขึ้นเรื่อยๆทั้งสภาพคล่องและการใช้งานที่สะดวก โดยในช่วงที่เขียนนั้นกำลังเป็นช่วงที่ ก.ล.ต.สหรัฐกำลังเนินหน้าฟ้องร้อง Binance US และ Coinbase ในเรื่องการให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน (unregistered Security) ก็ได้ทำให้ Volume ของ DEX เพิ่มขึ้น 444% ทันที
หลังจากนี้ DEX จะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆในการเป็น “ทางออก” ให้กับนักลงทุนที่ไม่เชื่อมั่นในตัวกลาง หรือคนที่ต้องการมีอิสรภาพในการใช้งานของตัวเองโดยที่ไม่ต้องรายงานทุกธุรกรรมกับรัฐบาลที่พยายามเริ่มต้นทดลอง Retail CBDC ในวงจำกัด
Uniswap V4 จะยังคงเป็น DEX อันดับต้นๆที่เริ่มนักลงทุนคิดถึงต่อไปได้หรือไม่ ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ครับ
Author
-
A guy who loves crypto like Bitcoin and Ethereum. He's not the best writer, but his love for DeFi makes up for it. He's an easygoing guy who makes learning about crypto fun and easy.
View all posts