Search
Close this search box.

ความสำคัญของ DAO Treasury พร้อมอัพเดทสถานการณ์ในปัจจุบัน

Share :
1

Table of Contents

จากข้อมูลในวันที่ 31 มกราคม 2023 มูลค่ารวมของสินทรัพย์บน Treasury ของ DAO มีมากกว่า 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถ้าเทียบจากในช่วงปลายปี 2021 ตัวเลขนี้เติบโตอย่างรวดเร็วมากกว่า 40 เท่า ซึ่งตัวเลขที่เติบโตขึ้นมาแสดงถึงการพัฒนาและการใช้งานของ DAO ที่หลากหลายมากขึ้นตามภาพรวมของอุตสาหกรรมคริปโตเคอเรนซี่ที่มีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว  

โดยที่ DAO นั้นก็ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับปัญหาการจัดการการเงินในโลกจริงอยู่หลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใส ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์การล่มสลายของ FTX Exchange หรือจะเป็นบรรดา CeFi ต่างๆที่ได้นำเงินลูกค้าไปลงทุนต่อแบบไม่เปิดเผย ทำให้เกิดความเสียหายต่อนักลงทุนมหาศาล ที่ได้ทำให้หลายๆคนตระหนักถึงความสำคัญของความโปร่งใสในการบริการจัดการ Treasury ของบริษัท เพราะถ้าเกิดว่า FTX เป็นองค์กรที่จัดการแบบ DAO หรือ Decentralized Autonomous Organization ที่มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ นักลงทุนก็คงไหวตัวทันและไม่เกิดความเสียหายในวงกว้างขนาดนี้ได้ 

เราจึงเชื่อว่า DAO นั้นมีศักยภาพที่จะเข้ามาแก้ปัญหาอะไรได้หลายอย่างในอนาคต อย่างไรก็ตาม DAO ส่วนมากในปัจจุบัน ยังขาดการบริการจัดการ Treasury ที่ดี และถ้าไม่แก้ไข อาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่น และการพัฒนาที่หยุดชะงัก เพราะว่า DAO Treasury นั้นเป็นเปรียบเทียบเหมือนกับน้ำหล่อเลี้ยงของโปรเจกต์ต่างๆ ที่จะเป็นตัวตัดสินกันได้ระดับหนึ่งเลยว่าโปรเจกต์ไหนจะไปรอดหรือมีการเติบโตได้ไม่ 

อย่างไรก็ตาม DAO ยังเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา ยังไม่ได้มี Best practice ในการบริหารจัดการ Treasury เราก็คาดหวังว่าเมื่อเวลาผ่านไป และ DAO เติบโตในระดับหนึ่ง จะมีการบริหารที่ดีและจัดการความเสี่ยงได้ดีมากขึ้น ในบทความนี้ เราได้รวบรวมความคิดเห็นจากแหล่งต่างๆเกี่ยวกับ Treasury management และไปดู Treasury ของ DAO ในบางโปรเจกต์ระดับต้นๆ แต่ก่อนที่จะไปเจาะลึกประเด็นเหล่านั้น เรามาเริ่มที่ความหมายของ DAO ในเบื้องต้นกันก่อน

Introduction to DAOs

ขอบคุณภาพจาก axi

DAO ย่อมาจาก Decentralized Autonomous Organization นิยามอย่างสั้นคือเป็นรูปแบบบริหารจัดการแบบกระจายศูนย์และไม่มีตัวกลางผ่าน Smart contracts โดยการใช้เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งข้อดีของการบริการจัดการในรูปแบบนี้คือมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยให้สมาชิกได้เข้ามาเป็นเจ้าของและมีสิทธิมีเสียงในการกำหนดทิศทางการบริหารจัดการและอนาคตของแพลทฟอร์มนั่นเอง จะเห็นว่ารูปแบบการจัดการของ DAO นั้นแตกต่างจากแบบดั้งเดิมที่การตัดสินใจต่างๆจะขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจเพียงไม่กี่คน ซึ่งก็ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการรวบอำนาจขึ้นมา

ตัวอย่าง DAOs แต่ละประเภท ขอบคุณภาพจาก Coinbase

โดยแนวคิดของ DAO นั้นเริ่มมาจากตั้งแต่มี Bitcoin ซึ่งในตอนนั้นมีชื่อเรียกว่า Decentralized Autonomous Coporation (DAC) แต่ภายหลังก็ถูกพัฒนากลายมาเป็น DAO เมื่อ Ethereum ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาพร้อมกับ Smart Contracts ก็ทำให้ Concept ของ DAO ถูกพัฒนาตามกันขึ้นมา โดย DAO ตัวแรกบน Ethereum มีชื่อว่า The DAO ที่เปิดตัวมาในปี 2016 แต่พอเปิดมาไม่นานก็ถูก Hack เพราะว่า Smart contract มีช่องโหว่และไม่ได้รับการ Audit อย่างเหมาะสม ถัดจากนั้นมาในปี 2019 กระแสของ DAO ก็กลับมาอีกครั้งโดยเป็นรูปแบบของ DAO ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน เช่น Protocol DAOs อย่าง MakerDAO, UniSwap, OlympusDAO, Lido, BitDAO เป็นต้น

ซึ่ง DAO ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันก็จะใช้เหรียญ Governance Token เป็นศูนย์กลางในการจัดการ โดย Governance Token นั้นเป็นแรงจูงใจ (Incentive) อย่างหนึ่งที่ทำให้คนเข้ามามีส่วนร่วม นอกจากนี้เหรียญ Governance Token ก็ยังมีหน้าที่ใช้ในการโหวต Proposal ต่างๆ

ขอบคุณภาพจาก The DeFi Edge

อย่างไรก็ตาม DAO ก็มีข้อเสียอยู่บ้าง ยกตัวอย่างกรณีของ Mango Markets ในช่วงเดือนตุลาคม 2022 ที่ผ่านมา ที่มีการใช้ DAO ไปในทางที่ผิดและเกิดความเสียหายกับ Protocol สรุปเหตุการณ์สั้นๆคือมีผู้ไม่หวังดีทำการปั่นราคาเหรียญ MNGO โดยการ Manipulate การทำงานของ Oracle ทำให้ราคาเหรียญ MNGO ราคาพุ่งจาก $0.03 ไปที่ $0.9 แล้วก็นำเหรียญ MNGO ไปค้ำกู้เหรียญต่างๆเช่น USDC, BTC, SRM, MNGO ออกมาจาก Mango Market ทั้งหมดมูลค่าประมาณกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เกิดเป็นหนี้เสียขึ้น ส่วนทาง Protocol ก็ไม่มีเงินจ่ายคืนให้กับคนนำมาปล่อยกู้ โดยหลังจากนั้นผู้ไม่หวังดีรายนี้ก็ตั้ง Proposal และทำการโหวตด้วยเหรียญที่ตัวเองขโมยมาว่าให้นำเงินใน Treasury มาจ่ายหนี้เสียตรงนี้ และที่เหลือโจรรายนี้จะนำเงินที่ขโมยไปมาจ่ายคืนให้ด้วยในจำนวน 47 ล้านดอลลาร์ ผลก็คือว่า Proposal นี่โหวตผ่านและทางโจรก็ได้เงินส่วนที่เหลือไปจำนวน 67 ล้านดอลลาร์ และทำให้ตัวเองพ้นโทษด้วย เคสแบบนี้ก็ถือเป็นตัวอย่างของช่องโหว่ในระบบของ DAO

ภาพรวมสถานะของ DAOs Treasury

เมื่อเราเข้าใจใน Concept ของ DAO กันไปแล้ว ส่วนประกอบสำคัญต่อไปของ DAO ก็คือ Treasury นั่นเอง โดยภาพรวมตัวเลขของ Treasury ก็เป็นสิ่งที่บอกเราได้เกี่ยวกับการเติบโตและการพัฒนาของอุตสาหกรรมคริปโตเคอเรนซี่ในภาพใหญ่ได้ระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับในปี 2016 เป็นต้นมาจะพบว่า DAO Treasury เติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 6000% สอดคล้องกับภาพรวมตลาดคริปโตเคอเรนซี่ที่พัฒนาสุกงอมมากขึ้น และมีการใช้งาน Use case ต่างๆมากขึ้น เหนือสิ่งอื่นใด ยังเป็นการตอกย้ำถึงการที่ DAO ได้รับความเชื่อมั่นมากขึ้นด้วย

DAO Treasury ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2022 ขอบคุณข้อมูลจาก deepdao.io

DAO Treasury ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2023  ขอบคุณข้อมูลจาก deepdao.io

และถ้าเรามาดูในช่วงเวลาที่แคบขึ้นมาสักหน่อยในช่วงระยะเวลา 1 ปี โดยเปรียบเทียบในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2022 และ 2023 จะเห็นว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2022 มูลค่าของ DAO Treasury อยู่ที่ 9,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ที่ 12,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 33% ถึงแม้ว่าภาพรวมตลาดคริปโทฯจะไม่ค่อยสดใสและราคาเหรียญต่างๆปรับตัวลดลงอย่างมากก็ตามก็ยังเห็นได้ว่า Treasury ยังมีการเติบโต

Top 10 DAO Treasury ข้อมูล ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2023 ข้อมูลจาก Deepdao.io

จากข้อมูลของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2023 จะเห็นว่า DAO ที่มีมูลค่า Treasury สูงสุด 10 อันดับแรกคือ UniSwap, BitDAO, ENS, Gnosis, Lido, Polkadot, Frax Finance, OlympusDAO, Aragon และ Decentraland ซึ่งทั้ง 10 อันดับนี้มีมูลค่า Treasury รวมกันถึง 8,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการที่โปรเจกต์มีมูลค่า Treasury รวมสูงก็ถือว่าบอกได้ถึงความแข็งแกร่งของโปรเจกต์ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น โดยเราจะต้องพิจารณาลึกลงไปอีกถึงจะบอกอะไรได้มากขึ้น ตรงนี้จะพูดถึงในพาร์ทถัดๆไป

ความสำคัญของ DAO Treasury

นอกจาก DAO Treasury จะบอกเราได้ถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมคริปโตเคอเรนซี่ในภาพใหญ่ได้แล้ว คำถามต่อไปคือ แล้วตัวเลข Treasury เหล่านี้บอกอะไรกับเราได้อีกบ้างในระดับแพลทฟอร์ม ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่นักลงทุนส่วนใหญ่อยากรู้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์เพื่อเลือกลงทุนในเหรียญของ DAO ต่างๆ

อย่างแรกที่สำคัญที่สุดที่การวิเคราะห์ Treasury บอกได้คือสถานะทางการเงินของ Protocol ซึ่งถ้ามี Treasury ที่สูงก็แสดงถึงความมั่นคงยั่งยืนของ Protocol นั้นๆที่จะรอดพ้นสภาวะตลาดหมีไปได้ นอกจากนี้ถ้าจัดการให้ดีก็จะมีเงินเพื่อการสนับสนุนการเติบโตของ Protocol ได้ในอนาคต ซึ่งในส่วนนี้อาจนำไปใช้ในการจ่ายเงินเดือนพนักงาน นำไประดุมทุน หรือนำไปแจกเป็น Grants ให้กับโปรเจ็กต์ทั้งภายในและภายนอก หรือนำไปแจกจ่ายเป็น Incentive เพื่อดึงดูดผู้ใช้งาน เป็นต้น

และถ้าเราเจาะลึกลงไปโดยการไปดูว่าใน Treasury นั้นประกอบด้วย Asset ประเภทใดบ้าง และมีการนำไปลงทุนที่ไหน ก็จะบอกเพิ่มเติมได้ว่า Treasury นั้นจะเติบโตหรือมีความผันผวนของราคาเหรียญได้มากขนาดไหน ซึ่งส่วนมากแล้ว DAO มักจะถือเหรียญ Governance token ในสัดส่วนมากกว่า 60% มีข้อดีข้อเสียอย่างไร เราจะไปดูในพาร์ทถัดไป

สัดส่วนเหรียญ Governance token ใน DAO Treasury

ขอบคุณภาพจาก Messari

และเนื่องจากว่า DAO ส่วนมากถือ Governance token เป็นหลักตามที่เกริ่นไปข้างต้น ดังนั้นจึงน่าสนใจที่จะมาพิจารณาถึงทั้งข้อดีและข้อเสียในการถือเหรียญ Governance token จำนวนมาก

เริ่มที่ข้อเสียกันก่อน เพราะค่อนข้างชัดเจนว่าถ้าถือเหรียญ Governance token ในสัดส่วนที่มากก็เป็นความเสี่ยงที่สูงพอสมควรเพราะถ้าราคาเหรียญตกก็จะทำให้มูลค่า Treasury ลดลงอย่างมากได้ ซึ่งในช่วงตลาดหมีที่ผ่านมาเราก็ได้เห็นกันไปแล้วว่าราคาเหรียญ Governance ร่วงหนักได้ถึง 80-90% 

นอกเหนือจากนั้น ยังมีอีกมุมมองของ Influencer ชื่อว่า Hasu ที่เขาให้ความเห็นว่าเหรียญ Governance ใน Treasury นั้นถ้าเทียบกับบริษัทในโลกจริงก็จะเปรียบเสมือนกับหุ้นที่ยังไม่นำออกจำหน่าย (Authorized but unissued shares) จึงไม่สามารถนับเป็นทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดประโยชน์จริงได้ ยกตัวอย่างเช่นกรณีของ UniSwap ที่ถือเหรียญ UNI จำนวน 100% ใน Treasury ไม่ถือเป็นทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดประโยชน์ได้เลยเพราะถ้านำเหรียญ UNI เพียงแค่ 1% ของที่มีใน Treasury มาขายผ่าน DEX อย่างเช่น 1inch ก็จะทำให้เกิด Slippage สูงกว่า 50% ได้เลย นอกจากนี้ถ้ามีเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ทำให้ Treasury ต้องเทขายเหรียญก็จะเป็นการ Dump ราคาครั้งใหญ่และเกิดความเสียหายต่อโปรเจกต์ได้ ทำให้ถ้ามองในมุมนี้ DAO ไหนที่มีจำนวน Stablecoin มากกว่าก็ดูจะมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า

ส่วนเหตุผลที่โปรเจกต์ต่างๆส่วนมากเลือกที่จะถือ Governance token ในสัดส่วนสูงก็เป็นเพราะว่ามีข้อดีอยู่บ้าง เช่น การกุมอำนาจของคะแนนโหวต เพราะว่าโปรเจกต์คริปโตฯส่วนมากจัดเป็น Startup ที่ยังต้องการความฉับไวในการโหวต Proposal เพื่อการดำเนินการอะไรบางอย่างหรือผลักดันการเติบโตของโปรเจกต์ เหตุผลอื่นๆที่ปรเจกต์ต่างๆเลือกที่จะถือ Governance token อย่างเช่น  

  • ใช้สำหรับการตอบแทนสมาชิกและผู้มีส่วนร่วมในโปรเจกต์ที่เชื่อมั่นในอนาคตของโปรเจกต์ในระยะยาว 
  • ใช้สำหรับ Funding การพัฒนาโปรเจกต์ย่อย หรือแจก Liquidity mining program
  • ใช้สำหรับการลงทุนในโปรเจกต์อื่นๆหรือให้ Grant เพื่อสนับสนุน Ecosystem ในระยะยาว
  • สร้างความเชื่อมั่น และเน้นย้ำความสำคัญของการถือเหรียญ Governance token
  • เก็บเหรียญไว้เผื่อใช้งานในอนาคต เช่น การขายเหรียญให้กับนักลงทุนรายใหญ่

จะเห็นว่าว่าเหรียญ Governance token จะมีข้อดีหลายอย่าง ที่สามารถสนับสนุนการเติบโตได้และเป็นแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนาอันเป็นสิ่งที่ Startup มักมองหา นอกจากนี้ Governance token ยังมีประโยชน์ทางอ้อมอื่นๆที่จะช่วยให้ Treasury เติบโตได้ เช่น ในบางกรณีที่ Governance token สามารถนำไปใช้เป็นส่วนแบ่งค่าทำธุรกรรม ก็จะเป็นผลบวกต่อราคาเหรียญและดึงดูดให้คนมาถือเหรียญมากขึ้น (แรงขายน้อยลง) และมีส่วนร่วมกับโปรเจกต์มากขึ้น เป็น Positive feedback loop 

อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีข้อดีหลายอย่าง เรามองว่า DAO ควรจะต้องมีการจัดการความเสี่ยง Treasury ที่ดีกว่านี้ โดยการเพิ่มสัดส่วน Stablecoin ไว้สำหรับกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝัน ที่เราก็เห็นกันมาแล้วว่าเกิดขึ้นได้เสมอในโลกคริปโตเคอเรนซี่ เพราะก็ชัดเจนว่าถ้า DAO ไหนที่มีจำนวน Stablecoin มากก็จะทนต่อความผันผวนได้มากกว่า โดยในปี 2022 ที่ผ่านมาเราก็ได้เห็นโปรเจกต์หลายที่ที่ล้มหายตายจากหรือต้องเสียหายอย่างมหาศาลจากการจัดการ Treasury แบบไม่มีการจัดหารความเสี่ยงที่ดี

ขอบคุณภาพจาก Twitter

ยกตัวอย่างเช่น กรณีของโปรเจกต์ Apollo DAO ที่ไม่ได้มีการจัดการ Treasury ให้ดีพอ ซึ่งทำให้สูญเสียเงินจำนวนมากไปในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันบน Terra ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2022 โดย Apollo DAO เป็นแพลทฟอร์ม Yield Aggregator บน Terra Chain ได้เลือกที่จะเก็บเป็น Asset ที่เป็น Terra native ทั้งหมด ประกอบด้วย LUNA, UST, aUST, APOLLO, MARS เป็นต้น ซึ่งราคาเหรียญทั้งหมดลดลงจนแทบไม่เหลือมูลค่าจากเหตุการณ์การล่มสลายของ LUNA/UST ทำให้โปรเจกต์เดือดร้อนและขาดเงินทุนในการพัฒนาต่อ

แนวทางการจัดการ DAO treasury ที่ดี

จากบทความของ Hasu ได้มีการนำเสนอแนวทางการจัดการ DAO treasury ที่น่าสนใจเอาไว้ โดยเขาได้ให้ความเห็นว่าในปัจจุบันแทบไม่มีมีโปรเจกต์ไหนที่จัดการ Treasury ได้ดีเท่าที่ควร ส่วนใหญ่ก็จะถือเหรียญ Governance token จำนวนมาก และไม่ได้มีการจัดกลยุทธ์ให้เกิดผลตอบแทนสูงสุดที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งโปรเจกต์และผู้ถือเหรียญได้ โดยเขาได้นำเสนอไว้ดังนี้

  • มีการ Balance ระหว่างการเก็บสินทรัพย์ใน Treasury, การนำไปลงทุนสร้างผลตอบแทน และสร้างมูลค่าให้แก่ผู้ถือเหรียญไม่ว่าจะเป็นผ่านการ Buyback หรือการจ่าย Reward ให้ผู้ถือเหรียญ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาของโปรเจกต์ ตัวอย่างเช่น การที่บางโปรเจกต์มองถึงประโยชน์ในระยะสั้นโดยการนำเหรียญมาแจกเป็น Incentive มากเกินไป แทนที่จะเก็บไว้ใช้เป็นทุนสำรองหรือสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติมในะระยาว
  • ปรับเปลี่ยนการบริหาร Treasury ตามตลาดหมีหรือตลาดกระทิง เช่น ในช่วงตลาดกระทิงที่ราคาเหรียญ Governance token ขึ้นมาสูง และผลตอบแทนการลงทุนในโปรโตคอลต่างๆสูง ก็ควรขาย Governance token ออกบ้างเพื่อนำไปสร้างผลตอบแทน และสร้าง Runway สำหรับในช่วงตลาดหมี เป็นต้น
  • ไม่นับว่าเหรียญ Governance token ว่ามีมูลค่าใน Treasury และทำการกระจายไปที่ Bluechip asset อื่นหรือ Stablecoin 
  • วางแผนว่าตลาดจะต้องมีเข้าสู่ Bear market และถ้าราคาเหรียญลดลง 90% จะต้องมี Treasury ที่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้ 2-4 ปี 
  • ต้องมีการป้องกันความเสี่ยง (Hedge) ให้เหมาะกับประเภทของโปรเจกต์ เช่น Lending protocol ควรมี Stablecoin ระดับหนึ่งไว้กรณีเกิดหนี้เสีย เป็นต้น

โปรเจกต์เก็บ Treasury ไว้ที่ไหนก็สำคัญ

อีกสิ่งที่ควรให้ความสำคัญก็คือการเก็บสินทรัพย์ใน Treasury ของโปรเจกต์ ว่ามีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสมหรือไม่ ในส่วนนี้อาจจะตัดสินยากสักหน่อย เพราะบางครั้งโปรเจกต์ก็มีการเก็บสินทรัพย์ Off-chain ทำให้ตรวจสอบยาก แต่สิ่งที่เราพอทำได้คือการหาข้อมูลในส่วนที่อยู่ On chain ว่ามีการเก็บโดยการกระจาย Wallet หรือไม่ โดยทั่วไปถ้ามีการกระจายกระเป๋าก็จะปลอดภัยกว่า

ขอบคุณภาพจาก Wu Blockchain Twitter

ตัวอย่างของการเก็บ Treasury อย่างไม่เหมาะสมคือเหตุการณ์ที่เกิดกับแพลทฟอร์ม Oxygen ที่ใช้ FTX เป็น Custodian เพียงที่เดียวในการเก็บรักษา Treasury ที่ประกอบด้วยเหรียญของแพลทฟอร์มอย่าง MAPS, OXY จำนวนกว่า 95% ของ Total Supply ซึ่งโอกาสที่จะได้กลับมาน้อยมากและอาจทำให้แพลทฟอร์มล้มละลายได้เลยเพราะว่าสูญเสียสินทรัพย์ไปทั้งหมด

Treasury ของโปรเจกต์ต่างๆ

จะเห็นได้ว่าการจัดการ Treasury นั้นมีความสำคัญและสามารถบอกอะไรเราได้หลายอย่าง ซึ่งแต่ละ Protocol ก็อาจจะต้องมีลักษณะของ Treasury ที่แตกต่างกันออกไปขึ้นกับประเภทและอายุของโปรเจกต์ นอกจากนี้แต่ละโปรเจกต์ก็จะมี Risk profile ที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นจะไม่ได้มีอะไรตายตัวว่าควรจะมีสินทรัพย์ใดในสัดส่วนเท่าไหร่ ดังนั้นควรจะพิจารณาตามประเภทของโปรเจกต์ด้วย เช่น แพลทฟอร์มกู้ยืมที่มีความเสี่ยงในการเกิดหนี้เสียควรจะมีการบริหาร Treasury ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าแพลทฟอร์ม Decentralized exchange เป็นต้น ในพาร์ทต่อไปเราจะไปดู Treasury ของบางโปรเจกต์ว่าเป็นอย่างไรบ้างเมื่อเทียบกับประเภทและความเสี่ยงเฉพาะตัว

UniSwap

เริ่มกันที่ UniSwap ที่เป็น Decentralized exchange เจ้าเก่าแก่ ที่เรียกได้ว่าเป็นเจ้าตลาดที่ครองส่วนแบ่งอันดับหนึ่งมาอย่างยาวนาน จึงน่าสนใจมาดูกันว่า Treasury ของ UniSwap ว่ามีสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง

ขอบคุณภาพจาก Openorgs.info ข้อมูลวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2023

ขอบคุณข้อมูลจาก Openorgs.info

จากข้อมูลของ Deepdao.io จะเห็นว่า Treasury ของ UniSwap มีมูลค่าสูงเป็นอันดับหนึ่งถึง 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ถ้าเราเข้าไปดูภายในจะเห็นว่าทั้งหมด 100% เป็นเหรียญ UNI ซึ่งเป็นเหรียญที่ปลดแล้ว (Vested)  77% ส่วนอีก 23% เป็นเหรียญที่ยังไม่ปลด (Unvested) โดยมีกระจายถือไว้บน 5 กระเป๋าด้วยกัน 

ขอบคุณภาพจาก Deepdao ข้อมูลวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2023

ซึ่งการที่ Treasury ถือเหรียญ UNI ทั้งหมดและไม่มีการกระจายความเสี่ยงไปถือเหรียญอื่นๆหรือ Stablecoin เลย ก็ถือเป็นความเสี่ยงพอสมควรเพราะถ้าราคาเหรียญตกก็จะทำให้มูลค่า Treasury ลดลงอย่างมากได้ ซึ่งถ้าเทียบจากจุดพีคในเดือนสิงหาคม 2021 ที่ผ่านมา Treasury ของ UniSwap ก็ลดลงจาก 11,500 ล้านดอลลาร์ ลงมาอยู่ที่ 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าเป็นการปรับลดลงกว่า 80% สอดคล้องกับราคาเหรียญ UNI ที่ปรับตัวลดลงราวๆ 70% 

ทำให้มูลค่า Treasury ของ UniSwap ไม่ได้มีมูลค่าที่แท้จริงให้เห็นกันในปัจจุบันได้ เพราะไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ถ้าเกิดกรณีฉุกเฉิน อย่างเช่น การถูกแฮ็ค เป็นต้น

ขอบคุณภาพจาก UniSwap Foundation Twitter

ซึ่งเรามองว่าการที่ UniSwap ถือเหรียญ UNI เพราะทางทีมงานจะเน้นแจก Grant ในรูปแบบเหรียญ UNI ที่จะเป็นแรงจูงใจให้กับทีมได้สร้างการเติบโตต่อ UniSwap ecosystem ในอนาคต ยกตัวอย่างเช่นการก่อตั้ง UniSwap Foundation ที่เพิ่งผ่านการอนุมัติจาก Governance ไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2022 ที่ผ่านมา โดยได้รับงบประมาณในรูปแบบของเหรียญ UNI ไปในมูลค่ารวม 74 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่จะถูกแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและงบประมาณสำหรับ Grant และในส่วนที่เหลือ 2.5 ล้าน UNI จะเก็บไว้เป็น Governance ของทาง UniSwap Foundation โดยในตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงแจก Grant ใน Wave 1 มีมูลค่า Grant รวม 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น

โดยการสร้างมูลค่าในรูปแบบนี้ต้องมองกันที่ระยะยาวถึงจะเห็นการเติบโตให้ออกดอกออกผล เพราะระยะสั้นจะทำให้เกิดแรงขายเหรียญแน่นอนเพราะต้องนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในรูปแบบต่างๆอย่างเช่น การนำไปแจกเป็น Grant ที่สุดท้ายก็ต้องมีการนำเหรียญไปขายเพื่อนำมาเป็นค่าดำเนินการ

ถ้ามองในแง่โอกาสอีกมุมคือ UniSwap เป็นแพลทฟอร์มที่มีรายได้สูงที่สุดอันดับหนึ่ง โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อวันประมาณ 1.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูล ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2023) โดยรายได้มาจาก Trading Fee และทั้งหมดถูกนำไปจ่ายให้กับ Liquidity Provider อย่างไรก็ตามในอนาคตทาง Governance สามารถโหวตเปิด Protocol Fee switch เพื่อทำการแบ่ง 10-25% ของ Trading Fee เพื่อนำเข้า Treasury ได้ดังที่กำลังมีการคุยกันอยู่ใน Proposal Discussion ในเดือนกรกฎาคม 2022 ซึ่งถ้า Fee switch โหวตผ่านจริงจะทำให้ Treasury ของ UniSwap เติบโตได้อย่างมาก 

โดยสรุปภาพรวม Treasury ของ UniSwap นั้นไม่มีการ Diversify เลยก็ถือว่ามีความน่ากังวลอยู่บ้าง แต่จะว่าไปแล้วรูปแบบการทำงานของโปรโตคอลมีความเรียบง่ายและความเสี่ยงต่ำ โอกาสที่จะต้องใช้เงินฉุกเฉินจากการที่โปรโตคอลถูกแฮ็คนั้นมีน้อยมาก ความเสี่ยงจริงๆก็คงมีแค่ราคาเหรียญผันผวนเท่านั้น และถ้าประเมินจากการที่ UniSwap เป็นเจ้าตลาดในด้าน Decentralized Exchanges (DEXs) ทั้งในแง่จำนวนผู้ใช้งานและ Volume การเทรดที่ครองอันดับหนึ่งมาโดยตลอด และ Treasury ยังมีโอกาสเติบโตจากการเปิด Fee switch เรามองว่ากรณีของ UniSwap นั้นอาจไม่มีความจำเป็นที่จะ Diversity เหมือนกับ DAO อื่นทั่วไป

Lido finance

ต่อมาดู Lido finance ที่เป็นหนึ่งในแพลทฟอร์ม Liquid staking ที่กำลังมาแรงในช่วงนี้ เพราะครองส่วนแบ่งตลาดของ Liquid staking มากกว่า 70%

ขอบคุณภาพจาก Deepdao.io ข้อมูล ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2023

จากข้อมูลของ Deepdao.io จะเห็นว่า Treasury ของ Lido Finance มีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 5 โดยมีมูลค่ารวม 335 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยภายใน Treasury จะเห็นว่าประกอบด้วยเหรียญ LDO ที่เป็นเหรียญ Governance เป็นหลักสูงถึง 82% ส่วนที่เหลือก็มีการ Diversify ไปที่เหรียญอื่นๆเช่น Ethereum มูลค่า 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ DAI มูลค่า 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเก็บทั้งหมดไว้ที่ Wallet เดียวซึ่งก่อนหน้านี้ใน Treasury ของ Lido ก็ไม่ได้มี Stablecoin จำนวนมากเท่านี้ แต่ว่าในช่วงเดือนสิงหาคม 2022 ที่ผ่านมา DAO ก็ได้มีการโหวตผ่านให้มีทำการขายเหรียญ LDO จำนวน 1% ให้กับ Dragobfly Capital และอีก 1% ที่เหลือให้กับ Strategic Partner เจ้าอื่นๆ รวมทั้งหมด 20M LDO (Lock 1 ปี) เพื่อเปลี่ยน LDO จำนวนทั้งหมดนี้เป็น DAI มูลค่าประมาณ 29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอ้างอิงจากข้อมูลใน Proposal วัตถุประสงค์หลักในการขายเหรียญ LDO บางส่วนเป็น Stablecoin ในครั้งนี้ก็เพื่อกระจายความเสี่ยงในช่วงตลาดหมี ไม่ให้ Treasury ผันผวนเกินไป สร้าง Partnership เพิ่ม และสำรองไว้เผื่อกรณีฉุกเฉินเพราะด้วยการทำงานของโปรโตคอลที่มีความเสี่ยงมากกว่า UniSwap ซึ่งก็ถือว่าเป็นทิศทางการปรับปรุงการจัดการ Treasury ที่ดีเพราะเป็นหนึ่งในไม่กี่โปรเจกต์ที่เล็งเห็นความสำคัญในการจำกัดความเสี่ยง และทำการเพิ่มสัดส่วน Stablecoin

ขอบคุณภาพจาก Blog.lido.fi

สำหรับ Lido Treasury จะแตกต่างจากของ UniSwap เพราะมีรายได้จากการให้บริการเข้ามาเติมใน Treasury อยู่ตลอด โดยรายได้มาจากการให้บริการ Liquid Staking ซึ่งโดยปกติจะเก็บที่อัตรา 10% ของ Staking Reward ในรูปแบบของ stAsset โดยแบ่งครึ่ง 50% เข้า Treasury และอีก 50% จะนำไปจ่ายให้กับ Node Operator ซึ่งในอนาคตถ้ามีผู้ใช้งานมาใช้บริการ Liquid Staking มากขึ้น ก็จะทำให้ Treasury ของ Lido มีโอกาสเติบโตขึ้นไปอีก 

นอกเหนือจากการใช้เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆและ Development fund แบบทั่วไป จะมีเพิ่มเติมคือนำไว้ใช้ในส่วนของ Insurance fund ในกรณีที่เงินของผู้ฝากถูก Slashing ทาง Lido ก็ได้มีการซื้อประกันเพื่อครอบคลุมเอาไว้แล้วเพื่อจ่ายคืนกับผู้ใช้งานได้ ทำให้ Lido มีทั้ง Stablecoin และ Insurance fund ที่ครอบคลุมความเสี่ยงของโปรโตคอลไว้ค่อนข้างดี

โดยสรุปภาพรวมของ Lido treasury นั้นถึงแม้ว่าจะถือเหรียญ Governance เป็นส่วนใหญ่ แต่ทางทีมงานก็ได้มีการปรับปรุงกระจายความเสี่ยงให้ดีขึ้นในปี 2022 ที่ผ่านมาโดยการเพิ่มสัดส่วนของ Stablecoin นอกจากนี้ Lido ยังเป็นแพลทฟอร์มผู้ให้บริการ Liquid staking ที่ครอง Market share อันดับหนึ่ง จึงมีโอกาสที่ Treasury จะเติบโตต่อเนื่อง

Compound

Lending Protocol ก็เป็นอีกประเภทของโปรเจกต์ที่น่าสนใจจะเข้าไปดู Treasury เพราะว่าโปรเจกต์เหล่านี้มักจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้เสีย และถ้าเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นก็จะต้องนำ Asset ใน Treasury มาใช้แก้ปัญหา ซึ่งถ้าดูข้อมูลจาก Deepdao จะเห็นว่า Compound Finance มีมูลค่า Treasury ในอันดับที่ 12 หรือคิดเป็น 147 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขอบคุณภาพจาก Deepdao.io ข้อมูล ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2023

ขอบคุณภาพจาก Openorgs.info

โดยภายใน Treasury ของ Compound นั้นประกอบด้วยเหรียญ COMP มากถึง 93.6% ส่วนที่เหลืออีก 7% ก็มีการ Diversify ไปถือเหรียญอย่าง ETH และ USDC โดยแบ่งเก็บไว้บน 2 Wallet ซึ่งถึงการกระจายจะไม่ใช่สัดส่วนที่เยอะ แต่ก็ยังถือว่ามีการกระจายสัดส่วนออกไปจาก Goverance Token อยู่บ้าง ซึ่งเหรียญ COMP ทางโปรโตคอลก็ได้นำไปแจกเป็น Grant ผ่าน Compound Grant Program ซึ่งใน Version 1.0 ได้แจก Grant ให้กับโปรเจกต์ไปจำนวนกว่า 30 โปรเจกต์มูลค่ารวม 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

Compound Finance มีรายได้จากดอกเบี้ยการปล่อยกู้ โดยรายได้ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปจ่ายให้กับคนที่มาปล่อยกู้เหรียญ สำหรับรายได้ส่วนที่เหลือจะถูกเก็บเข้า Treasury ที่จะเป็นส่วนที่สำรองเอาไว้สำหรับความเสี่ยงของหนี้เสียตามที่ได้เกริ่นไปก่อนหน้านี้ ซึ่งการที่ Lending Protocol ต้องพึ่งพาการใช้ Treasury ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน แต่ว่ากลับถือเหรียญ Governance Token ในอัตราส่วนที่สูงแบบนี้ถือว่าเป็นความเสี่ยงอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพกับความเสี่ยงจากกรณีศึกษาจาก Black Thursday ที่เกิดกับแพลทฟอร์ม Maker DAO ในเดือนมีนาคม 2020 ที่เป็นช่วงตลาดคริปโท ฯ ตกลงอย่างหนักและราคา Gas Fee บน Ethereum Chain พุ่งขึ้นสูงมาก ประกอบกับการทำงานของ Oracle ที่ผิดพลาด ซึ่งจากสาเหตุทั้งหมดทำให้เกิดความผิดปกติในกระบวนการ Liquidation ส่งผลให้มี Liquidator ประมูลเหรียญ ETH มูลค่ารวม 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปได้แบบฟรีๆ ซึ่งแน่นอนว่ากลายเป็นหนี้เสียให้กับ MakerDAO ซึ่งทำให้ทางแพลทฟอร์มมีเหรียญ DAI อยู่ใน Treasury เพียง 500,000 DAI จึงไม่เพียงพอกับจำนวนหนี้ ดังนั้นทางแพลทฟอร์มจึงต้องผลิตเหรียญ MKR ทั้งหมดประมาณ 20,600 MKR ที่ราคาประมาณ $275 (ราคาก่อนหน้านี้คือ $500) เพื่อมาชดใช้ในส่วนที่เหลืออีก 5.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในตอนนั้นราคาเหรียญ MKR ก็ตกลงอย่างมากจากสภาพตลาดด้วย โดยกว่าที่ทางแพลทฟอร์มจะสามารถนำรายได้มาซื้อเหรียญ MKR และนำไปเผาให้ Supply เหรียญ MKR กลับมาเท่าเดิมได้ก็กินเวลาหลายเดือน

ประเด็นสำคัญจากเรื่องนี้คือถ้า MakerDAO มี Treasury เป็นเหรียญ Stablecoin มากกว่านี้ความเสียหายก็จะจำกัดอยู่ที่ 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ว่าเมื่อต้องขายเหรียญ MKR ในเวลาที่ไม่มีอำนาจในการต่อรองและในสภาพตลาดที่ย่ำแย่ ทำให้ต้องขายเหรียญ MKR ในราคาต่ำ จึงทำให้หนี้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นมีมูลค่าจริงเท่ากับ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขอบคุณภาพจาก Compound ข้อมูล ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2022

ดังนั้นจากบทเรียนที่เกิดกับแพลทฟอร์ม MakerDAO ก็พอจะสรุปได้ว่า Lending Protocol ควรจะมี Treasury เป็น Stablecoin ให้เป็นสัดส่วนที่มากกว่านี้ ซึ่งสัดส่วนควรจะเป็นเท่าไหร่นั้นอาจจะไม่ง่ายในการประเมิน แต่ว่าถ้าเราดูในกรณีของ Compound ที่มี Stablecoin แค่ 800,000 ดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับจำนวนเงินกู้ทั้งหมดมูลค่า 905 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูล ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2023) ซึ่งคิดเป็นเพียง 0.11% ก็ยังคงน้อยเกินไป ถ้าเทียบกับกรณีของ MakerDAO ก็ควรจะมี Stablecoin อย่างน้อย 4% ของยอดเงินกู้

ทำให้ภาพรวมของ Compound ยังจัดว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างมากในฐานะที่เป็น Lending protocol และตามความเห็นของเราทาง Compound ควรจะต้องเพิ่มสัดส่วนการถือ Stablecoin ให้มากกว่านี้

Synthetix

Synthetix เป็นอีกหนึ่งแพลทฟอร์มสร้างและเทรด Synthetic assets ที่ได้รับความสนใจอย่างมากในช่่วงที่ผ่านมา โดยหลักการทำงานของ Synthetix จะเปรียบเทียบคล้ายกับ Lending protocol เพราะการสร้าง (Mint) Synthetic assets จะต้องใช้เหรียญ SNX ไปวางค้ำประกันแบบ Overcollateral นอกจากนี้ Synthetix ยังมี Stablecoin “sUSD” เป็นของตัวเอง ทำให้มีความเสี่ยงทั้งในเรื่องหนี้เสียและการ Peg ของ Stablecoin

ขอบคุณภาพจาก openorgs.info

ขอบคุณภาพจาก openorgs.info

จากข้อมูลของ Openorgs จะเห็นว่า Treasury ของ Synthetix มีมูลค่สูงเป็นอันดับ 7 ด้วยมูลค่า 93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วยเหรียญ SNX 83% และ Stablecoin อย่าง USDC และ sUSD รวม 9% (USDC = 6%, sUSD =3%)

ทำให้ภาพ Treasury ของ Synthetix นั้นดูมีการจัดการความเสี่ยงไว้ค่อนข้างดีมาก เพราะมีจำนวน Stablecoin ถึง 9% และเป็นเหรียญ USDC สูงถึง 6% มูลค่ารวม 5.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 3.9% ของยอดเงินกู้ของโปรโตคอลทั้งหมด 141 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูล ณ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566) ซึ่งเป็นระดับที่เราคาดว่าปลอดภัยเมื่ออ้างอิงจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับ Maker ซึ่งถ้านับรวม sUSD ซึ่งเป็น Stablecoin ของโปรโตคอลเอง จะทำให้มีปริมาณ Stablecoin คิดเป็น 5.5% ของยอดเงินกู้ทั้งหมด 

นอกจากนี้ภายใน Treasury ยังมีเหรียญ CRV สูงถึง 7% โดยที่ทางโปรเจกต์ได้นำเหรียญ CRV ไป Stake ไว้บน Curve ทั้งหมดเพื่อใช้ในการโหวตเพื่อสร้างอำนาจการโหวตบน Curve ในการแจก Incentive ให้กับ Pool ของตัวเอง เพื่อช่วยสร้าง Liquidity ให้กับ Pool เหรียญ sUSD เป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับ Stablecoin และความเสถียรของราคาในระยะยาวได้ด้วย

ทำให้ภาพรวม Synthetix ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่โปรเจกต์ที่มีการจัดการ Treasury ที่ค่อนข้าง Balance ได้ดี และเหมาะกับประเภทของ Application ที่เป็นในลักษณะคล้าย Lending protocol และมี Stablecoin เป็นของตัวเอง

สรุป

จากข้อมูลการพัฒนาการและตัวเลขต่างๆชี้ว่า DAO นั้นมีศักยภาพในการเติบโตและมีความสามารถที่จะเข้ามาแก้ปัญหาอะไรได้หลายอย่างในอนาคต อย่างไรก็ตาม เราได้เห็นกันไปแล้วในบทความนี้ว่าปัจจุบัน DAO ส่วนมากยังขาดการบริการจัดการ Treasury ที่ดี แต่เราก็เริ่มเห็นสัญญาณว่าบางโปรเจกต์ก็ได้เริ่มปรับตัวกันบ้างแล้ว ถึงจะไม่มากแต่ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี

โดยภายใน Crypto community ก็ได้มีการถกกันถึงประเด็นนี้พอสมควร และมีการนำเสนอแนวทางที่ DAO ต่างๆควรปรับปรุง ซึ่งในอนาคตเราคาดว่าจะได้เห็นการพัฒนาที่ดีขึ้นไปอีกเพื่ออุตสาหกรรมคริปโตเคอเรนซี่ที่มี DAO เป็นรากฐานจะได้เติบโตไปได้อย่างแข็งแกร่ง

.

❗️คำเตือนความเสี่ยง :

คริปโทเคอร์เรนซี่มีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวนและสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคต

Author

Share :
Related
เข้าสู่ยุคใหม่ของ Bitcoin ? พาส่อง Bitcoin Ecosystem ปี 2024 
Cryptomind Monthly Outlook (April 2024)
Technical Analysis $PENDLE, $BNB โดย Cryptomind Advisory (22 Apr 24)
CoinTalk (19/4/24):