Search
Close this search box.
Cross-chain bridge
Cross-chain bridge

Cross-chain bridge เป็นกลไกที่ช่วยในการเคลื่อนย้าย Asset และข้อมูลระหว่างเครือข่ายบล็อกเชนที่แตกต่างกันได้ ซึ่งรายละเอียดการออกแบบ Blockchain แต่ละตัวนั้นล้วนแตกต่างกันทั้งภาษาที่เขียน Software ที่ใช้ประมวลผล เป็นต้น ทำให้การสื่อสารข้ามกันระหว่างเชนด้วยกันนั้นยังไม่สามารถทำได้ราบรื่นนัก ซึ่งความสามารถในการทำงานร่วมกันข้ามเครือข่าย (Cross-chain interoperability) ถือเป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอุตสาหกรรม Blockchain และคริปโตฯ ซึ่งตัว Cross-chain bridge นี้เองที่เข้ามาช่วยเชื่อมต่อระหว่างเครือข่าย

ที่มาของ Cross-chain bridge

หลังจากการเกิดขึ้นของ Smart Contract Blockchain อย่าง Ethereum ทำให้การใช้งานและเม็ดเงินต่างหลั่งไหลเข้ามาในโลก Cryptocurrency มากขึ้น ทั้งการประยุกต์ไปทำการระดมทุนโดยไม่ต้องผ่านรัฐอย่าง ICO, การสร้างระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลางอย่าง DeFi และ NFT, GameFi รวมถึง Metaverse ที่เริ่มเชื่อมโยง Use Cases ต่างๆให้มีเข้าถึงกลุ่มคนทั่วไปได้มากขึ้น

แต่การใช้งานที่มากขึ้นบน Ethereum ก็ทำให้เกิดความหนาแน่นของธุรกรรมจนช้าและค่าธรรมเนียมสูง จึงเกิด Blockchain Layer 1 ทางเลือกขึ้นมามากมายโดยมีทั้งเน้นไปที่ความเร็วเป็นหลักบ้าง เน้นการใช้งานด้านเกมส์หรือ NFT เป็นหลักบ้าง โดยในตอนนี้มีมากกว่า 150 เชนที่ลิสต์อยู่ในรายชื่ออย่างเป็นทางการบน Defillama แล้ว ดังนั้นจึงมีแนวคิดเกี่ยวกับ Solution ต่างๆในการส่งข้อมูลระหว่างเชนขึ้นมา ซึ่งหนึ่งในนั้นที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุดก็คือการใช้ Cross-chain bridge ที่ใช้ในการส่ง Asset ข้ามเชน 

ประเภทของ Cross-chain bridge

โดยในปัจจุบันส่วนมากเทคโนโลยีที่คนพูดถึงกันเยอะที่สุดก็มีอยู่ 2 ประเภทหลักด้วยกันคือ Intermediate Layer และ Light Client ช่วยในการเป็นตัวกลางในการส่งข้อมูลระหว่างสองเชน โดยแต่ละวิธีก็มีจุดเด่นและจุดด้อยที่แตกต่างกันไป 

Intermediate Layer คืออะไร

Intermidiate Layer หรือ Middle Chain เป็นตัวกลางที่อยู่ระหว่าง Blockchain ทั้งสองที่ต้องการสื่อสารระหว่างกัน โดย Middle Chain นี้มีหน้าที่รับข้อมูล (Receive), ตรวจสอบความถูกต้อง (Validate) และส่งคำสั่งหรือข้อมูลระหว่างเชน ยกตัวอย่างโปรเจกต์ที่เป็น Intermediate layer ที่เรารู้จักกันดี อย่างเช่น Relay chain ของ Pokadot นั่นเอง ซึ่งข้อดีของ Intermediate Layer คือ แม้ว่าจะเป็นวิธีการที่เข้าใจได้ง่าย มีประสิทธิภาพ และต้นทุนไม่สูง (เมื่อเทียบกับ Light Node) อย่างไรก็ตาม Intermediate layer ก็ยังข้อจำกัดที่น่ากังวล อย่างเช่น

  • การทำงานร่วมกันที่ถูกจำกัด (Limited Composability): มีข้อจำกัดในการเชื่อมต่อบล็อกเชนที่ใช้ภาษาแตกต่างกัน นอกจากนี้ การทำงานร่วมกันอาจถูกจำกัดเพียงแค่รับ-โอนสินทรัพย์ระหว่างกันด้วยเหรียญ Wrapped Token เท่านั้น เช่น USDC.e บน Avalanche จะอ้างอิง USDC ที่โอนมาจาก Ethereum หรือบางเหรียญที่ไม่ถูกเขียนให้รองรับก็ไม่อาจส่งข้ามมาหากันได้ 
  • จุดเดียวของความล้มเหลว (Single Point of Failure): ด้วยความที่ตัวกลางอย่าง Intermidiate Layer เป็นศูนย์กลางที่เชื่อมระหว่างทั้งสองเชน ทำให้เกิดการรวมศูนย์ (Centralization) ซึ่งถึงแม้ว่าเรื่องของความ Decentralization นั้นจะสามารถเพิ่มได้ตามจำนวน Node แต่ก็ยังถือเป็นจุดอ่อนที่ร้ายแรงหาก Intermidiate Layer นี้มีปัญหา ทั้งสองเชนก็จะไม่สามารถสื่อสารกันได้ หรือหากกรณีที่ร้ายแรงกว่านั้นคือการเป็นเป้าหมายที่ถูกเพ่งเล็งจากการแฮคได้ง่าย เพราะมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการส่งคำสั่งให้ทั้งสองเชนอย่างอิสระ

On-chain Light Node คืออะไร

On-chain Light Node หรือ Light Client เป็นอีกทางเลือกสำหรับการเชื่อมต่อระหว่างสองเชน ที่ช่วยแก้ปัญหาและข้อจำกัดต่างๆของวิธีการแบบ Intermediate layer โดยมีความปลอดภัยและยืดหยุ่นกว่า Intermediate layer อย่างไรก็ตาม ข้อเสียคือต้นทุนค่อนข้างสูงกว่า ยกตัวอย่าง Cross-chain bridge ที่เป็น On-chain light node เช่น Rainbow bridge เป็นต้น

ความเสี่ยงของ Cross-chain bridge

ถึงแม้ Cross-chain bridge จะมีประโยชน์ในหลายด้าน แต่ก็ยังมีข้อเสียบางอย่างที่ตามมาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่อาจมีช่องโหว่และถูกผู้โจมตีใช้เพื่อขโมย Asset จำนวนมากได้ ซึ่งในปี 2022 ถือว่าเป็นปีที่ยากลำบากของโปรโตคอลกลุ่ม Cross-chain Bridge อย่างมาก เพราะจากข้อมูลของ Chainanalysis บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลด้าน Blockchain พบว่า Cross-chain Bridge โดนแฮคมากกว่า 2,000 ล้านดอลาร์สหรัฐในปีเดียว 

นอกจากนี้ Cross-chain bridge ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้มีข้อจำกัดในด้านการใช้งาน อย่างเช่น Liquidity, ความยุ่งยากในการเขียนโค้ดเพื่อรองรับบล็อกเชนที่ต่างกัน, ปัญหาความเร็วในการทำธุรกรรมเมื่อเกิดคอขวด เป็นต้น

อนาคตของ Cross-chain bridge

ในปัจจุบัน Cross-chain ยังมีปัญหาอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะเกิดการพัฒนา Cross-chain bridge ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังอาจมีการพัฒนาโปรโตคอลการสื่อสารข้ามเชนแบบใหม่ที่ไม่ใช่ Cross-chain bridge ตามมาด้วยก็ได้