Search
Close this search box.

“Ethereum Layer 2” การแข่งขันเพื่อครองความเป็น Solutions ที่ดีที่สุด

  • Siwakorn Samutthong

    Analyst/Researcher at Cryptomind. Founder at Jolden Crypto. Ethereum/L2 Enthusiast.

Share :
L2

Table of Contents

Ethereum Layer 2 คืออะไร

.

.

Ethereum Layer 2 คือโซลูชั่นที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกำจัดความช้าและจุดอ่อนต่างๆของ Ethereum เครือข่ายหลัก โดยแต่เดิม Ethereum เครือข่ายหลักนั้นสามารถรองรับธุรกรรมได้เพียง 15 ธุรกรรมต่อวินาที แถมยังมีค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่สูงเนื่องจากความสามารถรองรับธุรกรรมได้น้อย ทาง Ethereum Layer 2 จึงสามารถเข้ามาช่วยเหลือเครือข่าย Ethereum ในการลดความแออัดของเครือข่าย, ช่วยให้ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมถูกลง และมีการยืนยันธุรกรรมได้รวดเร็วยิ่งขึ้นนั่นเอง

.

หากให้เปรียบเทียบง่ายๆ Ethereum เครือข่ายหลักนั้นเปรียบเสมือนถนนเส้นทางหลัก ที่จะมีรถยนต์คอยวิ่งไปมาสัญจรอยู่เรื่อยๆ (เปรียบเสมือนการทำธุรกรรมของเครือข่าย Ethereum) และ Layer 2 ก็เปรียบเสมือนทางด่วน ซึ่งถ้ารถยนต์บนถนนหลักนั้นมีมากก็จะทำให้เกิดปัญหารถติด รถยนต์ต่างๆจึงจะต้องขึ้นทางด่วน เพื่อเป็นการระบายรถจากถนนหลักออกไป ทางด่วนที่มีรถยนต์น้อยกว่า ก็จะสามารถวิ่งถึงที่หมายได้เร็วกว่า (เปรียบเสมือนความเร็วในการทำธุรกรรมของ Layer 2 นั้นจะเร็วกว่า Ethereum เครือข่ายหลัก) โดยสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็นถนนหลักหรือทางด่วน ก็ให้ความปลอดภัยในการเดินทางที่เท่ากัน (เปรียบเสมือนการใช้งานใน Layer 2 ก็จะให้ความปลอดภัยเทียบเท่ากับ Layer 1)

.

ซึ่งโดยปกติคำว่า Layer 2 จะสามารถใช้ได้ในทุกบล็อคเชน ที่มีการสร้างเครือข่ายเสริมออกมา เพื่อช่วยเหลือเครือข่ายหลักให้มีการทำงานที่น้อยลง และคงประสิทธิภาพการทำงานได้เท่าเดิม เพราะหากเครือข่ายนั้นๆเกิดการ Mass Adoption ขึ้น มีคนเข้ามาใช้งานเป็นจำนวนมาก และคนเข้ามาใช้งานเกินกว่าที่เครือข่ายจะรับไหว เครือข่ายนั้นๆอาจมีการทำธุรกรรมที่ช้าลง ค่าธรรมเนียมธุรกรรมแพงขึ้น ส่งผลให้ผู้คนต้องหนีไปใช้งานเครือข่ายใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม  

.

ยกตัวอย่างเช่น เครือข่าย Avalanche ซึ่งเป็น Infrastructure Layer 1 ก็ได้มีการสร้าง Layer 2 ขึ้นมาที่มีชื่อว่า “Subnet” โดยมันเป็นเครือข่ายเสริมที่จะเข้ามาช่วยระบายธุรกรรมจากเครือข่ายหลักให้เข้ามายังเครือข่ายเสริม และยังคงให้ความปลอดภัยเทียบเท่ากับการใช้งานในเครือข่ายหลักอีกด้วย จึงถือเป็นการเพิ่มศักยภาพของ Avalanche ในระยะยาว เป็นต้น

.

แต่ Layer 2 ที่จะพูดถึงในบทความนี้ จะเป็นการพูดถึง Layer 2 ของเครือข่าย Ethereum เท่านั้น   

.

.

ทำไมต้องมี Ethereum Layer 2

.

.

ในช่วงยุค DeFi Summer หรือยุคทองของ DeFi ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2020 เป็นต้นมา ผู้คนเข้ามาใช้งาน DeFi กันเป็นจำนวนมาก และในขณะนั้นเอง DeFi ส่วนใหญ่ก็ถูกสร้างอยู่บนเครือข่าย Ethereum เพราะ Ethereum เป็นเครือข่ายที่มี Smart Contract ที่เหมาะแก่การเข้ามาสร้าง DApps ต่างๆ, เป็นเครือข่ายที่มีความปลอดภัยมากที่สุดตัวนึง และทุกวันนี้ถึงแม้ตลาดคริปโตและ DeFi จะซบเซา แต่ DApps ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นอย่าง Uniswap, Compound, Synthetix, Aave ก็ยังคงมีรายได้และผู้ใช้งานเข้ามาใช้งานอยู่เรื่อยๆ และสัดส่วน Marketshare ของ DeFi ส่วนใหญ่ก็ยังคงอยู่ในเครือข่าย Ethereum ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความสำคัญและ Value ของเครือข่าย Ethereum ในระยะยาว ว่าถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้วตลาดจะไปในทิศทางไหน ผู้คนก็ยังให้ความสนใจและความเชื่อใจที่จะฝากเงินเอาไว้กับเครือข่าย Ethereum เป็นส่วนใหญ่

.

แต่ด้วยข้อเสียของเครือข่าย Ethereum ที่สามารถรองรับธุรกรรมได้น้อย จึงทำให้ไม่สามารถรองรับการใช้งานจากผู้ใช้งานทั่วโลกที่มหาศาลขนาดนี้ได้ จึงส่งผลให้ค่าธรรมเนียมเครือข่ายพุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก และมีการยืนยันธุรกรรมที่ช้ามากกว่าเดิม

.

ประกอบกับช่วงกลางปี 2021 ซึ่งเป็นยุคทองของ NFT และ GameFi ก็ยิ่งทำให้ความต้องการในการใช้งานเครือข่าย Ethereum ยิ่งพุ่งสูงขึ้นไปใหญ่ หากอ้างอิงจากรูปภาพด้านล่าง ในช่วงกลางปี 2021 นั้น เครือข่ายมีค่าแก๊สเฉลี่ยราวๆ 100-200 Gwei เลยทีเดียว ก่อนที่จะลดลงมาในระดับราวๆ 20-40 Gwei ในปัจจุบันอันเนื่องมาจากสภาพของตลาดคริปโตที่ผันผวนอย่างหนัก ซึ่งหากนึกภาพไม่ออกว่าค่าแก๊สราวๆ 100-200 Gwei คิดเป็นมูลค่าประมาณกี่ดอลลาร์ หากอ้างอิงที่ค่าแก๊ส 118 Gwei และราคาเหรียญ ETH ประมาณ $3,300 จากการ Swap เหรียญผ่านแพลตฟอร์ม Uniswap V3 ครั้งนึงจะเสียค่าธรรมเนียมราวๆ $58-$60 หากต้องการจะส่งโทเค็น ERC-20 ไปที่ Address อื่น จะเสียค่าธรรมเนียมราวๆ $18-$20 และหากต้องการจะเพิ่ม/ถอนสภาพคล่องคู่ LP จะเสียค่าธรรมเนียมราวๆ $52-$54 เป็นต้น

.

สิ่งเหล่านี้เองจึงตอกย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มศักยภาพของเครือข่าย Ethereum ที่จะต้องพัฒนา Layer 2 ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้นั่นเอง

กราฟแสดง Ethereum Gas Price (Gwei) 3 ปีย้อนหลัง

รูปภาพจาก : LINK

.

.

Ethereum Layer 2 แบ่งออกเป็นกี่ประเภท

การแบ่งประเภทของ Ethereum Layer 2

รูปภาพจาก : LINK

รูปภาพจาก : LINK

การแบ่ง Layer 2 ของ Ethereum จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆอ้างอิงตามเทคโนโลยีในการตรวจสอบธุรกรรมและวิธีการในการบันทึกธุรกรรม โดยทั้งสองประเภทใหญ่ก็จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อยๆอีกที ได้แก่ ในเรื่องของเทคโนโลยีในการตรวจสอบธุรกรรม จะแบ่งออกเป็น Fraud Proof และ Validity Proof ส่วนในเรื่องของวิธีการในการบันทึกธุรกรรม ก็จะแบ่งออกเป็น On Chain และ Off Chain นั่นเองครับ

.

1) Plasma จะใช้วิธีการตรวจสอบธุรกรรมแบบ Fraud Proof และมีการบันทึกธุรกรรมแบบ Off Chain

2) Validium จะใช้วิธีการตรวจสอบธุรกรรมแบบ Validity Proof และมีการบันทึกธุรกรรมแบบ Off Chain

3) Optimistic Rollups จะใช้วิธีการตรวจสอบธุรกรรมแบบ Fraud Proof และมีการบันทึกธุรกรรมแบบ On Chain

4) zk-Rollups จะใช้วิธีการตรวจสอบธุรกรรมแบบ Validity Proof และมีการบันทึกธุรกรรมแบบ On Chain

.

ก่อนจะเข้าเรื่องความแตกต่างระหว่าง Fraud Proof และ Validity Proof นั้น ก็อยากให้เข้าใจในกระบวนการคำนวณ ตรวจสอบ และบันทึกธุรกรรมระหว่าง Layer 2 และเครือข่าย Ethereum ก่อน ว่ามีขั้นตอนอะไรที่เราต้องรู้บ้าง และขั้นตอนไหนจะเกิดก่อนและหลัง

.

โดยปกติแล้ว หลังจากเรามีการทำธุรกรรมใน Layer 2 สำเร็จ ระบบก็จะมีการคำนวณธุรกรรมและมีการสร้างสิ่งที่เรียกว่า “เอกสาร Proof” ขึ้นมา เพื่อให้เอกสาร Proof ตัวนี้ถูกนำไปตรวจสอบและบันทึกต่อไป ซึ่งเอกสาร Proof จะมีการตรวจสอบและบันทึกลงใน Layer 2 เหมือนเดิม หรือมีการนำไปตรวจสอบและบันทึกลงบนเครือข่าย Ethereum ก็จะขึ้นอยู่กับรูปแบบของการบันทึกธุรกรรมว่าจะมีการบันทึกธุรกรรมแบบ On Chain หรือบันทึกธุรกรรมแบบ Off Chain

.

เพราะฉะนั้น ความแตกต่างระหว่าง On Chain และ Off Chain ก็คือ Layer 2 ที่ใช้วิธีการบันทึกธุรกรรมแบบ On Chain นั้น ระบบจะมีการ ”คำนวณ” ธุรกรรมภายใน Layer 2 และมีการส่งไป ”ตรวจสอบและบันทึก” ลงบนเครือข่าย Ethereum แต่ Layer 2 ที่ใช้วิธีการบันทึกธุรกรรมแบบ Off Chain นั้น ระบบจะมีการคำนวณธุรกรรมภายใน Layer 2 เช่นเดียวกัน แต่จะมีการตรวจสอบและบันทึกลงบน Layer 2 นั้นๆเลย 

.

เพราะฉะนั้น การบันทึกธุรกรรมแบบ On Chain จะให้ความปลอดภัยของ Layer 2 ที่เทียบเท่ากับเครือข่าย Ethereum เลย เนื่องจากมีการนำกลับไปตรวจสอบและบันทึกลงบน Ethereum ส่วน Layer 2 ที่มีการบันทึกธุรกรรมแบบ Off Chain ความปลอดภัยก็จะขึ้นอยู่กับ Layer 2 ตัวนั้นๆ ไม่ได้มีความปลอดภัยของ Ethereum เข้ามาเกี่ยวข้องเลยนั่นเอง

.

รู้จักความแตกต่างระหว่างการบันทึกธุรกรรมแบบ On Chain และ Off Chain ไปแล้ว ต่อไปก็มารู้จักกับความแตกต่างระหว่าง Fraud Proof และ Validity Proof กันดีกว่า โดยการตรวจสอบธุรกรรมแบบ Fraud Proof จะมีขั้นตอนต่างๆดังนี้

.

1) เกิดธุรกรรมใน Layer 2 ขึ้น

.

2) ระบบนำธุรกรรมใน Layer 2 ไปคำนวณ และสร้างเอกสาร Proof ขึ้นมา เพื่อรอการตรวจสอบและบันทึกธุรกรรม

.

3) เอกสาร Proof จะถูกส่งไปตรวจสอบและบันทึกลงเครือข่าย Ethereum หากเป็น Layer 2 ที่ใช้การบันทึกธุรกรรมแบบ On Chain และเอกสาร Proof จะถูกส่งไปตรวจสอบและบันทึกธุรกรรมลง Layer 2 ตัวนั้นๆเลยหากเป็น Layer 2 ที่ใช้การบันทึกธุรกรรมแบบ Off Chain

.

4) คอนเซปของ Fraud Proof คือ ระบบจะมองว่าธุรกรรมที่ถูกส่งมาจาก Layer 2 นั้น “ถูกต้องทั้งหมด” จึงไม่ต้องมีการตรวจสอบใน Layer 2 และจะส่งไปตรวจสอบใน Ethereum (On Chain) หรือ Solutions นั้น (Off Chain) เลย เพื่อลดระยะเวลาในการดำเนินธุรกรรม

.

5) หลังจากส่งไปรอตรวจสอบแล้ว ระบบจะต้องรอเวลา 1-2 อาทิตย์ หากระบบไม่ตรวจเจอข้อผิดพลาดของธุรกรรม ธุรกรรมเหล่านั้นก็จะถูกบันทึกลงบนเครือข่ายนั้นๆเลย แต่หากระบบเจอธุรกรรมที่ผิดพลาด ธุรกรรมก็จะถูกตีกลับเพื่อนำไปคำนวณใหม่นั่นเอง

(การตรวจสอบธุรกรรมแบบ Fraud Proof)

.

และการตรวจสอบธุรกรรมแบบ Validity Proof จะมีขั้นตอนต่างๆดังนี้

.

1) เกิดธุรกรรมใน Layer 2 ขึ้น

.

2) ระบบนำธุรกรรมใน Layer 2 ไปคำนวณ และสร้างเอกสาร Proof ขึ้นมา เพื่อรอการตรวจสอบและบันทึกธุรกรรม

.

3) เอกสาร Proof จะถูกส่งไปตรวจสอบและบันทึกลงเครือข่าย Ethereum หากเป็น Layer 2 ที่ใช้การบันทึกธุรกรรมแบบ On Chain และเอกสาร Proof จะถูกส่งไปตรวจสอบและบันทึกธุรกรรมลง Layer 2 ตัวนั้นๆเลยหากเป็น Layer 2 ที่ใช้การบันทึกธุรกรรมแบบ Off Chain

.

4) คอนเซปหลักของ Validity Proof ที่ใช้การบันทึกธุรกรรมแบบ On Chain คือ “ผู้ที่ตรวจสอบธุรกรรมในเครือข่าย Ethereum จะต้องทำงานได้เร็วกว่า ผู้ที่คำนวณธุรกรรมใน Layer 2” ซึ่ง Validity Proof ที่บันทึกธุรกรรมแบบ On Chain จะแตกต่างกันอย่างชัดเจนกับ Fraud Proof ที่ใช้การบันทึกธุรกรรมแบบ On Chain นั่นก็คือ Fraud Proof จะมีการคำนวณให้เสร็จก่อน แล้วจึงส่งธุรกรรมไปรอตรวจสอบและบันทึกลง Ethereum หากผิดพลาดก็จะตีกลับ หากถูกต้องก็จะบันทึกลง Ethereum เลย 

.

5) แต่ Validity Proof นั้นจะมีการทำงานของการคำนวณธุรกรรมใน Layer 2 และการตรวจสอบธุรกรรมในเครือข่าย Ethereum ที่พร้อมๆกันอยู่ ซึ่งฟังมาถึงตรงนี้แล้วอาจทำให้หลายๆคนสับสนกัน เนื่องจากว่า “ทำไมเราถึงตรวจสอบไปพร้อมๆกับคำนวณได้ มันต้องคำนวณให้ได้ก่อน แล้วค่อยส่งไปตรวจสอบไม่ใช่หรอ?” ความจริงแล้วมันสามารถคำนวณและตรวจสอบไปพร้อมๆกันได้ครับ

.

6) สิ่งนี้เรียกว่า Zero Knowledge Proof หรือแปลเป็นไทยคือ “ความรู้เป็นศูนย์” โดยจุดหมายของคนที่คำนวณธุรกรรมใน Layer 2 และคนที่ตรวจสอบธุรกรรมใน Ethereum คือ คนที่ตรวจสอบธุรกรรมใน Ethereum นั้นไม่จำเป็นต้องรอการคำนวณจากคนที่คำนวณธุรกรรมใน Layer 2 เลย เนื่องจากเขาสามารถรู้ได้เองว่าคำตอบคืออะไร โดยที่ไม่ต้องย้อนกลับไปดูเลยว่าตัวเลขที่ใช้คำนวณนั้นมีอะไรบ้าง

.

7) หากเปรียบเทียบง่ายๆ คนที่คำนวณธุรกรรมใน Layer 2 นั้นเปรียบเสมือนนักเรียนที่กำลังคำนวณสมการที่ซับซ้อนต่างๆด้วยมือเปล่า และคนที่ตรวจสอบธุรกรรมใน Ethereum ก็เปรียบเสมือนอาจารย์ที่ใช้เครื่องคิดเลขในการคำนวณสมการเหล่านั้น ซึ่งการกดเครื่องคิดเลขของอาจารย์ อาจารย์ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ว่า สมการบรรทัดนี้ ใช้วิธีการคำนวณแบบนี้ หรือใช้ความรู้อะไรในการคำนวณ เพียงแต่ว่า หากสุดท้ายแล้ว คำตอบของนักเรียน (คนที่คำนวณธุรกรรมใน Layer 2) และคำตอบของอาจารย์ (คนที่ตรวจสอบธุรกรรมใน Ethereum) นั้นตรงกัน ก็เท่ากับว่าธุรกรรมนั้นก็จะถูกบันทึกลงบนเครือข่าย Ethereum เลยนั่นเอง

.

8) และ Validity Proof ที่ใช้การบันทึกธุรกรรมแบบ Off Chain ก็จะมีขั้นตอนและคอนเซปที่คล้ายกันเลย เพียงเปลี่ยนจากคนที่ตรวจสอบธุรกรรมใน Layer 1 เป็นคนตรวจสอบธุรกรรมใน Layer 2 ตัวนั้นๆ และคนตรวจสอบธุรกรรมจะต้องทำงานหรือคิดคำตอบให้ได้เร็วกว่าคนที่คำนวณธุรกรรมเหมือนกัน เป็นต้น

.

เพราะฉะนั้นแล้ว อีกหนึ่งข้อได้เปรียบของ Validity Proof นั่นก็คือ Validity Proof ไม่จำเป็นที่จะต้องรอการตรวจสอบ 1-2 อาทิตย์เหมือนกับ Fraud Proof เลย เนื่องจากถ้าคนที่คำนวณธุรกรรมและคนที่ตรวจสอบธุรกรรมนั้นสามารถทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไปได้เลย จึงทำให้ Validity Proof นั้นมีประสิทธิภาพในด้านการคำนวณและตรวจสอบที่เหนือกว่านั่นเอง

(การตรวจสอบธุรกรรมแบบ Validity Proof)

.

.

1) Plasma

.

.

Plasma เป็นประเภทของ Layer 2 ที่ใช้การตรวจสอบธุรกรรมแบบ Fraud Proof และมีการบันทึกธุรกรรมแบบ Off Chain โดย Plasma นั้นถือเป็น Layer 2 Scaling Solution ตัวแรกๆที่ได้มีการพัฒนาขึ้นมาและถูกเขียน Whitepaper ขึ้นในวันที่ 11 สิงหาคม 2017 โดย Joseph Poon กับ Vitalik Buterin ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้มีทีมพัฒนา Layer 2 Scaling Solution นำเทคโนโลยี Plasma ไปใช้กันอย่างแพร่หลายและมีหลากหลายเวอร์ชั่นมากๆ จนถือได้ว่า Plasma เป็นเสมือนรากฐานสำหรับนักพัฒนาที่ต้องการนำเทคโนโลยี Scaling Solution ไปต่อยอดในการสร้าง Layer 2 ตัวอื่นๆ 

.

ซึ่งหนึ่งใน Product ที่ถูกพัฒนาต่อยอดจากทีมงาน Plasma ก็คือเทคโนโลยี Optimistic Rollup ที่ถูกสร้างขึ้นช่วงเดือนสิงหาคมปี 2019 และหลังจากนั้นทีมงานเดิมของ Plasma Group จึงได้ก่อตั้งบริษัทและพัฒนา Product ใหม่ที่มีชื่อว่า “Optimism” เพื่อต่อยอดเทคโนโลยี Optimistic Rollup ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถทำงานร่วมกับ Ethereum 2.0 ได้นั่นเอง 

.

โดย Optimism จะนำไปเล่าขยายความอีกครั้งในหัวข้อถัดๆไป

Polygon นับเป็นอีกหนึ่งประเภทแยกย่อยของ Layer 2 Scaling Solution ที่ถูกเรียกว่า “Side Chain” โดย Side Chain ก็ถือเป็นหนึ่งในบล็อกเชนที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อซัพพอร์ตผู้ใช้งานเครือข่าย Ethereum ที่ต้องการเพิ่มความเร็วในการทำธุรกรรม และลดปัญหาค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมที่แพงโดยเฉพาะ โดยเครือข่ายสามารถรองรับธุรกรรมได้มากถึง 7,000 ต่อวินาทีเลยทีเดียว

.

โดยหากเปรียบเทียบเทคโนโลยีที่ทาง Polygon ใช้นั้น ก็เปรียบเสมือนกับ Plasma เลยนั่นก็คือ ใช้การตรวจสอบธุรกรรมแบบ Fraud Proof และมีการบันทึกธุรกรรมแบบ Off Chain ซึ่งแยกต่างหากจากเครือข่าย Ethereum เลยนั่นเอง 

.

ซึ่งในปัจจุบันนี้ ทาง Polygon ก็ได้มีการพัฒนาโซลูชั่นใหม่ๆเพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้งานภายในตลาดอีกด้วย เนื่องมาจากแต่เดิมนั้น Polygon มีโซลูชั่นที่เป็น Sidechain เพียงอย่างเดียว มีจุดเด่นในเรื่องความเร็วในการทำธุรกรรม แต่ก็ยังมีจุดอ่อนในเรื่องความปลอดภัยของเครือข่ายเพราะว่า Polygon มีการบันทึกธุรกรรมแบบ Off Chain และไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการบันทึกธุรกรรมกลับลงบน Ethereum เลย ทำให้ในปัจจุบัน Polygon ก็ได้พัฒนา Product ใหม่ๆออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น Polygon Hermez ที่ใช้ zk-Rollups หรือจะเป็น Polygon Nightfall ที่ใช้ Optimistic Rollup ในการลดค่าธรรมเนียมธุรกรรมและใช้ zk-Rollups ในการเพิ่มความ Privacy เป็นต้น


Total Value Locked ของ Polygon 

รูปภาพจาก : LINK

เมื่อช่วงกลางปี 2021 นั้น Polygon เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการเป็น Layer 2 Scaling Solution สำหรับผู้ใช้งาน DeFi ทั่วโลก เนื่องจากในขณะนั้นถือเป็นช่วงที่ร้อนแรงของตลาดคริปโตและการใช้งาน DeFi ผู้ที่เข้ามาทดลองเล่น DeFi ในขณะนั้นต่างต้องการเข้าถึงบล็อกเชนอื่นๆนอกเหนือจาก Ethereum ที่มีค่าธรรมเนียมที่แพง และการทำธุรกรรมที่ช้า และ Polygon ถือเป็น Layer 2 ตัวแรกๆที่เกิด Mass Adoption ขึ้นในขณะนั้น

.

และเนื่องมาจากการที่เครือข่ายมีการรองรับ EVM Compatible ได้ จึงทำให้นักพัฒนาจาก Ethereum สามารถที่จะเข้ามา Deploy DApps เรือธงต่างๆจากฝั่ง Ethereum ให้ใช้งานใน Polygon ได้ไม่ว่าจะเป็น Uniswap, Sushiswap, Balancer, Aave จึงทำให้เม็ดเงินจาก Ethereum ไหลเข้ามาสู่เครือข่าย Polygon เป็นอย่างมากในช่วงกลางปีที่แล้วนั่นเอง

.

สุดท้ายแล้ว การเติบโตของ Polygon ก็ได้หยุดชะงัดลงเนื่องจากการล่มสลายของ Iron Finance ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม DeFi ตัวเด่นของ Polygon ประกอบกับเหล่าบรรดา Layer 2 ตัวอื่นๆอย่าง Optimism หรือ Arbitrum ก็เริ่มมีผู้ใช้งานเพิ่มมากยิ่งขึ้น แถมทั้งสองเครือข่ายนี้ก็มีความปลอดภัยเทียบเท่า Ethereum อีกด้วยเนื่องจากมีการบันทึกธุรกรรมแบบ On Chain จึงทำให้ความนิยมของ Polygon เริ่มลดลงตั้งแต่ช่วงนั้นเป็นต้นมา

2) Validium

.

.

Validium เป็นประเภทของ Layer 2 ที่ใช้การตรวจสอบธุรกรรมแบบ Validity Proof และมีการบันทึกธุรกรรมแบบ Off Chain ซึ่งอ้างอิงจากรูปที่ 2 จะเห็นว่าเจ้าใหญ่เจ้าเดียวที่มีการใช้งาน Layer 2 ประเภท Validium มีอยู่ตัวเดียว ก็คือ Starkware นั่นเอง โดย Starkware เป็นบริษัท Startup ที่เน้นพัฒนาเทคโนโลยี Scaling Solution ด้วยเทคโนโลยี Validity Proof โดยเฉพาะ ซึ่ง Product หลักๆของทางบริษัท Starkware จะประกอบไปด้วย 2 ตัวก็คือ StarkEx และ StarkNet ซึ่งในส่วนของ StarkNet จะเป็น Layer 2 ที่มีการนำเทคโนโลยี zk-Rollups มาใช้ เลยจะนำไปขยายความให้อ่านกันในหัวข้อ 4) เรื่อง zk-Rollups

.

StarkEx คือชุดของ Smart Contract ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเน้นไปที่การแลกเปลี่ยนโทเค็นโดยเฉพาะ มีการเปิดตัวใน Ethereum Mainnet ในช่วงเดือนมิถุนายนปี 2020 โดย StarkEx นั้นก็ถูกนำไปใช้งานใน DApps เจ้าดังๆหลากหลายเจ้า ไม่ว่าจะเป็น dYdX (Decentralized Exchange), ImmutableX (Layer 2) และ Sorare (NFT Game)

.

นอกจากนี้ ทาง StarkEx ยังมีให้ DApps ต่างๆนั้นเลือกใช้เทคโนโลยีได้อีกด้วยว่า พวกเขาจะใช้ Validium (Off Chain) ในการบันทึกธุรกรรม หรือจะเลือกเป็น zk-Rollups (On Chain) ในการบันทึกธุรกรรม โดยความแตกต่างระหว่าง Validium และ zk-Rollups คือ หาก DApps เหล่านั้นเลือกใช้งานเป็นโหมด zk-Rollups พวกเขาก็จะสามารถตรวจสอบและบันทึกธุรกรรมได้จากเครือข่าย Ethereum ได้ เพิ่มความโปร่งใสและความปลอดภัยต่อ Layer 2 ของพวกเขา แต่ก็ต้องแลกมากับต้นทุนค่าใช้จ่ายที่แพงมากขึ้น ส่วนถ้า DApps นั้นๆเลือกใช้โหมด Validium ธุรกรรมของพวกเขาก็จะสามารถตรวจสอบได้ในระบบโซลูชั่นของพวกเขาเลย แถมมีต้นทุนที่ถูกกว่านั่นเอง

.

***ส่วนเรื่องเทคโนโลยี zk-Rollups ว่ามันมีจุดเด่นอะไรเพิ่มเติมนอกจากนี้อีกไหม ผมจะนำไปเล่าในหัวข้อ 4) zk-Rollups อีกครั้งนึงครับ***

.

โดยสรุปแล้ว ข้อดีของ Starkware ที่เป็นคนสร้าง StarkEx และ StarkNet นั่นก็คือการใช้เทคโนโลยี Validity Proof ให้กับทั้งสอง Product ในการตรวจสอบธุรกรรม และความหลากหลายในการบันทึกธุรกรรม ที่สามารถให้ DApps ที่นำ Smart Contract ของ StarkEx ไปใช้งานนั้นสามารถเลือกได้ระหว่างโหมด Validium ที่มีการบันทึกแบบ Off Chain หรือจะเป็นโหมด zk-Rollups ที่มีการบันทึกแบบ On Chain ตามความเหมาะสมและความต้องการของ DApps นั้นๆ

.

ส่วนข้อเสียของ Validium นั่นก็คือการที่ไม่สามารถรองรับ EVM Compatible ได้ เนื่องมาจากการที่ Layer 2 ตัวหนึ่งสามารถที่จะรองรับ EVM ได้ มันจะยิ่งทำให้ Layer 2 ตัวนั้นๆเกิดการ Mass Adoption ได้รวดเร็วกว่า Layer 2 ที่ไม่รองรับ EVM เพราะว่าผู้ใช้งานทั่วไปในปัจจุบันนั้นคุ้นชินกับการใช้งาน DApps ต่างๆของบล็อกเชนที่รองรับ EVM เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น หากเราต้องการให้การใช้งาน Product ของ Starkware เกิดการ Mass Adoption ขึ้นได้นั่น ก็จะต้องอาศัยเวลาและความเชื่อมั่นของผู้ใช้งานทั่วโลกนั่นเอง

.

.

3) Optimistic Rollups

.

.

Optimistic Rollups เป็นประเภทของ Layer 2 ที่ใช้การตรวจสอบธุรกรรมแบบ Fraud Proof และมีการบันทึกธุรกรรมแบบ On Chain ซึ่งจากที่ได้กล่าวไปในข้อหัว 1) เรื่อง Plasma จะเห็นว่า Layer 2 ประเภท Optimistic Rollups นั้นถูกพัฒนาต่อยอดขึ้นมาจาก Plasma โดยทีมผู้ก่อตั้งดั้งเดิมของ Plasma จึงทำให้ Optimistic Rollups มีความคล้ายคลึงกับ Plasma เป็นอย่างมาก

.

โดยวิธีเพิ่มความเร็วในการทำธุรกรรมของ Optimistic Rollups นั่นก็คือการรวบรวมธุรกรรมหลายๆธุรกรรมไว้เป็นก้อนเดียวกัน จากนั้นก็ทำการม้วน (Rollups) และทำการส่งธุรกรรมเหล่านี้ไปยืนยันและบันทึกลงบนเครือข่าย Ethereum ทีเดียว

.

และจากเทคโนโลยี Fraud Proof นั้น ทำให้ธุรกรรมทั้งหมดที่ถูกม้วนเป็นก้อนเดียวกัน จะถูก Assume ว่าธุรกรรมก้อนนั้นถูกทั้งหมด เสมือนการมองโลกในแง่ดี (Optimistic) และถ้าภายในระยะ 1-2 อาทิตย์ระหว่างรอการตรวจสอบนั้นไม่มีธุรกรรมที่ผิดพลาด ธุรกรรมเหล่านั้นก็จะถูกบันทึกลงบนเครือข่าย Ethereum แต่หากภายในระยะเวลาที่กำหนดนั้นเกิดมีธุรกรรมที่ผิดพลาด ก้อนธุรกรรมเหล่านั้นก็จะถูกนำกลับมาคำนวณและตรวจสอบใหม่นั่นเอง

.

โดย Layer 2 ประเภทนี้ก็มีหลากหลายบริษัทที่เข้ามาพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น Optimism, Arbitrum, Boba Network แต่ในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างสองตัวหลักๆที่เป็นที่รู้จักของทุกคน นั่นก็คือ Optimism และ Arbitrum

3.1) Optimism

.

.

Optimism ก่อตั้งขึ้นในปี 2019 โดยกลุ่มนักพัฒนาดั้งเดิมจาก Plasma ที่แยกตัวออกมาพัฒนาเทคโนโลยี Optimistic Rollups และได้มีการเปิดตัว Mainnet ให้ได้ใช้งานในวันที่ 15 มกราคม 2021

.

โดยในช่วงแรกนั้น Optimism ยังไม่ได้ถูกเป็นที่พูดถึงและยอมรับกันมากเท่าไร เนื่องจากความที่ Layer 2 ในขณะนั้นยังไม่มีความจำเป็นในการใช้งานเท่าที่ควรเพราะเครือข่าย Ethereum ยังไม่ได้มีค่าธรรมเนียมธุรกรรมที่แพงมากนัก ประกอบกับ Optimism ในช่วงแรกยังไม่ได้มีการรองรับ EVM Compatible จึงทำให้ยังไม่เกิดการใช้งานแพร่หลายเท่าที่ควร

.

หลังจากการเปิดตัว Mainnet ได้ไม่นาน ทาง Optimism ก็ได้เปิดตัว OVM (Optimistic Virtual Machine) ซึ่งทำให้เครือข่าย Optimism สามารถรองรับ DApps ต่างๆจากฝั่ง Ethereum ได้หลากหลายขึ้น โดย DApps ตัวแรกที่เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์และเข้ามา Deploy กับ Optimism นั่นก็คือ Synthetix นั่นเอง


Total Value Locked ของ Optimism

รูปภาพจาก : LINK

และหลังจากการเปิดตัวของ Synthetix บน Optimism ก็ส่งผลให้บรรดาแพลตฟอร์ม DeFi OG อย่าง Uniswap, Curve, Aave ก็ต่างเข้ามาเปิดตัวบน Optimism มากขึ้น ยิ่งทำให้เม็ดเงินจากฝั่ง Ethereum ที่มีการทำธุรกรรมที่แพงและล่าช้า ต่างไหลมายัง Layer 2 ที่สามารถทำธุรกรรมได้รวดเร็ว ไม่แพง และให้ความปลอดภัยเทียบเท่ากับ Ethereum อย่าง Optimism ส่งผลให้ยอดเงินที่ฝากภายในบล็อกเชน (TVL) เพิ่มขึ้นสูงเป็นอย่างมากจากที่เห็นในรูปภาพที่ 4

.

ประกอบกับช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาที่มีการแจก Airdrop เหรียญ OP ซึ่งเป็นโทเค็นกำกับดูแลภายในเครือข่าย Optimism ให้กับผู้ที่เคยเข้ามาใช้งาน Optimism แถมสร้าง Use Case การใช้เหรียญ Governance Token เกี่ยวกับเรื่องการบริจาคให้กับสาธารณะชน และการบริจาคให้กับ DApps ต่างๆภายใน Optmism ให้นำไปแจกให้กับผู้ใช้งานแพลตฟอร์มต่อได้ ก็ยิ่งสร้าง Impact ให้กับเครือข่ายและ Community เป็นอย่างมาก ดันยอดเงินฝากในเครือข่าย (TVL) ขึ้นสูงสุดตลอดกาลที่ 503 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเลยทีเดียว

3.2) Arbitrum

.

.

Arbitrum ถูกพัฒนาขึ้นโดย Ed Felten, Steven Goldfeder และ Harry Kalodner สามทีมงานจากบริษัท Offchain Labs บริษัทพัฒนา Layer 2 Scaling Solutions สำหรับเครือข่าย Ethereum นั่นเอง โดย Arbitrum นั้นมีการใช้เทคโนโลยี Optimistic Rollups ในการยืนยันธุรกรรมเช่นเดียวกับ Optimism เลย คือมีการใช้วิธีตรวจสอบธุรกรรมแบบ Fraud Proof ในการมองว่าธุรกรรมนั้นถูกต้องทั้งหมด ทำการม้วนธุรกรรม และส่งไปบันทึกลงบนเครือข่าย Ethereum แต่ทั้ง Arbitrum และ Optimism นั้นก็จะมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในบางเรื่อง

.

เรื่องแรกคือ หากเครือข่ายมีการยืนยันธุรกรรมผิดพลาด ทาง Arbitrum จะนำธุรกรรมที่รวบรวมและม้วนแล้วนำมาแบ่งย่อยและทำการตรวจสอบธุรกรรมใหม่ทั้งหมด ต่างจาก Optimism ที่จะไม่มีการแบ่งย่อย แต่จะนำธุรกรรมที่ม้วนทั้งก้อนมาตรวจสอบใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง จึงทำให้ Optimism จะมีความเสถียรและรวดเร็วมากกว่า Arbitrum หากเครือข่ายไม่ได้มีการทำงานที่ผิดพลาดนั่นเอง 

.

เรื่องที่สองคือ เครือข่ายของ Arbitrum นั้นมีการรองรับ Fully EVM Compatible ซึ่งก็คือ นักพัฒนาสามารถนำ DApps จาก Ethereum มาใช้งานใน Arbitrum ได้โดยไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง Code ส่วนหนึ่งส่วนใดเลย แตกต่างจาก Optimism ที่มีการพัฒนา OVM (Optimistic Virtual Machine) ขึ้นมาภายหลังเพื่อที่จะให้ Optimism สามารถรองรับ DApps ต่างๆจากฝั่ง Ethereum ได้ แต่ถึงยังไงนักพัฒนาของ Optimism ก็ต้องแก้ไขส่วนใดส่วนหนึ่งก่อนจะนำ DApps จาก Ethereum นำมา Deploy ลงบน Optimism จึงทำให้ในช่วงแรกๆนั้น Arbitrum สามารถเข้าถึงนักพัฒนาได้มากกว่า Optimism และทำให้มี DApps เข้ามาเปิดตัว Arbitrum มากกว่า Optimism นั่นเอง

.

.

เปรียบเทียบระหว่าง Arbitrum และ Optimism

3.3.1) ในแง่การเติบโตของ DApps ต่างๆและ TVL ภายในบล็อกเชน5 อันดับแพลตฟอร์มที่มี TVL สูงสุดใน Optimism

5 อันดับแพลตฟอร์มที่มี TVL สูงสุดใน Optimism

รูปภาพจาก : LINK

Optimism มีแพลตฟอร์มที่เข้ามาเปิดตัวทั้งหมด 52 แพลตฟอร์ม มียอด TVL ทั้งหมดราวๆ 366 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ Optimism นั้นมีแพลตฟอร์มที่เป็นเรือธงประจำเชนอยู่ราวๆ 4-5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Synthetix, Lyra, Kwenta, Polynomial, Velodrome ซึ่งเกือบทุกแพลตฟอร์มเหล่านี้ ล้วนมี Ecosystem ของแต่ละแพลตฟอร์มที่มีการใช้งานสภาพคล่องร่วมกัน นั่นก็คือ Synth Asset ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากแพลตฟอร์ม Synthetix ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการสร้างสินทรัพย์สังเคราะห์นั่นเอง

.

โดย Synth Asset ต่างๆที่ถูกสร้างขึ้นมานั้น ก็มีสภาพคล่องที่ถูกกระจายไปอยู่ตามแพลตฟอร์มที่กล่าวมาข้างต้นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้แพลตฟอร์ม Synthetix นั้นเปรียบเสมือนผู้ให้บริการสภาพคล่องหลักของเครือข่าย Optimism นั่นเอง ประกอบกับโมเดลในการสร้าง Synth Asset ที่จะต้องมีการ Stake เหรียญ SNX ซึ่งเป็น Governance Token ของแพลตฟอร์มให้เป็น Over Collateralized ที่มากถึง 350% เพื่อที่จะสร้าง Synth Asset จำนวน 100% ยิ่งทำให้ผู้ใช้งานในเครือข่ายเกิดความต้องการในการใช้เหรียญ SNX เพื่อนำมา Stake มากขึ้น เนื่องจากการ Stake SNX นอกจากจะสามารถ Mint Synth Asset มาได้ เรายังได้รับ Rewards SNX และ Trading Fee อีกด้วย

.

ทำให้อนาคต หากมีคนเข้ามาใช้งานเครือข่าย Optimism มากขึ้นเท่าไร Synth Asset ก็ยิ่งมีความต้องการใช้งานมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งทำให้ความต้องการเหรียญ SNX เพื่อนำมา Stake & Mint Synth Asset เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ส่งผลให้แพลตฟอร์ม Synthetix ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มหลักประจำ Optimism มีความแข็งแกร่งในระยะยาวเพิ่มมากขึ้นเท่านั้นนั่นเอง

5 อันดับแพลตฟอร์มที่มี TVL สูงสุดใน Arbitrum

รูปภาพจาก : LINK

ซึ่งหากกลับมาดูที่ Arbitrum แล้ว ด้วยความที่เครือข่ายมีการรองรับแบบ Fully EVM Compatible และวิสัยทัศน์ของ Arbitrum ที่อยากให้ผู้ใช้งานจากฝั่ง Ethereum ได้เข้ามาใช้งาน Layer 2 ที่ให้ประสบการณ์การใช้งานที่เทียบเท่ากับ Ethereum ทุกอย่าง จึงทำให้มีแพลตฟอร์ม DeFi ยุคเริ่มต้นจาก Ethereum เข้ามาเปิดตัวบน Arbitrum เยอะมากๆ ไม่ว่าจะเป็น Uniswap, Sushiswap, Curve, Balancer จึงทำให้จุดเด่นของ Arbitrum คือ เครือข่ายมียอด TVL ที่เติบโตเร็วและแรงกว่า Optimism ในช่วงแรกนั่นเอง เพราะในช่วงเปิดตัวของ Optimism นั้น ตัวเครือข่ายยังไม่สามารถรองรับ EVM ได้ และ Arbitrum นั้นเป็นมิตรต่อนักพัฒนาในการที่จะเข้ามา Deploy DApps มากกว่า จึงทำให้ Optimism มี DApps เข้ามาเปิดน้อยกว่านั่นเอง

.

แต่พอเวลาผ่านไป Optimism ก็เริ่มสร้าง Ecosystem ของตัวเองที่ใหญ่ยิ่งขึ้น มีแพลตฟอร์ม Synthetix เป็นเสมือนสภาพคล่องหลักของเครือข่าย มีแพลตฟอร์มอื่นๆใช้งาน Synth Asset กันมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับการแจก Airdrop เหรียญ OP เพื่อกำกับดูแลเครือข่ายในอนาคต ยิ่งทำให้ Optimism นั้นมียอดเม็ดเงินเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมี Community ที่แข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆ

.

แต่กลับกันนั้น Arbitrum ไม่มีแพลตฟอร์มประจำเครือข่ายเหมือนอย่าง Optimism เลย เป็นเพียงแค่ Layer 2 ตัวนึงที่เปิดโอกาสให้ DApps อื่นๆเข้ามา Deploy ได้ ทำให้ Arbitrum ไม่เกิดการใช้งานรูปแบบใหม่ๆ ไม่เกิดการสร้าง Ecosystem ของเครือข่ายร่วมกัน จึงทำให้ความน่าสนใจของ Arbitrum ลดน้อยลงไปทุกวัน

.

ทาง Arbitrum จึงออกไม้ตาย ประกาศแจก Airdrop เหรียญ ARBI ซึ่งเป็น Governance Token กำกับดูแลเครือข่ายผ่านการสร้างกิจกรรมที่ให้ผู้ใช้งานเข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มต่างๆภายใน Arbitrum แต่สุดท้ายก็ต้องระงับไปเนื่องจากการอัพเกรดที่ยังไม่สมบูรณ์ของ Arbitrum Nitro จึงทำให้ค่าแก๊สแพงขึ้นเป็นอย่างมากเพราะมีผู้ใช้งานเข้ามาล่า Airdrop กันเป็นจำนวนมหาศาลนั่นเอง

3.3.2) ค่าธรรมเนียมภายในเครือข่าย

ค่าธรรมเนียมเครือข่ายของแต่ละโปรเจคใน Layer 2

(อ้างอิงในวันที่ 22 กรกฎาคม / Avg Gas 10 Gwei)

รูปภาพจาก : LINK

หากอ้างอิงจากเว็บไซต์ L2Fees จะเห็นได้ว่า ค่าธรรมเนียมการโอนเหรียญ ETH ของ Optimism นั้นแพงกว่า Arbitrum อยู่เพียง $0.02 ซึ่งทั้งสองเครือข่ายก็ต่างมีการพัฒนาเกี่ยวกับการลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น Optimism Cannon สำหรับลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมของ Optimism และ Arbitrum Nitro สำหรับลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมของ Arbitrum

.

โดยทั้งสองวิธีการเพิ่มความเร็วในการทำธุรกรรมนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาอยู่ และหากในอนาคตทั้งสองเครือข่ายสามารถพัฒนา Optimism Cannon และ Arbitrum Nitro เสร็จสิ้นแล้ว เราจึงค่อยมาดูกันใหม่ว่าเครือข่ายไหนจะสามารถลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมได้เห็นผลมากกว่ากัน

.

โดยสรุปแล้ว ข้อดีของ Optimistic Rollups ไม่ว่าจะเป็นทั้ง Optimism หรือ Arbitrum คือความปลอดภัยที่เทียบเท่ากับการใช้งานภายในเครือข่าย Ethereum ค่าธรรมเนียมที่ถูก และความเร็วในการทำธุรกรรมที่เร็วมาก 

.

และข้อเสียของ Optimistic Rollups นั่นก็คือ หากต้องการจะโอนเงินออกจากเครือข่าย กลับมายัง Mainnet จะต้องใช้เวลานานถึง 7 วันกว่าจะสามารถถอนเงินได้ แต่สุดท้ายในปัจจุบันนั้นก็มีแพลตฟอร์ม Bridge ที่ถูกสร้างขึ้นมาให้เราสามารถส่งเหรียญข้ามบล็อกเชนไปกลับ Layer 2 แบบไม่ต้องรอนานถึง 7 วันได้แล้วนั่นเอง

.

.

4) zk-Rollups

รูปภาพจาก : LINK

zk-Rollups เป็นประเภทของ Layer 2 ที่ใช้วิธีการตรวจสอบธุรกรรมแบบ Validity Proof และมีการบันทึกธุรกรรมแบบ On Chain โดย Layer 2 ประเภท zk-Rollups นั้นจะมีวิธีการทำงานที่คล้ายกับ Optimistic Rollups เป็นอย่างมาก โดยสิ่งที่เหมือนกัน คือการรวมธุรกรรมไว้หลายๆธุรกรรมและม้วนเป็นก้อนเดียว จากนั้นค่อยส่งไปตรวจสอบและบันทึกที่เครือข่าย Ethereum

.

แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างที่ได้พูดถึงในหัวข้อ ความแตกต่างระหว่าง Fraud Proof และ Validity Proof ก็คือ Optimistic Rollups จะมีระยะเวลาที่ให้ระบบเช็คว่าผิดหรือไม่ หากภายในระยะเวลาที่กำหนดนั้นเกิดมีธุรกรรมที่ผิดพลาด ระบบก็จะส่งธุรกรรมเหล่านั้นกลับไปคำนวณและตรวจสอบใหม่ แต่ใน zk-Rollups นั้น การคำนวณและการตรวจสอบธุรกรรมนั้นจะสามารถทำควบคู่กันไปได้เลย ซึ่งแตกต่างจาก Fraud Proof ตรงที่ระบบต้องคำนวณให้เสร็จก่อน จึงสามารถส่งสิ่งที่ระบบคำนวณเสร็จแล้ว นำไปตรวจสอบได้ เพราะฉะนั้น Validity Proof จึงไม่ต้องรอระยะเวลาในการตรวจสอบที่นานถึง 1-2 อาทิตย์ จึงทำให้มันมีประสิทธิภาพที่ดีกว่านั่นเอง

.

4.1) zkSync

zkSync ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัท Matter Labs ในช่วงปี 2019 ซึ่งเป็นบริษัทสำหรับการพัฒนา Product zkSync โดยเฉพาะ หลังจากที่ก่อตั้งบริษัทได้ 1 ปีทางบริษัทก็ทดสอบการใช้งาน zkSync ซึ่งในตอนนั้นสามารถรองรับธุรกรรมได้มากที่สุด 200 ธุรกรรมต่อวินาที และสามารถลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมได้เทียบเท่ากับ Optimistic Rollups อีกด้วยนั่นเอง โดย zkSync เวอร์ชั่นแรกถูกนำมาใช้งานในช่วงกลางปี 2020 และในตอนนี้ทาง Matter Labs ก็กำลังพัฒนา zkSync v.2 ที่สามารถรองรับ EVM Compatible ได้ โดยหลังจากการพัฒนาแล้ว เครือข่ายสามารถเพิ่มการรองรับธุรกรรมได้มากถึง 20,000 ธุรกรรมต่อวินาทีเลยทีเดียว

.

ด้วยความที่ zkSync เป็น Product Scaling Solution ที่ใช้ zk-Rollups ตัวแรกๆที่ถูกพัฒนาและมีบริษัทพื้นหลังรองรับ จึงทำให้บริษัทสามารถระดมทุนจาก Series A ได้ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจาก Series B ได้ราวๆ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากกองทุนชั้นนำของวงการคริปโต ไม่ว่าจะเป็น Andreessen Horowitz, Blockchain.com, Crypto.com, Consensys, ByBit, OKEx และที่อื่นๆอีกมากมาย 

.

4.2) StarkNet

รูปภาพจาก : LINK

StarkNet เป็นหนึ่งใน Product ของ Starkware ที่ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นเครือข่าย Layer 2 ที่ใช้เทคโนโลยี zk-Rollups ในการคำนวณและตรวจสอบธุรกรรม และมีการนำข้อมูลธุรกรรมกลับมาบันทึกลงใน On Chain หรือลงบนเครือข่าย Ethereum เพราะฉะนั้น StarkNet จะไม่ถือว่าเป็น Layer 2 ประเภท Validium แต่จะถือว่าอยู่ในประเภท zk-Rollups นั่นเองครับ 

.

ซึ่งในปัจจุบัน StarkNet ก็ถือว่าอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา DApps ต่างๆภายใน Ecosystem ของ StarkNet อยู่ และกำลังพัฒนาให้ภาษาเขียนโปรแกรมของ StarkNet ที่ชื่อว่าภาษา Cairo นั้นสามารถเชื่อมต่อกับภาษา Solidity ของ Ethereum เพื่อที่จะพัฒนาให้ StarkNet สามารถรองรับ EVM Compatible เพื่อเชื่อมต่อ DApps ต่างๆของฝั่ง Ethereum ในอนาคตได้

.

โดยข้อดีของ Product ประเภท zk-Rollups นั่นก็คือความมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบและบันทึกธุรกรรมที่ดีกว่า Optimistic Rollups อย่างที่ได้กล่าวไปด้านบน และหากจะพูดถึงข้อเสียของ Product ประเภท zk-Rollups ก่อนหน้านี้ ก็คือการที่ยังไม่มี Product ตัวไหนที่สามารถรองรับ EVM Compatible ได้เลย เนื่องจากภาษาหลักๆที่ใช้สำหรับการ Coding โปรดักซ์ต่างๆของ zk-Rollups คือ ภาษา Zinc (ใช้กับ zkSync) และภาษา Cairo (ใช้กับ StarkNet) ซึ่งการจะนำทั้งสองภาษานี้เข้าไปประยุกต์กับการรองรับ EVM Compatible ที่ใช้ภาษา Solidity นั้นเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนมากๆ 

.

แต่สุดท้ายเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทาง zkSync ก็ได้ประกาศเปิดตัว zkSync 2.0 ที่มีการนำเทคโนโลยี zkEVM หรือก็คือ zk-Rollups ที่มีการรองรับ Compatible มาใช้งาน และมันจะเป็น Layer 2 ตัวแรกที่นำ EVM Compatible มาประยุกต์ใช้งานกับ Product ประเภท zk-Rollups สำเร็จ โดย zkSync 2.0 จะมีการเปิดตัวในปลายปีนี้นั่นเอง 

.

.

เปรียบเทียบ zkSync และ StarkNet

จำนวนธุรกรรมรายวันของ zkSync

รูปภาพจาก : LINK

จำนวนธุรกรรมรายวันของ StarkNet

รูปภาพจาก : LINK

ในปัจจุบันนี้ zkSync ได้มีการสร้าง Ecosystem ภายในเครือข่ายที่มากกว่า StarkNet อย่างเห็นได้ชัด zkSync นั้นมี DApps ที่เข้ามาสร้างและกำลังพัฒนามากถึง 112 แพลตฟอร์มแต่ที่เปิดให้ใช้ได้จริงนั้นมีเพียง 9 แพลตฟอร์ม และมีแพลตฟอร์มที่สามารถใช้งานได้จริงอย่าง Decentralized Exchange ที่ชื่อว่า ZigZag เพียงเจ้าเดียวเท่านั้นที่เปิดให้บริการ ส่วน StarkNet นั้นมี DApps ที่เข้ามาสร้างและกำลังพัฒนาอยู่เพียง 82 แพลตฟอร์ม (รวม Product ของ StarkEx ด้วย) แต่เครือข่ายนั้นไม่มีแพลตฟอร์มที่เป็น DeFi ประเภท Decentrazlied Exchange ที่เปิดให้บริการเลยแม้แต่เจ้าเดียว มีเพียง Infrastructure, Bridge, Wallet ที่เปิดให้บริการเท่านั้น

.

และดูจากรูปภาพธุรกรรมรายวันด้านบนของ zkSync และ StarkNet นั้น จำนวนธุรกรรมเฉลี่ยของ zkSync นับตั้งแต่ต้นปีเฉลี่ยอยู่ที่ราวๆ 10,000 – 50,000 ธุรกรรมต่อวัน แต่ StarkNet นั้นมีจำนวนธุรกรรมเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ราวๆหลักร้อยถึงพันธุรกรรมต่อวันเท่านั้นเอง ซึ่งสองเหตุผลของการที่ zkSync และ StarkNet ยังไม่มีผู้เข้ามาใช้งานเป็นจำนวนมาก หากเทียบกับ Optimism หรือ Arbitrum จากฝั่ง Optimistic Rollups ก็คือการพัฒนาที่ช้า, Timing การเปิดตัว และการไม่รองรับ EVM Compatible นั่นเองครับ


Total Value Locked ของ StarkNet

รูปภาพจาก : LINK

Total Value Locked ของ zkSync

รูปภาพจาก : LINK

หากสังเกตุ TVL ของ Optimism ที่มีการเปิดตัว Mainnet ในช่วงเดือนมกราคม 2021 (รูปห้า) และ TVL ของ Arbitrum ที่มีการเปิดตัว Mainnet ไปช่วงเดือนสิงหาคม 2021 (รูปหก) ก็จะเห็นว่า Layer 2 ที่มีการเปิดตัวก่อนก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีคนเข้าไปใช้งานเยอะเสมอไป หากเครือข่ายนั้นๆไม่ได้เป็นมิตรต่อผู้ใช้งานมากขนาดนั้น (User Friendly) ซึ่งในขณะที่ Optimism เพิ่งมีการเปิดตัวและยังไม่สามารถใช้ EVM Compatible ได้ สาเหตุนี้จึงทำให้ผู้ใช้งานยังไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้ Layer 2 เนื่องจากค่าธรรมเนียมในช่วงต้นปี 2021 ยังไม่ได้สูงมากขนาดนั้นนั่นเอง

.

กลับกัน Arbitrum นั้นมีการเปิดตัวในช่วงกลางปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่ค่าธรรมเนียมของ Ethereum นั้นสูงมากจากกระแสของ DeFi, GameFi และ NFT จึงทำให้ผู้ใช้งานในขณะนั้นต่างต้องการใช้งาน DApps บน Layer 2 ที่ให้ประสบการณ์การใช้งานและความปลอดภัยเทียบเท่ากับ Ethereum นั่นเอง ซึ่ง Arbitrum ก็ตอบโจทย์ของการเป็น Layer 2 ประเภทนี้ทุกอย่าง ทั้ง Timing ในการเปิดตัว Mainnet ในช่วงที่ค่าธรรมเนียม Ethereum แพงเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องการรองรับแบบ Fully EVM Compatible จึงทำให้ Arbitrum มียอด TVL ที่เติบโตได้รวดเร็วที่สุดตัวหนึ่ง

.

ซึ่งหากกลับมามองที่ zkSync ที่มีการเปิดตัว Beta ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2021 เช่นเดียวกันกับ Optimism แต่ก็ยังไม่ได้มียอดผู้ใช้งานหรือเม็ดเงินเข้าสู่เครือข่ายได้มากขนาดนั้น ส่วนนึงก็เพราะในเรื่องของ User Friendly ที่ทางเครือข่ายไม่ได้มีการรองรับ EVM Compatible ทำให้ผู้ใช้งานอาจต้องเรียนรู้การใช้งานใหม่แทบจะทั้งหมด จึงถือได้ว่าเรื่องของการใช้งานที่เรียบง่ายก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ Layer 2 นั้นๆจะเติบโตอีกด้วย

.

ส่วน StarkNet ที่ได้มีการเปิดตัวแบบ Mainnet ไปเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดคริปโตซบเซา, Timing การเปิดตัวที่ไม่ได้ดีมากนัก ไม่ได้อยู่ในยุครุ่งเรืองของ DeFi เหมือนกับ Layer 2 ตัวอื่นๆที่ได้เปิดตัวไปในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับเรื่อง User Friendly ของ StarkNet ที่ไม่ได้มีการรองรับ EVM Compatible ผู้ใช้งานจะต้องโหลด Wallet ใหม่เพื่อเชื่อมต่อกับ DApps ภายใน StarkNet สิ่งเหล่านี้ถือเป็นงานที่ยุ่งยากและไม่จำเป็นสำหรับผู้ใช้งานต่างๆในตอนนี้ที่จำเป็นจะต้องใช้งานเครือข่าย StarkNet จึงทำให้ TVL ของ StarkNet เติบโตช้านั่นเอง

.

.

ถ้ามี Layer 2 Solutions แล้ว Ethereum 2.0 ยังจำเป็นอยู่ไหม?

.

.

คำถามนี้อาจเป็นคำถามคาใจสำหรับหลายๆคนว่า หากเครือข่าย Ethereum ทำการอัพเกรดเป็น Ethereum 2.0 ที่มีการใช้งาน Proof of Stake สำเร็จแล้ว เหล่าบรรดา Layer 2 ทั้งหลายยังจำเป็นอยู่ไหม คำตอบคือ ยังจำเป็นอยู่ และมันจะถูกใช้งานควบคู่กันไปครับ

.

แน่นอนว่าสุดท้ายแล้ว จะไม่มี Layer 2 ตัวไหนที่จะดึงเม็ดเงินของผู้ใช้งานทุกคนไปกองอยู่ที่ Solutions ใด Solutions หนึ่ง เนื่องจาก Product แต่ละตัวก็จะมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป มี User Experience ที่แตกต่างกันออกไป และนอกจากนี้ หลังจากการอัพเกรดเป็น Ethereum 2.0 แล้ว เครือข่าย Ethereum นั้นจะยังไม่มีการรองรับธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นทันทีทันใด เนื่องจากในขั้นตอนที่จะเพิ่มการรองรับธุรกรรมของ Ethereum หรือที่เรียกว่า Sharding นั้น จะเกิดขึ้นในช่วงปี 2023 ที่เรียกขั้นตอนว่า “The Surge” 

.

โดยการ Sharding จะเป็นการที่เครือข่าย Ethereum สามารถแตกธุรกรรมย่อยๆออกเป็นหลายสายได้ จึงทำให้เครือข่ายสามารถรองรับธุรกรรมได้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล แต่ถึงยังไงแล้วนั้น หากการอัพเกรด The Surge เสร็จสิ้น เครือข่าย Etherum ก็ยังคงต้องการเหล่าบรรดา Layer 2 Solutions เพื่อที่จะเป็นการถ่ายโอนธุรกรรมบางส่วนออกไปจากเครือข่าย Ethereum เพื่อไม่ให้เครือข่ายเกิดความแออัดที่มากเกินไปนั่นเอง ดังนั้น การทำงานของ Layer 2 Solution และเครือข่าย Ethereum ก็ยังคงทำงานควบคู่กันไป เพื่อระบายธุรกรรมบางส่วนสลับกันไปมา และยังคงประสิทธิภาพการทำงานของเครือข่าย Ethereum อีกด้วย เป็นต้น

.

Layer 2 Solutions จำเป็นต้องมีเหรียญไหม?

.

.

ตามความคิดเห็นส่วนตัว หากพูดถึงเหรียญของ Layer 2 ในมุมของความเป็น Utility Token นั้น ก็ต้องย้อนกลับคิดถึงคำถามที่ว่า “เราจะมีเหรียญไว้เพื่ออะไร?” ซึ่งหากมาดูในปัจจุบันนี้เหล่า Layer 2 ตัวหลักๆที่ได้ออกเหรียญเป็นของตัวเองอย่าง $OP ของ Optimism, IMX ของ ImmutableX หรือจะเป็น LRC ของ Loopring นั้นมี Use Case ที่สามารถใช้ได้จริงอยู่เพียงไม่กี่อย่าง นั่นก็คือ เอาไว้ใช้เป็นสิทธิ์ในการโหวต Proposol ต่างๆภายใน Layer 2 นั้นๆ หรือเอาไว้ใช้แจกเป็น Incentive เมื่อเราไปเป็นผู้ให้บริการสภาพคล่องภายใน Layer 2 นั้นๆนั่นเอง

.

ซึ่งบรรดา Layer 2 หลายๆตัวที่เป็นที่นิยม ไม่ว่าจะออกเหรียญแล้วหรือยังไม่ออกเหรียญก็ตาม Layer 2 เหล่านั้นก็ยังคงใช้เหรียญ ETH สำหรับจ่ายค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมอยู่ดี นั่นจึงทำให้ความน่าสนใจในการถือเหรียญ Layer 2 สำหรับนักลงทุนยิ่งลดลงไปอีก เนื่องจากมันไม่เหมือนกับเหรียญ Layer 1 บางตัว ที่ทั้งสามารถนำไป Staking เพื่อรับผลตอบแทนได้, สามารถนำไปใช้จ่ายค่าธรรมเนียมในการธุรกรรม รวมถึงเหรียญ Layer 1 บางตัวเราก็ยังสามารถได้รับเหรียญเหล่านี้ผ่าน Incentive ที่มีการแจกในแต่ละ DApps ของบล็อกเชนนั้นๆ

.

หากเรียงลำดับความต้องการถือเหรียญใดเหรียญหนึ่งของนักลงทุน ก็คงจะต้องมี Use Case ที่มากพอ หรือ Risk/Rewads ที่มากพอที่จะยอมถือมันได้ โดยจากความเห็นส่วนตัวแล้ว ผมจะจัดอันดับเป็น 1) ถือเหรียญเพื่อนำไป Staking รับผลตอบแทน 2) ถือเพื่อนำไปฝากสภาพคล่องใน DEX หรือฝากเงินในแพลตฟอร์ม Lending 3) ถือเพื่อนำไปจ่ายค่าธรรมเนียมธุรกรรมของเครือข่าย และ 4) ถือเพื่อนำไปโหวต Proposol ต่างๆของเครือข่าย โดยข้อ 1) ซึ่งเป็นการถือเหรียญเพื่อนำไป Staking เสริมความปลอดภัยให้กับเครือข่าย และเพื่อรับ Staking Rewards นั้น ดูจะเป็นสาเหตุหลักๆของนักลงทุนในการที่จะเข้าไปซื้อเหรียญใดเหรียญหนึ่งเลย เพราะมีความเสี่ยงต่ำ และมีโอกาสที่ราคาเหรียญจะเติบโตหากมีผู้ใช้งานภายในบล็อกเชนนั้นๆเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

.

เพราะฉะนั้น การถือเหรียญบรรดา Layer 2 นั้น แทบไม่ต่างอะไรกับการถือ Governance Token ที่เราได้จากการเข้าไปฝากสภาพคล่องตาม DApps ต่างๆเลย เพราะ Use Case ของเหรียญ Layer 2 ในปัจจุบันอย่าง $OP, $IMX, $LRC หรือในอนาคตก็มี Layer 2 ที่มีโอกาสออกเหรียญของตัวเองอย่าง Arbitrum, zkSync หรือ StarkNet ที่ถึงแม้จะมีการออกเหรียญมาในอนาคต ก็เหมือนกับการออก Governanve Token สำหรับการกำกับดูแลข้อเสนอต่างๆภายใน Ecosystem ของ Layer 2 นั้นๆเลย

.

ซึ่งถึงแม้ว่า Optimism ที่มีการออกเหรียญ $OP และมีการสร้างวิธีการกำกับดูแลเครือข่ายรูปแบบใหม่ โดยมีการคานอำนาจกันระหว่างผลโหวตผู้ถือเหรียญ (Token House) และผลโหวตจากบุคคลที่ถูกคัดเลือกขึ้นมาเพื่อดูแล Ecosystem ของ Optimism โดยเฉพาะ (Citizen House) ซึ่งเป็นวิธีการกำกับดูแลเครือข่ายที่ทาง Optimism อยากที่จะดึง Use Case ของเหรียญ $OP ให้มาใช้งานให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้าง Community ที่แข็งแกร่งมากที่สุด หรือเพื่อสร้าง Value ให้กับ Optimism ให้ได้มากที่สุด แต่สุดท้ายแล้วถึงจะมีการแจก Airdrop เหรียญ $OP ออกไปในช่วงตลาดหมีนั้น เหรียญ $OP ก็ยังเกิด Sell Pressure อยู่ดีเนื่องจาก Utility ของเหรียญไม่ได้มีความจำเป็นพอที่จะดึงดูดนักลงทุนให้ถือต่อในระยะยาว

.

แต่กลับกัน เหรียญ Layer 2 ที่มีการบันทึกธุรกรรมแบบ Off Chain หรือ Sidechain อย่าง $MATIC ของ Polygon นั้นก็จะมีความแตกต่างจากเหรียญของ Layer 2 ประเภท On Chain ในบางเรื่อง นั่นก็คือ เหรียญ $MATIC สามารถนำไป Staking ในเครือข่ายเพื่อเสริมความปลอดภัยให้กับตัวเครือข่าย แถมยังได้รับ Staking Rewards และยังสามารถนำไปใช้จ่ายค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมภายในเครือข่ายได้อีกด้วย แต่ก็ต้องแลกมากับความปลอดภัยของ Polygon ที่ไม่ได้ปลอดภัยเทียบเท่ากับ Ethereum นั่นเอง

.

ดังนั้นหากจะสรุปคำถามที่ว่า “Layer 2 Solutions จำเป็นต้องมีเหรียญไหม?” คำตอบก็จะอยู่ที่มุมมองแต่ละบุคคลว่าจะมอง Layer 2 เป็นยังไง หากเรามอง Layer 2 ว่าเป็นเพียงแค่โซลูชั่นที่จะเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องความเร็วในการทำธุรกรรมและค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม เราก็จะมองว่า Layer 2 ไม่จำเป็นต้องมีเหรียญก็ได้ เพราะสุดท้ายเราก็ใช้เหรียญ ETH สำหรับจ่ายค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมอยู่ดี (สำหรับ Layer 2 ประเภท On Chain ที่มีการรองรับความปลอดภัยจาก Ethereum)

.

แต่หากเรามอง Layer 2 เป็นเสมือน Ecosystem อันหนึ่ง เหรียญประจำ Layer 2 ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมี เนื่องจากมันต้องอาศัย Community ในการที่จะเข้ามากำกับดูแลและโหวตข้อเสนอต่างๆเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มภายในโซลูชั่นให้ดียิ่งขึ้นผ่านการใช้เหรียญ Layer 2 ในการโหวตตัดสินใจ และใช้เหรียญ Layer 2 สำหรับเป็น Incentive หรือเป็น Treasury ในการแจกให้กับคนที่เข้ามาฝากสภาพคล่องหรือนำไปเป็นทุนให้กับนักพัฒนาต่างๆที่อยากเข้ามาพัฒนา Product ดีๆภายใน Ecosystem ของ Layer 2 นั้นๆ สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้เหรียญ Layer 2 นั้นมี Value ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งมากขึ้นในระยะยาวนั่นเอง

.

.

ใครมีแนวโน้มจะเป็นผู้ชนะใน Layer 2 Solutions มากที่สุด

.

.

หากจะพูดถึงความเป็นผู้ชนะสำหรับ Layer 2 มากที่สุด ก็คงจะเป็น Product ที่มอบ User Experience ให้กับผู้ใช้งานที่มีความคล้ายคลึงกับเครือข่าย Ethereum ที่มากที่สุด ซึ่งก็คงจะหนีไม่พ้น Product ที่ให้ความปลอดภัยในการใช้งานที่มากที่สุด และมีการรองรับธุรกรรมที่ดีกว่าเครือข่าย Ethereum นั่นเอง

.

ซึ่งระหว่าง Product ที่มีการบันทึกธุรกรรมระหว่าง On Chain กับ Off Chain นั้น ก็คงจะให้น้ำหนักไปที่ฝั่ง Product ที่เป็น On Chain มากกว่า เนื่องจากมันจะมีการประมวลผลและบันทึกธุรกรรมกลับลงไปบนเครือข่าย Ethereum ดังนั้น Product ประเภทนี้จึงให้ความปลอดภัยกับผู้ใช้งานเสมือนใช้งานในเครือข่าย Ethereum เลย

.

และหากเราเลือก Product ที่บันทึกธุรกรรมประเภท On Chain ก็จะมีแบ่งย่อยออกไปอีกเป็น Product ที่ยืนยันธุรกรรมแบบ Fraud Proof (Optimistic Rollups) และ Validity Proof (zk-Rollups) ซึ่งหากอ้างอิงตามข้อดีข้อเสียที่ได้กล่าวไปด้านบนนั้น ในส่วน zk-Rollups ก็จะมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบธุรกรรมที่ดีกว่า และมีความเร็วในการยืนยันธุรกรรมที่ดีกว่า เพราะฉะนั้น Product ที่ใช้งาน zk-Rollups และมีการบันทึกธุรกรรมลงบน On Chain นั้นถือว่ามีความได้เปรียบในการแข่งขันมากที่สุด

.

แม้ว่าเทคโนโลยีจะดีแค่ไหน แต่หากในอนาคตนั้นไม่เกิดการ Mass Adoption ขึ้น ก็อาจทำให้ Product เหล่านี้ไม่สามารถเติบโตในระยะยาวได้ และจากที่กล่าวไปด้านบน zkSync นั้นแทบจะมีความได้เปรียบทุกอย่างถ้าเทียบกับคู่แข่งรายอื่นๆเลย แต่สุดท้ายก็ยังติดปัญหาตรงที่การรองรับ EVM Compatible นั้นกว่าจะมีการเปิดตัวเร็วสุดก็คือช่วงสิ้นปีนี้ ประกอบกับการที่ zkSync รวมถึง Product ประเภท zk-Rollups มีการใช้ภาษาในการโปรแกรมที่แตกต่างกัน และภาษาเหล่านั้นมีความซับซ้อนที่จะเชื่อมต่อกับภาษา Solidity ของ Ethereum ในระยะแรก จึงทำให้เป็นการสร้างความยากให้แก่นักพัฒนา และอาจจะส่งผลให้ในอนาคต Product ต่างๆของ zk-Rollups รวมถึง zkSync มีการเปิดตัวที่ช้ากว่า Product ของ Layer 2 ที่ใช้เทคโนโลยีอื่นๆ รวมไปถึงหากในอนาคตตลาดคริปโตยังไม่ฟื้น ผู้ใช้งานยังไม่มี User Experience กับตัว zkSync หรือ StarkNet หรือในระหว่างนั้นเองมี Product Layer 1 ตัวอื่นๆที่มีความได้เปรียบทางเทคโนโลยีมากกว่า สามารถหาวิธีดึงดูดผู้ใช้งานได้มากกว่า ก็อาจทำให้ zkSync และ Product ประเภท zk-Rollups เติบโตยากขึ้นในอนาคตนั่นเอง


Product ต่างๆของ Polygon
รูปภาพจาก : LINK

โดยในตอนนี้ในความคิดเห็นส่วนตัวของผม อีกหนึ่ง Layer 2 Scaling Solution มีน่าจับตามอง และมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ชนะในสงคราม Layer 2 มากที่สุดอีกหนึ่งตัว ก็คือ Polygon นั่นเองครับ

.

อย่างที่ได้กล่าวไปด้านบน แต่ก่อนนั้น Polygon ได้พัฒนา Product ที่เป็น Sidechain ประเภท Proof of Stake เพียงอย่างเดียว ซึ่งหลังจาก Optimism และ Arbitrum ได้เปิดตัวนั้นจึงทำให้ Polygon หมดความน่าสนใจถ้าเทียบกับสองตัวนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากความปลอดภัยที่น้อยกว่า และความล่าช้าของเครือข่ายที่เพิ่มมากขึ้น

.

แต่ในตอนนี้ ทาง Polygon ก็ได้พัฒนา Product ออกมาใหม่มากมายที่ครอบคลุบแทบจะทุกการใช้งานและครอบคลุมทุกกลุ่มผู้ใช้งานตามภาพด้านบน ไม่ว่าจะเป็น Polygon Hermez ซึ่งเป็น Product สำหรับการโอนโทเค็นที่ใช้เทคโนโลยี zk-Rollups, Polygon Avail ซึ่งเป็น Product สำหรับการช่วยเหลือด้านความปลอดภัยและการเก็บข้อมูลให้กับบล็อกเชนอื่นๆ, Polygon Edge ซึ่งเป็น Product ตัวช่วยสำหรับนักพัฒนาหรือผู้ใช้งานสถาบันที่ต้องการสร้าง Private Blockchain หรือบล็อกเชนที่จะเชื่อมต่อกับเครือข่าย Ethereum, Polygon Nightfall ที่ใช้เทคโนโลยี Optimistic Rollup ในการลดค่าธรรมเนียมธุรกรรมและใช้เทคโนโลยี zk-Rollups ในการเพิ่มความ Privacy ให้กับบล็อกเชน, Polygon Miden และ Polygon Zero ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง Scaling Solutions ที่ใช้เทคโนโลยี zk-Rollups นั่นเอง

.

รวมไปถึงข่าวการร่วมมือกันระหว่างบริษัทต่างๆในโลกความจริงกับ Polygon ไม่ว่าจะเป็น การร่วมมือกับ Instagram ในการที่จะให้ผู้ใช้งานสามารถโชว์ NFT ภายในแพลตฟอร์มได้, การร่วมมือกับ Adidas Originals และ Prada ในการที่จะออก NFT Collection ผ่าน Polygon และการเข้าร่วมโครงการ Accelerator ของ Disney เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้าน NFT, AR, AI ร่วมกัน 

.

ประกอบกับโปรเจคจากฝั่ง Terra Chain ไม่ว่าจะเป็น Lunaverse (Metaverse Project), OnePlanet NFT (NFT Marketplace) และ Derby Stars (Play to Earn) รวมถึงโปรเจคอื่นๆอีกมากมายจากฝั่ง Terra ก็ได้มีการประกาศย้ายเข้ามาเปิดตัวบนโซลูชั่นของ Polygon อีกด้วย เนื่องมาจากการที่โซลูชั่นของ Polygon มีการรองรับการใช้งานของผู้ใช้งานที่หลากหลาย จึงทำให้มันเป็นจุดสนใจสำหรับนักพัฒนาหลายๆคนที่จะเข้ามาเปิดตัวโปรเจคของตัวเองบน Polygon ซึ่งสำหรับในมุมมองผู้ใช้งานจากฝั่ง Terra แล้ว ผู้ใช้งานอาจจะไม่ได้ต้องการบล็อกเชนหรือไม่ได้ต้องการโซลูชั่นที่มีเทคโนโลยีที่ดีที่สุด แต่พวกเขาแค่ต้องการโซลูชั่นที่มีการใช้งานง่ายที่สุด ยืนยันธุรกรรมได้เร็วและค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมที่ถูกที่สุด รวมถึงมีฟังก์ชั่นที่หลากหลายให้ผู้ใช้งานได้เลือกใช้ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ Polygon มีคุณสมบัติดังกล่าวและกำลังพัฒนาอยู่ทั้งหมด

.

ดังนั้นโดยสรุปแล้ว คำตอบที่ว่า Layer 2 Solution ตัวไหนมีแนวโน้มเป็นผู้ชนะในตลาดคริปโตมากที่สุด ก็คงจะไม่มีคำตอบที่ตายตัว แต่ Product ไหนที่สามารถใช้ทุกวิธีทางในการดึงดูดผู้ใช้งานให้เข้ามาใช้งาน Solutions ของตัวเองให้ได้มากที่สุด สามารถให้ User Experience กับผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด และสามารถพัฒนา Product ของตัวเองและแก้ไขจุดบกพร่องให้ได้ดีและเร็วที่สุด ก็จะเป็น Layer 2 Solutions ที่มีโอกาสที่จะเป็นผู้ชนะในตลาดมากที่สุดนั่นเองครับ

Author

Share :
Related
เข้าสู่ยุคใหม่ของ Bitcoin ? พาส่อง Bitcoin Ecosystem ปี 2024 
Cryptomind Monthly Outlook (April 2024)
Technical Analysis $PENDLE, $BNB โดย Cryptomind Advisory (22 Apr 24)
CoinTalk (19/4/24):