ในช่วงที่ผ่านมา เราคงจะได้เห็นข่าวคราวเกี่ยวกับ Narratives ใหม่ที่เริ่มถูกพูดถึง นั้นก็คือ Decentralized Science (DeSci) หลังมีภาพของ Vitalik Buterin ผู้ก่อตั้ง Ethereum และ CZ ผู้ก่อตั้ง Binance ในงานพูดคุยเกี่ยวกับ DeSci ที่ประเทศไทยในช่วง DevCon ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ Binance Labs เอง ก็ได้ประกาศลงทุนใน BIO Protocol ซึ่งเป็นโปรเจกต์เกี่ยวกับ Decentralized Science
วันนี้ Cryptomind Research จะมาอธิบายให้ฟังว่า DeSci มันคืออะไร และมีที่มาที่ไปอย่างไร
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา วงการวิทยาศาสตร์กำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ นั่นคือการที่อำนาจในการตัดสินใจต่างๆ กระจุกตัวอยู่ที่สถาบันใหญ่ๆ เพียงไม่กี่แห่ง ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ สำนักพิมพ์วารสารวิชาการ หรือบริษัทยายักษ์ใหญ่ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อทิศทางการวิจัยและการเข้าถึงความรู้ทางวิทยาศาสตร์
ปัญหาหลักๆ ที่พบในวงการวิทยาศาสตร์แบบเดิมคือ การที่นักวิจัยเข้าถึงเงินทุนได้อย่างยากลำบาก โดยเฉพาะนักวิจัยรุ่นใหม่หรือนักวิจัยอิสระที่ไม่ได้สังกัดสถาบันใหญ่ๆ นอกจากนี้ การตีพิมพ์ผลงานในวารสารชั้นนำก็มีค่าใช้จ่ายสูง และยังต้องผ่านกระบวนการ Peer Review ที่ใช้เวลานาน บางครั้งอาจนานถึง 1-2 ปีกว่าบทความจะได้รับการตีพิมพ์
Decentralized Science หรือ DeSci เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยนำเทคโนโลยี Blockchain มาปรับใช้ในวงการวิทยาศาสตร์ แนวคิดหลักคือการกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง ให้นักวิจัยสามารถดำเนินการต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุน การเผยแพร่ผลงาน หรือการร่วมมือกับนักวิจัยคนอื่นๆ
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ สมมติว่ามีนักวิจัยกำลังพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่ แทนที่จะต้องรอทุนจากรัฐบาลหรือบริษัทยา เขาสามารถสร้าง Research DAO (Decentralized Autonomous Organization) เพื่อระดมทุนจากประชาชนที่สนใจได้โดยตรง ผู้ที่ร่วมลงทุนจะได้รับ Token ซึ่งมีสิทธิในการรับผลตอบแทนหากวัคซีนประสบความสำเร็จ วิธีนี้ทำให้นักวิจัยไม่ต้องพึ่งพาแหล่งทุนแบบดั้งเดิมเพียงอย่างเดียว
DeSci ยังช่วยปฏิวัติระบบการตีพิมพ์ผลงานวิจัยด้วย แทนที่จะต้องส่งบทความไปให้วารสารพิจารณา นักวิจัยสามารถเผยแพร่ผลงานบน Blockchain ได้ทันที โดยระบบ Peer Review จะเปิดให้ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกมาช่วยตรวจสอบและให้ความเห็น ซึ่งทำให้กระบวนการเร็วขึ้นและโปร่งใสมากขึ้น เพราะทุกความเห็นจะถูกบันทึกไว้บน Blockchain
การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาก็เป็นอีกจุดเด่นของ DeSci โดยนักวิจัยสามารถสร้าง IP-NFT (Intellectual Property NFT) เพื่อจดสิทธิบัตรหรือลิขสิทธิ์ผลงานวิจัยได้ ซึ่งทำให้พวกเขามีอำนาจในการจัดการผลงานของตัวเองอย่างเต็มที่ สามารถขายสิทธิ์หรือให้ใช้งานต่อได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง
นอกจากนี้ DeSci ยังส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยทั่วโลก เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลและแชร์ทรัพยากรกันได้ง่ายขึ้น เช่น นักวิจัยในไทยอาจพบข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากงานวิจัยในบราซิล และสามารถติดต่อร่วมมือกันได้ทันทีผ่าน DeSci Platform โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนยุ่งยากของสถาบัน
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ DeSci จะช่วยทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของทุกคนมากขึ้น ไม่ใช่แค่นักวิทยาศาสตร์หรือสถาบันวิจัยเท่านั้น ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมลงทุนในโครงการวิจัยที่สนใจ การเข้าถึงข้อมูลงานวิจัยได้ฟรี หรือแม้แต่การร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Citizen Science Project ที่ให้ประชาชนช่วยเก็บข้อมูลหรือทำการทดลองง่ายๆ
ซึ่งจริงๆ แล้ว DeSci ไม่ใช่สิ่งให้ แต่มันเป็นคอนเซ็ปต์ที่เคยเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2017 แล้ว อย่าง Molecule Protocol ที่เป็น Platform สำหรับระดมทุนวิจัยด้านยาและการแพทย์ ซึ่งนักวิจัยสามารถ Tokenize งานวิจัยและขายให้นักลงทุนได้
หรืออย่าง VitaDAO ซึ่งเป็น DAO ที่ระดมทุนสำหรับวิจัยด้าน Longevity และ Anti-aging ก็ได้มีการใช้ระบบ IP-NFTs ในการจัดการสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญา และให้สมาชิกสามารถโหวตเลือกโครงการวิจัยที่จะให้ทุนได้
แม้ว่า DeSci จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ศักยภาพของมันในการเปลี่ยนแปลงวงการวิทยาศาสตร์นั้นมหาศาล เราอาจได้เห็นการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่เร็วขึ้น การพัฒนายาใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้ป่วยมากขึ้น และการเข้าถึงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ง่ายขึ้นสำหรับทุกคน ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและเท่าเทียมมากขึ้นในอนาคต
ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้ว DeSci จะกลายมาเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงวงการวิทยาศาสตร์ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน หรือว่าจะเป็นเพียงแค่กระแสที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปเท่านั้น